เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำราหะดีษประเภทต่างๆ
  จำนวนคนเข้าชม  7623


เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำราหะดีษประเภทต่างๆ

 

เรียบเรียงโดย อบูรอซี่ย์ ยะห์ยา หัสการบัญชา

 

       หนึ่งในความรู้ด้านวิชาหะดีษที่เหล่านักศึกษาเฉพาะทางด้านหะดีษจำเป็นจะต้องศึกษาก็คือ การทำความรู้จักกับตำราหะดีษประเภทต่างๆ หรือในอีกชื่อก็คือ ตำราสุนนะฮฺประเภทต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท ยากที่จะหยิบมากล่าวถึงใบทความนี้ได้อย่างครบถ้วน จึงขอคัดเลือกเอาประเภทต่างๆที่สำคัญมานำเสนอ ดังต่อไปนี้

 

1. อัลญะวามิอฺ พหูพจน์ของคำว่า อัลญามิอฺ

 

         หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษในด้านต่างๆไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นหะดีษในด้านหลักยึดมั่น(อะกีดะฮฺ), หลักประกอบศาสนกิจและบทบัญญัติอิสลาม(ฟิกฮฺ), มารยาทอันดีงาม, การอรรถาธิบายอัลกุรอาน, ชีวประวัติท่านนบีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญ, ความประเสริฐของท่านนบีและเหล่าศ่อหาบะฮฺ ฯลฯ

        ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ อัลญามิอุศศ่อเหียะหฺ ของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม หรือที่เรียกสั้นๆว่า ศ่อเหียะหฺอัลบุคอรีย์ และศ่อเหียะหฺมุสลิม

 

2. อัลมะซานีด พหูพจน์ของคำว่า อัลมุสนัด

 

          หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษที่บันทึกโดยบรรดาศ่อหาบะฮฺไว้ในนั้น โดยเรียงลำดับชื่อของศ่อหาบะฮฺตามอักษรอาหรับ(เริ่มจากอักษรอลิฟ, บา, ตา เรื่อยไปจนถึงอักษรยา)

          ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ มุสนัด ของอิมามอะหมัด ซึ่งนับว่าโดดเด่นที่สุดใบรรดาตำราประเภทนี้ ถึงขนาดที่ว่า หากเอ่ยถึงตำราประเภทนี้แบบทั่วไป ว่า มุสนัดเฉยๆโดยไม่บอกชื่อผู้เรียบเรียง จะหมายถึง มุสนัดของอิมามอะหมัด ส่วนมุสนัดของปราชญ์หะดีษท่านอื่นจะต้องเอ่ยชื่อปราชญ์ผู้แต่งด้วย เช่น มุสนัดของอิมามอบูดาวูด อัฏฏ่อยาลิซีย์ เป็นต้น

 

3. อัสสุนัน พหูพจน์ของคำว่า อัสสุนนะฮฺ

 

          หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษโดยเรียบเรียงหมวดหมู่หะดีษตามแขนงวิชาฟิกฮฺ (เช่น เริ่มจากเรื่องความศรัทธาขั้นพื้นฐาน, ความสะอาด, การละหมาด, ซะกาต, การถือศีลอด เรื่อยไปจนจบ) โดยจุดเด่นของตำราประเภทนี้อยู่ที่การคัดกรองเอาเฉพาะหะดีษที่สายสืบอ้างไปถึงท่านนบีมุฮัมมัดเท่านั้น(หะดีษมัรฟูอฺ) ส่วนหะดีษที่สายรายงานไปจบแค่บรรดาศ่อหาบะฮฺ(หะดีษเมากูฟ) จะไม่ถูกนำมารวบรวมไว้ในตำราประเภทนี้

         ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ ตำราอัสสุนันทั้งสี่ คือ สุนันของอิมามอบูดาวูด, สุนันของอิมามอัตติรฺมิซีย์, สุนันของอิมามอันนะซาอีย์ และสุนันของอิมามอิบนุมาญะฮฺ

