จริงหรือที่การแต่งชุดฮิญาบไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตสมัยใหม่
ทุกชาติย่อมมีลักษณะเฉพาะและมีวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีในการรับประทานอาหาร การดื่ม การแต่งกาย ตลอดจนการมีที่อยู่อาศัย เป็นของตนเอง ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นการสะท้อนถึงการมีอารยะธรรม วัฒนธรรมและความเชื่อของตน พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างกันหลายๆด้าน และความแตกต่างนี้เหล่านี้ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปชั่วนิจนิรันดร์
ดังนั้นสิ่งซึ่งชาติหนึ่งๆยอมรับ ก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชาติหนึ่งก็ได้ ดังเช่นการแต่งกายด้วยชุดส่าหรีของสตรีชาวอินเดีย มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีใครจะตำหนิติเตียนพวกเธอเลย แม้แต่ชาติตะวันตกก็ตาม ทั้งๆที่ประชาชาติอื่นๆไม่นิยมกัน อย่าว่าแต่สตรีธรรมดาในอินเดียเลย แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีนางอินธิรา คานธี ก็แต่งกายด้วยชุดดังกล่าว และไม่มีใครตำหนิติเตียนว่าชุดส่าหรีเป็นชุดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ต่อการพัฒนาประเทศ
เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ สตรีชาวยุโรปส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดยาวลากพื้นและมีการคลุมผม หรือเครื่องแต่งกายที่ใช้คลุมศรีษะก่อนออกจากบ้าน โดยไม่มีใครตำหนิพวกเธอเหล่านั้นเลย รูปแบบการแต่งกายของสตรีได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย จนกระทั่งปัจจุบัน และมิได้อยู่ในกฏเกณฑ์ของแฟชั่นใดๆเป็นพิเศษ ซึ่งการออกแบบชุดแต่งกายนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามจิตนาการของผู้ออกแบบไปตลอดเวลา
อิสลามไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวกับรูปแบบการแต่งกายให้สตรีมุสลิม เพียงแต่บัญญัติให้เป็นเครื่องแต่งกายที่ดูเรียบร้อยมิให้มีการยั่วยุหรือเย้ายวนเพศตรงข้าม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้เหล่าสตรีรอดพ้นจากการเกี้ยวพาราสีจากพวกผู้ชาย ยิ่งกว่านั้นการแต่งกายที่เรียบร้อยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสตรีมุสลิมเลยแม้แต่น้อย จะเห็นได้ว่าในหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล จะพบเห็นสตรีวัยต่างๆกัน ที่แต่งกายด้วยชุดฮิญาบ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปกติ เช่นเดียวกับสตรีที่ไม่ได้คลุมฮิญาบ ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่า การแต่งกายด้วยชุดฮิญาบนั้นเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและล้าสมัย จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้เหตุผล
ข้อเท็จจริงที่ชาวตะวันตกต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และชุดแต่งกายของตนนั้น มีความเหมาะสมเหนือขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้อื่น ในทุกสถานการณ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อธรรมชาติ เนื่องจากทุกชาติมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นสตรีมุลิมจึงมีสิทธิภาคภูมิใจในเครื่องแต่งกาย ในกริยามารยาทของตน เหมือนกับสตรีชาวอินเดียและชาวยุโรปที่มีสิทธิในเรื่องดังกล่าว
สตรีมุสลิมที่มีตำแหน่งสูงและสามารถทำงานได้ดี ก็ยังแต่งกายด้วยชุดฮิญาบ เช่น นางเบ็นนาซีร บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ซึ่งแต่งกายคล้ายกับชุดฮิญาบโดยไม่มีใครกล่าวหาว่าท่านบกพร่องต่อหน้าที่การงาน นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศเป็นอีกคนที่แต่งกายคล้ายกับชุดฮิญาบในอิสลาม
ศาสตราจารย์ ดร. มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก
د. محمود حمدي زقزوق