ความยุติธรรม คุณค่าอันยิ่งใหญ่จากชีวประวัติแห่งศาสนทูตมุหัมมัด
มุหัมมัด มิสอัด ยากูต เขียน
ฮุซเซ็น หะยีนาแว แปลเรียบเรียง
♣ St. Heller(ชาวเยอรมัน)¹ กล่าวว่า แท้จริงแล้ว มุหัมมัด มีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งควบคู่กับเขา 2 ประการที่ประเสริฐยิ่งและได้อุ้มชูจิตใจของมวลมนุษย์นั้น คือ ความยุติธรรม และ ความเมตตา
♣ ท่านนบีมุหัมมัด มีบุคคลิกภาพที่เต็มไปด้วยความยุติธรรมในทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งกับคนใกล้หรือคนไกล ทั้งยามที่พำนักอยู่กับที่และยามเดินทาง ทั้งในฐานะลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ... เรายังเห็นท่านนบีมุหัมมัด เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อตั้งองค์การร่วมที่ได้ออกมติประกาศใช้ความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรม เมื่อครั้งที่การทำสนธิสัญญาอัลฟุฎูล ท่านนบีมุหัมมัด ได้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า:
" شَهِدْتُ حِلْفَ الْمُطَيَّبِيْنَ مَعَ عُمُوْمَتِي وَأنَا غُلاَمٌ،
فَمَا أُحِبُّ أَنَّ لِي حُمْرَ النَّعَمِ وَأَنِّي أَنْكُثُهُ".
أخرجه أحمد 1567 وهو في السلسلة برقم 1900
“ฉันได้ร่วมเป็นองค์ประชุมในสนธิสัญญาอัลมุฎ็อยยะบีน (อัลฟุฎูล) ร่วมกับบรรดาลุงๆ ของฉันในขณะที่ฉันยังเยาววัย เพราะฉะนั้น ฉันไม่อยากเห็นว่าตัวเองได้อูฐแดงมาแล้ว แต่ก็จะปล่อยให้หลุดมือไปอีก” ²
ตัวอย่างแห่งความยุติธรรม ในประวัติศาสตร์ของท่านนบีมุหัมมัด
หนึ่ง การห้ามประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์เยี่ยงทาส
♥ ท่านนบีมุหัมมัด ได้ปลูกฝังคุณค่าแห่งความยุติธรรมแก่บรรดาผู้รับผิดชอบและผู้ติดตามท่าน โดยได้กล่าวตักเตือนเพื่อไม่ให้นำไปปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงทาส
"لاَ يَقُولَنّ أَحَدُكُمْ: عَبْدِي وَأَمَتِي. كُلّكُمْ عَبِيدُ اللّهِ وَكُلّ نِسَائِكُمْ إِمَاءُ اللّهِ.
وَلَكِنْ لِيَقُلْ: غُلاَمِي وَجَارِيَتِي، وَفَتَايَ وَفَتَاتِي". أخرجه مسلم 6011
“จงอย่ากล่าวเรียกบ่าวของตนว่า ทาสของฉัน หรือคนรับใช้ของฉัน ท่านทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮ และสตรีทุกคนคือบ่าวสตรีของอัลลอฮฺ แต่จงเรียกพวกเขาว่า
โอ้..ฆุลาม(ลูกน้องผู้ชายที่เป็นเด็ก)ของฉัน
โอ้..ญาริยะฮฺ(ลูกน้องผู้หญิงที่เป็นเด็ก)ของฉัน หรือ
โอ้..ฟะตัน(ลูกน้องผู้ชายที่เป็นคนหนุ่ม)ของฉัน
โอ้..ฟะตาฮ์(ลูกน้องผู้หญิงที่เป็นคนสาว) ของฉัน” ³
สอง การห้ามไม่ให้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ
♥ ท่านนบีมุหัมมัด กล่าวว่า:
"أَنْتُمْ بَنُو آدَمُ، وَآدَمُ مِنْ تُرَابٍ، لَيَدَعَنَّ رِجَالٌ فَخْرَهُمْ بِأَقْوَامٍ، إِنَّمَا هُمْ فَحْمٌ مِنْ فَحْمِ جَهَنَّمَ أَوْ لَيَكُونُنَّ أَهْوَنَ عَلىَ اللهِ مِنْ الجَعْلاَنِ الَّتِي تَدْفَعُ بِأَنْفِهَا النَّتْنَ"
أخرجه أبوداود 5118، وغيره وحسنه الألباني
