ผู้นำต้องรักษาความเป็นปึกแผ่น
โดย อาจารย์อีซา ภู่เอี่ยม
ผู้นำที่ดี ต้องรักษาความเป็นปึกแผ่น สมานน้ำใจของประชาชนให้รักใคร่กลมเกลียว อะไรที่จะนำมาซึ่งความแตกแยก หรือทำให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต้องหมดไป ต้องขจัดให้หมดสิ้นไป ต้องให้ประชาชนมีความรู้สึกเสมอว่า เขาเป็นประชาชาติเดียวกัน รู้สึกเจ็บป่วยแทนกัน เหมือนคนหัวใจเดียวกัน แต่คนละร่างเท่านั้นเอง
ลองดูความเป็นปึกแผ่น ความเป็นพี่น้องกัน ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สร้างขึ้นในระหว่างชนสองเผ่าที่เกือบทำให้ความเป็นพี่น้องกันต้องจบลงและจุดไฟแห่งการเป็นศัตรูสู้รบกันขึ้นแทน ในการที่สาวกต่างรวมตัว มีความสมานสามัคคีกัน ทั้งที่บางคนก็ไม่ใช่ชาติอาหรับ เช่น
ท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์ ชาวเปอร์เซีย ท่านบิลาล บิน ริบาห์ เป็นชาวอะบิสซิเนีย หรือท่านชุอัยบฺ ชาวโรมัน เขาเหล่านี้เข้ารับอิสลามก่อนใครๆ ช่วยเหลือท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตลอดมา ยอมพลีชีพเพื่ออิสลาม และทนทุกข์ทรมานที่ต้องประสบทุกอย่าง ไม่ว่าจะหนักหรือเบา
การรวมตัวของเขาเหล่านี้ ทำให้ชาวยิวคนหนึ่งชื่อ กอยซ์ เกิดความอิจฉา ริษยา และนึกประหลาดใจที่สาวกต่างชาติเหล่านี้รวมตัวกันหนาแน่น เคยถามตัวเองหลายครั้งว่า “ทำไมชาวต่างชาติพวกนี้จึงกุลีกุจอช่วยท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขยาย การเผยแผ่อิสลามเป็นยิ่งนัก”
ส่วนชาวอาหรับ เช่น เผ่าเอาส์และเผ่าคอสรอจ ในสายตาของยิวผู้นี้ถือว่า การเข้ารับอิสลาม หรือที่พวกนี้ทนลำบากเพื่อหนทางของอัลลอฮฺ เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้พิเศษไปกว่าชาวต่างชาติเหล่านั้น
ไฟแห่งการอิจฉา ริษยา ได้ครุกรุ่นอยู่ในใจของเขาเรื่อยมา และในที่สุดความอิจฉาที่มีอยู่ก็บันดาลให้เขาทำสิ่งหนึ่งขึ้น เขาได้เริ่มเป่าหูชาวอาหรับด้วยคำพูดทำนองว่า อาหรับต้องดีกว่า เหนือกว่าต่างชาติ ให้มีความคิดเข้าข้างตัวเอง หรือชาตินิยม สำคัญตัวเองว่าเหนือกว่ามุสลิมชาติอื่น เพื่อหวังทำลายความสามัคคีที่มุสลิมมีอยู่ให้หมดไป
และในขณะที่เขากำลังเริ่มแผนการสกปรกอยู่นั้น บังเอิญเป็นเวลาที่ท่าน อุอาซ เดินผ่านมาพอดี ท่านได้ยินคำพูดอันสกปรกของยิวผู้นี้โดยตลอด และเข้าใจสิ่งที่ยิวผู้นี้ต้องการ จึงรีบนำเรื่องนี้ไปบอกท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทราบ
ทันทีที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทราบ ท่านรีบไปมัสญิดสั่งเรียกประชาชน ประชุมฉุกเฉินเพื่อชี้แจงเรื่องที่เกิดดังกล่าวให้ทราบ ท่านได้กล่าวว่า
“แท้จริง พระผู้อภิบาลนั้นมีองค์เดียว และศาสนาก็มีศาสนาเดียวที่จะถือว่าเป็นคนอาหรับ ไม่ใช่อยู่ที่ผู้หนึ่งต้องมีพ่อ แม่ เป็นชาวอาหรับ แต่อยู่ที่ภาษา เพราะฉะนั้นใครที่พูดภาษาอาหรับได้ เขาก็คือคนอาหรับ”
(บันทึกโดย ฮาฟี๊ซ อิบนิ อะซากิร)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่เหตุผล ด้วยการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จุดที่เกิดปัญหา คือ ความแตกต่างของเชื้อชาติ ท่านก็ทำให้ความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน เหมือนกันเสีย ด้วยคำพูดของท่านที่ว่า “ใครที่พูดภาษาอาหรับได้ เขาก็คือคนอาหรับ” จากการที่ท่านรู้ที่มาของปัญหา ท่านจึงสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้
เราเองถ้ายึดแบบอย่างของท่าน ก็สามารถแก้ปัญหาได้เช่นกัน ขอให้มั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น ตรงจุดที่มีความคิดหรือการกระทำที่ไม่เหมือนกันทุกปัญหาไป ถ้าแก้ตรงจุดนั้นให้เหมือนกันได้ ปัญหาก็ย่อมหมดไป ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็เกิดขึ้นใหม่ต่อไป ข้อสำคัญอย่าลืมหลักที่อิสลามสอนไว้ก็แล้วกัน ถ้าลืมหลักที่อิสลามสอนไว้ ไปฟังใครก็ไม่รู้ มันก็จะมีแต่พังกับพังเท่านั้นเอง
เพื่อเป็นแนวทางในเรื่องดังกล่าว และเพื่อเป็นความรู้ จะขอนำตัวอย่างการแก้ปัญหาด้านการขัดแย้งที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยทำไว้ มานำเสนออีกสักหนึ่งตัวอย่างจะได้รู้หลายๆ แบบ
เป็นที่รู้กันดีจากประวัติศาสตร์ ถึงอดีตก่อนอิสลามจะได้รับการเผยแผ่ อดีตของชนสองเผ่าที่เป็นศัตรูกัน สู้รบกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอกให้กัน ฝ่ายใดชนะก็ดีอกดีใจ ส่วนฝ่ายแพ้ก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาหาทางเอาชนะต่อไป สู้รบยืดเยื้อกันมาหลายสิบปี ชนสองเผ่าที่ว่านี้คือ เผ่าเอาส์ และเผ่าคอสรอจ
แต่หลังจากที่อิสลามอุบัติขึ้น ท่านนบีมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูต อิสลามได้ขยายออกไปมากพอสมควรแล้ว ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้หันมาเป็นทูตเจรจาให้ชนสองเผ่าที่ สู้รบกันอยู่ ยุติการสู้รบลงเสียที ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านสำเร็จ จนทำให้ชนทั้งสองเผ่าไม่สู้รบกันอีกต่อไป อยู่ได้ไม่นาน ความทะเยอทะยาน ความหยิ่งในศักดิ์ศรี และความอวดดี ก็มาทำให้ชนสองเผ่าหันกลับมาสู้รบกันอีก
เมื่อท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทราบข่าว ท่านโกรธมากที่จู่ๆ ทั้งสองฝ่ายก็หันมาเป็นศัตรูสู้รบกันอีก
ท่านจึงเรียกทั้งสองเผ่าเข้าประชุมพร้อมกับกล่าวเตือนว่า “พวกท่านยังจะนำความป่าเถื่อนแบบเก่าๆ มาใช้อีกหรือ ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่อย่างนั้นหรือ?”
ต่อจากนั้นท่านก็อ่านอายะฮฺอัลกุรอานต่อไปนี้ให้พวกนั้นฟังว่า
“และสูเจ้าทั้งหลาย จงนึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อสูเจ้า เมื่อครั้งเป็นศัตรูกัน พระองค์ได้ทรงสมานหัวใจของสูเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สูเจ้าทั้งหลายจึงกลายมาเป็นพี่น้องกัน เพราะความโปรดปรานของพระองค์ให้สูเจ้านึกถึงว่า ขณะที่สูเจ้าทั้งหลายตกลงไปอยู่ในหลุมไฟอันร้อนระอุ แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยให้สูเจ้าทั้งหลายรอดพ้นมาได้ เช่นนี้แหละ พระองค์อัลลอฮฺทรงชี้แจงโองการต่างๆ ของพระองค์ให้สูเจ้าทั้งหลายทราบ เพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นแนวทาง”
(อาละอิมรอน 2 : 103)
เมื่อทั้งสองเผ่าได้รับฟังคำสอนจากอัลกุรอาน ฟังคำสอนจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เสร็จแล้วต่างก็นึกเสียใจ และได้คิดถึงวันเวลาที่เคยดีต่อกัน จึงต่างก็หันมามีสัมพันธไมตรีต่อกันต่อไปด้วยดี
นี่คือผู้นำที่แท้จริงของมุสลิม เป็นผู้นำที่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีครบทุกอย่าง มีความรู้ มีขันติ มีความสุขุม มีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ เอารู้เอาชี้ มีความรักความจริงใจให้กับประชาชนของท่านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร ปกป้องประชาชน ชาติบ้านเมืองให้รู้รอดปลอดภัย แม้จะเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอม ท่านได้ขยายอาณาจักรอิสลามออกไปเรื่อยๆ พร้อมกับให้ทุกคนยึดมั่นบัญญัติศาสนาและความประพฤติที่ดีงาม
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555