ความประเสริฐของการสำนึกผิดยังอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  6541


ความประเสริฐของการสำนึกผิดยังอัลลอฮฺ

 

เรียงเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

          การที่คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ อัลลอฮฺให้เรามีสติปัญญาเพื่อใช้ใคร่ครวญแยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่แค่สติปัญญาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถให้เรารอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาใช้นำหน้าปัญญาก็คือ อัลกุรอ่านและอัซซุนนะห์ของรอซูลของพระองค์ หากเรานำสองประการนั้นมานำหน้าปัญญาของเรา มันจะทำให้สติปัญญาของเรามีความสมบูรณ์แบบ 

 

        สติปัญญาที่รอบรู้ทุกอย่าง แต่กลับไม่รู้จักพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ถือว่าเป็นสติปัญญาที่มีความบกพร่อง เพราะสติปัญญานั้นไม่สามารถทำให้เขารู้จักที่มาของตัวเอง และไม่รู้ว่าสถานที่ใดที่เขาจะต้องกลับไป และเขามาใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้เพื่ออะไรกัน 

 

        หลายสิ่งหลายอย่างที่คนเราทุ่มเทขวนขวายมาตลอด จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าการแสวงหาหน้าที่การงานที่ดี การมีสิ่งอำนวยความสะดวก และทรัพย์สินสมบัติ เราเคยตั้งคำถามบ้างหรือเปล่าว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เรามีความสุขจริงหรือ? สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้จิตใจสงบมีความสุขที่แท้จริงหรือไม่ คนจำนวนมากครอบครองทรัพย์สินมากมาย แต่ทรัพย์สินก็ไม่ได้ทำให้เขามีความสุขเลย 

 

         ดังนั้นการที่คนเรามาอยู่ในโลกใบนี้ คงไม่มีใครที่ไม่เคยทำสิ่งที่เป็นบาป หรือสิ่งที่เป็นความชั่ว ยกเว้นบรรดานบีและรอซูลพวกเขาเป็นบุคคลที่ไร้บาป บุคคลอื่นจากพวกเขาย่อมต้องกระทำสิ่งที่เป็นบาปและความชั่ว การทำบาปบางครั้งเป็นบาปเล็กๆ ที่การปฏิบัติอิบาดะฮ์บางอย่างสามารถลบล้างบาปเล็กเหล่านั้นได้ เช่นการถือศีลอด วันอาชูรอฮฺ การอาบน้ำละหมาด การละหมาด การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺในแต่ละวัน แต่บาปเล็กๆ ที่ไม่คิดจะละทิ้งก็สามารถกลายเป็นบาปใหญ่ได้ และสามารถทำจิตใจตายด้านได้ ส่วนบาปใหญ่นั้นต้องอาศัยการเตาบะห์เท่านั้น 

 

        สำหรับการสำนึกผิดยังอัลลอฮฺนั้นมีความปรเสริฐมากมาย คนทำสำนึกผิดยังอัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะรักเขา 

 

إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ (222)

 

แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักแก่บรรดาผู้ที่สำนึกผิดและรักแก่บรรดาผู้ที่มีความสะอาด

 

       การสำนึกผิด คือสาเหตุที่จะทำให้บุคคลที่กลับตัวยังอัลลอฮฺได้รับความสำเร็จ คงไม่มีความสำเร็จอันใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่เขาได้รับอภัยโทษจากบาปที่เขาเคยทำ และเขากลับมาปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนดี ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และเป็นเหตุให้เขาได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ 

คำดำรัสของอัลลอฮฺ ตาอาลา 

 

พวกท่านจงสำนึกผิดยังอัลลอฮฺ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ

 

การสำนึกผิดต่ออัลลอฮฺมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน

1. การถอนตัวจากบาปนั้นโดยทันที 

2. มีความสำนึกผิดเสียใจต่อความชั่วบาปที่เคยทำมา 

3. ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีกต่อไป 

 

        คำสั่งใช้จากคำดำรัสของอัลลอฮฺตาอาลา ตามที่ปรากฏคือ เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นการสำนึกผิดคือสิ่งจำเป็นแก่ทุกๆคนที่ถูกบังคับตามกฎเกณฑ์ของศาสนา และไม่อนุญาตให้ประวิงเวลาในการสำนึกผิด เพราะการประวิงเวลาสำนึกผิดนั้น แสดงว่าบุคคลนั้นยังไม่มีความเสียใจต่อบาปที่เขาทำอยู่

 

         การสำนึกผิดยังอัลลอฮฺคือสาเหตุที่จะทำให้ผู้สำนึกผิดได้รับการอภัยและได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮ์

 

فَخَلَفَ مِن بَعْدِهِمْ خَلْفٌ أَضَاعُوا الصَّلَاةَ وَاتَّبَعُوا الشَّهَوَاتِ ۖ فَسَوْفَ يَلْقَوْنَ غَيًّا ( 59 ) 

 

ภายหลังจากพวกเขา ชนรุ่นชั่วก็ได้สืบต่อมา พวกเขาได้ทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามความใคร่

ต่อมาพวกเขาก็จะประสบความหายนะ

 

إِلَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَأُولَٰئِكَ يَدْخُلُونَ الْجَنَّةَ وَلَا يُظْلَمُونَ شَيْئًا ( 60 ) 

 

เว้นแต่ผู้ขอลุแก่โทษและศรัทธา และกระทำความดี ชนเหล่านั้นจะได้เข้าสวนสวรรค์

และพวกเขาจะไม่ได้รับความอธรรมแต่อย่างใด

 

          จากอายะห์นี้บุคคลที่มายุคหลังๆ ได้ละทิ้งเพิกเฉยในการละหมาด และได้หลงระเริงคล้อยตามอารมณ์ความต้องการของตัวเองโดยไม่สนใจว่าการกระทำค้านกับบทบัญญัติของศาสนา หากใครมีพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ที่ขาดทุน แต่หากเขาสำนึกผิดจากการกระทำที่เป็นบาปและได้ศรัทธาและได้กระทำการงานที่ดี ความผิดที่เขาเคยทำก็ได้รับการอภัยโทษ และเขาจะได้รับการตอบแทนด้วยกับการเข้าสวรรค์ 

 

          ทุกความผิดบาปจะมากมายหรือเป็นบาปใหญ่ หากผู้กระทำบาปสำนึกผิดยังอัลลอฮฺอย่างแท้จริง เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะตัวเองให้เป็นชาวสวรรค์ได้ หากเขาได้กระทำการสำนึกผิดยังอัลลอฮฺตามเงื่อนไขที่ครบถ้วน ดังนั้นการประวิงเวลาของบุคคลที่จะละทิ้งจากบาปที่กำลังทำอยู่ บางทีเขาอาจจะหมดโอกาสที่จะสำนึกผิดจากอัลลอฮฺ อาจจะด้วยกับการเคยชินต่อบาปจนหัวใจตายด้านไม่มีความรู้สึกว่าผิดกับบาปที่ตัวเองทำ หรือเขาอาจจะเสียชีวิตก่อนที่ได้กลับตัวยังอัลลอฮฺ 

 

          ดังนั้นอย่าได้รีรอในการละทิ้งบาปที่เรารู้อยู่แก่ใจ และเรายังดื้อดึงที่จะทำบาปนั้นต่อไป สุดท้ายแล้วเราจะเป็นผู้ที่ขาดทุนเมื่อหมดโอกาสกลับตัว หมดโอกาสที่จะทำความดี ดั่งคำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า 

 

وَأَنفِقُوا مِن مَّا رَزَقْنَاكُم مِّن قَبْلِ أَن يَأْتِيَ أَحَدَكُمُ الْمَوْتُ فَيَقُولَ رَبِّ لَوْلَا أَخَّرْتَنِي إِلَىٰ أَجَلٍ قَرِيبٍ فَأَصَّدَّقَ وَأَكُن مِّنَ الصَّالِحِينَ ( 10 ) 

 

     “และจงบริจาคจากสิ่งที่เราได้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าก่อนที่ความตายจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใดในหมู่พวกเจ้า

     แล้วเขาก็จะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ มาตรว่าพระองค์ท่านทรงผ่อนผันให้แก่ข้าพระองค์อีกชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อที่ข้าพระองค์จะได้บริจาคและข้าพระองค์ก็จะอยู่ในหมู่คนดีทั้งหลาย (ผู้ทรงคุณธรรม)”

 

وَلَن يُؤَخِّرَ اللَّهُ نَفْسًا إِذَا جَاءَ أَجَلُهَا ۚ وَاللَّهُ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ ( 11 ) 

 

     “แต่อัลลอฮฺจะไม่ทรงผ่อนผันให้แก่ชีวิตใด เมื่อกำหนดของมันได้มาถึงแล้ว และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ

 

          ขออัลลอฮฺได้โปรดให้หัวใจของเรามั่นคงในการศรัทธาต่อพระองค์ และให้เรากลับสู่พระองค์ในสภาพที่เราได้รับการอภัยโทษจากพระองค์