 

4. อัลมุศ็อนนะฟาต พหูพจน์ของคำว่า อัลมุศ็อนนัฟ

 

         หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษโดยเรียบเรียงหมวดหมู่ของหะดีษตามแขนวงวิชาฟิกฮฺ โดยจุดเด่นของตำราประเภทนี้อยู่ที่ความหลากหลายในการคัดเลือกหะดีษประเภทต่างๆมาไว้ในตำรา โดยมีทั้ง หะดีษที่สายรายงานอ้างไปถึงนบี(มัรฟูอฺ) และหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาศ่อหาบะฮฺ(เมากูฟ) และหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาตาบิอูน(มักฏูอฺ)

          ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่นได้แก่ ตำรามุศ็อนนัฟของอิมามอับดุรรอซซาก, มุศ็อนนัฟของอิมามอิบนุ อบูชัยบะฮฺ ฯลฯ

      ข้อแตกต่างระหว่างตำราอัสสุนันกับตำราอัลมุศ็อนนะฟาต

          ตำราอัสสุนันจะคัดกรองเอาเฉพาะหะดีษที่สายรายงานอ้างไปถึงท่านนบีมุฮัมมัด ต่างจากอัลมุศ็อนนะฟาตที่ไม่คัดกรองเฉพาะหะดีษที่สายรายงานอ้างไปถึงท่านนบี(มัรฟูอฺ)เท่านั้น แต่ว่าจะรวบรวมหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาศ่อหาบะฮฺ(เมากูฟ) หรือหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาตาบิอูน(มักฏูอฺ)เข้ามาอยู่ในตำราด้วยเช่นกัน

 

5. อัลมุวัฏฏ่ออาต พหูพจน์ของคำว่า อัลมุวัฏเฏาะอฺ

 

        หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษโดยเรียบเรียงหมวดหมู่ของหะดีษตามแขนวงวิชาฟิกฮฺ โดยจุดเด่นของตำราประเภทนี้อยู่ที่การยึดเอาหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาศ่อหาบะฮฺ(เมากูฟ)เป็นเกณฑ์ในการเรียบเรียงตำรา

       ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ ตำราอัลมุวัฏเฏาะอฺ ของอิมามมาลิก

      ข้อแตกต่างระหว่างตำราอัสสุนัน กับตำราอัลมุวัฏฏ่ออาต

        ตำราอัสสุนันจะยึดเอาหะดีษที่สายรายงานอ้างไปถึงท่านนบีมุฮัมมัด(มัรฟูอฺ)เป็นเกณฑ์ในการเรียบเรียงตำรา ซึ่งต่างจากตำราอัลมุวัฏฏ่ออาตที่จะยึดเอาหะดีษที่สายรายงานไปจบที่บรรดาศ่อหาบะฮฺ(เมากูฟ)เป็นเกณฑ์ในการเรียบเรียงตำรา

 

6. อัลมุสตัดร่อกาต พหูพจน์ของคำว่า อัลมุสตัดร็อก

 

          หมายถึง ตำราที่ผู้เรียบเรียงหะดีษจะคัดเลือกตำราหะดีษเล่มหนึ่งขึ้นมาแล้วรวบรวมหะดีษต่างๆที่สอดคล้องตรงตามเงื่อนไขการรวบรวมหะดีษที่เจ้าของตำราเล่มนั้นไม่ได้รวบรวมไว้ตำราของเขา (เช่น นายกอไก่เลือกตำราหะดีษเล่มหนึ่งขึ้นมาซึ่งเป็นตำราที่เรียบเรียงโดยนายขอไข่ โดยนายกอไก่ได้ตรวจทานตำราหะดีษของนายขอไข่ดูจนจบ จากนั้นนายกอไก่จึงไปรวบรวมหะดีษต่างๆที่สอดคล้องตรงตามเงื่อนไขหะดีษของนายขอไข่ที่นายขอไข่ไม่ได้รวบรวมไว้ในตำราหะดีษของเขา แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นตำราหะดีษออกมา โดยตำราประเภทนี้เรียกว่า อัลมุสตัดร็อก)

