ความสำคัญของภาษาอาหรับ
  จำนวนคนเข้าชม  5703


ความสำคัญของภาษาอาหรับ

 

โดย เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ

 

          อัลกุรอานได้ลงมาเป็นภาษาอาหรับที่ชัดเจน ได้ปรากฏข้อความยืนยันเช่นนั้น มากกว่า 10 แห่งในอัลกุรอาน นี่ย่อมเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งว่า การที่จะเข้าใจอัลกุรอานอย่างถูกต้องนั้น ขึ้นอยู่กับการรู้ภาษาอาหรับ

 

          ฉะนั้น ภาษาอาหรับจึงเป็นภาษาของอิสลาม ซึ่งเป็นภาษาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงให้บรรดามุสลิมได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในศักดิ์ศรีของตน และที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งของวิชาการ และแนวความคิดแห่งอิสลาม อิทธิพลของภาษานี้จะควบคู่ไปกับอิทธิพลของอิสลาม และความสูงส่งของภาษานี้ก็ขึ้นอยู่กับความสูงส่งของอิสลามอยู่เสมอ

 

          ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่รู้สึกภูมิใจในอิสลาม จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาอาหรับ และชักชวนกันให้เรียน เพราะมันเป็นภาษาของอัลกุรอาน ด้วยทางนำและรัศมีของอัลกุรอานนี้แหละที่เราได้รับแสงสว่าง และดำเนินสู่ทางอันเที่ยงธรรม เป็นหน้าที่ของผู้มีความรู้ (อุละมาอฺ) มุสลิมทั่วพื้นพิภพ โดยเฉพาะมุสลิมชั้นปัญญาชนที่มีความรู้ทางด้านภาษาอาหรับ จะต้องใช้ความพยายามในการเผยแพร่ภาษาอาหรับ เพื่อที่จะได้แพร่กระจายไปทั่วหมู่ชนชาวมุสลิม

 

          ท่านอิมามอัซซาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้แถลงไว้ในตำรา และคำฟัตวาของท่านว่าจำเป็นแก่มุสลิมที่จะต้องเรียนภาษาอาหรับ ท่านกล่าวว่า

 

จำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาอาหรับ เท่าที่ความพยายามสามารถจะมี

 

และท่านกล่าวอีกว่า

 

คราใดที่มนุษย์เรียนรู้ภาษาอาหรับเพิ่งขึ้น ย่อมเป็นการดีแก่เขา

 

          และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่บ่งถึงตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ของภาษานี้ที่มีอยู่ในจิตใจของบรรดามุสลิมไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดนั้น ก็ได้แก่ข้อความที่ท่านอัลอัลลามะฮฺ อัลอิมาม อัษษะอาลิบีย์ ได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือของท่านชื่อฟิกฮุ้ลลุเฆาะฮ์ วะซิรรุ้ลอะร่อบียะฮ์ว่า

 

     “ผู้ใดรักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาก็ย่อมรักร่อซูลของพระองค์ มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และผู้รักร่อซูลซึ่งเป็นชาวอาหรับ เขาก็ย่อมรักชาวอาหรับ และผู้ใดรักชาวอาหรับเขาก็ย่อมรักภาษาอาหรับ ซึ่งโดยภาษานี้ได้มีพระคัมภีร์ที่ประเสริฐยิ่งลงมาแก่ผู้ที่ประเสริฐในหมู่ชนที่ไม่ใช่อาหรับ และหมู่ชนชาวอาหรับ และผู้ใดที่รักษาภาษาอาหรับเขาก็ย่อมเอาใจใส่ หมั่นเพียรและผินความสนใจสู่ภาษานี้

 

          และเมื่อเราได้อ่านหนังสือชื่ออัล-ฟิร็อกซึ่งเรียบเรียงโดยอัลอัลมาละฮฺ (ปราชญ์) อัลอิสฟีรอยินีย์ มีว่า : ส่วนหนึ่งจากคุณสมบัติของผู้ดำเนินตามแนวทางของท่านร่อซูล (อะฮฺลุซซุนนะฮฺ) ซึ่งต่างกับหมู่ชนอื่นๆ ก็คือ การแสงออกให้เห็นชัดเกี่ยวกับเรื่องภาษาอาหรับ และวรรณคดี

        ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมข้อความหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าอ่านพบในหนังสือชื่อวะซาอิลุ ตะก๊อดดุมิ้ล มุสลิมีนะ” (วิถีทางแห่งความเจริญก้าวหน้าของบรรดามุสลิม) ซึ่งระบุว่า

