วิถีแห่งสะลัฟ ที่ถูกละเลย
  จำนวนคนเข้าชม  2497


วิถีแห่งสะลัฟ ที่ถูกละเลย

 

โดย อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลฮะมีด อัล-อะษะรียฺ

แปลเรียบเรียง อาจารย์รีมา เพชรทองคำ

 

ต่อไปนี้ คือบางส่วนจากวิถีแห่งสะลัฟ คุณธรรมอันเลอค่าที่ถูกเพิกเฉย ถูกละเลย ถูกหลงลืมไป

 

     ♣ สั่งใช้กันในความดี และห้ามปรามกันจากความชั่ว นี่คือ คติสำคัญของอัลอิสลาม ความดีงามและบะร่อกะฮฺจะยังมีอยู่ในประชาชาตินี้ด้วยการนี้ และสิ่งนี้นับเป็นสาเหตุแห่งความแข็งแกร่งและยืนหยัดของสังคมอีกด้วย ดังที่อัลลฮฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบธรรม และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบธรรมและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ...”

(อาละอิมรอน 3 : 110)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ผู้ใดเห็นความชั่ว เขาจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา หากเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยมือ ก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยลิ้นของเขา และหากเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น ก็ให้ปฏิเสธด้วยหัวใจ และนั่นเป็นอีมานที่อ่อนแอยิ่ง

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

          สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงในการสั่งใช้กันในความดี และห้ามปรามจากความชั่วก็คือ การใช้ความละเอียดอ่อน ความอ่อนโยน ความสุภาพ ความสุขุมรอบลึก คำพูดที่ดี และด้วยเหตุผลและหลักฐานอันน่าเชื่อถือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า

(อันนะฮฺลฺ 16 : 125)

 

          อีกทั้งยังจำเป็นที่จะต้องมีความอดทนอดกลั้น ในการเรียกร้องไปสู่ความดีและห้ามปราม ต่อต้านความชั่ว ความอธรรม เพราะในการเรียกร้องเชิญชวนอาจจะต้องประสบพบเจอกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ จึงต้องอาศัยความอดทนอย่างสูง ตลอดจนจำเป็นต้องรักษาญะมาอะฮฺไม่แตกแยก ไม่ขัดแย้ง จักต้องสร้างความสมัครสมานสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่นเดียวกัน และปรองดองกันในหมู่คณะ โดยอยู่บนพื้นฐานของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน...”

(อาลาอิมรอน 3 : 103)

 

     ♣ รักษาหลักการสำคัญของอิสลาม เช่น การดำรงละหมาดญะมาอะฮฺ การละหมาดญุมอะฮฺ การทำฮัจญ์ การญิฮาด การเร่งรีบทำละหมาดในตอนต้นของเวลาละหมาดนั้นๆ การตื่นขึ้นละหมาด กิยามุลลัยลฺ หรือการขมีขมันในการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยอิบาดะฮฺต่างๆ ทั้งที่เป็นฟัรฎูและซุนนะฮฺ

 

     ♣ มั่นคง เข้มแข็ง อดทน เมื่อเจอบททดสอบ เจอบะลาอฺ และขอบคุณอัลลอฮฺ เมื่อได้รับสิ่งที่พอใจ เมื่อมีความสุข พอใจและยอมรับต่อกอฎอและกอดัร ของอัลลอฮฺ ไม่โวยวาย ไม่คร่ำครวญ ไม่ตัดพ้อในสิ่งที่ประสบ

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้น จะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ

(อัซซุมัร 39 : 10)

 

          และไม่ต้องปรารถนาที่จะพบกับบททดสอบ ไม่ขอต่ออัลลอฮฺให้ลงบะลาอฺกับเขา เพราะไม่มีใครรู้ว่า เมื่อเจอบะลาอฺแล้วจะมั่นคง อดทนได้ตลอดหรือไม่ แต่ทว่า เมื่อเจอบะลาอฺแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องอดทน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “พวกท่านจงอย่าปรารถนาที่จะพบเจอศัตรู และจงขอต่ออัลลอฮฺให้ได้รับความปลอดภัย ทว่าเมื่อเจอศัตรูแล้ว พวกท่านก็จงอดทน

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

 

          ไม่ท้อแท้ ไม่หมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ เพราะอัลลอฮฺได้ทรงห้ามจากการสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “และพวกเจ้าอย่าเบื่อหน่าย (หมดหวัง) ต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงไม่มีผู้ใดเบื่อหน่าย (หมดหวัง) ต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ

(ยูซุฟ 12 : 87)

 

          ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวังว่า อัลลอฮฺจะประทานทางออก ความสำเร็จหรือชัยชนะให้ เชื่อมั่นในคำสัญญาของอัลลอฮฺ คิดเสมอว่าหลังจากความทุกข์ยากจะมีความง่ายดาย และไตร่ตรองใคร่ครวญว่าเหตุใดเราจึงเจอบททดสอบ ทำผิดอะไรหรือเปล่า ฝ่าฝืน ขัดคำสั่งพระองค์หรือเปล่า ไม่ทำตามคำสั่งใช้หรือเปล่า

          เพราะการจมอยู่ในความผิด การฝ่าฝืนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อัลลอฮฺประทานบะลาอฺ หากยังไม่ออกห่างจากความผิดเหล่านั้น ทางออกและทางรอดพ้นก็ยังอยู่ห่างไกลแสนไกลและการยำเกรงอัลลอฮฺ การขออภัยโทษ การพึ่งพิงอัลลอฮฺ และการขอบคุณอยู่เสมอเมื่อสุขสบาย เป็นสาเหตุที่สำคัญที่จะขจัดปัดเป่าความลำบากทุกข์ยากเมื่อมันมาเยือน

          พอเพียงในสิ่งที่มี ไม่ทะเยอทะยาน อยากได้ อยากมีไปเสียทุกอย่างที่คนอื่นมี โดยไม่มองถึงฐานะของตัวเอง ขอบคุณอัลลอฮฺ และสำนึกในความเมตตาโปรดปรานของพระองค์อยู่เสมอ ไม่ปฏิเสธและดูถูกความโปรดปรานที่พระองค์ประทานให้

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “พวกท่านจงมองไปยังผู้ที่อยู่ต่ำกว่าพวกท่าน (ในเรื่องทรัพย์สินและดุนยา) และพวกท่านจงอย่ามองไปยังผู้ที่อยู่เหนือกว่าพวกท่าน ด้วยสิ่งดังกล่าว มันเป็นสิ่งสมควรกว่าที่จะทำให้พวกท่านไม่ดูแคลนความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

     ♣ มีอิคลาสต่ออัลลอฮฺ ทั้งด้านการปฏิบัติอิบาดะฮฺ และการแสวงหาความรู้ ตลอดจนการเผยแพร่ จำเป็นจะต้องบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺเท่านั้น ปราศจากการโอ้อวดในทุกแง่มุม ไม่หวังคำชมเชย ไม่หวังชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ หรือหน้าตาในสังคม ไม่ปฏิบัติงานการใดๆ เพื่อโชว์ผู้อื่น ปฏิบัติความดีในที่ลับเสมือนกับปฏิบัติในที่แจ้ง และให้กิจการงานของโลกอาคิเราะฮฺมาก่อนกิจการงานของโลกดุนยาเสมอ และมีความไม่พอใจเมื่อเห็นสิ่งผิด สิ่งบกพร่องที่มาแทะเล็มศาสนา ปฏิเสธ ต่อต้านที่จะยอมรับสิ่งผิดนั้น และต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งผิดๆ ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

     ♣ มีตักวาที่เข้มแข็ง เกรงกลัวอัลลอฮฺอยู่เป็นนิจ มีความนอบน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่นว่าตนมีตักวา มีอีมานมากกว่า ต้องมีจิตใจอ่อนโยน ร้องไห้ สำนึกผิดเมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ เตาบะฮฺ และขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺอยู่เสมอ ทั้งจากความผิด หรือกระทั่งความบกพร่องในการฏออะฮฺ คิดคำนึง ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ระลึกถึงวันที่วิญญาณจะออกร่าง หวั่นเกรงจุดจบที่เลวร้าย ไม่หลงระเริงไปกับแสงสีและความเพริดแพร้วจอมปลอมของดุนยา

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ อุปมัยดุนยากับอาคิเราะฮฺ อุปมาดั่งคนหนึ่งคนใดในกลุ่มพวกท่านเอานิ้วมือหนึ่ง (ท่านยะฮฺยา ผู้รายงานฮะดิษชี้ไปที่นิ้วชี้) จุ่มลงในแม่น้ำ แล้วจงดูว่ามีสิ่งใดติดอยู่ที่ปลายนิ้ว? (มีเพียงน้ำน้อยนิดติดนิ้วขึ้นมา ดังนั้น ดุนยาจึงมีค่าเพียงน้อยนิดเท่านั้น เมื่อเทียบกับอาคิเราะฮฺ)

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

   ♣ ไม่เผลอเป็นเหยื่อของอิบลีส มารร้ายที่ถูกสาปแช่ง หมั่นเรียนรู้ เพื่อเข้าใจเล่ห์เหลี่ยม และรู้ทันกลอุบายของมัน เพราะถ้ามีจิตใจเข้มแข็งและเข้าใจเล่ห์กลของมัน ก็จะเอาชนะมันและสมุนของมันได้ เพราะอุบายที่มีไว้นั้นมิได้แข็งแรงแต่อย่างใด

