นะบีอีซา ในทัศนะอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  20244


บทความวิชาการเรื่อง นะบีอีซา ในทัศนะอิสลาม 

มูฮำหมัด เหล็มกุล

 

บทคัดย่อ

 

          บทความวิชาการเรื่องนะบีอีซาในทัศนะอิสลามโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวประวัติของนะบีอีซา ในบริบทต่างๆ เพื่อนำมายึดถืออย่างถูกต้องตามทัศนะอิสลาม จากการศึกษาพบว่าทัศนะอิสลามมีหลักความเชื่อต่อชีวประวัติของนะบีอีซา ในบริบทต่างๆ อันได้แก่ 

1) กำเนิดนะบีอีซา

2) วัยหนุ่มและความฉลาด 

3) การเผยแผ่อิสลาม และ 

4) การกลับคืนสู่พระองค์

 

บทนำ

 

          อิสลามเป็นศาสนาที่ได้รับการคัดเลือกจากพระองค์อัลลอฮฺ และเป็นศาสนาที่ได้มีการเรียกร้องเชิญชวนสู่สัจธรรมโดยผ่านการปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้จากเหล่าบรรดาศาสนทูตในแต่ละยุคสมัยจนกระทั่งถึงยุคสมัยปัจจุบัน คือยุคของศาสนทูตมูฮัมมัด ซึ่งถือเป็นยุคสุดท้ายที่ถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูต แต่อย่างไรก็ตามการยึดมั่นในนะบีและศาสนทูตนั้นต้องเป็นการยึดมั่นที่อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงและถูกต้องตามหลักคำสอนอิสลามเพราะในเรื่องของการยึดมั่นนั้นมีทัศนะที่หลากหลายจากหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสถานภาพความเป็นมุสลิม จนนำไปสู่ความเสียหายในการยึดมั่นศรัทธา 

 

          ดังนั้นการหาข้อพิสูจน์ทางชีวประวัติถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมจะต้องนำหลักคำสอนอิสลามมาอธิบายและชี้แจงให้รู้แจ้งเห็นจริง นั่นคืออัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺเพื่อลบล้างความเชื่อที่หลงผิดไปสู่หลักความเชื่อที่ถูกต้องตามแบบฉบับอิสลาม

 

กำเนิดนะบีอีซา

 

          จากชีวประวัติของศาสนทูตอีซา ทัศนะของชาวคริสต์ (นัศรอนีย์) ที่มีความเชื่อว่านะบีอีซา(พระเยซู) คือบุตรของอัลลอฮฺ กับพระนางแมรีย์ (มัรยัม) ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกัน ตามหลักการยึดมั่นคริสตจักรที่ว่าด้วยเรื่องตรีเอกานุภาพ ในประเด็นนี้อัลกุรอานได้ปฏิเสธความเชื่อดังกล่าวและพระองค์อัลลอฮฺ ดำรัสไว้ว่า

 

     “ไม่เป็นการบังควรสำหรับอัลลอฮ์  ที่พระองค์จะทรงตั้งผู้ใดเป็นพระบุตร  มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ท่าน !

     เมื่อพระองค์ทรงกำหนดกิจการใดพระองค์จะตรัสแก่มันว่า จงเป็น แล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา

(มัรฺยัม: 35)

 

     อัฏเฏาะบะรีย์ (al-Tabariy, 2000-1420: 18/195-196) ได้อธิบายว่า: “แท้จริงเป็นข้อชี้ขาดกุฟุรฺ (كُفْرٌ) กับบุคคลที่เชื่อและกล่าวอ้างว่านะบีอีซา เป็นบุตรของอัลลอฮฺ และการให้เกียรติที่เลยเถิดต่อท่าน (กล่าวคือยกฐานะท่านเป็นพระเจ้า) ดังนั้นไม่คู่ควรและไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับอัลลอฮฺ ในการทรงตั้งบุตรขึ้นมา หากแต่ว่าทุกสิ่งที่นอกเหนือไปจากพระองค์นั้น พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้น

 

           ดังนั้นตามหลักอะกีดะฮฺในทัศนะอิสลามคือ ศาสนทูตอีซา ได้ถูกกำเนิดจากมารดาที่มีชื่อว่ามัรยัม บุตรสาวของอิมรอนกับฮันนะฮฺ โดยนางมัรยัมเองไม่เคยมีสามีมาก่อน แต่ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ นางได้ตั้งครรภ์