         ซึ่งตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ ตำรา อัลมุสตัดร็อก ของอิมามอัลฮากิม

 

7. อัลมุสตัคร่อญาต พหูพจน์ของคำว่า อัลมุสตัคร็อจ

 

         หมายถึง ตำราที่ผู้เรียบเรียงหะดีษจะคัดเลือกตำราหะดีษเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วเรียบเรียงตำราเล่มนั้นด้วยสายรายงานหะดีษของเขาเองที่ไม่ซ้ำกับสายรายงานหะดีษที่เจ้าของตำราเล่มนั้นได้นำมาเรียบเรียงไว้ (เช่น นายกอไก่เลือกตำราหะดีษของนายขอไข่ขึ้นมา จากนั้นนายกอไก่ก็เรียบเรียงตำราของนายขอไข่ด้วยสายรายงานหะดีษของนายกอไก่ซึ่งไม่ซ้ำกับสายรายงานหะดีษที่นายขอไข่ได้เรียบเรียงตำราของเขา เท่ากับว่า นายกอไก่นำตำราของนายขอไข่มาเรียบเรียงอีกครั้ง ด้วยสายรายงานของนายกอไก่เองที่ไม่ซ้ำกับสายรายงานหะดีษของนายขอไข่)

         ซึ่งหนึ่งในตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ ตำรา อัลมุสตัคร็อจของอบูเอาวานะฮฺ และอัลมุสตัคร็อจของอบูนุอัยมฺ โดยตำราทั้งสองเล่มเป็นตำราที่นำเอาศ่อเหียะหฺของอิมามมุสลิมมาทำการเรียบเรียงใหม่ด้วยสายรายงานของปราชญ์ผู้เรียบเรียงทั้งคู่ซึ่งเป็นสายรายงานหะดีษที่ไม่ซ้ำกับของอิมามมุสลิม

 

8. อัลมะอาญิม พหูพจน์ของคำว่า อัลมุอฺญัม

 

        หมายถึง ตำราที่รวบรวมหะดีษโดยยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเกณฑ์การเรียบเรียง เช่น ชื่อของบรรดาศ่อหาบะฮฺ, หรือชื่อบรรดาครูอาจารย์(ชุยูค), หรือ ชื่อเมืองต่างๆ(บุลดาน) แต่โดยส่วนมากแล้วมักจะยึดการเรียบเรียงตามลำดับของอักษรอาหรับ(อลิฟ, บา, ตา ไปจนถึงอักษรยา)เป็นเกณฑ์ในการเรียบเรียงตำรา

       ซึ่งตำราประเภทนี้ที่โดดเด่น ได้แก่ อัลมุอฺญัมของอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์ ซึ่งมีสามประเภทด้วยกันคือ อัลมุอฺญัมอัลกะบีรฺ, อัลมุอฺญัมอัลเอาสัฏ และอัลมุอฺญัมอัศศ่อฆีรฺ

 

          นอกจากนี้ยังมีตำราหะดีษประเภทอื่นๆอีกมากมายที่ไม่ได้นำมากล่าวไว้ในบทความนี้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากตำราในแขนงวิชานี้ ได้แก่ ตำราตัดวีนอัสสุนนะฮฺของชัยคฺมุฮัมมัด มะฏ็อรฺ อัซซะฮฺรอนีย์, ตำราอัลมะฏอลิอฺ วัลอุศูล ฟี ฟะฮฺมิ อะฮาดีษ อัรร่อซูล ของชัยคฺมุฮัมมัด บาซมูล เป็นต้น

 

วัลลอฮฺ อะอฺลัม