การแนะนำตักเตือนเป็นแนวทางแห่งอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  13223


การแนะนำตักเตือนเป็นแนวทางแห่งอิสลาม

 

โดย... อาจารย์สุเบร มัสอูดี

 

         ศาสนาอิสลามจะคงอยู่ในสังคมต่างๆ ก็ด้วยกับการกระทำ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันในสังคมก็ด้วยกับการสั่งสอน แนะนำ ตักเตือนกันในเรื่องของอัลอิสลาม

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยกย่องผู้ที่ตักเตือนกันในเรื่องของสัจธรรมความเป็นจริง การซอบัร อดทน และมีความเมตตาต่อกัน อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า

 

และเขาได้อยู่ในหมู่ผู้ศรัทธา และตักเตือนกันให้มีความอดทนและตักเตือนกันให้มีความเมตตา

(อัลบะลัด 90 : 17)

และอัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

 

     “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน

(อัลอัศรฺ 103 : 1-3)

 

         แนวทางของการตักเตือน การสั่งเสียนั้น เป็นแนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า แนวทางบรรดานบี อัลลอฮฺทรงตักเตือนพวกเราด้วยกับคำสั่งสอนต่างๆ และท่านนบีมุฮัมมัดก็ทรงตักเตือนและสั่งเสียแก่เราเช่นกัน และอัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้มนุษย์ตักเตือน สั่งสอน แนะนำซึ่งกันและกัน

         การแนะนำ คำตักเตือนและการสั่งเสียนั้น คือ สิ่งที่มาจากพันธะสัญญา คำพูด และความรับผิดชอบ (อมานะฮฺ) มนุษย์แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องการสั่งสอน ตักเตือน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาได้รับคำแนะนำ ตักเตือนและสั่งสอนมา

 

          การแนะนำตักเตือนด้วยกับคำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ สัจธรรมความเป็นจริงจะสูญหายไปจากตัวมนุษย์ถ้าหากเขาไม่ได้รับคำสั่งสอน ตักเตือนในเรื่องของสัจธรรม และการที่สิ่งที่เป็นสัจธรรมความจริงจะคงอยู่กับพวกเราต่อไปจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง อิหม่ามสู่มะอฺมูม และมุสลิมโดยทั่วไปนั้นก็ต่อเมื่อแนวทางการแนะนำ ตักเตือนในเรื่องสัจธรรมยังมี ความมั่นคง ยึดมั่นอยู่อย่างต่อเนื่อง และความสัจธรรมเป็นจริงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากมนุษย์นั้น ขาดความอดทน

 

         การตักเตือนกันในเรื่องสัจธรรมความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย เพราะการที่มนุษย์จะยึดมั่นอยู่ในสัจธรรมย่อมได้พบกับความยากลำบาก และขมขื่น โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งฟิตนะฮฺ (ความวุ่นวาย) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความอดทนในการยึดมั่นอยู่ในการตักเตือนในเรื่องของสัจธรรม แม้ว่าจะไม่หลงเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามคำตักเตือนเลยก็ตาม

 

         ในเรื่องของการตักเตือนให้มีความอดทน คือ การอดทนในการเชื่อฟังอัลลอฮฺ ไม่ฝ่าฝืนต่อพระองค์ อดทนต่อกำหนดสภาวะ สิ่งที่ไม่ดีงามที่มาประสบ หรือแม้แต่การเจ็บไข้ได้ป่วย และเมื่อเราตักเตือนกันให้มีความอดทนแล้ว เราก็จะต้องตักเตือนกันให้มีความเมตตา ไม่ว่าจะเป็นการเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์ต่อสรรพสัตว์ก็ตาม และมนุษย์กลุ่มหนึ่งจะเมตตา อ่อนโยน สงสารต่อมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อต่อกัน 

 

มีสามประการที่จะทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ในศาสนาของอัลลอฮฺนั้นคือ

1. การตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม

2. การตักเตือนกันให้มีความอดทน

3. การตักเตือนกันให้มีความเมตตาปรานีต่อกัน

 

         ท่านพี่น้องในอัลกุรอานนั้นมีคำตักเตือนอยู่มากมายหลากหลายประการ ซึ่งเราก็พบว่าในบรรดามนุษย์นั้นมีผู้ที่อ่อนแอ โลเล เบี่ยงเบน หันเหออกจากอิสลาม บางคนก็ทำบาป ฝ่าฝืน หรือบิดพลิ้ว ดังนั้น การแนะนำ ตักเตือนจะทำให้เขาหันกลับเข้าสู่สัจธรรมความเป็นจริง

         และเมื่อใดที่ทุกสังคมมีการสั่งเสียกันในเรื่องของสัจธรรม มีการตักเตือนให้มีความอดทนและมีความเมตตาซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะยับยั้งพวกเขาไม่ให้กระทำสิ่งที่เป็นบาป และนำพวกเขาไปสู่หนทางแห่งสัจธรรม เมื่อนั้นสังคมนั้นจะเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน จะกลายเป็นสังคมที่สมบูรณ์ เพียบพร้อม และมีความผาสุก

 

         ตัวอย่างการตักเตือนที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน เช่น การตักเตือนของท่านลุกมานที่กล่าวแก่ลูกของท่าน ดังในซูเราะฮฺลุกมาน อายะฮฺที่ 13 ว่า

 

     “และจงรำลึกถึงเมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขาว่า โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงอย่าตั้งภาคีใดๆ ต่ออัลลอฮฺเพราะการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแน่นอน

 

          ในปัจจุบันนี้มีชิริกเกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่เกี่ยวพันกันทั้งคนเป็นและคนตาย ชิริกเล็ก ชิริกใหญ่ ทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น เช่น การที่ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาเทียบเท่าอัลลอฮฺ การสาบานในเรื่องของอมานะฮฺหน้าที่ ความรับผิดชอบด้วยกับชีวิตหรือเกียรติของคนหนึ่งคนใด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งภาคี ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและร้ายแรงมาก และมันจะนำพาผู้นั้นไปสู่ความหายนะและการลงโทษที่หนักหน่วง

          ดังนั้น ท่านลุกมานจึงสอนลูกว่าอย่าตั้งภาคีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เปิดเผยหรือซ่อนเร้นต่อจากนั้นท่านก็ปลูกฝังความเกรงกลัวอัลลอฮฺเข้าไปในจิตใจของเด็กคนนี้ ดังในซูเราะฮฺลุกมาน อายะฮฺที่ 16 ว่า

 

     “โอ้ลูกเอ๋ย แท้จริง (ถ้าหากว่าความผิดนั้น) มันจะหนักเท่าเมล็ดผัก สักเมล็ดหนึ่ง มันจะซ่อนอยู่ในหินหรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย หรืออยู่ในแผ่นดิน อัลลอฮฺก็จะทรงนำมันออกมา แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรอบรู้

 

          หมายความว่า ท่านจะทำการฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสถานที่ที่ไม่มีผู้ใดเห็นได้อย่างนั้นหรือ ? ถึงแม้จะไม่มีมนุษย์คนใดเห็น แต่อัลลอฮฺทรงเห็นท่าน แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

 

          ฉะนั้นในวันกิยามะฮฺใครทำความดีหรือความชั่วแม้เพียงเท่าผงธุลี เขาก็จะได้เห็นสิ่งนั้นและจะได้รับการตอบแทนในวันนั้น เมื่อมีการปลูกฝังเรื่องของการอีมาน การศรัทธา ซึ่งเป็นรากฐานของการปฏิบัติงาน ท่านลุกมานก็สอนต่อไปว่า

 

     “โอ้ลูกเอ๋ย จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นจากการทำชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง

(ลุกมาน 31 : 17)

 

          ในเรื่องของการละหมาด คือ ทุกสิ่งอย่างที่ครอบคลุมอยู่ในเรื่องของการละหมาด เงื่อนไขของการละหมาดจะต้องสมบูรณ์ มิใช่เฉพาะแต่เพียงท่าทางเท่านั้น เด็กๆ ก็จำเป็นต้องตักเตือน อย่าได้พูดหรือมีข้อจำกัดว่า นี่เขายังเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องรับผิดชอบจากการได้รับการตักเตือน การแนะนำ สั่งสอนทุกๆ คนต้องรับผิดชอบ แม้กระทั่งเด็กๆ

 

          ทำไมถึงต้องตักเตือน สั่งสอนตั้งแต่เขาเหล่านั้นยังเป็นเด็กๆ ? การตักเตือนสั่งสอนวัยเด็กนั้น อาจบรรลุผลได้ดีกว่าการตักเตือนในวันผู้ใหญ่ก็มีมาก 

           ต่อจากนั้นท่านก็สอนลูกให้เตรียมตัวพร้อมรับกับอนาคตที่สำคัญ มอบหน้าที่ในการรับผิดชอบให้แก่เขา โดยให้เขาได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่จะต้องกระทำ และก็สั่งใช้ให้เขากระทำในสิ่งที่เป็นความดี และละเว้นจากความชั่ว และมีความอดทนต่อสิ่งเลวร้ายที่มาประสบ การตักเตือน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ที่ตักเตือน เขาจะต้องพบกับการต่อต้านเพิกเฉย และเป็นอารมณ์ที่หลากหลายรูปแบบของบรรดาเด็กๆ

 

         ต่อจากนั้น ท่านลุกมานก็ได้ตักเตือนสั่งสอนลูก ในเรื่องของการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะมารยาทนั้นมีความสำคัญมาก แต่มารยาทนั้นไม่ใช่จะสำคัญเหนือทุกสิ่ง การให้เอกภาพ อัตเตาฮีดและการละหมาดยังมีความสำคัญกว่า แต่ว่ามนุษย์ที่ไร้ซึ่งมารยาทนั้น จะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ! เพราะมารยาทนั้นมีความสำคัญในอันดับที่ 3 หรือ 4 หลังจากอัตเตาฮีด การศรัทธา การห้ามทำชิริก และหลังจากเรื่องของการละหมาด และการสั่งใช้ให้ทำความดี ละเว้นจากความชั่ว ก็ตามมาด้วยเรื่องของมารยาท

 

อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺลุกมาน อายะฮฺที่ 18 ว่า

     “และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้า แก่ผู้คนอย่างยโสและอย่าเดินไปตามแผ่นดินอย่างไร้มารยาท แท้จริงอัลลอฮฺไม่ชอบทุกคนที่หยิ่งจองหอง และผู้ที่คุยโว โอ้อวด

 

         อิสลามให้ความสำคัญในทุกๆ ด้าน แม้แต่เรื่องมารยาทในการเดิน อย่าเดินด้วยท่าทางที่ยโสโอหัง จองหอง จะเดินก็ให้เดินด้วยท่าทางที่นอบน้อม เรียบร้อย ไม่เกะกะ เดินเหมือนพวกอันธพาล การพูดก็เช่นเดียวกัน อย่าโวยวายเสียงดังซึ่งเป็นเสียงที่น่าเกลียดที่สุด และสุภาพชนเขาจะไม่กระทำกัน นักวิชาการ และผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของสัตว์ พยายามค้นหาเสียงที่น่าเกลียดมากกว่าลาแต่ก็ไม่สามารถหาได้ ซึ่งมันเป็นความรู้หนึ่งของอัลลอฮฺที่ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน และจากคำตักเตือนที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้อีกเช่นกัน คือ การทำดีต่อบิดา มารดา จากซูเราะฮฺอัลอะฮฺกอฟ อายะฮฺที่ 15

 

และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีต่อบิดามารดา

 

และอีกอายะฮฺหนึ่งในซูเราะฮฺอันอาม อายะฮฺที่ 151 ว่า

 

     “และจงอย่าเข้าใกล้บรรดาสิ่งชั่วช้าทั้งที่เปิดเผยและที่ปกปิด และอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น นั่นแหละที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้กับพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้ปัญญา

 

         ส่วนใหญ่ของความชั่วและความไม่ดีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เนื่องจากสื่อที่แสดงออกมา ไม่ว่าจะได้รับมาจากการรับชมหรือการรับฟัง จากโฆษณา ภาพยนตร์ วิทยุ ซึ่งมาในรูปของความบันเทิง สนุกสนาน ผลของมันก็คือ ทำให้เราใกล้ชิด หลงใหล และอาจนำพาเราไปสู่การกระทำที่ชั่วช้า ดังนั้น อัลลอฮฺจึงห้ามเราไม่ให้เข้าใกล้ความชั่วต่างๆ ที่แอบแฝงมาในสิ่งบันเทิงทั้งหลาย

 

การแนะนำตักเตือนเป็นแนวทางของท่านนบี 

 

         ส่วนหนึ่งจากคำสั่งเสียของท่านนบีมุฮัมมัด ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวกับท่านอบีซัรรินว่า 

     “ฉันขอสั่งเสียท่านในเรื่องความยำเกรงต่ออัลลอฮฺในการงานที่ลับ และในการงานที่เปิดเผย และเมื่อมีใครมาทำไม่ดีกับท่าน ท่านก็จงทำดีกับเขา คือ การทำความดีต่อผู้อื่น เพราะความดีนั้นจะลบล้างความชั่ว และสิ่งนี้เป็นเรื่องระหว่างท่านกับอัลลอฮฺ และระหว่างท่านกับสิ่งที่ถูกสร้าง ดังนั้น เมื่อคนหนึ่งคนใดมาให้ร้ายต่อท่านก็จงทำดีกับเขา ให้อภัยเขา โดยให้ถือว่าเป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ)

     และเช่นกันท่านนบี ก็ได้สั่งเสียกับพวกเราด้วยกับ 7 อย่าง คือ

1. อย่าได้เกรงกลัวในการถูกตำหนิในเรื่องของอัลลอฮฺ

2. สั่งเสียให้เรามองไปยังผู้ที่ต่ำกว่า อย่ามองไปที่ผู้ที่สูงกว่า

3. สั่งเสียให้รักผู้ที่ยากจน และผู้ที่ต่ำกว่าเรา

4. สั่งเสียให้มีการพูดจริงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ขมขื่นก็ตาม

5. สั่งเสียให้มีการเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติแม้ว่าเขาผินหลังให้

6. สั่งเสียให้เราขอต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียว อย่าได้ขอต่อบรรดามนุษย์เป็นอันขาด

       7. สั่งเสียให้เรานั้นกล่าวว่าลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮิลอะลียิลอะซีมให้มากๆ เพราะมันเป็นขุมทรัพย์หนึ่งจากบรรดาขุมทรัพย์แห่งสวนสวรรค์

(รายงานโดย ท่านอะหฺมัดและท่านอิบนุฮิบบาน)

 

          ศาสนาอิสลามนั้น คือ การแนะนำตักเตือน และมันเป็นความจำเป็น และต้องการอย่างยิ่งต่อบรรดามนุษย์ ซึ่งการแนะนำตักเตือนแห่งความดีงามนี้ จะทำให้จิตใจรู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ทำให้เขามีการมอบหมายต่ออัลลอฮฺในการงานที่เขาได้กระทำ 

          และผู้ที่เข้มแข็ง คือ ผู้ที่ไม่สนว่าใครจะตำหนิ ด่าว่าเขา เป็นผู้ที่มีอิสระเสรีภาพ ดำเนินอยู่ในหนทางแห่งสัจธรรม เวลาที่เขาพูดก็พูดจริง ทำจริง มีความยุติธรรม และนี่คือผู้ที่เป็นซอฮาบะฮฺ และเป็นผู้ที่รักของท่านนบีอย่างเช่น

     ท่านญะรีร อิบนิ อับดิลลาฮฺ ได้กล่าวว่าฉันได้ให้สัตยาบันแก่ท่านนบีว่า แก่ผู้เป็นมุสลิมทุกคน

 

         ดังนั้น จงแนะนำตักเตือน ตัวท่านเองและผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน ผู้ใหญ่ เด็ก คนใกล้ชิดและห่างไกล และพี่น้องทุกๆ คน และให้แก่เขาในสิ่งที่มีประโยชน์ แม้กระทั่งในเรื่องของโลกดุนยา ในเรื่องของการสร้างบ้าน ซื้อสินค้า ถ้าหากว่าท่านรู้ว่าสิ่งใดดี ก็ควรให้คำแนะนำแก่เขา ในเรื่องของครอบครัว เรื่องของการแต่งงาน สิ่งใดที่ทำให้ครอบครัวของเขาอยู่ร่วมกันอย่างมีความผาสุก อยู่ในครรลองของอิสลาม ก็ควรให้คำแนะนำ สั่งสอน เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในความหมายหรือขอบเขตของคำว่าศาสนาคือการตักเตือน

 

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555