ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ !
แปลเรียบเรียง อ.อาบีดีน พัสดุ
﴿ أَلَمْ يَأْنِ لِلَّذِينَ آمَنُوا أَنْ تَخْشَعَ قُلُوبُهُمْ لِذِكْرِ اللَّهِ ﴾ [الحديد: 16]
فاسألوا الله أن يُجدد الإيمان في قلوبكم
โอ้พี่น้องผู้มีอีหม่านทั้งหลาย แท้จริงนิอฺมัต (ความโปรดปราน) ของอัลลอฮฺที่มีต่อบ่าว ด้วยอีหม่าน และยึดเอาแนวทางแห่งอัลอิสลามนั้น คือนิอฺมัตอันยิ่งใหญ่และของขวัญอันล้ำค่า ซึ่งผู้ที่ได้รับสิ่งเหล่านี้คือผู้ที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะให้พวกเขาได้รับความดีอันมากมาย และชอบที่จะให้พวกเขาได้รับความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ
นิอฺมัตอันยิ่งใหญ่ และการให้ที่สำคัญยิ่ง จึงจำเป็นที่มุอฺมินจะต้องดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ และการดำรงอยู่บนแนวทางแห่งอิสลามจนกระทั่งได้พบกับองค์อภิบาลของเขา ผู้ทรงสูงส่ง ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ ﴾ [آل عمران: 102].
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น”
พี่น้องผู้มีเกียรติทั้งหลาย สำหรับมุอฺมิน เมื่อเขาดำเนินชีวิตในดุนยาโดยเลือกเอาแนวทางศาสนานี้ และยืนหยัดมั่นคง เจริญรอยตามศาสนาของอิบรอฮีม อันเป็นแนวทางที่หันห่างออกจากความเท็จสู่สัจธรรม บนแนวทางแห่งท่านนบี มุฮัมมัด เมื่อมุอฺมินอยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้ บ่อยครั้งเขาก็จะต้องประสบกับการทดสอบในรูปแบบต่างๆ รวมถึงสิ่งที่ทำให้หันห่างออกจากแนวทางแห่งศาสนา – จึงจำเป็นที่เขาจะต้องระมัดระวังไม่ให้เท้าของเขาก้าวพลาดหลังจากที่มันมั่นคงแล้ว ระมัดระวังจากการประพฤติตามอารมณ์ฝ่ายต่ำ หรือจากการที่ชัยฏอนจะหันเหเขาสู่หนทางที่หลงผิด เหล่านี้คือสิ่งที่มุสลิมจะต้องประสบพบเจอ บททดสอบ ฟิตนะฮฺความวุ่นวาย ในรูปแบบต่างๆ
อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า
﴿ الم * أَحَسِبَ النَّاسُ أَنْ يُتْرَكُوا أَنْ يَقُولُوا آمَنَّا وَهُمْ لَا يُفْتَنُونَ﴾ [العنكبوت: 1، 2].
“อะลิฟ ลาม มีม มนุษย์คิดหรือว่า พวกเขาจะถูกทอดทิ้ง เพียงแต่พวกเขากล่าวว่าเราศรัทธาแล้ว และพวกเขาจะไม่ถูกทดสอบ กระนั้นหรือ!”
เพราะฉะนั้น ผู้คนจำนวนมากเมื่อประสบกับฟิตนะฮฺ ประสบกับบททดสอบ บางครั้งทำให้การยืนหยัดในอีหม่านของเขาเกิดสั่นคลอน จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ปัจจัยต่างๆที่จะช่วยให้หนักแน่นมั่นคงอยู่บนแนวทางแห่งศาสนา และเรียนรู้ถึงสาเหตุต่างๆที่จะทำให้เอนเอียงและหันเห (ออกจากแนวทางแห่งศาสนา) และก่อนสิ่งอื่นใดคือ จำเป็นที่จะต้องวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงช่วยให้มีความหนักแน่นมั่นคงอยู่บนการศรัทธา
เมื่อการทดสอบเกิดขึ้น แล้วจิตใจถูกปิดกั้นจากอีหม่าน ซึ่งเป็นการปิดกั้นเพียงบางส่วนหรือมากกว่านั้น - อัลลอฮฺ ทรงตำหนิผู้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นที่กล่าวมานี้ พระองค์ตรัสว่า
﴿ أَلَمْ يَأْنِ لِلَّذِينَ آمَنُوا أَنْ تَخْشَعَ قُلُوبُهُمْ لِذِكْرِ اللَّهِ وَمَا نَزَلَ مِنَ الْحَقِّ وَلَا يَكُونُوا كَالَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ مِنْ قَبْلُ فَطَالَ عَلَيْهِمُ الْأَمَدُ فَقَسَتْ قُلُوبُهُمْ وَكَثِيرٌ مِنْهُمْ فَاسِقُونَ ﴾ [الحديد: 16].
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งซึ่งได้มีลงมาคือความจริง
และพวกเขาอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มาแต่ก่อนนี้ แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา
ดังนั้นจิตใจของพวกเขาจึงแข็งกระด้างและส่วนมากของพวกเขาจึงเป็นผู้ฝ่าฝืน”
ในโองการนี้ เป็นการตำหนิจากอัลลอฮฺต่อบรรดาปวงบ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์ ที่จิตใจของพวกเขาล่าช้าต่อการมุ่งสู่อีหม่านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อารมณ์ความต้องการความเพลิดแพร้วบางอย่างของดุนยาได้ปิดกั้นเขาไว้ จึงไม่มุ่งสู่อัลลอฮฺโดยทั้งหมด
ท่านทั้งหลายจงพิจรณาดำรัสของอัลลอฮฺเถิด ดำรัสแห่งการตำหนิ ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดามุอฺมินเหล่านั้น ที่จิตใจของพวกเขาประสบกับสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว - การที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ?!
ท่านค่อลีล ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ อิหม่ามด้านอักษรศาสตร์ ได้กล่าวถึงเรื่องการตำหนินี้ว่า มันคือคำดำรัสของผู้ที่รักแด่ผู้เป็นที่รัก อัลลอฮฺ คือผู้ทรง รักใคร่ปวงบ่าวของพระองค์ จึงทรงดำรัส แก่พวกเขาด้วยดำรัสอันลึกซึ้ง
ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ ที่พวกเจ้าจะพิจารณาสภาพการณ์ของพวกเจ้า ? ว่าเจ้าอยู่ในสภาพที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เจ้าเป็น หรือเจ้ายังคงอยู่ในสภาพที่ย้อนแย้ง ?
อัลลอฮฺ ตรัสแก่บรรดาปวงบ่าวของพระองค์ ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ บรรดามุมิน ผู้ที่ได้รับเกียรติ และความโปรดปราน ด้วยคุณลักษณะอันยิ่งใหญ่นี้ นั่นคือการมีอีหม่าน - ที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ หมายถึง นอบน้อมน้อมในการรำลึกและในขณะที่ได้รับข้อคิดข้อเตือนใจ ในขณะที่สดับรับฟังอัลกุรอ่าน เพื่อพินิจพิจารณา ยอมรับและนอบน้อม ต่อคำดำรัสเหล่านั้น รับฟังองค์อภิบาลของเขาและปฏิบัติตาม และแน่นอนนี่คือคุณลักษณะของบรรดาผู้ที่มีอีหม่าน
﴿ إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللَّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا ﴾ [الأنفال: 2].
“แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของเขาก็หวั่นเกรง และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา”
นี่คือสภาพของมุอฺมินที่มุ่งสู่องค์อภิบาลของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ได้ฟังคำดำรัสของพระองค์ซึ่งเป็นคำดำรัสอันยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นดำรัสอันทรงเกียรติและสัจจริงยิ่ง ซึ่งถือเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้สดับรับฟัง ตลอดจนผู้ที่ได้อ่าน และเป็นเกียรติอันเป็นที่สุดสำหรับผู้ที่ได้น้อมนำเอาดำรัสเหล่านั้นไปสู่การประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้เอง อัลลอฮฺ จึงตรัสถึงบรรดามุอฺมินว่า เมื่ออัลกุรอ่านได้ถูกอ่านแก่เขา และเมื่อพวกเขาได้ยินโองการต่างๆของอัลลอฮฺ หัวใจของพวกเขาต่างนอบน้อม เมื่อพวกเขาได้ยินดำรัสเหล่านั้น พวกเขาหวั่นเกรงและเกรงกลัว
﴿ اللَّهُ نَزَّلَ أَحْسَنَ الْحَدِيثِ كِتَابًا مُتَشَابِهًا مَثَانِيَ تَقْشَعِرُّ مِنْهُ جُلُودُ الَّذِينَ يَخْشَوْنَ رَبَّهُمْ ثُمَّ تَلِينُ جُلُودُهُمْ وَقُلُوبُهُمْ إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ ﴾ [الزمر: 23].
“อัลลอฮฺได้ทรงประทานคำกล่าวที่ดียิ่งลงมา เป็นคัมภีร์คล้องจองกันกล่าวซ้ำกัน ผิวหนังของบรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขาจะลุกชันขึ้น แล้วผิวหนังของพวกเขา และหัวใจของพวกเขาจะสงบลง เพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ”
นี่คือสภาพที่มุอฺมินควรจะเป็น
﴿ أَلَمْ يَأْنِ لِلَّذِينَ آمَنُوا أَنْ تَخْشَعَ قُلُوبُهُمْ لِذِكْرِ اللَّهِ وَمَا نَزَلَ مِنَ الْحَقِّ ﴾ [الحديد: 16]
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งซึ่งได้มีลงมาคือความจริง”
ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงพบว่าหัวใจของบรรดามุอฺมินเกิดความล่าช้า , พระองค์จึงทรงตำหนิติเตียนพวกเขา หลังจากที่อัลกุรอ่านได้ถูกประทานลงมาเป็นระยะเวลา ๑๓ ปี”
หมายความว่า โองการนี้ได้ถูกประทานลงมา โดยมีเนื้อหาการตำหนิติเตียนจากอัลลอฮฺหลังจาก ๑๓ ปี นับตั้งแต่อัลกุรอ่านได้เริ่มถูกประทานลงมา
ได้มีการรายงานจากท่านอิบนิมัสอู๊ด ที่ได้ถูกบันทึกในหนังสือ ซ่อฮีหฺ มุสลิม ท่านอิบนิมัสอู๊ด ได้กล่าวว่า “ช่วงเวลาระหว่างอิสลามของพวกเราและการตำหนิของอัลลอฮฺด้วยกับโองการนี้นั้น คือช่วงเวลาเพียงแค่ ๔ ปี”
การตำหนินี้ ดังที่ได้ถูกประทานแก่บรรดาผู้นำอันทรงเกียรติ และบรรดาซอฮาบะฮฺผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นพวกเราถือว่าเป็นผู้ที่สมควรกว่าในคำตำหนิเหล่านั้น หลังจากระยะเวลาอันยาวนาน
ใช่แล้ว อัลกุรอ่านได้ถูกประทานลงมาเพื่อตำหนิติเตียนซอฮาบะฮฺบางท่านในยุคสมัยของท่านร่อซู้ล มันคือคำตำหนิจากผู้ที่รักแด่บรรดาผู้เป็นที่รักของพระองค์ คือการตำหนิจากอัลลอฮฺแก่บางส่วนจากพวกเขา เพราะแน่นอนจากบรรดาซอฮาบะฮฺนั้น มีผู้ที่พวกเขาได้ทำให้อีหม่านสมบูรณ์และสูงส่ง ทว่าในยุคสมัยของพวกเขา - พวกเขามิได้เป็นมะซูม (ได้รับการปกปักษ์รักษาให้ปราศจากความผิด) และนี่คือแนวทางแห่งอัลกุรอ่าน การตักเตือนความผิดพลาดของบางคน โดยไม่ระบุถึงบุคคลนั้นๆ และเช่นเดียวกันนี่คือแนวทางของท่านนบี อย่างไรกันเล่าที่กลุ่มชนเหล่านั้นได้ทำเช่นนั้น ทำเช่นนี้ และอัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่งยิ่ง เมื่อทรงตำหนิบรรดามุอฺมิน ทรงให้พวกเขาระลึกถึงตัวอย่างของบรรดากลุ่มชนที่มาก่อนหน้าพวกเขา สิ่งที่กลุ่มชนเหล่านั้นได้ประสบ
﴿ أَلَمْ يَأْنِ لِلَّذِينَ آمَنُوا أَنْ تَخْشَعَ قُلُوبُهُمْ لِذِكْرِ اللَّهِ وَمَا نَزَلَ مِنَ الْحَقِّ ﴾ [الحديد: 16]
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งซึ่งได้มีลงมาคือความจริง”
คือข้อตักเตือนต่างๆที่ท่านร่อซู้ล ทรงตักเตือน (لذكر الله)
คืออัลกุรอ่านอันยิ่งใหญ่ ที่หากประทานลงบนภูเขา แน่นอน (وما نزل من الحق)
เจ้าจะเห็นมันนอบน้อม แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ
เพราะฉะนั้นแล้ว หัวใจของบรรดามุอฺมินย่อมควรแก่การนอบน้อมยิ่งกว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้ และเป็นหัวใจที่ให้ความยิ่งใหญ่ต่ออัลกุรอ่านอย่างสมฐานะของมัน และอัลลอฮฺทรงยกอุทาหรณ์ในเรื่องขุนเขาแก่พวกเรา
﴿ لَوْ أَنْزَلْنَا هَذَا الْقُرْآنَ عَلَى جَبَلٍ لَرَأَيْتَهُ خَاشِعًا مُتَصَدِّعًا مِنْ خَشْيَةِ اللَّهِ ﴾ [الحشر: 21].
“หากเราประทานอัลกุรอ่านนี้ลงมาบนภูเขาลูกหนึ่ง แน่นอนเจ้าจะเห็นมันนอบน้อม แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องเพราะความกลัวต่ออัลลอฮฺ”
ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้สดับรับฟังอัลกุรอ่านแล้ว แต่จิตใจกลับไม่อยู่กับอัลกุรอ่าน น้ำตาไม่ใหลรินออกจากดวงตา และไม่เกิดความนอบน้อม - จำเป็นที่เขาจะต้องทบทวนตนเอง เพราะเขากำลังอยู่ในสภาวะที่อันตรายอันเนื่องจากการได้ยินได้ฟังอัลกุรอ่านแล้วแต่กลับไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ มิได้ส่งผลให้เขาดำรงตนอยู่บนหนทางอันเที่ยงธรรม ดังกล่าวนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าได้เกิดความบกพร่อง นั่นคือสนิมที่เข้าปกคลุมหัวใจของเขา ดังกล่าวนั้น อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
﴿ أَفَلَا يَتَدَبَّرُونَ الْقُرْآنَ أَمْ عَلَى قُلُوبٍ أَقْفَالُهَا ﴾ [محمد: 24]
“พวกเขามิได้พิจรณาใคร่ครวญอัลกุรอ่านดอกหรือ แต่ว่าบนหัวใจของพวกเขามีกุญแจหลายดอกลั่นอยู่”
ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้ฟังคำดำรัสของอัลลอฮฺแต่เขาไม่ใคร่ครวญโองการเหล่านั้น และไม่เกิดความนอบน้อมแก่ตัวเขา นี่คือสิ่งที่ชีวัดว่าจิตใจของเขามีกุญแจลั่นอยู่ ซึ่งมันได้ขวางกั้นเขากับการใคร่ครวญหรือการนอบน้อม และนี่คือสัญญาณอันตรายที่สำคัญ ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าความเจ็บป่วยทางกายที่ประสบกับผู้คน เพราะหัวใจนั้น เมื่อได้ถูกประทับตราบนมันแล้ว จะห่างไกลจากการเกรงกลัวองค์อภิบาลของเขา จนบางครั้งอาจถูกละเลย นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ท่านนบี ได้ยกตัวอย่างหัวใจที่ไม่นอบน้อมต่ออัลกุรอ่าน ท่านนบีได้กล่าวไว้ดังที่ได้ถูกบันทึกในซอฮีฮฺมุสลิม
((حتى يعود القلب كالكوز مُجخِّيًا))؛
“จนกระทั่งหัวใจเป็นดั่งแก้วน้ำที่วางคว่ำลง”
หมายถึงแก้วที่วางคว่ำปากแก้วลง ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ โดยดำเนินไปตามอารมณ์ปารถนา เหมือนกับแก้วน้ำที่วางกลับด้าน เอาปากแก้วคว่ำลงบนพื้น แน่นอนไม่มีสิ่งใดสามารถเข้าไปในแก้วได้ เพราะมันได้ถูกปิด เช่นเดียวกับหัวใจที่ถูกปกคลุมไปด้วยสนิม
﴿ كَلَّا بَلْ رَانَ عَلَى قُلُوبِهِمْ مَا كَانُوا يَكْسِبُونَ ﴾ [المطففين: 14]،
“มิใช่เช่นนั้น แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้นั้นได้เป็นสนิมบนหัวใจของพวกเขา”
และอัลลอฮฺทรงกล่าวถึงสภาพของผู้ที่มาก่อนพวกเรา พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَلَا يَكُونُوا كَالَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ مِنْ قَبْلُ فَطَالَ عَلَيْهِمُ الْأَمَدُ ﴾ [الحديد: 16].
“และพวกเขาอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มาแต่ก่อนนี้ แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา”
อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามบรรดาปวงบ่างผู้มีอีหม่านของพระองค์ มิให้พวกเขาเอาเยี่ยงอย่างสภาพของบรรดากลุ่มชนที่มาก่อนพวกเรา จากบรรดาชาวคัมภีร์ ซึ่งพวกเขาได้แบกรับคัมภีร์ และหน้าที่รับผิดชอบ และพวกเขาได้ถูกสั่งใช้ให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺในหมู่ชาวยิวและคริสเตียน ทว่าเมื่อระยะเวลาได้เนิ่นนานแก่พวกเขา และการมีชีวิตที่ยืนยาว พวกเขาจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และแลกเปลี่ยนคัมภีร์เหล่านั้นด้วยราคาเพียงเล็กน้อย ทำการตัดทอน และเมินเฉยต่อคัมภีร์ รวมถึงการยึดเอาบรรดาบาทหลวงของพวกเขาเป็นดั่งพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ อันเนื่องจากสิ่งเหล่านี้จึงทำให้หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง ไม่รับฟังข้อตักเตือน ไม่อ่อนน้อมต่อคำดำรัสที่ได้ถูกประทานแก่พวกเขาในคัมภีร์อัตเตาร็อตและอิญีลก่อนที่ทั้งสองคัมภีร์จะถูกเปลี่ยนแปลง
อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงพวกเขาว่า
﴿ وَكَثِيرٌ مِنْهُمْ فَاسِقُونَ ﴾ [الحديد: 16]
“และส่วนมากของพวกเขาจึงเป็นผู้ฝ่าฝืน”
ในส่วนของการกระทำ เมื่อหัวใจของพวกเขาเสื่อมเสีย และการกระทำของพวกเขาอันเลวร้าย ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสถึงพวกเขาว่า
﴿ فَبِمَا نَقْضِهِمْ مِيثَاقَهُمْ لَعَنَّاهُمْ وَجَعَلْنَا قُلُوبَهُمْ قَاسِيَةً يُحَرِّفُونَ الْكَلِمَ عَنْ مَوَاضِعِهِ ﴾ [المائدة: 13]،
“แต่เนื่องจากการที่พวกเขาทำลายสัญญาของพวกเขา เราจึงได้ให้พวกเขาห่างไกลจากความกรุณาเมตตาของเรา และให้หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง พวกเขากระทำการบิดเบือนบรรดาถ้อยคำให้เฉออกจากตำแหน่งของมัน”
เพราะฉะนั้น ผู้ศรัทธาจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังมิให้เขาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะเมื่ออัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธแล้ว ความกริ้วโกรธของพระองค์จะไม่มีขอบเขตที่จำกัด และอัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَيُحَذِّرُكُمُ اللَّهُ نَفْسَهُ وَاللَّهُ رَؤُوفٌ بِالْعِبَادِ ﴾ [آل عمران: 30].
“และอัลลอฮฺทรงเตือนพวกเจ้าให้ยำเกรงพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกรุณาปรานีต่อปวงบ่าวทั้งหลาย”
จึงสมควรแก่มุอฺมินที่เขาจะต้องตรวจสอบตัวเขาเอง และวิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้มากๆ
(اللهم إني أعوذ بك من قلب لا يخشع، ومن عين لا تَدمع، ومن دعاء لا يُسمَع)
“โอ้องค์อภิบาลของฉัน ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ ให้พ้นจากหัวใจที่ไม่นอบน้อม , ดวงตาที่ไม่ร้องไห้ , ดุอาอฺที่ไม่ถูกรับฟัง”
และนี่คือข้อเตือนใจที่สำคัญ และการตำหนิติเตียน จากองค์อภิบาลผู้ทรงใจบุญยิ่ง
﴿ أَلَمْ يَأْنِ لِلَّذِينَ آمَنُوا أَنْ تَخْشَعَ قُلُوبُهُمْ لِذِكْرِ اللَّهِ وَمَا نَزَلَ مِنَ الْحَقِّ وَلَا يَكُونُوا كَالَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ مِنْ قَبْلُ فَطَالَ عَلَيْهِمُ الْأَمَدُ فَقَسَتْ قُلُوبُهُمْ وَكَثِيرٌ مِنْهُمْ فَاسِقُونَ ﴾ [الحديد: 16].
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งซึ่งได้มีลงมาคือความจริง
และพวกเขาอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มาแต่ก่อนนี้ แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา
ดังนั้นจิตใจของพวกเขาจึงแข็งกระด้าง และส่วนมากของพวกเขาจึงเป็นผู้ฝ่าฝืน”
คุตบะห์วันศุกร์