การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
โดย พลังชีวิต
ความร่ำรวย และความยากจนมาจากพระผู้เป็นเจ้า การที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลก โดยมีสภาพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานะหรือสภาพร่างกาย ก็เพื่อทดสอบความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อพระองค์ และเพื่อให้มนุษย์ได้มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
พระองค์มิได้ทรงประสงค์ให้มีการกดขี่ หรือดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ฉะนั้น พระองค์จึงได้วางกรอบในการดำเนินชีวิต เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพระองค์ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าระบบซะกาตซึ่งเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ในภาคบังคับ สำหรับผู้ที่มีเงินสะสมถึงเกณฑ์และกรอบเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ หรือการส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบต่างๆ โดยพระองค์จะทรงตอบแทนผลบุญแก่ผู้ที่ปฏิบัติอย่างมากมาย
ในสังคมมนุษย์นั้น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันส่วนใหญ่จะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งผู้ขอกู้ยืมจะต้องนำหลักทรัพย์มูลค่าสูงกว่าเงินที่ขอกู้ยืมมาค้ำประกันไว้กับผู้ให้กู้ ซึ่งตามข้อกำหนดของอิสลามนั้น ผู้ให้กู้ยืมไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ จากผู้ขอกู้ยืม เพราะอัตราเงินที่ให้กู้ยืมนั้นมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีสัญญาการกู้ยืมเงินที่มีพยานรับรองชัดเจนอยู่แล้ว
แต่ยังมีมุสลิมบางส่วนที่เข้าใจผิดคิดว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยสมบูรณ์ จึงได้มีการเรียกร้องค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ จากผู้ขอกู้ยืม ไม่ว่าจะในรูปแบบของกำไรหรือค่าเช่าในหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “ดอกเบี้ย”
นอกจากนั้น ตามข้อกำหนดของอิสลาม เมื่อผู้ขอกู้ยืมมาขอไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้คืนหรือชำระหนี้ที่กู้ยืมไปหมดแล้ว ผู้ให้กู้ยืมต้องคืนหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันนั้นแก่ผู้ขอกู้ยืมโดยดี และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
แต่ถ้าถึงเวลาที่กำหนดผู้ขอกู้ยืม ยังไม่มีเงินมาไถ่ถอน ก็ให้ผู้ให้กู้ยืมยืดเวลาการไถ่ถอนออกไป แต่ถ้าผู้ให้กู้ยืมมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ผู้ให้กู้ยืมก็มีสิทธิ์ที่จะขายหลักทรัพย์นั้นได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ขอกู้ยืมทราบถึงความจำเป็น และราคาที่จะขายหลักทรัพย์นั้นๆ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ขอกู้ยืมได้หาผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงกว่ามาซื้อ และเมื่อขายหลักทรัพย์นั้นได้แล้ว ผู้ให้กู้ยืมจำเป็นต้องคืนเงินส่วนเกินจากที่ผู้ขอกู้ยืมได้กู้ยืมไปให้กับผู้ขอกู้ยืม โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้ให้กู้ยืมต้องจ่ายไปดันเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลักทรัพย์นั้น ระหว่างที่ผู้ขอกู้ยืมยังไม่มาไถ่ถอนจนถึงเวลาที่ขายทอดตลาดได้ แต่ให้ผู้ยืมไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดเงินทั้งหมดเป็นของตน หรือยึดหลักทรัพย์นั้นไว้โดยไม่ขายทอดตลาดตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะหลักทรัพย์นั้นเป็นเพียงสิ่งค้ำประกันเงินกู้ยืมเท่านั้น แต่ถ้าผู้ให้กู้ยืมที่มีฐานะร่ำรวยไม่มีความเดือดร้อนใดๆ จะยกหนี้ให้เป็นทานก็จะเป็น การดียิ่ง
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้ากู้หนี้ยืมสินกัน จะด้วยหนี้สินใดๆ ก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลา (ใช้หนี้) ที่ถูกระบุไว้แล้ว ก็จงบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเถิด และผู้เขียนก็จงจดบันทึกระหว่างพวกเจ้าด้วยความเที่ยงธรรม และผู้จดบันทึกก็มียังจะบ่ายเบี่ยงที่จะบันทึก ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงสอนเขา
ดังนั้น เขาจงบันทึกโดยให้ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นผู้บอกข้อความให้ และให้เขายำเกรงอัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าของเขา อย่าได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่องในการนั้นเป็นอันขาด และแม้ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้ด้อยปัญญา หรือเป็นผู้อ่อนแอ หรือไม่สามารถจะบอกให้บันทึกได้ ก็จงให้ผู้ปกครองของเขาเป็นผู้บอกด้วยความเที่ยงธรรม
และพวกเจ้าทั้งหลาย จงให้มีพยานขึ้นสองนายจากบรรดาผู้ชายในหมู่พวกเจ้า แต่แม้นว่าไม่มีชายถึงสองคน ก็ให้มีชายหนึ่งคนและหญิงสองคนจากผู้ที่พวกเจ้าพึงใจในหมู่พยานทั้งหลาย เมื่อว่า นางหนึ่งนางใดในสองพยานนั้นเผอเรอ อีกนางหนึ่งก็จะทบทวนความจำให้ และบรรดาพยานทั้งหลายก็จงอย่าได้ปฏิเสธเมื่อพวกเขาถูกขอร้อง
และพวกเจ้าจงอย่าเบื่อหน่ายที่จะบันทึกหนี้สินนั้นไม่ว่าน้อยหรือมากก็ตาม กระทั่งกำหนดเวลาชำระหนี้ด้วย นี่แหละคือสิ่งที่ยุติธรรมยิ่งกว่า ณ อัลลอฮฺ และเที่ยงตรงยิ่งกว่าสำหรับเป็นหลักฐานยืนยัน และเสี่ยงน้อยกว่าในการที่เจ้าทั้งหลายจะเกิดความระแวงซึ่งกันและกัน
นอกจากว่า มันเป็นสินค้าที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าซึ่งพวกเจ้าหมุนเวียนมัน (ซื้อขายแลกเปลี่ยน) ระหว่างพวกเจ้าจะไม่บันทึกมัน แต่ให้มีพยานรู้เห็นในขณะที่พวกเจ้าซื้อขายกันนั้น และผู้จดบันทึกก็ดี ผู้เป็นพยานก็ดีก็มีพึงต้องให้รับความเสียหายแต่อย่างใด
หากเจ้าทั้งหลายขืนทำให้ผู้จดบันทึกและพยานต้องเสียหาย การนั้น เป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่งโดยพวกเจ้า และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด ด้วยอัลลอฮฺได้ให้ความรู้แก่พวกเจ้าทั้งหลาย และอัลลอฮฺย่อมทรงไว้ซึ่งความรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 282)
ที่มา : วารสาร สมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิม 2552