เมื่อคุณเป็นผู้พูด ผมเป็นผู้ฟัง
  จำนวนคนเข้าชม  3738


เมื่อคุณเป็นผู้พูด ผมเป็นผู้ฟัง

 

โดย... วิศรุต เลาะวิถี

 

          ในสถานการณ์หนึ่งที่มีคนหนึ่งเป็นผู้พูดและอีกคนหนึ่งเป็นผู้ฟัง หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกสถานการณ์นี้ในเชิงวิชาการว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นหลักพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อการสร้างความประทับใจ ความรักใคร่ ความชอบพอกัน และความเป็นมิตรกัน ทั้งยังเป็นแนวทางที่นำไปสู่มิตรภาพ การใช้ชีวิตร่วมกัน ตลอดจนการทำงานร่วมกัน ประเด็นสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลเกิดจากองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ความใกล้ชิด ความเหมือนกัน และสถานการณ์

 

         ความใกล้ชิด หมายถึง การที่บุคคลอยู่ใกล้ชิดกัน จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์มากกว่าบุคคลที่อยู่ห่างไกลกัน ความเหมือนกันหรือความคล้ายกัน ซึ่งโดยทฤษฎีแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์ และมีความชอบพอกับคนที่มีความเหมือนหรือคล้ายกับตัวเอง ส่วนสถานการณ์เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เช่น การมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ดีร่วมกัน การมีโอกาสได้ปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น ความกระตือรือร้นในการที่จะพบปะกับผู้อื่น การถูกแยกตัวออกจากสังคมนานๆ และการเติมเต็มความต้องการของกันและกัน

 

บทบาทหน้าที่ของการสื่อสารระหว่างบุคคล

 

          โดยทั่วไปแล้ว การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นเป็น ความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ และความสอดคล้องกันของผู้ส่งสาร แหล่งข้อมูลกับผู้รับสารอันจะนำไปสู่จุดหมายร่วมกัน และมีความสมบูรณ์แบบ ดังนั้น การสื่อสารระหว่างบุคคลจึงมีขึ้น เพื่อการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นให้ผู้ที่สื่อสารเข้าใจเนื้อหา หรือข้อมูลร่วมกันอย่างถูกต้อง ลักษณะเช่นนี้เหมือนการสื่อสารภายในองค์การเพื่อการปฏิบัติงานร่วมกัน

 

     ♣ การสื่อสารเพื่อสร้างความชื่นชอบ การสื่อสารโดยทั่วไป มิใช่มุ่งเฉพาะสื่อสารแต่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น การมีอารมณ์ร่วม และมีความพึงพอใจ จะช่วยสร้างสัมพันธภาพและความรู้สึกชื่นชอบของการสื่อสารซึ่งกันและกันอีกด้วย

 

     ♣ การสื่อสารเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการมีทัศนคติร่วมกัน โดยเฉพาะ ความล้มเหลวในการสื่อสาร บางครั้งเกิดจากความไม่เข้าใจในความคิดและทัศนคติที่แตกต่างกัน ดังนั้น การสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ตรงกัน จึงทำให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้

 

     ♣ การสื่อสารเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สารถส่งผลต่อความสำเร็จในการสื่อสาร คือความรู้สึกที่ดีต่อกัน ดังนั้น การสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน จะช่วยให้การสื่อสารในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

     ♣ การสื่อสารเพื่อทำให้เกิดการกระทำตามความต้องการในการสื่อสาร วัตถุประสงค์อันหนึ่งที่มักจะเกิดตามมาคือ การสร้างความมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคิดเห็นร่วมกัน และการกระทำร่วมกันในสิ่งที่ต้องการ

 

การสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

          โดยทั่วไป มนุษย์จะสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศของความไว้ใจกัน มีความเข้าใจกัน โดยความสัมพันธ์ของมนุษย์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

 

     ความสัมพันธ์ด้านกายภาพ (Physical Relationship) เช่น การอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันกลุ่มเดียวกัน หรือที่ทำงานเดียวกัน อีกประเภทหนึ่งก็คือ 

 

     ความสัมพันธ์ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมและจิตใจ (Climate of Social-Psychological Relationship) โดยความสัมพันธ์จะพัฒนาขึ้นได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ คือ

     สภาพแวดล้อมทางสังคมและจิตใจ การสร้างบรรยากาศของการสื่อสารให้เอื้อและสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร จะช่วยให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เช่น การเป็นเพื่อนเก่ากัน การเคยพบปะกันมาก่อน เคยทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการมีความเข้าอกเข้าใจกัน

     ระยะเวลาในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เวลาจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเวลานานขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

 