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

แท้จริงอุบายของชัยฏอนนั้นเป็นสิ่งที่อ่อนแอ

(อันนิซาอฺ 4 : 76)

 

     “แท้จริงมัน (ชัยฏอน) ไม่มีอำนาจใดๆ เหนือบรรดาผู้ศรัทธา โดยที่พวกเขาได้มอบหมาย (การงาน) ต่อพระเจ้าของพวกเขา

(อันนะฮฺลฺ 16 : 99)

 

   ♣ กตัญญู และปฏิบัติอย่างดีงามต่อบุพการี ถึงแม้ท่านทั้งสองจะไม่ใช่มุสลิม อยู่ในโอวาทของท่านทั้งสองตามขอบเขตของศาสนา ดูแลปรนนิบัติอย่างดี เพราะแท้จริง อัลลอฮฺทรงยกย่องทั้งสองให้อยู่ฐานะที่เราจำเป็นต้องให้ความเคารพ พระองค์ทรงสั่งใช้ให้ทำความดีต่อทั้งสองไว้ในหลายอายะฮฺด้วยกัน เช่น

 

     “และเราได้สั่งเสียมนุษย์ให้ทำดีต่อบิดามารดาของเขา และถ้าทั้งสองบังคับเจ้าเพื่อให้ตั้งภาคีในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ เจ้าก็อย่าปฏิบัติตามเขาทั้งสอง

(อัลอันกะบู๊ต 29 : 8)

 

     “และเราได้สั่งการแก่มนุษย์เกี่ยวกับบิดา มารดาของเขา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขา ซึ่งนางอ่อนเพลียลงครั้งแล้วครั้งเล่า (ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ กระทั่งคลอด) และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้น คือการกลับไป

(ลุกมาน 31 : 14)

 

   ♣ ระวังรักษาคำพูด และความอคติ ปิดประตูแห่งการนินทาในวงสนทนา เพื่อที่วงสนทนาจะได้ไม่กลายเป็นวงติฉินนินทา ไม่แพร่งพรายความลับของผู้ใด ไม่นำข้อเสียของผู้อื่นมาโพนทะนา ไม่นำเรื่องส่วนตัวของใครมาประจาน ไม่พบปะใครด้วยกิริยา วาจาไม่สุภาพ ไร้มารยาทและไม่ตั้งตนเป็นศัตรูข่มเหงผู้อื่น ไม่คิดต่อผู้อื่นในทางที่ไม่ดี ไม่สอดแนมเรื่องราวชาวบ้าน ไม่ยุแยงตะแคงรั่ว มีความละอาย สุขุม พูดแต่น้อย หัวเราะแต่น้อย เมื่อพูดก็พูดแต่สิ่งดีมีประโยชน์

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูตะอาลา ตรัสว่า

 

   “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าอย่าสอดแนมและบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน

     คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมันและจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริง อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

(อัลฮุญุร๊อต 49 : 12)

 

   ♣ ไกล่เกลี่ย สมานฉันท์ระหว่างผู้บาดหมาง มีมารยาทอันดีงามต่อทุกคน ทั้งต่อผู้น้อย ผู้ใหญ่ ผู้มั่งมี ผู้ยากจน อภัยให้ผู้อื่น เมื่อเกิดข้อผิดพลาด หรือเมื่อถูกทำร้ายทั้งกาย วาจา ใจ ไม่อาฆาตแค้น ผูกใจเจ็บ ออกห่างจากการอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ทะนงตน ไม่อธรรมต่อผู้อื่น และไม่เย่อหยิ่งจองหอง

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายหนึ่งละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ

     ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม (แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม

(อัลฮุญุร็อต 49 : 9)

 

   ♣ มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น จ่ายซอดาเกาะฮฺ บริจาคทานอยู่เป็นเนืองนิตย์ หมั่นถามสารทุกข์สุขดิบของมิตรสหายและผู้ใกล้ชิด เพื่อที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูล เมื่อยามพวกเขาตกยาก หรือต้องการปัจจัยยังชีพ ออกห่างจากการสุรุ่ยสุร่าย ตลอดจนการตระหนี่ถี่เหนียว ให้เกียรติแขกผู้มาเยือน ต้อนรับอย่างดีงาม ทำความดีต่อเพื่อนบ้าน ช่วยเหลือเกื้อกูล ติดต่อเครือญาติ มิตรสหาย ให้สลามเมื่อเจอกัน เมตตาสงสารเอื้อหนุนผู้ยากจนขัดสน เด็กกำพร้า ตลอดจนผู้เดินทาง

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

พวกท่านจงให้สลามกันอย่างแพร่หลาย จงเลี้ยงอาหารกัน

และจงเป็นพี่น้องกันดังที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้พวกท่าน

(บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ)

 

   ♣ ไม่ละเลย เพิกเฉยต่อความดีเล็กๆ น้อยๆ ที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ อย่ามองว่าความดีนั้นเล็กน้อย แล้วเพิกเฉย ละเลย ไม่ปฏิบัติ เพราะทุกๆ ความดีย่อมมีผลบุญ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

พวกท่านจงอย่าดูถูกสิ่งใดๆ จากความดี ถึงแม้จะแค่เพียงการพบหน้าพี่น้องของท่านด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเบิกบาน

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

   ♣ ประดับประดาตกแต่งชีวิตด้วยมารยาทอันประเสริฐ และจรรยามารยาทอันดีงาม เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาด จักต้องให้สิ่งนี้ติดตัวตลอดเวลา ดั่งเกลือรักษาความเค็ม เพราะมารยาทและ อีมานเป็นของคู่กันจะแยกจากกันไม่ได้เป็นอันขาด

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

มุอฺมินที่อีมานสมบูรณ์ยิ่ง คือ ผู้ที่มีมารยาทของเขาดีงามยิ่ง

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)

 

         นี่คือบางส่วนจากแบบอย่างอันดีงามที่ถูกถ่ายทอดจากท่านนบีสู่บรรพชนที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่ดีที่สุด สืบสานต่อมาตามยุคสมัย โดยมิได้ถูกละเลย จึงทำให้พวกเขาเหล่านั้น มีเกียรติทั้งทางด้านศาสนา และทางดุนยา สร้างความเจริญสู่สังคมอิสลาม จนเป็นสังคมต้นแบบที่ได้รับการกล่าวขานจากบรรดามุสลิมและชนต่างศาสนิกว่า เป็นยุคทองของอิสลาม

          ดังนั้น เราจงอย่าได้ทำให้แบบอย่างเหล่านี้เป็นเพียงต้นฉบับที่ถูกบันทึก เป็นเพียงตำนานที่ถูกเล่าขาน แต่จำเป็นจักต้องให้สิ่งเหล่านี้ สืบอยู่ในวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของมุสลิมในยุคปัจจุบันอย่างครบถ้วนแล้ว เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความน่าเกรงขามของอิสลามก็จะประจักษ์ขึ้นเฉกเช่นบรรพชนของเราในอดีต

 

     “มุฮัมมัดเป็นร่อซูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขานั้น เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง

     เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้รุกั๊วอฺ ผู้สุญูด โดยแสวงหาคุณความดีและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ (หวังการตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ) เครื่องหมายของพวกเราอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งการสุญูด

     นั่นคือ อุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ใน อัตเตารอต และอุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัลอินญีล อุปมัยประหนึ่งเมล็ดพืชที่งอกหน่อหรือกิ่งก้านของมันออกมา แล้วทำให้มันงอกงาม แล้วมันก็เติบโตแข็งแรง และทรงตัวอยู่ได้บนลำต้นของมัน นำความปลื้มปิติมาให้แก่ผู้หว่าน

     เพื่อที่พระองค์จะก่อความโกรธแค้นแก่พวกปฏิเสธศรัทธาเพราะพวกเรา (เปรียบเมล็ดพืชคือท่านนบี หน่อหรือกิ่งก้านคือบรรดาซอฮาบะฮฺ ซึ่งในตอนแรกมีจำนวนน้อยและอ่อนแอ จนกระทั่งมากมายขึ้น และแข็งแรง ทั้งนี้เพื่อที่จะก่อความโกรธแค้นให้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธ อันเนื่องมาจากจำนวนและความเข้มแข็งของบรรดามุสลิม)

     และอัลลอฮฺทรงสัญญาต่อบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายในหมู่พวกเขาว่าจะได้รับการอภัยโทษ และรางวัลอันใหญ่หลวง

(อัลฟัตฮฺ 48 : 29)

 

          โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงชี้แนะการงานและมารยาทที่ดีงามแก่พวกข้าพระองค์ ไม่มีผู้ชี้แนะใดดียิ่งไปกว่าพระองค์ และขอพระองค์ทรงขจัดความเลวร้ายแห่งการงานและมารยาทที่ไม่ดีให้ไกลห่างจากพวกข้าพระองค์ ไม่มีผู้ใดจะขจัดมันให้ไกลห่างจากพวกข้าพระองค์ได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น 

 

 

จากหนังสือ มินอัคลากิสสะละฟิศศอลิหฺ 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555