ภาคผลของความละอาย
โดย อบู อาบิดีณ
“ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดินต่างก็วอนขอต่อพระองค์ พระองค์ทรงมีภารกิจทุกวัน”
(อัรเราะฮฺมาน 55 : 29)
พี่น้องผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด จงมีความละอายต่ออัลลอฮฺ พึงรู้เถิดว่า อัลลอฮฺกำลังเฝ้าจับตามองตรวจสอบท่านอยู่ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม พระองค์ทรงได้ยิน ทรงรู้ ทรงเห็น ฉะนั้น อย่าได้แอบฝ่าฝืนทำความชั่ว โดยนึกว่าจะรอดพ้นไปจากความรอบรู้ของพระองค์ไปได้ เพราะอัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ ทรงเห็น ทรงได้ยิน ทั้งในที่เร้นลับ และที่เปิดเผย
พี่น้องผู้เป็นบ่าวของอัลลออฺทั้งหลาย ความละอาย เป็นเรื่องที่ได้รับการสรรเสริญ เพราะจะยับยั้งมิให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริง ความละอายนั้น จะไม่นำสิ่งใดมา นอกจากความดีเท่านั้น”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังบอกอีกว่า "ความละอายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา"
มีรายงานจาก อบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“การอีมานศรัทธานั้นมีถึง 60 – 70 กว่าแขนง ที่ประเสริฐที่สุด คือ ถ้อยคำที่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ"
และที่น้อยที่สุด ก็คือ “การขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากถนนหนทาง และความละอายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เดินผ่านชายคนหนึ่ง ขณะกำลังตักเตือนพี่น้องของเขาในเรื่องของความละอาย
ท่านกล่าวว่า“ปล่อยเขาไปเถิด เพราะความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
จากฮะดิษดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ความละอายนั้นเป็นมารยาทอันสูงส่ง
อิมาม อิบนิล กอยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า“ความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
ความละอายที่มีอยู่ในหัวใจนี่เอง ทำให้ชีวิตเกิดพลังแห่งความมีมารยาท และการไม่มีความละอายนี่เองทำให้หัวใจตายด้าน คราใดที่จิตใจมีชีวิตชีวา ก็จะทำให้ความละอายมีอยู่ครบถ้วน ดังนั้น ความละอายที่แท้จริงนับเป็นมารยาท ทำให้ละทิ้งสิ่งที่น่ารังเกียจ และหักห้ามมิให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม (มุนกัร)
ความละอาย มีทั้งในระหว่างผู้เป็นบ่าว และพระเจ้าของเขา
ความละอายของบ่าว คือ ละอายที่พระเจ้าของเขาเห็นการทำชั่วของเขา การกระทำที่ขัดกับคำสั่งของพระองค์ และความละอายระหว่างผู้เป็นบ่าวกับมนุษย์ด้วยกัน
ส่วนความละอายระหว่างผู้เป็นบ่าวกับพระเจ้าของเขานั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายไว้ในฮะดิษ มัรฟูอฺ ซึ่งปรากฏในสุนันอัตติรมิซีย์ แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลาย จงละอายต่ออัลลอฮฺ ให้สมกับความละอายที่แท้จริงเถิด
บรรดาซอฮาบะฮฺกล่าวว่า โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ พวกเราก็มีความละอายอยู่แล้ว
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น
แต่ทว่า ใครที่ละอายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้วละก็
เขาจะต้องรักษาศีรษะของเขา และสิ่งที่อยู่ในนั้น
เขาจะรักษาท้องของเขาและสิ่งที่อยู่ในนั้น และเขาจะรำลึกถึงความตาย
และใครที่ต้องการโลกอาคิเราะฮฺเขาต้องละทิ้งสิ่งประดับประดาแห่งโลกดุนยานี้
ดังนั้น ถ้าใครทำได้เช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเขามีความละอายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง”
(บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด และอัตติรมิซีย์)
ท่านนบี ศ็อลลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจกแจงเครื่องหมายของความละอายต่ออัลลอฮฺ ในฮะดิษนี้ก็คือ การระมัดระวังอวัยวะทั้งร่างกาย มิให้ไปฝ่าฝืนกระทำความชั่ว และให้รำลึกถึงความตาย และอย่าไปหลงติดกับโลกดุนยา
มีปรากฏในฮะดิษอื่นๆ อีกว่า
“แท้จริง ผู้ใดที่ละอายต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะทรงละอายต่อเขา”
การละอายของพระผู้เป็นเจ้าต่อบ่าวของพระองค์ นับเป็นการละอายที่มีเกียรติ เป็นคุณงามความดี เพราะพระองค์ผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงชีวิต ทรงใจบุญ ทรงละอายต่อบ่าวของพระองค์ หากเมื่อเขายกมือขึ้นขอต่อพระองค์แล้วมิได้รับอะไรกลับไปเลย และอัลลอฮฺทรงละอายในการที่จะทรงลงโทษคนชราที่มีชีวิตยืนยาวอยู่ในศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังคงกระทำการฝ่าฝืนพระองค์อยู่
