เพื่อน บ้าน ...
แปลเรียบเรียง อ.อาบีดีน พัสดุ
มุสลิมทั้งหลาย อิสลามได้กำชับในเรื่องเพื่อนบ้าน และให้ความสำคัญในเรื่องเพื่อนบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในศาสนาของเราถือว่าเพื่อนบ้านคือผู้ที่ต้องห้ามละเมิด เป็นผู้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เป็นผู้มีสิทธิ และเป็นผู้ที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ , โดยที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงรวมการทำดีต่อเพื่อนบ้านเอาไว้กับการภักดีและการให้เอกภาพต่อพระองค์
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ وَاعْبُدُوا اللَّهَ وَلَا تُشْرِكُوا بِهِ شَيْئًا وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا وَبِذِي الْقُرْبَى وَالْيَتَامَى وَالْمَسَاكِينِ وَالْجَارِ ذِي الْقُرْبَى وَالْجَارِ الْجُنُبِ وَالصَّاحِبِ بِالْجَنْبِ وَابْنِ السَّبِيلِ وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ مَنْ كَانَ مُخْتَالًا فَخُورًا ﴾ النساء : 36
“และเจ้าจงสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์
และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด และเด็กกำพร้าและผู้ขัดสน
และเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเพื่อนที่ห่างไกลและเพื่อนที่เคียงข้าง และผู้เดินทาง
และผู้ที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครอง แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงชอบผู้ยะโส ผู้โอ้อวด”
บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย และนี่คือคำสั่งเสียของอัลลอฮฺในคัมภีร์ของพระองค์ , ส่วนคำสั่งเสียของผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แน่นอนภาพที่เด่นชัดมากมายได้ทำให้ฐานะและสิทธิของเพื่อนบ้านในอิสลามนั้นมีความสูงส่ง
ท่านร่อซู้ล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ما زال جبريل يوصيني بالجار حتى ظننت أنه سيورِّثه"
“ท่านญิบรีลยังคงสั่งเสียกำชับฉันในเรื่องเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่าเขาจะรับมรดกได้”
คือ จนกระทั่งฉันคิดว่าจะมีโองการอัลกุรอ่านประทานลงมาเพื่อให้เพื่อนบ้านมีสิทธิที่จะได้รับมรดก , และท่านนบีคงไม่คิดไปเช่นนั้น นอกจากเพราะท่านได้ถูกกำชับเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน , เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพิจรณาเรื่องราวเหล่านี้เถิด - ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านทั้งหลาย
♦ บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย , เพื่อนบ้าน ก็คือผู้ทีอยู่ใกล้บ้านของท่าน , โดยยึดถือตามความเข้าใจของผู้คนทั้งหลายในเรื่องนี้ , ดังนั้น ใครที่ผู้คนถือว่าเป็นเพื่อนบ้านของท่าน เขาก็คือเพื่อนบ้านที่มีสิทธิต่างๆ ที่จำเป็นในความเป็นเพื่อนบ้านของเขา
♦ บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย , เพื่อนบ้านนั้นมีสามประเภท , เพื่อนบ้านที่พึงได้รับสามสิทธิ , เพื่อนบ้านที่พึงได้รับสองสิทธิ , และเพื่อนบ้านที่พึงได้รับหนึ่งสิทธิ
♣ ส่วนเพื่อนบ้านที่พึงได้รับ สามสิทธิ ก็คือเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม และเป็นญาติใกล้ชิดด้วย เขาจึงมีสิทธิในอิสลาม สิทธิในการเป็นญาติใกล้ชิดและสิทธิในการเป็นเพื่อนบ้าน
♣ เพื่อนบ้านที่พึงได้รับสองสิทธิ คือเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม เขามีสิทธิแห่งอิสลามและสิทธิการเป็นเพื่อนบ้าน
♣ และเพื่อนบ้านที่พึงได้รับหนึ่งสิทธิ คือเพื่อนบ้านที่เป็นกาเฟร เขาจะได้รับสิทธิการเป็นเพื่อนบ้านเท่านั้น
มุสลิมทั้งหลาย , บรรดาชาวสะลัฟ ซอลิหฺ พวกเขาต่างทราบดีถึงสถานะของเพื่อนบ้าน , พวกเขาจะไม่ให้ทรัพย์สินและสิ่งใดในดุนยามาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านที่ดี
อบูญะฮัม อัลอะดะวี่ ได้เสนอขายบ้านของเขา , เมื่อบรรดาผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้านของเขามาถึง เขาก็กล่าวว่า เราได้ตกลงราคาบ้านกันแล้ว แล้วพวกท่านจะซื้อเพื่อนบ้าน ซะอี๊ด บิน อาศ ในราคาเท่าใหร่ ?
มีผู้กล่าวขึ้นว่า มีการซื้อขายเพื่อนบ้านกันด้วยหรือ ?
เขา (อบูญะฮัม อัลอะดะวี่) จะไม่ขายเพื่อนบ้านได้อย่างไรกันล่ะ เพื่อนบ้านที่หากฉันไม่ได้ออกไปไหนเขาก็จะถามถึงฉัน , หากเขาเห็นฉันเขาก็จะให้การต้อนรับ , หากฉันไม่อยู่เขาก็จะช่วยดูแลข้าวของให้ฉัน , หากฉันอยู่เขาก็จะเข้ามาหาฉัน , หากฉันร้องขอเรื่องใดเขาก็จะช่วยเหลือฉัน , หากฉันไม่เอ่ยขอเขาก็จะเป็นผู้เริ่มถาม , หากฉันประสบกับความทุกข์ยากใด เขาก็จะช่วยปัดเป่าให้ฉัน ,
คำกล่าวเหล่านี้ได้รู้ไปถึงท่านซะอี๊ด ท่านซาอี๊ดจึงได้ส่งเงินไปให้อบูญะฮัม อัลอะดะวี่ และกล่าวแก่เขาว่า ท่านจงเก็บบ้านของท่านเอาไว้
นี่คือเพื่อนบ้านที่จะทำให้บ้านมีราคาแพง หรือทำให้บ้านมีราคาถูก
บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย เพื่อนบ้านที่ควรจะต้องให้การเอาใจใส่และทำดีต่อเขาเป็นลำดับต้นๆ คือเพื่อนบ้านที่ประตูบ้านอยู่ใกล้เรามากที่สุด , ได้มีบันทึกใน อัลบุคอรียฺ จากท่านหญิงอาอีชะฮฺ ร่อฏิยัลลอฮุอัลฮุม นางได้เล่าว่า
: قلت يا رسول الله: إن لي جارين، فإلى أيهما أهدي؟ قال: "إلى أقربهما منك باباً"، أخرجه البخاري.
ฉันกล่าวว่า โอ้ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ฉันมีเพื่อนบ้านอยู่สองคน , ฉันควรจะให้ของขวัญใครในทั้งสองนี้ ?
ท่านนบีกล่าวว่า “ มอบให้แก่ผู้ที่ประตูบ้านของเขาอยู่ใกล้เธอ”
แท้จริงสิทธิของความเป็นเพื่อนบ้านนั้นยิ่งใหญ่ ท่านนบีของเรา มุฮัมมัด ซ็อลฯ ได้ผู้โยงมันไว้กับการอีหม่านต่ออัลลอฮฺ และวันอาคีเราะฮฺ ท่านนบี กล่าวว่า
"من كان يُؤمنُ بالله واليوم الآخر فليُكرِم جارَه"
“ใครก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคีเราะฮฺ ก็จงให้เกียรติเพื่อนบ้านของเขา”
และในฮาดีษที่บันทึกโดย อัตติรมิซียฺ อิบนุฮิบบาน อิบนุคุซัยมะฮฺ และฮากิม , และกล่าวว่าเป็นฮาดีษที่ถูกต้อง
"خيرُ الأصحاب عند الله خيرُهم لصاحبه، وخيرُ الجيران عند الله خيرُهم لجارِه"
“สหายที่ดีที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺคือผู้ที่ทำดีต่อบรรดาสหายของเขามากที่สุด ,
และเพื่อนบ้านที่ดีที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือผู้ที่ทำดีต่อเพื่อนบ้านของเขามากที่สุด”
สิทธิที่สำคัญยิ่งของเพื่อนบ้านคือ การไม่ก่อความเดือดร้อนแก่เขา , ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เพื่อนบ้านจะต้องมีต่อกัน , หากไม่ทำความดีต่อเขา , แต่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ก่อความเดือดร้อนให้เขา . ไม่ว่าจะเป็นคำพูดและการกระทำ
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ وَالَّذِينَ يُؤْذُونَ الْمُؤْمِنِينَ وَالْمُؤْمِنَاتِ بِغَيْرِ مَا اكْتَسَبُوا فَقَدِ احْتَمَلُوا بُهْتَانًا وَإِثْمًا مُبِينًا ﴾ [الأحزاب: 58]،
“และบรรดาผู้ที่กล่าวร้ายแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง ในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอน พวกเขาได้แบกการกล่าวร้าย และบาปอันชัดแจ้งไว้”
และเพื่อนบ้านก็ย่อมรวมอยู่ในหมู่บรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งมีสิทธิพึงได้รับเพิ่มเติม นั่นคือสิทธิของเพื่อนบ้าน
ท่านนบี ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทรงเตือนอย่างจริงจังในเรื่องเหล่านี้ ท่านนบีได้กล่าว ดังปรากฏในฮาดีษ จากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ -ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ
"والله لا يؤمن، والله لا يؤمن، والله لا يؤمن". قيل: مَن يا رسولَ الله؟ قال: "الذي لا يأمن جارُه بوائقَه" [البخاري (6016)]،
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา , ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา , ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา”
มีผู้กล่าวขึ้นว่า ใครกันโอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ?
ท่านนบีกล่าวว่า “ คือผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจาก วาอิก่อฮู”
คือ ผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากการอธรรมของเขา การไม่รักษาสัจจะสัญญาของเขา การบิดพลิ้วของเขา และการเป็นปรปักษ์ของเขา , และฮาดีษบทนี้จึงเป็นหลักฐานที่บ่งถึงการห้ามเป็นปรปักษ์กับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม , ต่างๆเหล่านี้ถือเป็นบาปใหญ่ , เพราะฉะนั้น ผู้ศรัทธาจึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังอย่างสุดความสามารถเพื่อไม่ให้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเหล่านี้อยู่ในตัวของเขา
อิหม่ามอะหฺหมัดและอิบนุฮิบบานได้บันทึก - ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง- จากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ -ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
قال رجل: يا رسول الله، إن فلانة تكثر من صلاتها وصدقتها وصيامها، غير أنها تؤذي جيرانها بلسانها، قال: ((هي في النار))، قال: يا رسول الله، فإن فلانة يذكر من قلة صيامها وصلاتها، ولا تؤذي جيرانها، قال: ((هي في الجنة))؛ (صحيح الترغيب:2560).
ชายคนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า โอ้ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ , หญิงคนหนึ่งกระทำอย่างมากมายซึ่งการละหมาด การทำซอดาเกาะฮฺ และการถือศีลอด , แต่ว่านางได้ก่อความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านด้วยคำพูดของนาง
ท่านนบีกล่าวว่า "นางอยู่ในไฟนรก"
มีผู้กล่าวว่า โอ้ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ , หญิงคนหนึ่งกระทำการละหมาดและถือศีลอดเพียงเล็กน้อย , แต่นางมิได้ก่อความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน
ท่านนบีกล่าวว่า "นางอยู่ในสวนสวรรค์"