ขอให้หัวใจของเรารักใคร่ปรองดองกัน
  จำนวนคนเข้าชม  8335


อธิบายความหมายดุอาอฺขอให้หัวใจของเรารักใคร่ปรองดองกัน

อุมมุ อุ้ลยา  แปลและเรียบเรียง

 

اللَّهُمَّ أَلِّفْ بَيْنَ قُلُوبِنَا، وَأَصْلِحْ ذَاتَ بَيْنِنَا، وَاهْدِنَا سُبُلَ السَّلَامِ، وَنَجِّنَا مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ،


 
وَجَنِّبْنَا الْفَوَاحِشَ مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَمَا بَطَنَ، وَبَارِكْ لَنَا فِي أَسْمَاعِنَا، وَأَبْصَارِنَا، وَقُلُوبِنَا، وَأَزْوَاجِنَا، وَذُرِّيَّاتِنَا،
 

وَتُبْ عَلَيْنَا إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ، وَاجْعَلْنَا شَاكِرِينَ لِنِعْمِكَ مُثْنِينَ بِهَا عَلَيْكَ، قَابِلِينَ لَهَا، وَأَتِمِمْهَا عَلَيْنَا

 

     “ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดทรงผสานบรรดาหัวใจของเรา ให้มีความปรองดองกัน

     โปรดทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องราวระหว่างเราให้ดีขึ้น โปรดทรงชี้นำเราสู่หนทางแห่งความศานติ

     โปรดทรงให้เรารอดพ้นจากความมืดมนสู่แสงสว่าง

     โปรดทรงทำให้เราออกห่างความชั่วช้าทั้งในสิ่งที่เปิดเผยและในสิ่งที่ซ่อนเร้น

      ขอพระองค์โปรดประทานความจำเริญแก่หูของเรา ตาของเรา หัวใจของเรา คู่ครอง และลูกหลานของเรา

     โปรดทรงรับการสำนึกผิดกลับตัวของเรา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรับการสารภาพผิด คือผู้ทรงปรานีเสมอ 

      และขอพระองค์ทรงทำให้เราเป็นผู้กตัญญูต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

     เป็นผู้สรรเสริญพระองค์ เป็นผู้น้อมรับในความกรุณาโปรดปราน

     และโปรดทรงทำให้ความกรุณาโปรดปรานนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ แก่เหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด” 

 

      اللَّهُمَّ أَلِّفْ بَيْنَ قُلُوبِنَا  หมายถึง ขอพระองค์โปรดทรงทำให้หัวใจของพวกเรามีความใกล้ชิดสนิทสนมรักใคร่กลมเกลียวกัน มีความห่วงใยเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เพื่อให้เรายืนหยัดมั่นคงในอิสลาม แข็งแกร่งอยู่ในอีหม่าน เพื่อช่วยเหลือศาสนาของพระองค์ และให้เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันประหนึ่งเรือนร่างเดียวกัน

 

     وَأَصْلِحْ ذَاتَ بَيْنِنَا ، หมายถึง ขอพระองค์ทรงให้ความจงเกลียดจงชัง ความบาดหมางแตกแยก ห่างไกลไปจากพวกเรา เพื่อให้เรารักใคร่ปรองดองกัน

 

     وَاهْدِنَا سُبُلَ السَّلَامِ ، โปรดทรงชี้นำเราสู่หนทางที่ปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ ความวิบัติเสื่อมเสีย  ตลอดจนความหลงผิดแหวกแนวต่างๆ ด้วยการบันดาลให้เราสามารถกระทำคุณงามความดี ทั้งในเรื่องที่เป็นวาญิบและเรื่องมุสตะฮับ (ชอบให้กระทำและให้เราสามารถออกห่างจากเรื่องต้องห้าม และการกระทำที่น่ารังเกียจต่างๆ จนทำให้เราได้รับ ที่พำนักอันศานติ ซึ่งก็คือ สรวงสวรรค์นั่นเอง 

ดังที่พระองค์ตรัสว่า

لَهُمْ دَارُ السَّلَامِ عِنْدَ رَبِّهِمْ

สำหรับพวกเขานั้น คือที่พำนักอันศานติ ที่พระเจ้าของพวกเขา

 (อัลอันอาม /127)

 

     وَنَجِّنَا مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ   หมายถึง โปรดทรงช่วยเหลือเหล่าข้าพระองค์ให้รอดพ้นจากความมืดมนในดุนยา ซึ่งสิ่งที่มืดมนที่สุดในดุนยานี้ก็คือ การตั้งภาคีต่อพระองค์ การปฏิเสธศรัทธา การสับปลับกลับกลอก พฤติกรรมที่ชั่วช้าเลวทราม การทำผิดฝ่าฝืน ตลอดจนสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย

          และให้เหล่าข้าพระองค์ได้รับแสงสว่างจากการกระทำที่เป็นการภักดีเชื่อฟังพระองค์ ตลอดจนคุณงามความดีทั้งหลายทั้งมวล ซึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การมีศรัทธา การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ 

 

      การใช้คำว่า الظُّلُمَاتِ ในรูปพหูพจน์ และใช้คำว่า النُّور ในรูปเอกพจน์ ก็เพราะ หนทางที่นำพาไปสู่ความชั่วช้า ความไม่ดีต่างๆ นั้นมีอยู่มากมาย แต่หนทางที่นำพาสู่สัจธรรมนั้นมีอยู่เพียงหนทางเดียวเท่านั้น  

 

      وَجَنِّبْنَا الْفَوَاحِشَ مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَمَا بَطَنَ   หมายถึง ขอพระองค์โปรดทรงทำให้พฤติกรรมที่น่ารังเกียจทั้งจากวาจาและกิริยา ทั้งในสิ่งที่เปิดเผยและซ่อนเร้นห่างไกลไปจากเรา ไม่ว่าจะเป็นการผิดประเวณี หรือการกระทำลามกอนาจาร 

ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า 

"وَلَا تَقْرَبُوا الْفَوَاحِشَ مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَمَا بَطَن"

และพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้ความชั่วช้าลามก ทั้งในสิ่งที่เปิดเผยและในสิ่งที่ซ่อนเร้น 

(อัลอันอาม / 151)

          ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า ผู้เป็นบ่าวไม่ได้มีกำลังความสามารถใดๆ ทั้งสิ้น นอกเสียจากอัลลอฮฺจะทรงให้มีขึ้น อันเนื่องมาจากความอ่อนแอไร้ความสามารถในการที่จะปกป้องตนเองให้พ้นจากความชั่วร้าย ความเสื่อมเสียต่างๆ และไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตามผู้เป็นบ่าวย่อมไม่มีทางที่จะไม่พึ่งพาพระเจ้าของเขาได้เลย แม้เพียงชั่วพริบตาเดียว

 

     وَبَارِكْ لَنَا فِي أَسْمَاعِنَا، وَأَبْصَارِنَا، وَقُلُوبِنَا،   เป็นการวอนขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงบันดาลให้อวัยวะต่างๆ เหล่านี้สามารถทำหน้าที่ในการภักดีเชื่อฟังพระองค์ ทำหน้าที่ในการเพิ่มพูนความดี เพราะความจำเริญที่แท้จริงแล้ว อยู่ในคุณงามความดีที่เจริญงอกงาม และมั่นคงสม่ำเสมอในการทำดี

 

     وَأَزْوَاجِنَا، وَذُرِّيَّاتِنَا،  ขอพระองค์ประทานความจำเริญให้แก่คู่ครองและลูกหลานของเรา ด้วยการอำนวยให้พวกเขาได้กระทำในสิ่งที่เป็นการภักดี การมีลูกหลานมากมายย่อมเป็นสิ่งที่ดี ขอพระองค์ทรงทำให้เรารื่นตาเย็นใจเพราะพวกเขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

          การขอให้ได้รับความจำเริญในคู่ครองและลูกหลานนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเสริมคุณงามความดีให้ครบถ้วนรอบด้าน เพราะสำหรับบ่าวแล้วการได้เห็นคนในครอบครัวอยู่ในการฏออัตต่ออัลลอฮฺ อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง นับเป็นความชื่นตาชื่นใจที่เทียบกับอะไรไม่ได้เลย เพราะสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาทั้งหมดได้รับสรวงสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน และได้รวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตากันในสรวงสวรรค์อันสูงส่ง

