ถามหาคนดีในสังคม !
อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ในสังคมปัจจุบันนี้ เราจะพบว่า ผู้คนต่างพูดกันถึงคนดี ...อันเนื่องมาจากว่า เมื่อเวลาจะเลือกผู้นำ หรือเลือกผู้แทนในองค์กรต่างๆ ก็จะถามหาคนดีกัน อย่างในช่วงเลือกตั้ง ผู้คนต่างก็พูดว่า ต้องเลือกคนดีเข้าสภา แต่เอาเข้าจริง คนดีของคนนี้ หรือคนดีของคนกลุ่มนี้ ก็กลับกลายเป็นคนไม่ดีของอีกคนหนึ่งหรือของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ...นั่นแสดงว่า ผู้คนในสังคมมีมาตรฐานวัดการเป็นคนดีไม่เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงมาหาดูว่า มุสลิมเรามีมาตรฐานของการวัดการเป็นคนดีอย่างไร ซึ่งเราสามารถนำคำจำกัดความที่มีศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งถามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า “มุสลิม”คือใคร ? มีลักษณะอย่างไร ? โดยเราสามารถนำคำจำกัดความนี้มาตั้งเป็นมาตรฐานของการเป็นคนดีในทัศนะของอิสลามได้ เพราะมันเป็นคำสอนที่มาจากท่านนบีของเรา
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม จากรายงานของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนุ อัลอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมเล่าว่า ชายคนหนึ่งได้ถามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า มุสลิมคือใคร ? เป็นอย่างไร ? มีลักษณะอย่างไร ?
ท่านนบีได้ตอบว่า
: «الْمُسْلِمُ مَنْ سَلِمَ الْمُسْلِمُونَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ،
“มุสลิมคือ ผู้ที่มุสลิมคนอื่นๆ(รวมถึงทุกๆคน)ปลอดภัยจากความชั่วของลิ้นและมือของเขา”
นั่นก็คือ มุสลิมจะไม่เป็นผู้ที่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ใครๆ อันเนื่องมาจากลิ้นและมือของเขา
ลิ้นก็หมายถึงคำพูดของเขา และมือก็หมายถึงการกระทำของเขา
“มุสลิมจะไม่เป็นผู้ที่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ใครๆ อันเนื่องมาจากคำพูดของเขา”
เพราะนักวิชาการถือว่า คำพูดไม่ดีของคนบางคนมีความคมยิ่งกว่าคมมีด เมื่อเราโดนมีดบาดแผลที่เกิดจากมีดบาดนั้นก็สามารถหายได้ไม่ทิ้งร่องรอยไว้นาน แต่ถ้าเป็นแผลในใจที่เกิดจากคำพูดที่ไม่ดีของคนๆหนึ่งที่ไปพูดไม่ดีต่อใครๆ เช่น ไปพูดจาเยาะเย้ยถากถางเขา ไปกล่าวหาใส่ร้ายเขา ไปดูถูกเหยียดหยามเขา มันก็อาจไปสร้างแผลให้เกิดที่ใจของเขา ซึ่งมันยากที่จะทำให้แผลนั้นหายได้ในเร็ววัน และบางทีมันอาจจะทิ้งร่องรอยไว้ตลอดไป
มุสลิมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องระมัดระวังคำพูดของตนเอง ดูแลเอาใจใส่และเป็นผู้ที่ควบคุมคำพูดของตนเองให้พูดแต่สิ่งที่ดีๆ เป็นผู้ที่คิดพิจารณาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนก่อนที่จะพูด พูดแต่ในสิ่งที่จะนำตัวเองไปสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ถ้าหากคิดว่า ตนเองไม่สามารถพูดจาดีๆได้ ก็ให้เงียบไว้ อย่าพูดเลยจะดีกว่า นี่คือคำชี้แนะที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيَقُلْ خَيْرًا أَوْ لِيَصْمُتْ ،
“ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาจงพูดในสิ่งที่ดี หรือไม่ก็จงนิ่งเฉยเสีย”
เพราะถ้าเราไม่นิ่งเฉย ปล่อยตัวเองให้พูดไม่ดีออกไป นอกจากคำพูดเหล่านั้นจะทำร้าย ทำลายผู้อื่นแล้ว มันยังอาจหันกลับมาทำร้าย ทำลายตัวของเราเองด้วย เพราะมันจะนำเราไปสู่ฟิตนะฮฺ สู่ความชั่วร้ายต่างๆ และนำเราไปสู่ความโกรธกริ้วและการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ดังนั้น เราจึงต้องเป็นผู้ควบคุมตัวเองให้พูดแต่สิ่งที่ดีๆ และอย่าให้คำพูดของเราไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วยการใช้คำพูดที่รุนแรง ไม่สุภาพ พูดจาหยาบคาย ด่าทอ สาปแช่ง โกหกมดเท็จ นินทา ประณามใส่ร้าย พูดจาดูถูกดูแคลน พูดดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นเพียงเพราะไม่พอใจหรือขัดแย้งกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอิบรอฮีม อายะฮฺที่ 24 - 26 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
أَلَمْ تَرَ كَيْفَ ضَرَبَ اللَّهُ مَثَلًا كَلِمَةً طَيِّبَةً كَشَجَرَةٍ طَيِّبَةٍ أَصْلُهَا ثَابِتٌ وَفَرْعُهَا فِي السَّمَاءِ
تُؤْتِي أُكُلَهَا كُلَّ حِينٍ بِإِذْنِ رَبِّهَا ۗ وَيَضْرِبُ اللَّهُ الْأَمْثَالَ لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمْ يَتَذَكَّرُونَ
وَمَثَلُ كَلِمَةٍ خَبِيثَةٍ كَشَجَرَةٍ خَبِيثَةٍ اجْتُثَّتْ مِن فَوْقِ الْأَرْضِ مَا لَهَا مِن قَرَارٍ
“เจ้าไม่เห็นหรือว่า อัลลอฮฺได้ทรงยกอุทาหรณ์ว่า อุปไมยคำพูดที่ดี อุปมาดั่งต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรงที่หยั่งรากลึกลงไปในแผ่นดินอย่างมั่นคง ลำต้นของมันจะชูขึ้นไปแตกกิ่งก้านออกไปในท้องฟ้า ออกดอกออกผลอยู่ตลอดเวลาโดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน
โดยที่อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์นี้แก่มนุษย์ทั้งหลายเพื่อพวกเขาจะได้รำลึกนึกคิดได้ และ(พระองค์ก็ยังได้ทรงยกอุทาหรณ์ต่ออีกว่า)
อุปไมยคำพูดที่ไม่ดี อุปมาดั่งต้นไม้ที่โอนเอนแห้งแล้งอับเฉา ไม่มีรากที่หยั่งลึกลงไปในแผ่นดิน เมื่อเกิดพายุมันก็จะล้มลง ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ไม่มีความมั่นคงอันใดเลย”
ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า คำพูดที่ดี คือคำกล่าว “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น คือ มุอ์มิน
ดังนั้น คำพูดที่ดีจะนำเราไปสู่การมีอีมานต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นำเราไปสู่การเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ นำเราไปสู่ความโปรดปรานของพระองค์ นำเราไปสู่การเป็นมุอ์มิน ซึ่งมันจะมีผลให้เราได้รับผลตอบแทนความดีอันมากมายที่เกินคุ้มอยู่ตลอดเวลาและตลอดไป ดังเช่นต้นไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรงก็จะออกดอกออกผลอยู่ตลอดเวลาด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ในทางตรงข้าม คำพูดที่ไม่ดีนั้น เป็นคำพูดที่จะนำเราไปสู่การทำชิริก นำเราไปสู่การเป็นมุนาฟิก มันจะนำเราออกห่างจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำให้เราได้รับความโกรธกริ้วจากพระองค์ นำเราไปสู่สิ่งที่เป็นฟิตนะฮฺต่างๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้เราได้รับความดีงามใดๆเลย แต่กลับจะทำให้เราได้รับโทษอีกต่างหาก
มุสลิมนอกจากจะเป็นผู้ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ใครๆ จากคำพูดของเขาแล้ว “มุสลิมยังต้องไม่เป็นผู้ที่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ใครๆ อันเนื่องมาจากการกระทำของเขา” อีกด้วย มุสลิมจะไม่ไปทำร้ายทำลายใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่รังแกใคร ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่กดขี่ข่มเหงใคร ไม่คดโกงใคร ไม่คอร์รัปชั่นใคร ไม่กอบโกยผลประโยชน์ของคนอื่นเอามาเป็นของตัวเอง เขาจะไม่ทุจริตต่อหน้าที่ เขาจะรักษาความยุติธรรม เขาจะรักษาสิทธิของผู้อื่น เขาจะให้เกียรติผู้อื่น ไม่ดูถูก ไม่ดูหมิ่น ไม่เหยียดหยาม ไม่เยาะเย้ยถากถางใคร ไม่สอดรู้สอดเห็น ไม่สอดแนม ไม่สงสัยใคร เขาจะประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงามโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี สิทธิและความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
มุสลิมจึงต้องไม่ยอมให้คำพูดและการกระทำของเขาไปทำร้ายผู้อื่น หรือไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น หรือไปทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะการกระทำดังกล่าวอิสลามถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบาปใหญ่ และถือเป็นความผิดขั้นรุนแรง เพราะการพูดและการกระทำที่ไปทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้อื่น แม้เพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้อื่นที่ถูกกล่าวหาหรือถูกใส่ร้ายนั้นได้สูญสิ้นไป
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลหุญุรอต อายะฮฺที่ 11-12 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสเตือนไว้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا يَسْخَرْ قَوْمٌ مِنْ قَوْمٍ عَسَى أَنْ يَكُونُوا خَيْراً مِنْهُمْ وَلا نِسَاءٌ مِنْ نِسَاءٍ عَسَى أَنْ يَكُنَّ خَيْراً مِنْهُنَّ وَلا تَلْمِزُوا أَنْفُسَكُمْ وَلا تَنَابَزُوا بِالْأَلْقَابِ بِئْسَ الِاسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإِيمَانِ وَمَنْ لَمْ يَتُبْ فَأُولَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ، يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اجْتَنِبُوا كَثِيراً مِنَ الظَّنِّ إِنَّ بَعْضَ الظَّنِّ إِثْمٌ وَلا تَجَسَّسُوا وَلا يَغْتَبْ بَعْضُكُمْ بَعْضاً أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَنْ يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتاً فَكَرِهْتُمُوهُ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ تَوَّابٌ رَحِيمٌ
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยถากถางชนอีกกลุ่มหนึ่ง (เพราะ)บางทีกลุ่มชนที่ถูกเยาะเย้ยถากถางนั้น จะดีกว่ากลุ่มชนที่ไปเยาะเย้ยถากถางเขา
และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยถากถางสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง (เพราะ)บางทีกลุ่มสตรีที่ถูกเยาะเย้ยถากถางนั้น จะดีกว่ากลุ่มสตรีที่ไปเยาะเย้ยถากถาง
และพวกเจ้าอย่าได้ใส่ร้ายตัวเอง(อันเนื่องมาจากการที่ไปพูดจาใส่ร้ายผู้อื่น เพราะมุสลิมนั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน เมื่อเราพูดจาใส่ร้ายใครก็เสมือนเราได้พูดจาใส่ร้ายตัวเอง)
และ(พวกเจ้า)อย่าได้ล้อเลียนกันด้วยการตั้งฉายาที่ไม่ดี ...ช่างเลวร้าย เลวทรามจริงๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาถูกขนานนามว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนภายหลังจากที่เขาได้มีการศรัทธาแล้ว
และผู้ใดก็ตามที่ไม่สำนึกผิด(ในสิ่งดังกล่าว ยังจะทำอีก) เขาเหล่านั้นแหละคือบรรดาผู้อธรรม”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลายังทรงเตือนต่อไปอีกว่า
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงห่างไกลจากความสงสัยต่างๆ(โดยการให้ร้ายผู้อื่น) เพราะการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป
และจงอย่าสอดแนม และจงอย่านินทาลับหลังกัน
ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่เสียชีวิตแล้วทั้งๆที่พวกเจ้ารังเกียจมัน กระนั้นหรือ
(คือเปรียบเทียบการนินทาว่าเหมือนการกินเนื้อพี่น้องที่เสียชีวิตแล้ว ว่ามันสิ่งที่น่ารังเกียจเพียงใด ดังนั้นการนินทาจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่า และโทษของมันก็ร้ายแรงกว่าด้วย)
และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงให้อภัยและเป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งให้เรายำเกรงต่อพระองค์ ดังนั้น ใครก็ตามที่ยำเกรงต่อพระองค์และหวังจะเป็นผู้ศรัทธา ก็จงอย่าให้คำพูดของเขาไปอธรรมใครต่อใคร อย่าให้การกระทำของเขาไปทำให้ใครๆต้องได้รับความเดือดร้อน อย่าให้การกระทำของเขาเป็นกฎหมู่ที่อยู่เหนือกฎหมาย อย่าให้การกระทำของเขาต้องไปทำร้าย ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี ทำลายความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ของใครต่อใคร
การเป็นมุสลิมดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องอยู่ภายใต้หลักศรัทธาหรือหลักอีมานอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เพราะการอีมานอย่างบริสุทธ์ใจ อย่างอิคลาศ จะเป็นสิ่งที่ควบคุมคำพูดและการกระทำของเราให้อยู่ในขอบเขตที่ดีงาม มันจะคอยขัดเกลาจิตใจของเรา มันจะทำให้เราคิดดีและกระทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้ตัวเรามีอัคลากหรือมีจรรยามารยามอันดีงาม เพราะเราผูกพันคำพูดและการกระทำของเราไว้กับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
และหากเราได้ลองมโนภาพนำเอาลักษณะของมุสลิมดังกล่าวข้างต้นที่ยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนาอย่างบริสุทธิ์ใจ มาทาบลงบนสังคมที่มีฟิฏนะฮฺต่างๆมากมายอย่างเช่นในสถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนี้ เราจะพอมองเห็นภาพของคนดีว่า คนดีในสังคมจะไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ
♦ เมื่อเขาพูด เขาจะไม่พูดอย่างโกรธแค้น เขาจะไม่พูดจาเยาะเย้ยถากถางใคร เขาจะไม่พูดทำร้าย ทำลายใคร ไม่พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามใคร ไม่พูดจาในเชิงใส่ร้ายป้ายสีใคร ไม่มีคำพูดที่แสดงออกถึงความเกลียดชังอันจะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม ทำให้ผู้คนในสังคมต้องแบ่งเป็นฝ่ายๆ ไม่รักกัน ไม่ปรองดอง ไม่สามัคคีกัน
♦ เขาจะเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ รักษาคำพูด ไม่พูดจาโกหกมดเท็จ เชื่อถือไม่ได้ เมื่อเขาเป็นผู้นำในสังคม ไม่ว่าจะในสังคมระดับไหน เขาก็จะเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม เป็นผู้นำที่มีความยุติธรรม เป็นผู้นำที่เคารพในสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้นำที่ไม่รังแกใคร ไม่เอาเปรียบใคร ไม่กดขี่ข่มเหงใคร
♦ เขาจะไม่คดโกงใคร เขาจะไม่คอร์รัปชั่น ไม่ละเมิดสิทธิของใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนจากคำพูดและการกระทำของเขา ดังกล่าวนี้แหละที่จะทำให้ผู้คนในสังคมมีความรักใคร่สามัคคีกัน ปรองดองกัน มีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน ให้อภัยกัน ทำให้สังคมเข้มแข็ง และมีความสงบสุข
อย่างไรก็ตาม เราอย่าเป็นเพียงผู้ที่ถามหาคนดีในสังคม หรือถามหามุสลิมที่ดีในสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เราควรที่จะเป็นผู้ที่ดำรงตนให้เป็นคนดี ให้เป็นมุสลิมที่ดีด้วย เพราะการที่เราพยายามขัดเกลาตัวเราให้เป็นมุสลิมที่ดี มันก็จะเป็นเครื่องป้องกันตัวเรา ไม่ให้เป็นผู้ที่ก่อความเลวร้ายขึ้นในสังคม ไม่เป็นต้นเหตุที่ทำให้สังคมไม่สงบสุข
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่มนุษย์ทุกคนปลอดภัยจากคำพูดและการกระทำของเราตลอดไป
( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )