จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด
  จำนวนคนเข้าชม  9607


จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด

 

แปลเรียบเรียง .อาบีดีน พัสดุ

 

          บรรดามุสลิมทั้งหลาย อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสไว้ในโองการอันชัดแจ้งว่า

 

فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَاسْمَعُوا وَأَطِيعُوا وَأَنْفِقُوا خَيْرًا لِأَنْفُسِكُمْ وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ) (15) ،(16) التغابن

 

     “ดังนั้น จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ และจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามและบริจาคเถิด เพราะเป็นการดียิ่งสำหรับตัวของพวกเจ้า

     และผู้ใดถูกปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่แห่งจิตใจของเขา ชนเหล่านั้น พวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย โองการนี้เป็นโองการที่เรามักจะได้ยินผู้คนบางส่วนพูดถึงบ่อยครั้ง , เมื่อเราต่อว่าหรือตำหนิพวกเขา เมื่อพวกเขาละเลยต่อสิ่งที่เป็นวายิบ (จำเป็นจะต้องปฏิบัติ) ข้อปฏิบัติที่ได้ถูกบัญญัติให้กระทำ หรือเมื่อกระทำสิ่งที่ต้องห้าม , พวกเขาก็มักจะหวนกลับไปสู่โองการนี้ และพยายามเอามาเป็นหลักฐาน ข้อแก้ตัวต่อการละเลยสิ่งที่เป็นวาญิบ และเป็นข้อผ่อนผันในสิ่งที่ได้กระทำลงไป ดังกล่าวนี้คือความเข้าใจของผู้คนบางส่วน

คำดำรัสของอัลลอฮฺ

(فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ

 

ดังนั้น จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ

 

          เป็นโองการที่สั่งใช้ให้มุสลิมยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ตามความสามารถของเขา - ดังที่พวกเขาได้กล่าวอ้างและเมื่อละทิ้งบางเรื่องที่เป็นวายิบ จึงไม่เป็นความผิดใดๆ เมื่อกระทำบางสิ่งที่เป็นเรื่องต้องห้ามไม่อนุมัติ ก็จะไม่มีข้อตำหนิหรือความผิดใดๆเช่นกัน เพราะโองการนี้ได้ให้ข้อแก้ตัว และหยิบยื่นข้อผ่อนผันและทางออกให้แก่เขาไว้แล้ว

 

          ผลพวงที่สืบเนื่องจากความเข้าใจความหมายของโองการที่คลาดเคลื่อนไปนี้เอง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของบรรดามุสลิมเกี่ยวกับความเคร่งครัดในการประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นวายิบต่างๆในอิสลาม และการออกห่างไกลจากเรื่องราวที่ต้องห้าม โดยที่ความแตกต่างในการเคร่งครัดและปฏิบัติตามหลักการอิสลามของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความสามารถ ดังนั้น แต่ละคนจึงนำเสนอรูปแบบเฉพาะของตนเองในการปฏิบัติตามข้อชี้ขาดต่างๆของอิสลาม ซึ่งมีความแตกต่างจากรูปแบบที่ผู้อื่นจากเขาได้นำเสนอ

 

          ด้วยเหตุเหล่านี้เอง จึงทำให้อิสลามกลายเป็น -ด้านการประพฤติปฏิบัติ- อิสลามที่หลากหลายรูปแบบ , มีการปฏิบัติศาสนาที่แตกต่างกันออกไป , ทำให้พื้นฐานและข้อชี้ขาดของอิสลามนั้นถูกปล่อยปะละเลย ท่ามกลางสภาพการณ์ที่แต่ละคนต่างกล่าวอ้างว่าอยู่บนสัจธรรมความจริง กล่าวว่านี่แหละคือแนวทางของศาสนาที่อัลลอฮฺทรงต้องการ

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย เพื่อที่ความเข้าใจของพวกเราที่มีต่อโองการนี้จะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และมุมมองของเราต่อเงื่อนไขความสามารถที่อยู่ในโองการนี้ถูกต้อง จำเป็นที่เราจะต้องนำโองการอื่นๆในคัมภีร์ของอัลลอฮฺมาเทียบเคียง นั่นคือคำดำรัสของอัลลอฮฺ

 

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلاَ تَمُوتُنَّ إِلاَّ وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ} [آل عمران: 102].

 

     “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น

 

          โองการทั้งสองโองการนี้ได้สั่งใช้ให้เรายำเกรงต่ออัลลอฮฺ และแต่ละโองการก็ได้อธิบายจุดมุ่งหมายของกันและกัน , โองการในซูเราะฮฺ อาลิมิมรอน ได้สั่งใช้ให้เรายำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริง 

(اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ)

 

จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด

 

          คือ การยำเกรงที่สัจจริง บริสุทธิ์ใจ จริงจัง , ด้วยการทุ่มเท พละกำลัง และ (حق تقاتهความหมายของ ความสามารถของเราที่มีทั้งหมด เพื่อให้ได้มาซึ่งความยำเกรง และทำให้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และคงอยู่บนความยำเกรงนั้นตลอดการมีชีวิตของเรา โดยที่จะไม่มีคนใดในหมู่พวกเราที่เขาจะสิ้นชีวิต นอกเสียจากว่าเขาจะอยู่ในสภาพมุสลิม

 

          บรรดาชาวสลัฟกลุ่มหนึ่งได้ให้คำอธิบายโองการนี้เอาไว้ว่า

 

     (اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ) : คือการที่พระองค์จะได้รับการเชื่อฟังและภักดี ไม่ถูกละเมิดฝ่าฝืน , ได้รับการรำลึกถึง ไม่ถูกหลงลืม , ได้รับการขอบคุณ และไม่ถูกปฏิเสธ

     เพราะฉะนั้น  

     (اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ) : ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอนหมายถึง การทุ่มเทความสามารถความเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งความยำเกรง เหมือนกับคำสั่งในโองการของซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน

และโองการที่ว่า

     (فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ )  : ซึ่งเป็นโองการในซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน , อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้พวกเรายำเกรงพระองค์ตามกำลังความสามารถ 

 

          โดยที่จุดมุ่งหมายของคำว่า  {مَا اسْتَطَعْتُمْเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถได้ถูกอธิบายด้วยคำดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอน ที่ว่า  {حَقَّ تُقَاتِهِ} “(ยำเกรง) อย่างแท้จริงเถิด

 

        เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมุสลิมจะยังคงมิได้ยำเกรงอย่างแท้จริงตามกำลังความสามรถ นอกเสียจากว่าการยำเกรงนั้นเป็นการยำเกรงที่จริงจัง(สุดความสามารถ)

 

          โองการทั้งสองนี้ต่างอธิบายความหมายซึ่งกันและกัน , ทั้งสองโองการนี้จะต้องอยู่คู่กัน จึงทำให้ความหมายสมบูรณ์ , จำเป็นจะต้องอ่านและทำความเข้าใจในสองโองการนี้ไปพร้อมๆกัน นำมาเป็นหลักฐานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายที่ถูกต้อง ตรงตามเป้าประสงค์ของบัญญัติศาสนา

 

          และจากสิ่งที่มาเสริมให้เกิดความชัดเจนในเป้าประสงค์ของทั้งสองโองการนี้ คือฮาดีษของท่านร่อซู้ล  ดังที่ได้ปรากฏในซอฮีฮฺทั้งสอง โดยตัวบทที่เป็นคำกล่าวนี้อยู่ในบันทึกของอิหม่ามมุสลิม

 

(عَنْ أَبِى هُرَيْرَةَ قَالَ خَطَبَنَا رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- فَقَالَ« أَيُّهَا النَّاسُ قَدْ فَرَضَ اللَّهُ عَلَيْكُمُ الْحَجَّ فَحُجُّوا ».فَقَالَ رَجُلٌ أَكُلَّ عَامٍ يَا رَسُولَ اللَّهِ فَسَكَتَ حَتَّى قَالَهَا ثَلاَثًافَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- « لَوْ قُلْتُ نَعَمْ لَوَجَبَتْ وَلَمَا اسْتَطَعْتُمْثُمَّ قَالَذَرُونِي مَا تَرَكْتُكُمْ فَإِنَّمَا هَلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ بِكَثْرَةِ سُؤَالِهِمْ وَاخْتِلاَفِهِمْ عَلَى أَنْبِيَائِهِمْ فَإِذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَيْءٍ فَأْتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَإِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَيْءٍ فَدَعُوهُ ».

 

     จากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺร่อฏิฯ กล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ได้ให้โอวาทพวกเรา 

     ท่านกล่าวว่าผู้คนทั้งหลาย การทำหัจญ์ได้ถูกบัญญัติแก่พวกท่านแล้ว ดังนั้นพวกท่านจงไปทำหัจญ์เถิด” 

     แล้วชายคนหนึ่งก็กล่าวว่าทุกปีเลยกระนั้นหรือ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ?” 

     ท่านก็นิ่งเงียบ จนเขากล่าวถึงสามครั้ง 

     แล้วท่านก็กล่าวว่าหากฉันบอกว่าใช่ มันก็จะกลายเป็นวาญิบ และพวกท่านก็ไม่สามารถจะทำได้” 

     หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า

     “ปล่อยฉันเท่าที่ฉันทิ้งไว้ให้พวกท่านเถิด เพราะแท้จริงผู้ที่อยู่ก่อนหน้าพวกท่านได้พินาศไปด้วยเพราะการที่พวกเขาช่างถาม และช่างโต้แย้งกับบรรดานบีของพวกเขา

     ดังนั้น เมื่อฉันใช้พวกท่านในคำสั่งใด พวกท่านก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถ และเมื่อฉันห้ามพวกท่านในประการใด พวกท่านก็จงละทิ้งมัน

 

          ฮาดีษบทนี้ได้บ่งบอกถึงจุดยืนของมุสลิมที่มีต่อคำสั่งใช้และข้อชี้ขาดต่างๆของศาสนา , สิ่งใดก็ตามที่ถูกห้ามเขาจะต้องออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งที่ฮารอม(ต้องห้าม)นั้น ไม่อนุมัติให้กระทำ นอกจากในสภาพการณ์คับขันถึงชีวิต และในสภาพการณ์เช่นนั้นจะอนุญาตให้กระทำในสิ่งที่ต้องห้ามได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น , และบทบัญญัติได้วางกรอบเงื่อนไขเอาไว้ ไม่ได้ปล่อยให้แต่ละคนวางกรอบกันเอง

 

          และส่วนที่เป็นคำสั่งให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติ ก็ให้เขาปฏิบัติเท่าที่มีความสามารถ , และสำหรับความสามารถ บทบัญญัติก็เป็นผู้ที่วางกรอบเอาไว้เช่นกัน เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการผ่อนผันของศาสนา (รุคเซาะฮฺอัชชัรอียะฮฺ) มิใช่การผ่อนผันที่แต่ละคนวางกรอบให้แก่ตนเอง

 

          อาจมีผู้กล่าวว่า นี่แหละคือฮาดีษซอฮีฮฺ ที่สั่งใช้ให้เราปฏิบัติสิ่งที่เป็นวายิบต่างๆ ตามแต่ความสามารถของเรา , เป็นเรื่องเดียวกับที่เราได้พูดเกี่ยวกับการยำเกรงและการปฏิบัติตามบทบัญญัติ เราก็จะกล่าวแก่เขาว่า แท้จริงได้ถูกกำหนดให้เราปฏิบัติสิ่งที่เป็นคำสั่งทั้งหลายตามกำลังความสามารถ , แต่ใครล่ะ คือผู้ที่วางกรอบความสามารถ และขอบเขตของมัน ? ใครล่ะคือผู้ที่กำหนดข้อผ่อนผัน (รุคเซาะฮฺ) ในการให้ละเว้นหรือปรับเปลี่ยนคำสั่งใช้บางประการ ?

 

         เพราะฉะนั้น แน่นอนมิใช่บุคคล ที่เขาจะวางกรอบและขอบเขตความสามารถของเขาเอง  และบุคคลก็มิใช่ผู้ที่วางกรอบรูปแบบข้อปฏิบัติ , ทว่าเหล่านี้คือการกำหนดของผู้วางบทบัญญัติเท่านั้น 

 

          ดังนั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา คือผู้ทรงรอบรู้ขอบเขตความสามารถของมนุษยชาติ ความสามารถของพวกเขาในข้อปฏิบัติเหล่านั้น , เพราะฉะนั้น ข้อผ่อนผันทางบทบัญญัติจึงได้มีปรากฏในหลักการศาสนา ในบางสภาพการณ์ และสำหรับบางคน , เพื่อให้เหมาะสมกับอุปสรรค์บางประการ รวมถึงสถานการณ์บางกรณี 

 

          จากตรงนี้เอง จึงเกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวนี้ , สำหรับในเรื่องความสามารถ บทบัญญัติเป็นผู้กำหนด มิใช่ตัวบุคคล , แต่ละสภาพการณ์ของความสามารถ บทบัญญัติเป็นผู้แจกแจง , และรูปแบบใหม่ของข้อปฏิบัติ (หลังจากได้รับข้อผ่อนผัน) บทบัญญัติก็ได้ให้ความกระจ่างเอาไว้เช่นกัน

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย จากการนำเอาโองการนี้มาใช้ คือ เมื่อเรื่องใดก็ตามที่มีทั้งผลประโยชน์และผลเสียรวมกันอยู่ , หากสามารถที่จะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และป้องกันมิให้เกิดผลเสียได้ เราก็จะทำเช่นนั้น , เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺในโองการทั้งสอง  ดังดำรัสของพระองค์

         และหากไม่สามารถป้องกันผลเสีย และก่อให้เกิดผลประโยชน์ โดยหากว่าผลเสียนั้นมากกว่าผลประโยชน์ เราก็จะป้องกันผลเสียก่อน โดยที่เราจะไม่สนใจต่อการที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

{يَسْأَلونَكَ عَنِ الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ قُلْ فِيهِمَا إِثْمٌ كَبِيرٌ وَمَنَافِعُ لِلنَّاسِ وَإِثْمُهُمَا أَكْبَرُ مِنْ نَفْعِهِمَا}البقرة 219،

 

      “พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้น มากกว่าคุณของมัน

 

          แท้จริงอัลลอฮฺทรงห้ามทั้งสองสิ่ง เพราะว่าผลเสียของทั้งสองนั้นมากกว่าผลดีของมัน

 


คุตบะฮ์วันศุกร์