ดั่งที่อัลลอฮฺ  ดำรัสว่า 

﴿وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ مَرْيَمَ إِذِ انْتَبَذَتْ مِنْ أَهْلِهَا مَكَانًا شَرْقِيًّا﴾  (مريم:16 )

 

     “และจงกล่าวถึง (เรื่องราวของ) มัรยัมที่อยู่ในคัมภีร์  เมื่อนางได้ปลีกตัวออกจากหมู่ญาติของนางไปยังมุมหนึ่งทางตะวันออก(ของบัยตุลมักดิส)”

(มัรฺยัม: 16)

พระองค์ดำรัสอีกว่า

 

﴿فَاتَّخَذَتْ مِنْ دُونِهِمْ حِجَابًا فَأَرْسَلْنَا إِلَيْهَا رُوحَنَا فَتَمَثَّلَ لَهَا بَشَرًا سَوِيًّا﴾ (مريم:17 )

 

     “แล้วนางได้ใช้ม่านกั้นให้ห่างพ้นจากพวกเขา แล้วเราได้ส่งวิญญาณของเรา(ญิบรีล) ไปยังนาง  แล้วเขาได้จำแลงตนแก่นางให้เห็นเป็นชายอย่างสมบูรณ์

(มัรฺยัม: 17)

พระองค์ดำรัสอีกว่า

﴿قَالَتْ إِنِّي أَعُوذُ بِالرَّحْمَنِ مِنْكَ إِنْ كُنْتَ تَقِيًّا﴾ (مريم:18 )

 

     “นางกล่าวว่า    แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีให้พ้นจากท่าน หากท่านเป็นผู้ยำเกรง

(มัรฺยัม: 18)

พระองค์ดำรัสอีกว่า

﴿قَالَ إِنَّمَا أَنَا رَسُولُ رَبِّكِ لِأَهَبَ لَكِ غُلَامًا زَكِيًّا﴾ (مريم:19 )

 

    “เขา(ญิบรีล) กล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นเพียงทูตแห่งพระเจ้าของเธอเพื่อฉันจะให้ลูกชายผู้บริสุทธิ์แก่เธอ

(มัรฺยัม: 19)

พระองค์ดำรัสอีกว่า

﴿قَالَتْ أَنَّى يَكُونُ لِي غُلَامٌ وَلَمْ يَمْسَسْنِي بَشَرٌ وَلَمْ أَكُ بَغِيًّا﴾ (مريم:20 )

 

     “นางกล่าวว่า   ฉันจะมีลูกได้อย่างไรทั้งๆ ที่ไม่มีชายใดมาแตะต้องฉันเลยและฉันก็มิได้เป็นหญิงชั่ว

(มัรฺยัม: 20)

พระองค์ดำรัสอีกว่า 

﴿قَالَ كَذَلِكِ  قَالَ رَبُّكِ هُوَ عَلَيَّ هَيِّنٌ  وَلِنَجْعَلَهُ آيَةً لِلنَّاسِ  وَرَحْمَةً مِنَّا وَكَانَ أَمْرًا مَقْضِيًّا﴾ (مريم:21 )

 

 

     “เขา(ญิบรีล) กล่าวว่ากระนั้นก็เถิด พระเจ้าของเธอตรัสว่า มันง่ายสำหรับข้า  และเพื่อเราจะทำให้เขาเป็นสัญญาณหนึ่งสำหรับมนุษย์และเป็นความเมตตาจากเรา และนั่นเป็นกิจการที่ถูกกำหนดไว้แล้ว

(มัรฺยัม: 21)

พระองค์ดำรัสอีกว่า 

﴿فَحَمَلَتْهُ فَانْتَبَذَتْ بِهِ مَكَانًا قَصِيًّا﴾  (مريم:22 )

 

     “แล้วนางได้ตั้งครรภ์   และนางได้ปลีกตัวออกไปพร้อมกับบุตรในครรภ์ยังสถานที่ไกลแห่งหนึ่ง

(มัรยัม: 22)

          จากอายะฮฺดังกล่าวยืนยันอย่างชัดเจนถึงการถือกำเนิดของศาสนทูตอีซา และไม่เป็นเรื่องที่แปลกเกินเชื่อสำหรับมุสลิมที่ท่านถูกกำเนิดขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ เพราะศาสนทูตอาดัมเองถูกกำเนิดมาโดยไม่มีทั้งพ่อและแม่ และเฮาวาอฺก็ถูกกำเนิดจากกระดูกซี่โครงข้างซ้ายของนะบีอาดัม สถานภาพดังกล่าวนั้นพระองค์อัลลอฮฺ ต้องการจะบ่งบอกถึงสัญญาณอันยิ่งใหญ่และความเกรียงไกรของพระองค์

 

วัยหนุ่มและความฉลาด

 

          เมื่อนะบีอีซา เติบโตขึ้น สัญญานของการเป็นนะบีก็เริ่มมีมากขึ้น ท่านสามารถบอกเพื่อนๆ ของท่านให้รู้ว่าอาหารมื้อค่ำที่บ้านของพวกเขาจะเป็นอะไร และสามารถบอกถึงสิ่งที่พวกเขาได้ซ่อนไว้ว่าเป็นอะไรและอยู่ที่ไหน เมื่อท่านอายุได้ 12 ปี ท่านได้เดินทางไปยังเมืองเยรูซาเล็มกับแม่ของท่าน ที่นั่น ท่านได้เข้าไปร่วมฟังคำบรรยายของพวกแรบไบ(นักบวชยิว)ในวิหาร ถึงแม้คนมาฟังจะเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด แต่ท่านก็ไม่กลัวที่นั่งร่วมกับพวกผู้ใหญ่ หลังจากที่ได้ฟังอย่างตั้งใจ ท่านก็ได้ถามคำถามและแสดงความเห็นหลายอย่าง จนทำให้พวกนักบวชรู้สึกอึดอัดใจในความกล้าหาญของท่านและงุนงงต่อคำถามที่ท่านถามขึ้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่สามารถตอบคำถามได้ พวกนักบวชยิวพยายามที่จะทำให้ท่านเงียบ แต่ท่านก็ไม่สนใจและพยายามแสดงความคิดเห็นของท่านต่อไป จากเรื่องราวข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความฉลาดและเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของท่านนั่นเอง

 

การเผยแผ่อิสลาม

 

          พระองค์อัลลอฮ์ ประทานคัมภีร์อินญีลให้แก่ท่านเพื่อให้ท่านออกเผยแผ่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ ต่อประชาชาติของท่าน พร้อมกันนั้นพระองค์อัลลอฮ์ ประทานมุอ์ญิซาตแก่ท่าน ซึ่งมุอ์ญิซาตดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ด้วยอนุมัติของพระองค์ 

          พระองค์อัลลอฮฺ ดำรัสเกี่ยวกับการประทานคัมภีร์อิลญีล และประทานมุอ์ญิซาตต่างๆ ให้กับศาสนทูตอีซา ไว้ว่า

 

﴿إِذْ قَالَ اللَّهُ يَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ  اذْكُرْ نِعْمَتِي عَلَيْكَ  وَعَلَى وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدْتُكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلًا وَإِذْ عَلَّمْتُكَ الْكِتَابَ 

وَالْحِكْمَةَ   وَالتَّوْرَاةَ   وَالْإِنْجِيلَ  وَإِذْ تَخْلُقُ مِنَ الطِّينِ  كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ بِإِذْنِي فَتَنْفُخُ  فِيهَا  فَتَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِي  وَتُبْرِئُ الْأَكْمَهَ  وَالْأَبْرَصَ بِإِذْنِي  وَإِذْ 

تُخْرِجُ الْمَوْتَى بِإِذْنِي  وَإِذْ كَفَفْتُ بَنِي إِسْرَائِيلَ عَنْكَ إِذْ جِئْتَهُمْ بِالْبَيِّنَاتِ  فَقَالَ الَّذِينَ كَفَرُوا مِنْهُمْ  إِنْ هَذَا إِلَّا سِحْرٌ مُبِينٌ﴾   (المائدة:110 )

 

     “จงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮฺได้ตรัสแก่อีซาบุตรของมัรยัมว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้า และมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนเจ้าด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์ โดยที่เจ้าพูดกับประชาชนขณะที่อยู่ในเปล และขณะที่อยู่ในวัยกลางคน

     และขณะที่ข้าได้สอนเจ้าซึ่งคัมภีร์ และความมุ่งหมายแห่งบัญญัติศาสนา และอัตเตารอตและอัลอินญีล  และขณะที่เจ้าสร้างขึ้นจากดินดั่งรูปนกด้วยอนุมัติของข้า  แล้วเจ้าเป่าเข้าไปในรูปนกนั้น มันก็กลายเป็นนกด้วยอนุมัติของข้า

     และที่เจ้าทำให้คนตาบอดแต่กำเนิด และคนเป็นโรคผิวหนังหายด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้าทำให้บรรดาคนตายออกมาด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่ข้าได้ยับยั้งและหันเหวงศ์วานอิสรออีลออกจากเจ้า เมื่อเจ้านำบรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งมายังพวกเขา 

     แล้วบรรดาผู้ฝ่าฝืนในหมู่พวกเขาก็กล่าวว่า สิ่งนี้มิใช่อื่นใด นอกจากมายากลอันชัดแจ้งเท่านั้น

(อัลมาอิดะฮฺ: 110)

 

          จากการเผยแผ่บทบัญญัติทำให้มวลชนจำนวนมากศรัทธาต่อสิ่งที่ท่านสั่งสอน แต่ก็มีบางคนคิดอิจฉาท่านและต้องการที่จะฆ่าท่าน เพราะกระแสมวลชนของท่านทำให้พวกนักบวชชาวยิวต่างก็เสียผลประโยชน์ จึงร่วมประชุมลับที่ซานเฮดริน ซึ่งเป็นสภาศาสนาและกฎหมายสูงสุด เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะกำจัดท่าน แต่คนชั่วพวกนั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้   เพราะอัลลอฮ์ทรงช่วยเหลือท่าน ปกป้องท่านให้พ้นจากศัตรู โดยที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงทำให้ชายคนหนึ่งมีหน้าตาคล้ายกับท่านถูกนำไปตรึงกางเขนแทน ส่วนนะบีอีซา นั้น อัลลอฮฺ ทรงนำกลับไปยังพระองค์ มีคำกล่าวอ้างว่า นะบีอีซา ถูกตอกตรึงด้วยตะปูและถูกสังหารตาย แต่สิ่งที่พวกเขากล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง ดั่งที่อัลลอฮ์ ดำรัสว่า

 

﴿وَقَوْلِهِمْ  إِنَّا قَتَلْنَا الْمَسِيحَ عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ رَسُولَ اللَّهِ  وَمَا قَتَلُوهُ  وَمَا 

صَلَبُوهُ  وَلَكِنْ شُبِّهَ لَهُمْ وَإِنَّ الَّذِينَ اخْتَلَفُوا فِيهِ لَفِي شَكٍّ مِنْهُ مَا لَهُمْ بِهِ  مِنْ عِلْمٍ إِلَّا اتِّبَاعَ الظَّنِّ وَمَا قَتَلُوهُ يَقِينًا﴾ (النسآء:157 )

 

 

     “และการที่พวกเขากล่าวว่า แท้จริงพวกเราได้ฆ่าอัลมะซีห อีซา บุตรของมัรยัม รอซูลของอัลลอฮ์ และพวกเขาหาได้ฆ่าอีซาและหาได้ตรึงเขาบนไม้กางเขนไม่.. แต่ทว่าเขาถูกให้เหมือนแก่พวกเขา

     และแท้จริงบรรดาผู้ที่ขัดแย้งในตัวเขานั้น  แน่นอนย่อมอยู่ในความสงสัย เกี่ยวกับเขา   พวกเขาหามีความรู้ใดๆ ต่อเขาไม่  นอกจากคล้อยตามความนึกคิดเท่านั้น และพวกเขามิได้ฆ่าเขาด้วยความแน่ใจ (อีซา)”

(อันนิสาอฺ: 157)

 

การกลับคืนสู่พระองค์

 

          ตามคำอ้างคัมภีร์ไบเบิลฉบับมัทธิวนะบีอีซา ได้ถูกจับกุมและสภาสูงสุดของนักบวชได้ตัดสินประหารชีวิตท่าน หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มดูถูกท่าน ถ่มน้ำลายใส่หน้าท่านและเตะท่าน ตามประเพณีของโรมัน ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินจะถูกเฆี่ยนก่อนที่จะนำตัวไปประหาร และศาสนทูตก็ถูกสั่งให้เฆี่ยนโดยผู้ปกครองโรมันในขณะนั้น ชื่อว่าปิลาต และถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณ หลังจากนั้นทหารก็นำตัวท่านไปตรึงไม้กางเขน ถอดเสื้อผ้าและเก็บเสื้อผ้าท่านไว้ แล้วเอามงกุฎหนามมาสวมให้บนศีรษะของท่านเพื่อเป็นการเยาะเย้ย และต้องเดินแบกไม้กางเขนไว้เพื่อใช้ตรึงไว้บนหลังของท่าน จนกระทั่งมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่าก็อลโกธาซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งหัวกะโหลกตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม แทนที่จะให้ท่านดื่มน้ำองุ่นกลิ่นหอมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดกลับให้ดื่มน้ำส้มผสมน้ำจากดีที่แสนขมให้แก่ท่าน หลังจากนั้นก็จับท่านตรึงไม้กางเขนพร้อมหัวขโมยอีกสองคน

 

แต่คัมภีร์อัลกุรอานได้ยืนยันถึงจุดจบของศาสนทูตอีซาไว้ว่า

 

﴿بَلْ رَفَعَهُ اللَّهُ إِلَيْهِ وَكَانَ اللَّهُ عَزِيزًا حَكِيمًا﴾ (النسآء:158 )

 

     “หามิได้ อัลลอฮ์ได้ทรงยกเขา (อีซา) ขึ้นไปยังพระองค์ต่างหาก และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ

 (อันนิสาอฺ: 158)

 

     อัฏเฏาะบะรีย์ (al-Tabariy, 2000-1420: 9/378) ได้อธิบายว่า: “พวกเขานั้นไม่ได้ฆ่านะบีอีซา และไม่ได้ตรึงไม้กางเขนกับท่าน แต่พระองค์ทรงยกท่านกลับไปยังพระองค์ ดังนั้นท่านจึงบริสุทธิ์จากคำกล่าวอ้างจากผู้ปฏิเสธทั้งหลาย

 

          จากอายะฮฺอัลกุรอานและการอรรถาธิบายข้างต้นได้เน้นย้ำให้เรามีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์และวาระสุดท้ายของศาสนทูตอีซา ซึ่งถือเป็นหลักอะกีดะฮฺที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุดสำหรับมุสลิมทุกคน

 

บทสรุป

 

           จากเรื่องราวที่มีการยืนยันโดยคัมภึร์อัลกุรอานที่ผ่านมานั้นเป็นหลักอะกีดะฮฺสำหรับมุสลิมทั้งหลายจะต้องยึดมั่นด้วยใจที่หนักแน่น ไม่มีความเชื่อคลุมเครือใด จะมาหักล้างสัจธรรมที่มาจากอัลกุรอานได้อีกเพราะอัลกุรอานเป็นคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงรอบรู้และทรงปรีชาญาณยิ่ง

 

          ดังนั้น นะบีอีซา ในทัศนะอิสลาม ก็คือบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺ ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นนะบีและศาสนทูตซึ่งได้นำหลักคำสอนอิสลามมาเผยแผ่แก่ประชาชาติในยุคสมัยนั้นเพื่อเป็นการยืนยันและเน้นย้ำความสมบูรณ์จากหลักคำสอนที่มาก่อนหน้านี้ นั่นคือหลักคำสอนของนะบีมูซา และเพื่อยืนยันถึงการประสูติของศาสนทูตมุฮัมมัด และการถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายของศาสนทูตมุฮัมมัด เพื่อนำหลักคำสอนอิสลามมาสู่ประชาชาติที่ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่มั่นคงตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ และศาสนทูตอีซา จะปรากฎตัวอีกครั้งก่อนใกล้วันกิยามะฮ์เพื่อลงมาสังหารดัจญาลบนหน้าผืนแผ่นดินดุนยา

 

 

 

 

 


 

บรรณานุกรม

 

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ.  1425.  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมความหมายภาษาไทย.  ซาอุดีอาราเบีย: ศูนย์กษัตร์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอานแห่งนครมะดีนะฮฺ.

 

อิบนุ กะษีรฺ. 1431. เรื่องราวของบรรดานบี (قصص الأنبيآء). แปลโดย บรรจง บินกาซัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสืออิสลาม.

 

‘Abd al-Rahman bin Haji Dawud. 2003–1424. Sejarah 25 Nabiy dan Rasul (سجارة 25 نبي دان رسول). Bangkok: Muhammad al-Nahdiy wa ’Awladih.

  

al-Jurjaniy al-Hafniy, ‘Aliy bin Muhammad bin ‘Aliy al-Sayyid al-Zayniy ‘Abu al-Hasan al-Husayniy. 1998. Kitab al-Ta‘rifat (كتاب التعريفات). Bairut: Dar al-Fikr.

   

al-Tabariy ’Abu Ja‘far, Muhammad bin Jarir bin Yazir bin Kathir bin Ghalib al-‘Amiliy. 2000-1420. Jami‘ al-Bayan fi Ta’wil al-Qur’an (جامع البيان في تأويل القرآن). Sa‘udiy: Mawkia‘ Majma‘ al-Malik Fahd lit-Tiba‘ah al-Mashhaf al-Sharif.