บ า ป
  จำนวนคนเข้าชม  3231


" บ ป "

 

โดย... กอเซ็ม มั่นคง

 

          พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้สร้างมนุษย์มาเพื่อให้รู้จักพระองค์ และเพื่อทำการ อิบาดะห์ต่อพระองค์ ให้มนุษย์เกิดความยำเกรงพระองค์ ได้มอบหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงความ เกรียงไกรของพระองค์ และยังได้บอกลักษณะการลงโทษที่รุนแรงและที่พำนักของการทรมานที่ได้ตระเตรียมไว้ให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อมนุษย์จะได้รีบเร่งไปสู่การปฏิบัติคำสั่ง รักและยินยอมต่อพระองค์ และมนุษย์จะห่างไกลจากข้อห้ามต่างๆ ตามที่พระองค์ทรงปฏิเสธ

 

          เป็นที่น่าสังเกตว่ามนุษย์ในปัจจุบัน บางคนตั้งใจที่จะละเมิดข้อห้ามต่างๆ ของพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กระทำในสิ่งที่ต้องห้าม อนุมัติในสิ่งที่ถูกห้ามไว้ ส่วนคำสั่งใช้ต่างๆ กลับห่างไกล และสลัดทิ้ง ตัดขาดระหว่างเขากับพระองค์ผู้ทรงสร้างเขาและผู้ทรงปัจจัยให้เขา ล่วงละเมิดโดยเหตุผลที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพกายและกาลเวลา

           บางคนลืมไปว่า อัลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะต้องลงโทษต่อคำสั่งใช้ที่เขาละทิ้ง และถูกลงโทษที่เขาได้ทำในสิ่งต้องห้าม ซึ่งการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา รุนแรงยิ่งนัก ตามที่พระองค์ได้คาดโทษที่ฝ่าฝืนคำสั่งโดยที่พระองค์ทรงโกรธและเกลียดและได้เตือนไว้มากมายถึงลงบทโทษต่างๆ

 

          คำว่าบาปคือ ม่านที่ปิดกั้นจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันคือมรดกแห่งความต่ำช้าและต่ำต้อย ที่พระองค์อันดับแรกและต่ำต้อยสำหรับมนุษย์เป็นลำดับต่อมา ท่านอิบนุกอยยิบ ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่ามันเป็นความจำเป็นที่ต้องรู้ว่าบาปต่างๆ และการทำมะซิยัตต่างๆ มันเป็นอันตราย มันเป็นอันตรายต่อจิตใจเหมือนเชื้อโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายบนความแตกต่างของระดับเชื้อโรค ความชั่วและโรคร้ายทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ ไม่มีสาเหตุใดนอกจาสาเหตุแห่งบาปต่างๆ และการฝ่าฝืนต่างๆ

 

เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าบาปคืออะไร

 

     ท่านอบูฮามิต อัลฆอซาลี ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า บาป คือ ทุกสิ่งที่มันเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺในการกระทำหรือการละทิ้งการกระทำ 

          บางทัศนะคำนิยามว่า บาป คือ การละทิ้งสิ่งที่ถูกใช้ให้ปฏิบัติและกระทำในส่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย หรือการละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺได้บังคับใช้จากคัมภีร์ของพระองค์ หรือที่มาจากคำสั่งท่านร่อซูลของพระองค์ และประกอบสิ่งที่ได้ทรงห้ามไว้และท่านร่อซูลุลลอฮฺได้ทรงห้ามไว้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดต่างๆ และการกระทำต่างๆ ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย 

อัลกุรอานได้ระบุไว้ว่า

 

     “และผู้ใดดื้อดึงต่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์แล้วและได้ละเมิดขอบเขตต่างๆ พระองค์จะนำเขาลงนรกที่ถาวรและเขาจะได้รับการทรมานอันอัปยศ

(อันนิซาอฺ 4 : 14)

 

บาปมี 2 ชนิด คือ บาปใหญ่ และบาปเล็ก

 

     บาปใหญ่ ท่านอิบนุอับบาส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่าบาปใหญ่คือทุกๆ บาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตราประทับลงโทษไว้ด้วยไฟหรือความโกรธหรือสาปแช่งหรือลงโทษ” 

     บางท่านกล่าวว่า บาปใหญ่ คือ ทุกๆ ความชั่วช้าที่มีการลงโทษในดุนยาและคาดโทษในอาคิเราะฮฺจากการทรมาน การโกรธกริ้วหรือสาปแช่งผู้กระทำผิด

     จำนวนบาปใหญ่ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรมัสอู๊ด กล่าวว่า มี 4 อย่าง อับดุลเลาะฮฺ อิบนุอุมัรกล่าวว่ามี 7 อย่าง ท่านอับดุลลอฮฺบุตรอับบ๊าส กล่าวว่า มี 70 อย่าง บางท่านกล่าวว่ามีถึง 700 ชนิด 

 

     บาปใหญ่ เช่น การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ การทำไสยศาสตร์ การฆ่า กินทรัพย์ลูกกำพร้าอย่างอธรรม กินดอกเบี้ย ดื่มสุรา ตัดญาติ การยุแหย่ การที่ผู้ชายลอกเลียนแบบผู้หญิง ผู้หญิงเลียนแบบผู้ชาย การรับสินบน

 

     ตัวอย่าง บาปเล็ก เช่น การมองสตรีเพศ การถ่มน้ำลายในที่ละหมาด การทะเลาะวิวาท การด่าทอ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

สาเหตุที่เกิดบาปต่างๆ

 

1. การทดสอบจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี 

พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า

 

“..และเราจะทดสอบพวกเจ้าทั้งสิ่งที่ไม่ดีและสิ่งที่ดีเพื่อเป็นการทดสอบและพวกเจ้าก็จะถูกนำกลับมายังเรา..”

(อัลอัมบิยาอฺ 21 : 35)

 

2. เกิดจากการที่ศรัทธาอ่อนแอและความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺอ่อนแอไม่เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

          การที่อีหม่านอ่อนแอต่ออัลลอฮฺผู้ทระทานริสกี ผู้ควบคุมการงานทั้งหลายเป็นอันตรายอันใหญ่หลวง เพราะการขาดการเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ จะทำให้มนุษย์ขาดความกลัวในสัญญาต่างๆ 

          สัญญาคาดโทษที่มาจากอัลลอฮฺ สัญญาของอัลลอฮฺในดุนยา การช่วยเหลือ ความสุขต่างๆ และความสูงส่ง ส่วนสัญญาในโลกอาคิเราะห์ก็คือ สวนสวรรค์ซึ่งอัลลอฮฺได้เตรียมไว้ผู้ที่ยำเกรงต่อพระองค์ ส่วนสัญญา การคาดโทษในดุนยาก็คือ ความทุกข์ยาก ความต่ำต้อย และขาดความสงบสุข ส่วนสัญญาการคาดโทษในอาคีเราะฮฺก็คือ การลงโทษที่รุนแรง การพันธนาการ การที่จะถูกกระชากลงนรกอันเป็นสถานที่ที่เลวที่สุด

 

3. การที่ไม่รู้จักความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ 

          การเป็นคนไม่รู้นั้นมันคือโรคร้ายร่าชีวิตคน ส่วนยาที่จะรักษาได้มี 2 อย่าง คือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

4. มีความรักในดุนยาและคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ 

          มนุษย์จะถูกประดับประดาด้วยความรักใน ความใคร่จากสตรีเพศ ลูกหลาน ทรัพย์สิน เงินทอง ทองคำ สัตว์ที่มีราคาแพง ปศุสัตว์ ไร่นา โดยมนุษย์คิดว่ามันคือความสุขอย่างแท้จริงแล้วมันเป็นความสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืนจีรัง มันคือความสุขที่หลอกลวงมนุษย์ให้หลงใหล ถ้าไม่ระวังก็จะตกเป็นเหยื่อของดุนยานี้ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

“..ความสุขในดุนยานี้ไม่มีอะไรนอกจากเป็นความจอมปลอมเท่านั้น

(อาละอิมรอน 3 : 185)

 

