ความประเสริฐของวันเวลาและสถานที่
  จำนวนคนเข้าชม  8010

ความประเสริฐของวันเวลาและสถานที่

 

โดย... อาจารย์ซัยนุ้ลอาบีดีน หวังภักดี 

 

قال تعالى : { وَالْفَجْرِ * وَلَيَالٍ عَشْرٍ * وَالشَّفْعِ وَالْوَتْرِ * وَاللَّيْلِ إَذَا يَسْرِ * هَلْ فِيْ ذلِكَ قَسَمٌ لِذِيْ حِجْرٍ * } الفجر : 1-5

 

     "สาบานด้วยแสงอรุณเบิกฟ้า สาบานด้วยค่ำคืนทั้งสิบ (นั่นก็คือ สิบคืนแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์

     สาบานด้วยค่ำคืน เมื่อคืบคลานเข้ามา (ความมืดปกคลุม โลกทั้งโลกก็จะสงบ หยุดความเคลื่อนไหว โลกทั้งโลกก็จะโคจร ไปตามระบบของมัน เป็นวัฏจักร สิ่งมีชีวิตจะเคลื่อนไหว เมื่ออรุณเบิกฟ้าจะหยุดและสงบลง เมื่อยามพลบค่ำ ยามที่มีความมืดมาปกคลุม ระบบของโลกและทุกชีวิต จะดำเนินไปตามวัฏจักรของมัน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ระบบการณ์ของโลก วัฏจักรของกาลเวลา ที่นำมากล่าวสาบาน)

     เหล่านี้นั้น สำหรับผู้มีสติปัญญา ผู้มีความคิดไตร่ตรอง ผู้ชาญฉลาดทั้งหลายทั้งปวง จะยังไม่เชื่อ ไม่มั่นใจในสิ่งที่เรานำมากล่าวอีกหรือ ? "

 

          ในซูเราะห์อัลฟัจริ มีทั้งหมด 30 อายะห์ เป็นซูเราะห์ที่อัลเลาะห์ตาอาลาทรงเริ่มต้นอายะห์ด้วยการสาบาน สาบานด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความสำคัญของกาลเวลา ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามระบบการโคจรของโลก และวัฏจักรของมัน

 

          เสร็จแล้ว อัลเลาะห์ตาอาลาก็ทรงกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ปฏิเสธอัลเลาะห์และร่อซู้ล  ปฏิเสธเกี่ยวกับการเกิดขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับผู้ถูกลงโทษ ถูกลงทัณฑ์ในรุ่นก่อน อย่างเช่นพวกอาดและพวกซะมูด เรื่องราวของฟิรอูน หรือเรารู้จักกันในนามของฟาโรห์ ผู้ท้าทายพระเจ้า ว่าจุดจบของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และลงเอยในรูปใด

 

           ต่อจากนั้น ก็กล่าวถึงการทดสอบของอัลเลาะห์ต่อบ่าวของพระองค์ ในเรื่องของความดี ความชั่ว เรื่องของความโลภ เรื่องของความบ้าคลั่งในอำนาจและวัตถุนิยม เรื่องของการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เรื่องของความขี้เหนียว จิตใจคับแคบ ไม่เหลียวดูอุ้มชูสังคม หมู่คณะ และคนรอบข้างที่ยากจน และแร้นแค้น แล้วก็มาถึงการสรุปผลในเรื่องของความเสียใจของผู้กระทำผิด ในวิบัติการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้สำนึก แต่สายเกินไป

 

          ในท้ายสุดของซูเราะห์ จะเป็นโองการแจ้งข่าวดีแก่ผู้กระทำดี ยืนอยู่บนความถูกต้อง มีศรัทธาอีหม่านต่ออัลเลาะห์และร่อซู้ล  ว่า 

 

{ يَاأَيَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ ارْجِعِيْ إِلَى رَبِّكِ رَاضِيَةً مَرْضِيَّةً فَادْخُلِيْ فِيْ عِبَادِيْ وَادْخُلِيْ جَنَّتِيْ }

 

     " โอ้ชีวิตที่สงบ (วิญญาณที่อยู่บนความถูกต้อง) จงกลับไปยังพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า ด้วยความปีติด้วยความยินดีในความเมตตาของอัลเลาะห์

     จงเข้ามาอยู่ร่วมกับปวงบ่าวที่ดี ปวงบ่าวที่ซอและห์ของข้าฯ จงเข้ามาอยู่ในสวนสวรรค์ของข้าฯ สวนสวรรค์อันเป็นที่พำนักของเหล่าชนผู้ทรงคุณธรรม

 

          องค์อัลเลาะห์ทรงกล่าวเริ่มซูเราะห์ด้วยการนำเอาแสงอรุณเบิกฟ้า นำเอาค่ำคืนทั้งสิบ นั้นก็คือนำเอาสิบคืนแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์มาสาบาน ในส่วนหนึ่งก็เพื่อจะบอกให้เรารับรู้ถึงความเร้นลับของโลก และความยิ่งใหญ่ของอรุณเบิกฟ้า