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข่าวสารของมนุษย์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันในแนวกว้าง (Breadth) และแนวลึก ในแนวกว้าง (Depth) นั้น จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั่วไปในระดับผิวเผิน เช่น เพิ่งรู้จักกันก็จะคุยกัน ในหัวข้อที่หลากหลายเกี่ยวกับดิน ฟ้า อากาศ อาหาร การท่องเที่ยว ถ้าเป็นแนวลึก ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น อาจเกี่ยวกับครอบครัวและหน้าที่การงาน ซึ่งจะเกิดการสื่อสารแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้สื่อสารมีความตั้งใจที่จะให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับใด

 

          การไว้วางใจซึ่งกันและกัน การที่บุคคลมีความไว้ใจ รู้สึกปลอดภัย สบายใจ ต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่งก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น

 

          ความรักและการควบคุมซึ่งกันและกัน ความรัก ความเกลียด การควบคุม การชี้นำ การช่วยเหลือกัน การร่วมมือกัน สามารถส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ได้ใน 2 แบบ คือ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายได้รับการตอบสนองจุดมุ่งหมายร่วมกันจากความสัมพันธ์ และได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่ อีกแบบหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์แบบถาวร โดยการสื่อสารที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้ ยืนยาวมากขึ้น

 

พลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

     การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เกิดขึ้น ซึ่งโดยเหตุผลทั่วไป มี 3 ขั้นตอน คือ

 

     ขั้นการเริ่มสร้างความสัมพันธ์ ถือเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อที่จะสร้างความคุ้นเคยก่อนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อไป เป็นการพูดคุยหรือสนทนาในเรื่องสัพเพเหระทั่วๆ ไป

 

     ขั้นการรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว หลังจากที่เกิดความสัมพันธ์ขั้นแรก ก็จะก้าวเข้าสู่ขั้นของการรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำได้ยากและต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากและต้องสร้างความสมดุลระหว่างบุคคลให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และยังต้องเติมเต็มความคาดหวังซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จะทำให้เกิดความรู้สึกทางบวกซึ่งกันและกัน และรู้สึกมีความคุ้มค่าที่มีความสัมพันธ์กัน

 

     ขั้นหยุดหรือเลิกความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นถดถอย หลังจากที่เกิดความสัมพันธ์ในขั้นสูงสุดแล้ว จะเป็นการยุติความสัมพันธ์ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การบอกหยุดความสัมพันธ์โดยทางตรง (Directness) เป็นการให้เหตุผลโดยตรง และอาจเป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ อีกลักษณะหนึ่ง คือ การบอกหยุดความสัมพันธ์โดยทางอ้อม (Indirectness) เป็นการให้เหตุผลทางอ้อม เพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

 

ลักษณะการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

     การเริ่มสร้างความสัมพันธ์ : ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องหลายประการที่สามารถช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ เช่น การมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง เข้าใจตัวเอง การใช้ภาษาที่ดี ทั้งคำพูดและกิริยาการแสดงออก ความมั่นใจในการเริ่มต้นสนทนา การจดจำชื่อและให้ความสำคัญคู่สนทนา การเป็นผู้ฟังที่ดี และการเปิดเผยตัวเอง เพื่อให้ผู้อื่นรู้จักตัวตน

 

     การสานต่อความสัมพันธ์ : หลังจากที่เกิดความสัมพันธ์แล้ว ต้องรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ซึ่งมีหลายวิธีที่ควรทำ เช่น การมีความสนใจ เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน และการให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยยอมรับข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่ง การมีความเคารพสิทธิหน้าที่ และการให้ความรักความเอื้ออาทร สามารถช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้

 

          ลักษณะการสื่อสารเพื่อถนอมความสัมพันธ์ให้ยืนยาว : การถนอมความสัมพันธ์ให้ยืนยาว เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก หากแต่ว่า ควรมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญ เช่น รู้จักมีเวลาให้แก่กันและกัน มองกันในแง่ดี มีอารมณ์ขันบ้าง รักษาสัญญาและชมคนอื่นให้เป็น การไม่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น การมีความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยถนอมความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

 

บทสรุป

 

          จากสาระข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือลักษณะที่คนหนึ่งเป็นผู้พูด และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ฟังนั้น เป็นประเด็นสำคัญของการสื่อสาร และจำเป็นที่ผู้พูดทั้งสองลักษณะ ต้องมี หลักคิดสำคัญ เพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างกันมีความราบรื่นและบรรลุสู่จุดหมายร่วมกันได้ 

 

           การสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากเป็นการสร้างความชื่นชอบและได้รับความชื่นชมแล้ว ยังเป็นการสร้างอิทธิพลทางจิตใจ และยกระดับความสัมพันธ์ให้มีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเริ่มต้นที่ระดับปัจเจกบุคคล คณะบุคคล ชุมชน สถาบัน องค์กร จนถึงสังคมประเทศชาติ นั่นคือ การสื่อสารระหว่างบุคคลจากรากแก้วที่มีประสิทธิภาพ ย่อมนำผลดีไปสู่สังคมโดยภาพรวมอย่างแน่นอน

 

 

ที่มา : วารสาร สมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิม 2552