สำหรับความละอายระหว่างผู้เป็นบ่าวกับมนุษย์ด้วยกัน เป็นการป้องกันมิให้มีการกระทำที่ไม่สมควร ที่น่ารังเกียจ ที่ค้านกับมารยาทอันสูงส่ง
ดังนั้น ผู้ที่มีความละอายต่ออัลลอฮฺ เขาจะห่างไกลจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามในทุกสภาพการณ์ ทั้งในขณะที่เขาอยู่กับผู้คน และขณะที่เขาไม่ได้อยู่ต่อหน้าผู้คน และความละอายนี้เป็นการเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ เป็นการกลัวเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นความละอาย ที่ทำให้รู้จักอัลลอฮฺ และรู้จักความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และเป็นการใกล้ชิดกับพระองค์ในการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์
และความละอายนี้เอง นับว่าเป็นการศรัทธาขั้นสูงสุด และเป็นการทำความดีขั้นสูงสุดอีกด้วย ดังปรากฏในฮะดิษของท่นร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากรายงาน ของอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ว่า
“อัลอิฮฺซาน คือ การที่ท่านอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เสมือนกับท่านมองเห็นพระองค์
แม้หากว่าท่านจะมองไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงมองเห็นท่าน”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
จำเป็นที่ผู้ที่มีความละอายต่อเพื่อนมนุษย์ จะต้องห่างไกลจากสิ่งน่ารังเกียจทั้งมวล ทั้งคำพูดและ การกระทำที่ชั่วร้าย อย่าเป็นคนที่ปากจัด ปากบอน เป็นคนชั่ว เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว หน้าด้าน ไม่มียางอาย การที่เขาละอายต่ออัลลอฮฺ จะเป็นการหักห้ามเขามิให้ก่อความเสียหายต่อภายใน การที่เขาละอายต่อเพื่อนมนุษย์จะเป็นการหักห้ามเขามิให้ก่อความเสียหายต่อภายนอก และจะทำให้เขาเป็นคนดี ทั้งภายในและภายนอก ทั้งในที่ลับและในที่เปิดเผย ด้วยเหตุนี้ ความละอายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา
ใครที่ไม่มีความละอาย เขาก็จะไม่มีสิ่งฉุดรั้ง มิให้เขากระทำสิ่งที่น่ารังเกียจและกลายเป็นคนที่มีมารยาทที่เลวทราม และกลายเป็นเหมือนกับคนที่ไม่มีการศรัทธา (อีมาน) ใดๆ เลยทั้งสิ้น ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริง สิ่งที่มนุษย์รู้กันมา จากคำพูดของนบีท่านก่อนๆ ก็คือ เมื่อเจ้าไม่ละอาย ก็เชิญทำตามสบายเถิด”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)
หมายความว่า คนที่ไม่ละอาย เขาทำสิ่งชั่วช้าน่ารังเกียจได้ทุกอย่างที่เขาต้องการ เพราะผู้ที่หักห้ามการกระทำดังกล่าว คือ ความละอายนั้นไม่มีอยู่เสียแล้ว และใครที่ไม่มีความอายเขาก็สามารถทำสิ่งชั่วช้า น่ารังเกียจได้ทุกอย่างนั่นเอง
♣ คนที่ฟังเพลง ดูหนัง ดูละคร บ้าไปกับบอล ไม่เป็นอันหลับอันนอน จนไม่ได้ละหมาด เพราะอดหลับอดนอนอยู่กับการละเล่น สิ่งไร้สาระ น่าจะสำนึกตัวกันได้แล้ว
♣ ผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย ประเจิดประเจ้อ แต่งตัวคล้ายกับคนเปลือยกายเมื่อออกนอกบ้าน ไม่มียางอาย ใส่น้ำหอม เดินตามท้องถนน ศูนย์การค้า น่าจะสำนึกตัวกันได้แล้ว
♣ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานที่หลบเลี่ยง อู้งาน ต้องคอยให้นายจ้าง ผู้บังคับบัญชาคอยจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ตลอดนั้น น่าจะสำนึกตัวกันบ้าง เพราะถ้าไม่อายก็เชิญตามสบายเถิด
พี่น้องผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“แท้จริง บรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขาโดยไม่เปิดเผยออกมาให้เห็น สำหรับพวกเขานั้น จะได้รับการอภัยโทษและจะได้รับรางวัลอันใหญ่หลวง
และไม่ว่าพวกเจ้าจะปกปิดคำพูดของพวกเจ้า หรือเปิดเผยออกมาก็ตาม แท้จริง พระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในบรรดาหัวอกทั้งหลาย
พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือขณะที่พระองค์ คือ ผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ผู้ทรงตระหนักยิ่งนัก”
(อัลมุลกฺ 67 : 12 – 14)
“ข้าแต่อัลลอฮฺ แท้จริงเหล่าข้าพระองค์ ขอต่อพระองค์ ให้มีการยืนหยัดมั่นคงอยู่ในศาสนาของพระองค์ เป็นผู้ที่กตัญญูต่อความกรุณาของพระองค์และให้เป็นผู้ที่อิบาดะฮฺต่อพระองค์เป็นอย่างดี
ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้เหล่าข้าพระองค์ ห่างไกลจากความชั่วช้า ลามก ห่างไกลมารยาทที่เลวทราม น่ารังเกียจทั้งหลายทั้งมวลด้วยเถิด
ขอพระองค์ ทรงชี้นำเยาวชนคนหนุ่มสาวของเราสู่หนทางอันเที่ยงตรงด้วยเถิด
ขอพระองค์ทรงตอบแทนรางวัลให้กับเราในโลกดุนยานี้ และให้ได้รอดพ้นจากการลงโทษของพระองค์ในโลกอาคิเราะฮฺด้วยเถิด
ขอพระองค์ทรงตอบรับดุอาอฺของเราด้วยเถิด”
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555