 

     “และเพื่อที่บรรดามุสลิมจะได้พัฒนาและทำความเจริญก้าวหน้านั้น จำเป็นที่พวกเขาจะต้องเผยแพร่ภาษาอาหรับไปทั่วประเทศที่เขาเหล่านั้นอยู่ และถ้าเมื่อไม่สามารถที่จะทำให้ภาษานี้เป็นภาษาเดียว (ใช้ภาษาเดียว) หรือเป็นภาษาที่หนึ่ง หรือเป็นภาษาแม่อย่างที่บางคนเรียกแล้ว ก็จะต้องไม่น้อยกว่าที่จะทำให้ภาษานี้เป็นภาษาร่วม เพื่อที่จะได้ทำให้เขาเหล่านั้นได้ใกล้ชิดสนิทสนมและมีหัวใจปรองดองกัน และภาษานั้นก็จะได้เป็นภาษาที่ใช้สนทนา และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันเป็นความสะดวกในการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน 

     ที่เราพูดว่าจำเป็นที่มุสลิมจะต้องเผยแพร่ภาษาอาหรับระหว่างพวกเขา โดยที่เรามิได้กล่าวถึงภาษาอื่นไว้อีก ทั้งนี้ก็เพราะภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ได้รับการเทิดทูนในทัศนะของมุสลิม เพราะเป็นภาษาของ อัลกุรอาน อัลฮะดิษ และประวัติศาสตร์อิสลาม และอิสลามก็ใช้ให้เขาเหล่านั้นเรียนภาษานี้

 

          ข้าพเจ้าได้เคยพูดไว้ ที่อื่นจากนี้ว่า อิสลามได้ใช้ให้ผู้ดำเนินตาม ศึกษาภาษาอาหรับเท่าที่สามารถจะทำได้ เพราะเป็นภาษาของอัลกุรอาน, ของท่านนบี, ของคนในอดีต และของบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งคนเหล่านั้นได้เผยแพร่อิสลาม นอกจากนั้นยังเป็นภาษาของสวรรค์อีกด้วย ดังที่ท่านร่อซูล ศิอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกแก่เรา หลังจากผู้เรียบเรียงหนังสือดังกล่าว ได้พูดถึงตำแหน่งและคุณสมบัติพิเศษของภาษาอาหรับแล้ว เขาได้จบคำพูดของเขาโดยกล่าวว่า

 

     “ในขณะที่บรรดามุสลิมกำลังเตรียมตัวที่จะพัฒนาและสร้างความก้าวหน้านั้น มันช่างจำเป็นแก่เขาเหล่านั้นเหลือเกิน ที่จะต้องมีหมู่ชนหลายๆ หมู่ที่จะใช้ภาษาอาหรับและเผยแพร่ไปให้ทั่วทุกแห่ง และรวมภาษาและปากกาของพวกเขาให้อยู่ในภาษาอาหรับเสีย (คือให้รวมกันใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาพูดและภาษาเขียน)”

 

          แท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้น ขณะที่พระองค์ได้ประทานพระคัมภีร์อันมีเกียรติเป็นภาษาอาหรับ พระองค์ได้ทรงคัดเลือก และกำหนดให้คงอยู่ชั่วนิรันดร และจะคงอยู่เท่ากับความคงอยู่ของ อัลกุรอานอันยั่งยืนตลอดกาล

 

แท้จริง เราได้ประทานอัซซิกร์ (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริง เราเป็นผู้รักษาสิ่งนั้น (อัลกุรอาน)

(อัลฮิจญ์ร 15 : 9)

 

          ในการที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงคัดเลือกภาษาอาหรับเป็นภาษาของพระคัมภีร์ของพระองค์ พระองค์ได้ทรงเชิญชวนให้บรรดาผู้ศรัทธาศึกษาภาษานั้น พร้อมทั้งให้รักษาไว้ และให้เผยแพร่ไปในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย 

 

          เป็นการสมควรอย่างยิ่งยวดสำหรับบรรดาผู้ที่ได้รับมรดกสาระของพระคัมภีร์อันประเสริฐ แห่งพระผู้เป็นเจ้านี้จะได้เป็นผู้นำหน้าคนอื่นๆ ในการทะนุบำรุง และรักษาภาษานี้ไว้ด้วย การให้เกียรติและยกย่องเสมอ

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์