 

     وَتُبْ عَلَيْنَا إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ،   หมายถึง ขอพระองค์ทรงอำนวยให้เราได้สำนึกผิดกลับตัว ให้เรายืนหยัดมั่นคงในการกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงใจ 

 

     إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ   เพราะแท้จริงพระองค์คือ ผู้ทรงบันดาลให้บ่าวหวนกลับมาสู่ตำแหน่งที่รอดพ้นปลอดภัย ซึ่ง  التَّوَّابُ  นั้นเป็นหนึ่งในพระนามอันไพจิตร ที่หมายถึง การเป็นผู้ตอบรับการสำนึกผิดกลับตัวอย่างมากมาย ที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ พระองค์จะทรงตอบรับการเตาบัตตัวของบ่าวเรื่อยไป ตราบใดที่บ่าวยังคงสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งพระองค์เท่านั้นที่ทรงอำนวยทางให้บ่าวได้สำนักผิดกลับเนื้อกลับตัว

 

       الرَّحِيمُ  หมายถึง ความเมตตากรุณาที่ล้นเหลือ อัรเราะฮฺมะฮฺ หมายถึง ความเอ็นดูเมตตา ห่วงใยอาทร  ซึ่งถูกจำเพาะเจาะจงไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาเท่านั้น 

ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

"وَكَانَ بِالْمُؤْمِنِينَ رَحِيمًا"
และพระองค์คือผู้ทรงเอ็นดูเมตตาต่อผู้ศรัทธาเท่านั้น 

(อัลอะฮฺซาบ / 43)

          อัรเราะฮฺมานนั้น เป็นความเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่งทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือผู้ปฏิเสธศรัทธา และไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือญินก็ตาม

 

     وَاجْعَلْنَا شَاكِرِينَ لِنِعْمِكَ  หมายถึง ให้เราได้ขอบคุณ ได้กตัญญูต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อันนับไม่ถ้วนที่มีตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งที่ซ่อนเร้นและเปิดเผย การกตัญญูต่อความกรุณาโปรดปรานที่ได้รับนี้ เป็นการรักษาให้ความโปรดปรานเหล่านี้ยังคงอยู่กับเราเรื่อยไป 

ดังที่ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

وَإِذْ تَأَذَّنَ رَبُّكُمْ لَئِنْ شَكَرْتُمْ لَأَزِيدَنَّكُمْ"

และจงรำลึกเมื่อพระเจ้าของพวกเจ้าประกาศว่า หากว่าพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า 

(อิบรอฮีม / 7) 

 

     مُثْنِينَ بِهَا عَلَيْكَ، หมายถึง  สรรเสริญแซ่ซ้องสดุดี กล่าวชื่นชม 

ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

"وَأَمَّا بِنِعْمَةِ رَبِّكَ فَحَدِّثْ"

และสำหรับความโปรดปรานของพระเจ้าของเจ้านั้น เจ้าจงพูดบอกแสดงออกเถิด 

(อัฎฎุฮา / 11)

 

     قَابِلِينَ لَهَا،   น้อมรับในความโปรดปรานนั้นด้วยคำพูดและการกระทำ ยอมรับและแสดงออก

 

     وَأَتِمِمْهَا عَلَيْنَا หมายถึง ขอให้พระองค์ทรงธำรงรักษาความโปรดปรานเหล่านี้ให้คงอยู่เรื่อยไป เป็นการขอให้พระองค์ทรงรักษา ทรงเติมเต็มให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และทรงบันดาลให้ความโปรดปรานของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิจ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ ออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และกตัญญูต่อความกรุณาโปรดปรานของพระองค์เท่านั้น

 


         จึงนับได้ว่าดุอาอฺบทนี้ เป็นดุอาอฺที่ประมวลไว้ด้วยการวอนขอให้ได้รับความสำเร็จในการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการภักดีเชื่อฟังพระองค์ และออกห่างจากการฝ่าฝืนกระทำผิดต่อพระองค์

 

 

ที่มา : https://kalemtayeb.com/adeiah/item/3168?