5. มีการหลงลืมและขาดสติ 

          มนุษย์ชอบละทิ้งแนวทางที่เป็นทางนำ ไม่ใช้สติไตร่ตรอง ชอบตกอยู่ในการหลงผิด ขาดจิตสำนึก ขาดสติเมื่อถูกหลอกลวง ชอบในสิ่งที่เป็นสิ่งเพ้อฝัน

 

6. ชัยฏอนได้ประดับประดาให้มนุษย์เพื่อความชั่วร้าย และพยายามให้ตกอยู่ในความคลุมเครือในสื่อต่างๆ 

พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ว่า

 

     “แท้จริงชัยฏอนมารร้ายนับเป็นศัตรูกับพวกเจ้า พวกเจ้าจงยึดมั่นเป็นศัตรูแท้จริง ชัยฏอนจะเรียกร้องเชิญชวนไปสู่พรรคพวกของมันเพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นชาวนรก

(ฟาฏิร 35 : 6)

 

ผลพวงบางประการที่ได้รับจากการทำบาป เช่น

   - ริสกีที่ถูกตัดออก เพราะการตักวาจะนำซึ่งริสกี (ปัจจัย) การละทิ้งการตักวาจะนำซึ่งความยากจน

   - วิชาความรู้ถูกตัดออก เพราะความรู้คือแสงสว่างที่อัลลอฮฺให้มาในจิต ส่วนความชั่วหรือบาปคือสิ่งที่ไปดับแสงสว่างอันนั้น

   - ความภักดีถูกตัดออกจากตัวผู้ทำบาป

   - บาปต่อตนเองนั้นทำให้หัวใจและร่างกายอ่อนแอลงพร้อมรับโรคร้ายต่างๆ

   - บาปทำให้อายุสั้นลง ทำลายบารอกัต ส่วนความดีนั้นเพิ่มอายุ ความชั่วลดอายุให้สั้นลง

   - ความชั่วหรือบาปจะเพาะเชื้อเหมือนกันขึ้น

   - บาปทำให้หัวใจอ่อนแอจากการภักดี แต่จะเพิ่มพลังแห่งความต้องการความชั่ว

   - บาปทำให้การละอายหายไปจากตัวเขา

   - บาปเมื่อทำมากหัวใจจะถูกปิดและกลายเป็นคนหลงลืม

   - บาปทำให้เกียรติยศตกไป ทำให้หมดศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และยังมีอีกบทบาทที่เป็นผลพวงของการทำบาป

 

แนวทางป้องกันให้พ้นจากการทำบาป

 

1. ต้องมีการตักวาต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า

 

แท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับพวกที่มีความตักวาและพวกที่ทำความดี

(อันนนะหฺลฺ 16 : 128)

 

2. ต้องมีการสำนึกผิด (เตาบะหฺ) คือ ต้องมีการนึกกลับเนื้อกลับตัว พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า

 

“...และพวกเจ้าจงสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ไปยังอัลลอฮฺ โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าทั้งหลายจะได้รับชัยชนะ

(อันนูรฺ 24 : 31)

เงื่อนไขการเตาบะห์ 

     1) ถอนตัวจากบาปนั้นๆ

     2) เสียใจในการกระทำที่ผ่านมา

     3) ตั้งใจจะไม่หวนกลับไปทำอีก

     4) ถ้าหากเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องนำสิ่งนั้นคืนให้กับเขาไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสิทธิ์อื่นๆ

 

3. การอิสติฆฟาร การขออภัยโทษ การขออภัยให้ทำควบคู่ไปพร้อมกับการเตาบะห์

 


4. การซิกรุลลอฮฺ

          รำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่เสมอด้วยการทำสิ่งที่เป็นฟัรดูและซุนนะฮฺด้วย การทำการบริจาค การถือศีลอดทั้งฟัรดูและซุนนะฮฺ ด้วยการทำฮัจญ์ และอุมเราะฮฺและด้วยการซอลาวาตต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

          การทำบาปถึงแม้ว่าจะมีโทษมากมายประการใดก็ตาม ถ้าผู้กระทำไม่หลงลืมที่จะรำลึกถึงอัลลอฮฺ เขาผู้นั้นก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการยกโทษ อภัยโทษจากพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้เราทุกคนเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตาและได้รับการอภัยจากพระองค์

 

 

ที่มา : วารสาร สมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิม 2552