ความสำคัญของเวลาที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน
นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบสิ่งดีงามทั้งหลาย
และตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและตักเตือนกันให้มีความอดทน”
[ซูเราะห์ อัลอัศรฺ อายะห์ที่ 1-3]
“ไม่มีวันใดที่อัลลอฮฺ นำมันมายังดุนยา นอกจากมันจะพูดว่า…
โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย จงรีบฉกฉวยฉันไว้เถิด เพราะอาจจะไม่มีวันหลังจากฉันอีกแล้ว
และไม่มีคืนใด นอกจากมันจะประกาศว่า...
โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย จงรีบฉกฉวยฉันไว้เถิด เพราะอาจะไม่มีค่ำคืนหลังจากฉันแล้ว”
[บักรฺ อัลมุซนีย์]
อิสลามได้ให้ความสำคัญกับเวลาและชี้แจงถึงคุณค่าของมันจากตัวบทอัลกุรอานและหะดีษมากมาย เฉกเช่นที่ได้ชี้แจงถึงอิบาดะห์ต่างๆ นั่นก็เพื่อบริหารจัดการกับเวลาของคนมุสลิม ยิ่งไปกว่านั้น ในหน้าประวัติศาสตร์นี้ ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีประชาชาติใดที่ให้ความสำคัญและหวงแหนรักษาเวลาเท่ากับประชาชาติอิสลาม ส่วนหนึ่งจากความสำคัญของเวลา มีดังต่อไปนี้
1. เวลาเป็นนิอฺมัต (ความโปรดปราน) ที่ยิ่งใหญ่
อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“และเราได้ทำให้กลางคืนและกลางวันเป็นสองสัญญาณ ดังนั้นเราทำให้สัญญาณของกลางคืนมืดมน
และเราได้ทำให้สัญญาณของกลางวันมีแสงสว่าง เพื่อพวกเจ้าจะได้แสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้าของพวกเจ้า
และเพื่อพวกเจ้าจะได้รู้จำนวนปีทั้งหลายและการคำนวณ และทุกๆ สิ่งเราได้แจกแจงมันอย่างละเอียดแล้ว”
[ซูเราะห์ อัลอิสรออฺ อายะห์ที่ 12]
และหะดีษที่รายงานจากอิบนุอับบาส เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านนบี ได้กล่าวว่า
“มีความโปรดปราน 2 ประการที่ผู้คนส่วนมากมักละเลย นั่นคือ การมีสุขภาพดี และการมีเวลาว่าง”
(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)
เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่ขาดทุนในเรื่องเวลาก็คือคนที่ละเลยต่อเวลา ซึ่งเขาเป็นเสมือนกับคนที่ขายสินค้าให้แก่คนอื่นด้วยราคาที่ถูกเกินควร หรือคนที่ซื้อสินค้าแพงมากๆ ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ชาวสวรรค์เสียใจ นอกจากเรื่องเวลาที่ผ่านพวกเขาไปโดยที่พวกเขาไม่ได้รำลึกถึงอัลลอฮฺ
2. เวลาเป็นสิ่งที่ถูกสาบานในอัลกุรอาน
เมื่อผู้ทรงยิ่งใหญ่สาบานด้วยสิ่งใดก็แล้วแต่ มันย่อมบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของสิ่งนั้น จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับมัน และก็เพื่อดึงความสนใจให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์ได้สาบานไว้ เช่น
“ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ”
[ซูเราะห์ อัลฟัจรฺ อายะห์ที่ 1-2]
“ขอสาบานด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันปกคลุม และเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง”
[ซูเราะห์ อัลลัยลฺ อายะห์ที่ 1-2]
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน”
[ซูเราะห์ อัลอัศรฺ อายะห์ที่ 1-2]
อุลามาอฺบางท่านได้กล่าวว่า “การที่อัลลอฮฺ ได้สาบานเรื่องเวลาก็เพื่อเรียกร้องให้บ่าวผู้ศรัทธาให้ความสนใจกับการรักษาเวลา”
3. เวลาเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่
เวลาของมุสลิมเป็นอะมานะฮฺ (ความรับผิดชอบ) ที่ยิ่งใหญ่ที่อัลลอฮฺ ฝากไว้แก่เขา และเขาจะต้องถูกถามในวันกิยามะฮฺถึงเวลาที่เขาใช้ไปในโลกดุนยา นี่คือสิ่งที่หะดีษของท่านนบี ได้ยืนยันไว้ว่า มี 4 คำถามที่บ่าวจะถูกถามต่อหน้าอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ ซึ่ง 2 คำถามจะถูกถามเฉพาะเรื่องเวลา
รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด แท้จริงท่านนบี กล่าวว่า
“ในวันกิยามะฮฺเท้าของบ่าวคนหนึ่งคนใดจะไม่ขยับเคลื่อน ณ ที่อัลลอฮฺ จนกว่าเขาจะต้องถูกสอบถามถึง 5 ประการ คือ
ถูกสอบถามถึงอายุขัยของเขาว่า ใช้ช่วงเวลาที่มีชีวิตหมดไปกับสิ่งใด,
วัยหนุ่มของเขา เขาดำเนินไปอย่างไร,
ทรัพย์สินของเขา เขาขวนขวายมาจากไหน และใช้จ่ายไปอย่างไร,
ความรู้ของเขา เขานำไปปฏิบัติอย่างไร”
(บันทึกโดยอัตติรฺมิซีย์)
สาเหตุที่อัลลอฮฺ เจาะจงเฉพาะวัยหนุ่มนั่นก็เพราะว่า วัยหนุ่มเป็นวัยที่มีพลังทางกายและทางใจ มีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่ากว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องใช้วัยนี้ทำงาน ทำอะมั้ลอิบาดะฮฺให้มากกว่าวัยอื่นด้วยเช่นกัน
4. เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการฉกฉวยเวลาและระวังการฆ่าเวลา
ท่านนบี กล่าวว่า
“จงฉวยโอกาส 5 อย่าง ก่อนอีก 5 อย่างจะมาถึง นั่นคือ
ความหนุ่มก่อนความแก่ , สุขภาพดีก่อนการเจ็บไข้ , ความมั่งมีก่อนจะยากไร้
เวลาว่างก่อนจะไม่มีเวลา , และการมีชีวิตก่อนความตายมาเยือน”
(บันทึกโดยอัลฮากิม)
5. เรียกร้องให้รีบใช้เวลาให้เกิดประโยชน์
ท่านนบี ได้สั่งกำชับให้เรารีบเร่งทำอะมั้ลความดีก่อนที่จะมีปัญหาหรือความเสียหายต่างๆ เกิดขึ้น เล่าจากอบีฮุรอยเราะฮฺ ว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลายจงรีบเร่งทำอะมั้ลความดีก่อนที่ 7 ประการนี้จะเกิดขึ้นกับพวกท่าน
พวกท่านไม่ได้รอคอยสิ่งใด นอกจากความยากจนที่ถูกลืมไป
หรือความร่ำรวยที่จะมีแต่การถูกกดขี่ข่มเหง
หรือความเจ็บป่วยที่จะทำให้เสื่อมถอย
หรือความชราภาพที่จะทำให้สติเลอะเลือน
หรือความตายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
หรือดัจญาลซึ่งเป็นความชั่วร้ายที่เร้นลับและกำลังถูกรอคอย
หรือวันกิยามะฮฺ และวันกิยามะฮฺนั้นเป็นวันที่ทุกข์ทรมานยิ่งและขมขื่นยิ่ง”
(รายงานโดยติรฺมิซีย์ ชัยคฺอัลบานีย์ กล่าวว่า เป็นหะดีษฎออีฟ)
จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“พวกท่านจงรีบเร่งปฏิบัติความดี ก่อนที่จะเกิดฟิตนะฮฺ (ความวุ่นวาย) โกลาหล ดั่งราตรีกาลอันมืดทมิฬ
กระทั่งว่าบางคนตื่นเช้ามาในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตกเย็นกลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาไปเสีย
หรือบางคนในตอนเย็นยังเป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวันก็กลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ยอมขายศาสนาเพื่อแลกกับความสุขอันจอมปลอมเพียงน้อยนิดในโลกดุนยา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
6. เวลาเป็นภาชนะของอะมั้ลอิบาดะห์
การละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด การทำฮัจญ์ และอื่นๆ เป็นอิบาดะฮฺที่มีเวลาที่ถูกกำหนดแน่นอนตายตัว ดังนั้น การเลื่อนกระทำมันล่าช้าออกไปถือว่าอิบาดะฮฺนั้นจะใช้ไม่ได้ อิบาดะฮฺบางอย่างจะไม่ถูกตอบรับเลย
หากกระทำมันในเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาของมัน นั่นก็เพราะว่า อิบาดะฮฺผูกมัดด้วยกับเวลาที่แน่นอน ซึ่งมันเปรียบเสมือนภาชนะที่มีการงานต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในนั้น
หนึ่งหะดีษที่ส่งเสริมให้กระทำอิบาดะฮฺในเวลาของมันคือ คำกล่าวของท่านนบี ที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ว่า
ท่านได้ถามท่านนบี ว่า “การงานใดที่อัลลอฮฺ รักมากที่สุด?”
ท่านนบี ได้ตอบว่า “การละหมาดในเวลาของมัน…”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)
ที่มา: หนังสือ “เทคนิคการบริหารเวลา ฉบับผู้ศรัทธา”