           อรุณเบิกฟ้า สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างก็เริ่มเคลื่อนไหว วัฏจักรแห่งชีวิต วัฏจักรแห่งการค้นหาก็เริ่มขึ้น วงจรแห่งชีวิตก็เดินไปตามรูปรอยของมัน

 

         อรุณเบิกฟ้ามีความสำคัญ มีความยิ่งใหญ่ มีความเป็นพิเศษขนาดไหน ? ทั้งสิบคืนแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ก็มีความสำคัญ มีความเป็นพิเศษอยู่ในระดับหนึ่งเช่นกัน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว อัลเลาะห์คงไม่เอามากล่าวสาบานร่วมกับแสงอรุณเบิกฟ้า

 

          เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราท่านรับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่ ความประเสริฐเลิศ ความเป็นพิเศษของสิบคืนแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์แล้ว สำหรับผู้ใฝ่หาในความโปรดปรานของอัลเลาะห์ สะสมแสวงหาเสบียงแห่งการตักวา เพิ่มเติมแล้ว ก็คงจะไม่ปล่อยให้สิบคืนดังกล่าวให้ล่องลอยไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลย 

 

ท่านร่อซู้ล ได้กล่าวไว้ว่า

 

( مَا مِنْ أَيَّامٍ أَحَبُّ إِلَى اللهِ أَنْ يَعْمَلَ لَهُ فِيْهَا مِنْ عَشْرِ ذِى الْحِجَّةِ يَعْدِلُ كُلَّ يَوْمٍ مِنْهَا صِيَامَ سَنَةٍ وَقِيَامَ كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْهَا بِقِيَامِ لَيْلَةِ الْقَدْرِ )

 

     “ไม่มีการทำความดีในวันใดๆ ที่ทำให้อัลเลาะห์โปรดปราน ไปกว่าการทำในสิบวันแรกของต้นเดือนซุลฮิจยะห์

     ถือบวชในแต่ละวันของสิบวันดังกล่าวนี้ เท่ากับถือบวชหนึ่งปี

     ทำละหมาด ทำอะมั้ลอิบาดะห์ที่ประเสริฐในแต่ค่ำคืนของสิบวันดังกล่าว เทียบได้ดังการทำละหมาดในค่ำคืนอัลกอดัร

 

อีกอัลฮะดีษบทหนึ่งกล่าวว่า

 

( مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ فِيْهَا أَفْضَلُ مِنْ أَيَّامِ الْعَشْرِ )

 

ไม่มีวันใดที่ทำกิจกรรมที่ดีในวันนั้น จะประเสริฐเลิศไปกว่าการกระทำในสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจยะห์

 

          คงจะไม่ปฏิเสธกันว่าในกลุ่มชนของเราท่าน ย่อมจะมีคนหนึ่งมีเกียรติ มีความประเสริฐกว่าอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งเป็นอิหม่าม คนหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ คนหนึ่งดูแลกิจกรรมทางด้านส่วนรวม ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม เป็นคอเต็บ เป็นคณะกรรมการบริหารมัสยิด เป็นผู้นำชุมชนหรือจะอยู่ในตำแหน่งใดหน้าที่ใด หรือไม่มีตำแหน่งหน้าที่ก็ตามแต่ แต่ก็เป็นคนดีมีตักวา มีความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ทำตัวทำตนเป็นคนดี ให้ความร่วมมือกับกลุ่มชน ก็ถือว่าเป็นคนประเสริฐ ทุกคนมีคุณลักษณะพิเศษ มีความประเสริฐอยู่ในระดับหนึ่งและแตกต่างกันออกไป

 

ในสมัยของท่านร่อซู้ล ท่านได้กล่าวชมความเป็นพิเศษ ความประเสริฐเลิศของอบูบักร์ว่า

 

( لَوْ وُزِنَ إِيْمَانُ هذِهِ الأُمَّةِ بِإِيْمَانِ أَبِيْ بَكْرٍ لَرَجَحَ إِيْمَانُ أَبِيْ بَكْرٍ )

 

ในประชากรของเรานี้ ถ้าหากมีการชั่งระดับการอีหม่านแล้ว อีหม่านของ อบูบักร์จะหนักที่สุด

 

          และเช่นเดียวกัน เราจะพบว่าสถานที่หนึ่ง ย่อมจะมีความเป็นพิเศษมากกว่าอีกสถานที่หนึ่ง ในโลกของการท่องเที่ยว ในแต่ละประเทศก็จะมีสถานที่หนึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว น่าไปเที่ยวไปชมไปพักผ่อน ไปทัศนะศึกษาหาความรู้ ครับ ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละโซน ก็ย่อมจะมีความเป็นพิเศษอยู่ในระดับหนึ่ง และแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของภูมิประเทศ ตามอารยธรรมความเจริญ ตามความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ตามตำนานที่เล่าขานกันมา หรือจะเป็นในด้านใด จุดใดก็แล้วแต่

 