“พวกท่านเป็นลูกหลานของอาดัม แท้จริงอาดัมถูกสร้างจากดิน บุรุษทั้งหลายพึงต้องละทิ้งการเบ่งอวดศักดิ์ศรีของชนเผ่า แท้จริงแล้ว พวกเขาจะเป็นเถ้าถ่าน(เชื้อเพลิง)ในนรกญะฮัมนัม หรือ ณ อัลลอฮฺ แล้ว เขาน่ารังเกียจยิ่งกว่าหนอนด้วงที่ต้องดันของเหม็นเน่าด้วยจมูก ของมัน” 4
♥ ท่านนบี ได้ตำหนิ อบูซัร อย่างรุนแรง เมื่อครั้งที่อบูซัร ดูถูกบิลาล เกี่ยวกับแม่ของเขา 5
สาม สั่งให้มีความยุติธรรมต่อบรรดาลูกๆ
♥ ท่านนบี ปฎิเสธที่จะเป็นพยานให้กับบิดาของอัลนุมาน บิน บะชีร เมื่อครั้งที่บิดาของเขาต้องการให้ท่านนบี r รับรองการแบ่งสมบัติ โดยที่ไม่มีความยุติธรรมต่อบรรดาลูกๆ ทั้งหมดของเขา ท่านนบี กล่าวว่า
“ถ้าเช่นนั้น ท่านจงอย่าให้ฉันเป็นพยานรับรองเลย แท้จริงแล้ว ฉันจะไม่เป็นสักขีพยานให้กับผู้ที่อยุติธรรม” 6
♥ ท่านนบี กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮ และจงให้ความยุติธรรมต่อบรรดาลูกๆ ของท่าน” 7
สี่ ความยุติธรรมของท่านนบี ต่อต่างศาสนิก
♥ รายงานจากอบีหัดร็อด อัลอัสละมีย์ ว่า เขาเป็นหนี้ต่อชาวยิวคนหนึ่ง โดยที่เขาไม่ยอมจ่ายคืนให้แก่เขา
ชาวยิวคนดังกล่าว ได้ร้องเรียนต่อท่านนบี ว่า โอ้ มูหัมมัด บุคคลผู้นี้เป็นหนี้ฉันสี่ดิรหัม โดยที่เขาเอาชนะฉัน (ไม่ยอมจ่ายคืน)
ท่านนบี จึงได้สั่งให้มุสลิมชำระหนี้ โดยกล่าวว่า “จงคืนสิทธิของเขาไป” 8
♥ โองการอัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของชายชาวยิวที่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมจากชาวมุสลิมบางคนในขณะนั้น ซึ่งถูกระบุในเรื่องเล่าที่ค่อนข้างยาว สุดท้าย อัลลอฮฺ ก็ได้ประทานอายะฮฺนี้มาว่า
( إِنَّا أَنزَلْنَا إِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ لِتَحْكُمَ بَيْنَ النَّاسِ بِمَا أَرَاكَ اللَّهُ ۚ وَلَا تَكُن لِّلْخَائِنِينَ خَصِيمًا ( النساء 105
“แท้จริง เราได้ประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้าด้วยสัจธรรมความจริง เพื่อเจ้าจะได้ตัดสินระหว่างผู้คน ด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เจ้ารู้เห็น และเจ้าจงอย่าเป็นผู้เถียงแก้ให้แก่ผู้บิดพริ้วทั้งหลาย”
(อันนิสาอ์ 105) 9
ห้า ทุกคนมีความเท่าเทียมกันต่อกฎหมาย
♥ เมื่อครั้งที่แกนนำชาวกุร็อยช์ต้องการจะยกเว้นการลงโทษแก่ผู้หญิงจากเผ่าอัลมัคซูมียะห์ที่ขโมยทรัพย์สิน และพวกเขาได้ใช้ให้ อุสามะห์ บินซัยด์ เป็นผู้ขอความช่วยเหลือจากท่านนบี ให้แก่ผู้หญิงคนดังกล่าว ท่านนบี ปฎิเสธอย่างรุนแรง โดยท่านนบี ได้กล่าวแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ว่า
" وَايْمُ اللهِ، لَوْ أَنَّ فَاطِمَةَ ابْنَةُ مُحَمَّدٍ سَرَقَتْ لَقَطَعْتُ يَدَهَا "
أخرجه البخاري 3475 ، ومسلم 4505
“ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮ หากฟาติมะห์ บุตรสาวของมุหัมมัดขโมย ฉันก็จะต้องตัดมือของเธอเช่นกัน” 10
หก ความยุติธรรมของนบีมูหัมมัด ต่อกลุ่มก๊กต่างๆ ในรัฐ
เรื่องแรก ความยุติธรรมของนบีมูหัมมัด ต่อเผ่ากุร็อยเซาะฮฺกับเผ่าอัลนะฎีรในการจ่ายสินไหม
ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวยิวทำด้วยการเอารัดเอาเปรียบปราศจากความยุติธรรมในการจ่ายสินไหม เนื่องจากเผ่าอัลนาฎีรเข้มแข็งกว่าเผ่ากุรัยเซาะห์ ชาวยิวจึงให้เผ่ากุรัยเซาะห์จ่ายสินไหมมากกว่าเผ่านาฎีรเป็นเท่าตัวหากมีการฆ่ากัน หลังจากศาสนาอิสลามได้เกิดขึ้นที่มาดีนะห์ เผ่ากุรัยเซาะห์ไม่ยอมที่จะจ่ายสินไหมเป็นเท่าตัว จึงร้องเรียนขอความยุติธรรมจากท่านนบีมูหัมมัด ให้ตัดสินความเรื่องดังกล่าว ท่านนบีมุหัมมัด จึงได้ตัดสินให้ความยุติธรรมเสมอภาคแก่ทั้งสองเผ่าดังกล่าว 11
เรื่องที่สอง ความยุติธรรมของท่านนบีมุหัมมัด ในการแบ่งปันการใช้แหล่งน้ำสาธารณะ
♥ ผู้เสียเปรียบในการรับการแบ่งน้ำใช้จากเผ่ากุรัยเซาะห์พากันมาร้องเรียนต่อท่านนบี ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องการแบ่งปันแหล่งน้ำใช้ ท่านนบี จึงตัดสินเรื่องการแบ่งปันน้ำใช้ให้แก่พวกเขาโดยความเป็นธรรมจำนวนเท่ากัน
จากซะอฺลาบะฮ์ บิน อบีมาลิก เล่าว่า เขาได้ยินชายคนหนึ่งจากเผ่ากุรัยช์ ซึ่งมีหุ้นส่วนบางอย่างกับเผ่ากุรัยเซาะฮ์ ซึ่งเขาร่วมกันร้องเรียนต่อท่านนบี ที่เซลมะฮ์ซูร 12 คือ ลำธารที่มีการแบ่งน้ำใช้ ท่านนบี จึงตัดสินการแบ่งน้ำใช้ให้แก่พวกเขา โดยสามารถกักกันน้ำไว้แค่ตาตุ่ม คนที่อาศัยอยู่ที่เนินสูงจงอย่ากักกันน้ำต่อคนอยู่ที่ลุ่ม (เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปที่ลุ่มด้วย-ผู้แปล) 13
เจ็ด หลักการแห่งความเสมอภาคและความยุติธรรมในคุตบะฮ์ อัลวะดาอฺ
♥ คุตบะฮ์ อัลวะดาอฺ (คุตบะฮ์สุดท้ายก่อนท่านนบี จะเสียชีวิต) ถือว่าเป็นธรรมนูญที่ยิ่งใหญ่ เป็นการประชุมในการวางรากฐานแห่งความยุติธรรมต่อมวลมนุษย์
Herbert George Wells 14 ได้วิเคราะห์ต่อคุตบะฮ์ อัลวะดาอฺ โดยกล่าวว่า “คำกล่าวของเขา (นบีมูหัมมัด) ในคุตบะฮ์ อัลวะดาอฺ ในท่อนแรกนั้น เป็นการกวาดล้างความชั่วร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในหมู่ชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิง การโจรกรรม การแก้แค้น และการหลั่งเลือด ส่วนท่อนสุดท้ายของคุตบะห์นั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งทาสผิวดำก็เท่าเทียมกันกับคอลีฟะห์(ผู้นำสูงสุดในอิสลาม) แท้จริงแล้ว นั่นคือการสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยิ่งใหญ่ต่อโลกโดยการนำความยุติธรรมอันทรงเกียรติมาใช้"
แปด ความยุติธรรมระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้ปกครอง
♥ คุณค่าแห่งความยุติธรรมได้ถึงจุดสูงสุด เมื่อครั้งที่ท่าน นบีมูหัมมัด อนุญาตให้ผู้ใต้ปกครองทักท้วง นั่นคือ ซะวาด บิน เฆาะซิยยะฮ์ ขณะที่เขายืนเลยมาข้างหน้า ตอนที่ท่านนบี จัดแถวเพื่อเตรียมพร้อมทำการรบในสงครามบะดัร ท่านนบี ได้จิ้มที่ท้องของเขาเล็กน้อยด้วยก้านธนูที่ปราศจากหัวธนู
และท่านกล่าวว่า โอ้.. ซะวาด เข้าแถวให้ตรงซิ !
ซะวาด กล่าวตอบว่า ท่านทำฉันเจ็บนะ ! อัลลอฮ์ ส่งท่านมาด้วยความสัจธรรมและความยุติธรรม เพราะฉะนั้นท่านต้องให้สิทธิแก่ฉันได้เอาคืนด้วยนะ!
ท่านนบี บอกกับซะวาดว่า “ได้สิ เอาคืนกับฉันได้เลย” 15
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นหลักฐานเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากจริยวัตรและชีวประวัติของท่านนบีมูหัมมัด ซึ่งเป็นการอธิบายถึงมารยาทและแนวทางแห่งความยุติธรรมของท่านนบีมูหัมมัด ในหลากอริยาบท ทั้งในบทบาทเป็นครูผู้สอน เป็นบิดา เป็นผู้นำ และเป็นผู้ปกครองประเทศ
ขอความสันติสุขและความจำเริญจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด ครอบครัวของท่าน สหายของท่าน ตลอดจนผู้เจริญรอยตามแนวทางของท่านจนถึงวันอาคีเราะฮ์
1 หนังสือ อัชชัรกียฺยูน วะ อากออิดิฮิม (ชาวตะวันออกและความเชื่อ) หน้า 39
2 บันทึกโดยอะห์มัด 1567 และอัสสิลสีละฮ์ อัศศอฮีฮะห์ 1900
3 บันทึกโดยมุสลิม 6011
4 บันทึกโดยอบูดาวูด 5118 และผู้อื่น เป็นหะดิษหะซันในทัศนะของอัลบานี
5 บันทึกโดยบุคอรีย์ 29
6 บันทึกโดย บุคอรีย์ 2456, มุสลิม 3056, สำนวนรายงานข้างต้นเป็นของมุสลิม
7 บันทึกโดยบุคอรีย์ 2398
8 บันทึกโดยอะห์มัด 14942 , อัลบานีย์ในอัลสิลสิละห์อัศศอฮีฮะห์ 2108
9 บันทึกโดย ตัรมีซีย์ 296 และบุคคลอื่น เป็นหะดีษหะซันในทัศนะของอัลบานีย์
10 บันทึกโดย บุคอรีย์ 296 และมุสลิม 4505
11 บันทึกโดยอบูดาวูด 3591, อัลนาซาอี 4744 เป็นหะดีษหะซันในทัศนะของอัลบานีย์
12 เซลมะฮ์ซูร : ชื่อของลำธารของเผ่ากุรัยเซาะห์ ณ ฮิญาซ์
13 บันทึกโดย อิบนูมาญะฮ์ 2481, อบูดาวูด 3683, เป็นหะดิษศอฮีฮฺ ในทัศนะของอัลบานีย์
14 Herbert George Wells1866-1946 นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของงานเขียนเรื่อง เหตุการณ์สำคัญใน ประวัติศาสตร์ของมนุษย์
15 หะดีษ บันทึกโดย อบูดาวูด 4538, อันนะสาอีย์ 4791 และอัลบานีย์ ในหนังสืออัลสิลสิละฮฺ อัศศอฮีฮะฮฺ 2835