อิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบจริงหรือ
หลักเกณฑ์พื้นฐานที่กำหนดในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ สิทธิ์เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ดังปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 256 ความว่า
"ไม่มีการบังคับใดๆ(ให้นับถือ)ในศาสนาอิสลาม"
ศาสนาอิสลามได้เน้นการนับถือศาสนาว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพของมนุษย์ที่มีความศรัทธาอย่างไร เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลกาห์ฟี โองการที่ 29 ความว่า
"สัจธรรมนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้าดังนั้นผู้ใดประสงค์ก็จงศรัทธา และผู้ใดประสงค์ก็จงปฏิเสธ"
อัลกุรอานได้กล่าวว่าศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสนฑูต มีหน้าที่เผยแผ่ข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้า แต่มิได้รับมอบหมายให้บังคับมนุษย์ให้นับถือศาสนาอิสลาม ดังปรากฏใน ซูเราะฮ์ ยูนุส โองการที่ 99 ความว่า
"เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ"
และในซูเราะฮ์ อัลฆอชิยะห์ โองการที่ 22 ความว่า
"เจ้ามิใช่ผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา "
และในซูเราะฮ์ อัลชูรออ์ โองการที่ 48 ความว่า
"แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ (ไม่ยอมรับการเรียกร้อง)ดังนั้นเรามิได้ส่งเจ้ามายังพวกเขาเพื่อเป็นผู้คุ้มกันรักษา"
โดยโองการดังกล่าวเหล่านั้นได้บัญญัติไว้อ่างชัดเจนว่า อัลกุรอานไม่มีการบังคับให้มีการนับถือศาสนาอิสลาม
อิสลามได้กำหนดพิธีการต่างๆให้มุสลิมจะต้องปฏิบัติตาม หากประสงค์ที่จะเผยแพร่ศาสนาอิสลาม วิธีการดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในอัลกุรอานซึ่งบัญญัติให้การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เป็นไปด้วยความเฉลียวฉลาด และการบอกกล่าวที่น่ารับฟัง ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลนะห์ โองการ 125 ความว่า
"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้า โดยสุขุมและการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า"
และในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 83 ความว่า
"และจงพูดจาแก่เพื่อนมนุษย์อย่างดี"
อัลกุรอานมีวรรคตอน (อายะฮ์) ไม่น้อยกว่า 120 วรรคตอน ที่ได้เน้นถึงบทบาทพื้นฐานสำหรับมุสลิมที่จะชักจูงให้ผู้คนนับถือศาสนาอิสลาม โดยการชักชวนยังนุ่มนวล และสุขุม และปล่อยให้ผู้ที่ถูกชักชวนตัดสินเองว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ หลังจากที่ศาสดามุฮัมมัด ได้ยึดครองมักกะฮ์ ท่านได้กล่าวแก่ชาวเมืองมักกะฮ์ว่า "ท่านมีเสรีภาพแล้ว" และท่านก็ไม่ได้บังคับให้พวกเขารับอิสลาม
มุสลิมไม่เคยบังคับให้ผู้ที่นับถือศาสนายิว หรือคริสต์ยอมรับนับถือในศสนาอิสลาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอุมัร อิบนุคอตตอบ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ผู้เป็นคอรีฟะฮ์ที่สอง ได้ให้หลักประกันแก่ชาวคริสต์ในนครเยรูซาเล็มที่จะใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างมั่นคง โดยมีศาสนสถานไม้กางเขน และจะไม่คุกคามสิทธิใดๆทางศาสนาของเขา
ภายหลังจากศาสดามุฮัมมัด อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์แล้ว ได้บัญญัติในธรรมนูญการปกครองฉบับแรกว่าชาวยิวเป็นชาติที่อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมในประชาคมเดียวกัน โดยท่านศาสดาได้ให้สิทธิแก่ชาวยิวที่จะปฏิบัติศาสนกิจของตนได้อย่างอิสระ
ในหนังสือเรื่อง "Allah ist ganz anders" ( อัลลอฮ์ทรงเป็นอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง) นาง Sigrid Hunke นักบูรพาคดีชาวเยอรมันได้ปฏิเสธว่าอิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ และได้เขียนบทความไว้ว่า "การมีขันติธรรมของชาวอาหรับ มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่ของศาสนาอิสลาม" ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อข้อกล่าวหาว่า ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ด้วยไฟและคมดาบ ในข้อความอีกตอนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว นางได้เขียนว่า "ชาวคริสต์และยิว ได้เปลี่ยนศาสนาของตนด้วยความสมัครใจ"
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กองทหารมุสลิมไม่เคยบุกรุกและยึดครองเอเซียใต้หรือแอฟริกาตะวันตก แต่ศาสนาอิสลามได้ขยายและงอกงามในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเหล่านั้น หลังจากที่พ่อค้าชาวมุสลิมได้เดินทางไปค้าขาย พวกมุสลิมซึ่งมีจิตใจใฝ่สันติได้สร้างความประทับใจให้แก่พลเมืองในประเทศดังกล่าว โดยประชาชนของประเทศที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้น ได้สังเกตเห็นการกระทำ ความมีศีลธรรมตลอดจนพฤติกรรมของชาวมุสลิมจึงค่อยๆ ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามในที่สุด
ศาสตราจารย์ ดร. มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก