พึงระวังการกินทรัพย์สินบุคคลอื่นโดยมิชอบ
  จำนวนคนเข้าชม  3707


พึงระวังการกินทรัพย์สินบุคคลอื่นโดยมิชอบ 

 

เรียบเรียงโดย  อิสมาอีล  กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

          การแสวงหาปัจจัยยังชีพคือ สิ่งที่สำคัญสำหรับมุสลิม และการคำนึงถึงปัจจัยยังชีพที่ได้มานั้น เราได้มาด้วยวิธีการใด มีความชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์นั้นหรือไม่  อิสลามส่งเสริมในเรื่องของการทำงานประกอบอาชีพที่ถูกต้องและสุจริต อาชีพที่ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนผู้อื่น หรือการอ้างสิทธ์ไปเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น ดังนั้นอิสลามส่งเสริมการทำงาน ในอัลกุรอ่านอัลลอฮฺได้กล่าวถึงการทำงานไว้ 

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِن يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَىٰ ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ۚ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ ( 9 )  

 

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้

 

فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلَاةُ فَانتَشِرُوا فِي الْأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ ( 10 )  

 

     “ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ

 

          นี่คือสิ่งที่อิสลามส่งเสริมให้ทำงาน โดยที่การทำงานนั้นจะต้องไม่ส่งผลต่อการละเลยการทำอิบาดะห์ต่ออัลลอฮฺ  เมื่ออิสลามส่งเสริมเรื่องการทำงาน อิสลามก็ห้ามในเรื่องของการคิดที่ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการกินในรูปแบบใดที่มิชอบธรรม และการกินทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยมิชอบธรรมจะทำให้ความจำเริญในชีวิตต้องหมดไป  ไม่มีความจำเริญในเรื่องสุขภาพ ในทรัพย์สิน ในอายุไข และในครอบครัว   

 

     การกินทรัพย์สินของบุคคลโดยมิชอบธรรม อัลลอฮฺได้เตือนในเรื่องไว้หลายที่ด้วยกัน เช่นอายะห์ที่ว่า 

 

وَلَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ وَتُدْلُوا بِهَا إِلَى الْحُكَّامِ لِتَأْكُلُوا فَرِيقًا مِّنْ أَمْوَالِ النَّاسِ بِالْإِثْمِ وَأَنتُمْ تَعْلَمُونَ ( 188 )  

 

     “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์ สมบัติของพวกเจ้า ระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ และจงอย่าจ่ายมัน ให้แก่ผู้พิพากษา เพื่อที่พวกเจ้าจะได้กินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินสมบัติของผู้อื่น ด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นบาป ทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ إِلَّا أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ ۚ وَلَا تَقْتُلُوا أَنفُسَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا ( 29 )  

 

     “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้า ในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ

 

وعن أبي هريرة رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: «...كل المسلم على المسلم حرام؛ دمُه وماله وعِرْضُه». رواه مسلم.

 

     มีรายงานจากอบีฮุรอยเราะฮ์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

     “มุสลิมทุกคนเป็นที่ต้องห้ามแก่มุสลิมด้วยกัน เลือดเนื้อของเขา ทรัพย์สมบัติของพวกเขา เกียรติยศของพวกเขา

(บันทึกโดย มุสลิม )

 

        จากหะดีษนี้ อัลลอฮฺห้ามเราละเมิดเลือดเนื้อของมุสลิม เกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น ในการกินทรัพย์สินหลาหลายรูปแบบ ไม่ว่ากับกลโกงในการค้าขาย การฉ้อโกงตราชั่ง การวัดตวง หรือการขายสินค้าที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย เช่นการขายยาเสพติด ทั้งหมดนั้นคือรูปแบบการกินทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยมิชอบธรรม 

 

         หรือการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้รับมาซึ่งผลประโยชน์แก่ตัวเอง  เช่น เขาอาจจะให้ทุนการศึกษา หรือให้ทุนแก่บุคคลที่ยากจน แต่เรามาอ้างสิทธิ์ที่จะรับทุนนั้นโดยที่เราไม่ได้อยู่ในเงือนไขที่ถูกกำหนดไว้ แต่เราได้รับบางครั้งด้วยกับการใช้เส้นสายหรือการสร้างเอกสารเท็จจนนำไปสู่การเบียดเบียนสิทธิของผู้ที่สมควรได้รับทุนหรือความช่วยเหลือ 

 

          หรือโครงการของรัฐที่ต้องการช่วยเหลือผู้ยากจน หรือการแจ้งความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพย์สิน พืชผล โดยทางการให้เราแจ้งรายการที่ประสบความเสียหาย แต่เราไม่ได้เสียหายอะไร หรือเสียหายไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความช่วยเหลือ เราได้สร้างเอกสารเท็จ เพื่อให้เราได้รับสิทธิ์หรือความช่วยเหลือเหล่านั้น หรือการกระทำในทำนองดังกล่าว  

 

         ดังนั้นการกินทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่เราจะต้องละทิ้ง การกินทรัพย์สินผู้อื่นมิใช่แค่เพียงการขโมย การปล้นชี้ทรัพย์ แต่มันรวมไปถึงทุกรูปแบบที่ให้เราได้ทรัพย์สินหรือสิทธิ์บางอย่างที่มันมิใช่สิทธิของเรา ดังนั้นผู้ศรัทธาเขาจะต้องคำนึกถึงทรัพย์สินที่ได้มา ว่าได้มาอย่างไรถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ได้มาโดยการโกงหรือการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาและใช้ไปจะได้รับสอบสวนจากอัลลอฮฺโดยละเอียด

 

อัลลอฮฺตาอาลาได้ตรัสไว้ว่า  

 

ثُمَّ لَتُسْأَلُنَّ يَوْمَئِذٍ عَنِ النَّعِيمِ ( 8 )  

 

แล้วในวันนั้นพวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่ได้รับ (ในโลกดุนยา)”

 

          ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะสอบถามถึงความโปรดปรานต่างๆ ที่พระองค์ประทานให้แก่พวกท่าน ว่าพวกท่านได้ใช้มันให้หมดไปในหนทางใด หมดไปในหนทางของอัลลอฮฺ หนทางที่ดีงาม หรือหมดไปในหนทางที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ  

 

رَوى ابنُ حِبَّانَ والترمذيُّ في جامِعِه أنَّ رسولَ الله صلى الله عليه وسلم قالَ: “لا تزولُ قَدَمَا عبدٍ يومَ القيامةِ حتَّى يُسألَ عن أربعٍ عَن عُمُرِه فيما أفناهُ وعن جسدِهِ فيما أبلاهُ وعن عِلمِهِ ماذا عَمِلَ فيهِ وعن مالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وفيما أنفقَهُ

 

     อิบนู หิบบานได้รายงาน และอัตติรมีซียฺในหนังสือ ญาเมียะของเขา แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

     “เท้าทั้งสองของบ่าวจะไม่ขยับเขยือน จนกว่าเขาจะถูกถามถึงสี่ประการ ถามถึงอายุของเขาได้ใช้ให้หมดไปอย่างไร ถามถึงร่างกายของเขาในสิ่งที่ร่างกายได้ได้หมดไป และถามถึงความรู้ของเขาว่า เขาได้ปฏิบัติตามความรู้หรือไม่ ถามถึงทรัพย์สินว่า เขาได้มาอย่างไร และใช้จ่ายมันไปอย่างไร

 

             จากหะดีษดังกล่าวเป็นข้อเตือนสติให้แก่เราได้อย่างดีสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกใบนี้  เราจะใช้สิ่งต่างๆเหล่านั้นให้หมดไปได้อย่างไร ?  เพื่อที่ให้อัลลอฮฺได้ทรงพอพระทัยแก่เรา และเราจะได้รับความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า