          แต่ในอิสลามของเราแล้ว ก็คงจะไม่มีสถานที่ใด เมืองใดดีไปกว่าสถานที่ตั้งบัยตุ้ลเลาะห์ ซึ่งสถิตย์สถานอยู่ นครมักกะห์ ใจกลางมัสยิดฮารอม ที่เราควรจะไปเยี่ยมไปเยือนไปทำฮัจย์ และอุมเราะห์กัน  และการละหมาดในมัสยิดฮารอมได้ภาคผลมากกว่าที่อื่นถึงพันเท่า

          และเช่นเดียวกัน เราจะพบว่าบางวัน บางเวลา บางค่ำคืน มีความเป็นพิเศษมากกว่าเวลาอื่น ทำละหมาด ทำฟัรดู ทำอะม้าลอิบาดะห์ในเดือนรอมาดอน ได้มากเป็น 70 เท่า ทำในค่ำคืนลัยละตุ้ลกอดร์ ได้มากกว่าพันเดือน ถือบวชวันอะรอฟะห์ จะได้รับการอภัยโทษ 1 ปีที่ผ่านมาและอีก 1 ปีข้างหน้า

 

          ความเป็นพิเศษ ความประเสริฐเลิศของกาลเวลานั้น มันแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ร่องรอย และความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน อัลเลาะห์ทรงบอกว่า ( وَذَكِّرْهُمْ بِأَيَّامِ اللهِ ) " จงให้พวกเขาระลึกนึกถึงวันเวลาของอัลเลาะห์ " และวันเวลาที่อยากจะแนะนำให้นึกถึงกันในวันนี้นั้น ก็คือ 10 วันแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์ เพราะเป็นเวลาที่อัลเลาะห์นำมากล่าวสาบานไว้ในอัลกุรอาน แล้วก็เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมของเราทั่วโลก อยู่ในช่วงปฏิบัติพิธีกรรมฮัจย์กัน นครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอารเบีย

 

          ย้อนไปในปีที่ 10 ของฮิจเราะห์ศักราช ในช่วงระยะเวลา 10 วันแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ท่านร่อซู้ลได้เดินทางเข้ามามักกะห์ เพื่อประกอบพิธีฮัจย์ ท่านได้เหนียตเอียะห์รอม แล้วก็กล่าวตัลบียะห์ คือกล่าว لَبَّيْكَ اللّهُمَّ لَبَّيْكَ เสร็จแล้วก็ทำการตอวาฟแล้วก็เดินซะแอ พอถึงวันที่ 9 ของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ท่านร่อซุ้ลก็ออกไปยังทุ่งอะรอฟะห์ ขณะวูกูฟ ทุ่งอะรอฟะห์ ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวอำลาอุมมะห์ของท่าน สาระสำคัญๆในพระวจนพจน์ของท่านที่กล่าวในวันนั้น มีอะไรบ้าง วันนี้จะยังไม่กล่าวถึง เวลาน้อยและคิดว่าบางท่านอาจจะทราบกันอยู่บ้างแล้ว

 

          แต่จะอย่างไรก็ตาม ที่นำเรื่องของความประเสริฐเลิศ ความเป็นพิเศษของ 10 วันแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์มาพูดในวันนี้นั้น ก็เพื่อที่จะให้เราท่านซึ่งไม่มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจย์ อันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจ เงินทรงไม่เอื้ออำนวย ได้รับรู้ไว้เป็นประการหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่ง ก็เพื่อที่ท่านจะได้แสวงหาผลบุญที่ยิ่งใหญ่เพิ่มเติม และแม้ว่าจะไม่ได้ผลบุญดุจดังผู้ประกอบพิธีฮัจย์

          แต่เรื่องของการทำของสุนัต ทำอะม้าลอิบาดะห์เพิ่มเติม มุ่งหวังในผลบุญของอัลเลาะห์ กระทำตนเข้าใกล้ชิดพระเจ้าในช่วง 10 วันแรกของต้นเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ก็ถือว่าเป็นการแสวงหาค้ากำไรในผลบุญของอัลเลาะห์ที่ยิ่งใหญ่ อยู่ระดับหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่ว่าเราท่านต้องการในเรื่องสุนัต ในผลบุญที่ยิ่งใหญ่ในการทำอะม้าลอิบาดะห์ที่ดีเพิ่มเติม เนื่องในโอกาสวันพิเศษ อย่างเช่น 10 วันแรกของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ หรือเปล่าเท่านั้น

 

ท่านร่อซุ้ล  กล่าวว่า

 

( مَنْ صَامَ يَوْمَ عَرَفَةَ غُفِرَ لَهُ سَنَةً أَمَامَهُ وَسَنَةً خَلْفَهُ

 

"ผู้ใดถือบวชวันอะรอฟะห์ อัลเลาะห์จะอภัยโทษให้เขาผู้นั้น เป็นระยะเวลา 1 ปี ที่อยู่ข้างหน้า และอีก 1 ปีย้อนหลัง"

 

 

คุตบะฮ์ มิฟตาฮุ้ลอูลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน