แนวทางที่นำไปสู่ความมีเกียรติ
โดย อาจารย์สุเบร มัสอูดี
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์เรามีลักษณะเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เมื่อความทุกข์ยากความลำบาก หรืออับมุซีบะฮฺมาประสบเข้า ก็ตีโพยตีพายตกอกตกใจ และปราศจากการอดทนขันติ เมื่อได้รับความดี หรืออัลนิอฺมะฮฺจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะหึงหวงไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลืมตัวเอง ลืมนึกว่าเมื่อเกิดขึ้นมานั้น เขามีอะไรติดตัวมาบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีอยู่ขณะนี้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง วงศาคณาญาติ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนทรัพย์สินเงินทอง
เหล่านี้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้พระราชทานมาให้แก่เขา เพื่อเป็นการทดสอบหรือหยั่งดูความตื้นลึกหนาบางแห่งการอีมานของเขาเท่านั้น
ทำไมเล่า มนุษย์เราจึง มีลักษณะเช่นนี้ติดเป็นนิสัยประจำตัว ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นลักษณะของผู้ที่ปราศจากการอีมาน เป็นลักษณะของผู้ที่ไม่มีความศรัทธาต่อวันปรโลก ลักษณะเช่นนี้ อัลกุรอานได้กล่าวในซูเราะฮฺอัลมะอาริจญ์ ไว้ว่า
“แท้จริง มนุษย์นั้นถูกบังเกิดมา ในลักษณะที่หวั่นไหว
เมื่อความชั่วมาประสบกับเขา เขาก็ตกอกตกใจ และเมื่อความดีมาประสบกับเขา เขาก็หึงหวง”
(อัลมะอาริจญ์ 70 : 19 - 21)
เป็นธรรมดา เมื่อมีความชั่วก็ต้องมีความดี ความชั่วกับความดีเป็นของคู่กัน แต่จะรวมอยู่ด้วยกันไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์เราประสงค์ที่จะเป็นคนดีมีเกียรติ ก็จำต้องสลัดความชั่ว ซึ่งเป็นลักษณะที่ อัลกุรอานได้กล่าวไว้ข้างต้นให้หมดสิ้นไป แล้วพยายามปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะที่ดี แต่แนวทางที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ความมีเกียรตินั้น จำต้องมีการปฏิบัติที่อยู่ภายในกรอบและเงื่อนไขที่อัลกุรอานได้วางไว้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการมีอีมานต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์ มิใช่เป็นคำพูดที่กล่าวออกมาจากลมปาก หรือสัญลักษณ์ศาสนาที่ถือปฏิบัติกันเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของจิตใจ และแนวทางแห่งชีวิต เมื่อจิตใจปราศจากเสียซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะเป็นผู้ที่อ่อนแอไม่มีความหนักแน่นและอดทน ไม่สามารถที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ความวิตกกังวลใจและความกลัวจะเข้ามาพัวพันอยู่ในตัวของเขา ผลที่ได้รับก็คือ เมื่อประสบกับความทุกข์ยาก หรือ อัลมุซีบะฮฺ ก็กระวนกระวายตกอกตกใจ เมื่อได้รับความดีหรือนิอฺมะฮฺ ก็เป็นผู้หวงแหนตระหนี่ถี่เหนียว
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การอีมานเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์เรา ดังนั้น เมื่อการอีมานได้เข้าไปสิงอยู่ในจิตใจของผู้ใดแล้วความอบอุ่นหนักแน่นและความสุขใจก็จะเกิดขึ้นในตัวของเขา ทั้งนี้ เพราะเขามีความสัมพันธ์กับผู้อภิบาลอยู่เสมอ มีความมั่นใจต่อลิขิตของพระองค์ มีความหวังต่อความเมตตาปราณีของพระองค์ มีความสำนึกต่อการทดสอบ มีความรู้สึกเป็นประจำว่า หลังจากความทุกข์ยากแล้ว จะต้องได้รับความสุขใจ
นอกจากนี้ ยังตระหนักดีอีกว่า การบริจาคทรัพย์สินเงินทองออกไปนั้นเป็นการบริจาคในส่วนที่พระองค์ได้พระราชทานให้แก่เขา พร้อมทั้งมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบแทนในการปฏิบัติของเขา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เขาไม่มีสิทธิจะยับยั้ง หรือเบียดเบียนในส่วนของผู้อื่น เพราะเขาจะรู้ดีว่าใน การปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเป็นการท้าทายคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าอย่างชัดแจ้ง
ลักษณะทั่วไปของมนุษย์ อัลกุรอานได้กล่าว วาดสภาพเอาไว้ดังที่เรียนให้ทราบแล้วเมื่อตอนเริ่มต้นคือ“แท้จริง มนุษย์นั้น ถูกบังเกิดมาในลักษณะที่หวั่นไหว เมื่อความชั่วมาประสบกับเขา เขาก็ตกอกตกใจ และเมื่อความดีมาประสบกับเขาก็หึงหวง” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะปฏิบัติตัวให้เป็นผู้ที่อยู่ในทำนองคลองธรรม หรือแนวทางที่จะนำสู่ความมีเกียรติ ซึ่งแนวทางนี้ จำต้องใช้การฝึกฝนและปฏิบัติอยู่เสมอเป็นประจำ ดังที่อัลกุรอานได้กำหนดคุณลักษณะไว้เช่นเดียวกันคือ
“นอกจากผู้ปฏิบัติละหมาด ผู้ที่ดำรงไว้อยู่เสมอซึ่งการละหมาดของเขา
ผู้ที่ในทรัพย์สมบัติของเขา จัดไว้เป็นสัดส่วน สำหรับผู้ขอ และผู้ถูกทอดทิ้ง และผู้ที่เชื่อมั่นต่อวัน “อัดดีน” (คือ วันอาคิเราะฮฺ)
และผู้ที่มีความกลัวต่อการลงโทษของพระผู้อภิบาลของเขา เพราะการลงโทษของผู้อภิบาลของเขาไม่เป็นที่ปลอดภัย
และผู้ที่รักษาทวารของพวกเขา นอกจากกับสามีภรรยาของเขา หรือบรรดาทาสของเขา แน่นอน เขาจะไม่ถูกประณาม
ผู้ใดที่แสวงหานอกเหนือไปจากนั้น เขาเหล่านั้นคือ ผู้ที่ล่วงละเมิด
และผู้ที่รักษาบรรดาอะมานะฮฺของเขา และสัญญาของเขา และผู้ที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้านการเป็นพยานของเขา
และผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดของเขา เขาเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับเกียรติในสวนสวรรค์”
(อัลมะอาริจญ์ 70 : 22 – 35)
คุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ จะเป็นสิ่งค้ำประกันความเป็นมุอฺมินมุสลิมของเราได้อย่างดี จะเป็นแนวทางไปสู่ความมีเกียรติตามที่พระองค์ได้สัญญาไว้แก่เรา เพื่อที่จะให้เราท่านทั้งหลาย ได้มีความเข้าใจกันอย่างกระจ่างแจ้ง ในคุณลักษณะที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้นี้ จึงขอให้พิจารณากันอย่างละเอียดสักหน่อย เราจะเห็นว่า
1. การละหมาด และการดำรงไว้อยู่เสมอซึ่งการละหมาดตามเวลาที่ได้กำหนดไว้
พอจะเข้าใจ ได้ว่า การละหมาดนอกจากจะเป็นหลักการใหญ่ของอิสลาม และเป็นสัญลักษณ์แห่งการอีมานแล้ว ยังเป็นสื่อสัมพันธ์อันใกล้ชิด ระหว่างบ่าวกับอัลลอฮฺ เป็นการสละจากโลกวัตถุชั่วขณะหนึ่ง แล้วหันหน้าเข้าสู่โลกวิญญาณ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ
นอกจากนี้ การดำรงไว้อยู่เสมอซึ่งการละหมาดของเขา ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ดำรงไว้อยู่เสมอซึ่งการละหมาดของเขา” เป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ปฏิบัติเป็นประจำและตลอดไป เป็นรูปการของการละหมาด ที่มิได้หยุดชะงักลงด้วยการทอดทิ้ง การไม่เอาใจใส่ และการเกียจคร้าน หามิได้ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างข้าของพระองค์กับพระผู้อภิบาลอยู่ตลอดไป โดยมิได้ขาดตกบกพร่อง
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อได้ปฏิบัติการอิบาดะฮฺชนิดใดก็ตาม ท่านจะปฏิบัติอยู่เสมอและเป็นประจำซึ่งเราจะเห็นได้จากคำกล่าวของท่านที่ว่า
“แท้จริง การงานที่เป็นที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ คือ การงานที่ปฏิบัติอยู่เสมอประจำ ถึงแม้ว่าจะน้อย”
2. การบริจาคซะกาตและทานแก่คนยากจน และผู้ที่ถูกทอดทิ้ง
ลักษณะนี้ เราจะเห็นได้ว่า การบริจาคซะกาตและทานตามสัดส่วนที่ได้กำหนดไว้ เป็นสิทธิในทรัพย์สมบัติของมุอฺมินทุกคนหรืออาจจะมีความหมายกว้างกว่านี้คือ มุอฺมินจะต้องจัดสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติของเขาไว้ เพื่อให้เขามีความตระหนักและรำลึกอยู่เสมอว่า ทรัพย์สมบัติส่วนนั้น เป็นสิทธิของผู้ขอ และผู้ที่ถูกทอดทิ้ง
การปฏิบัติเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นการปลดเปลื้องจิตใจของเขา ให้พ้นจากการหึงหวงและความตระหนี่ถี่เหนียว เป็นการขัดเกลาจิตใจให้ระลึกถึงความทุกข์ยากของผู้อื่น และทำให้เขามีความรู้สึกอีกว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งเป็นบุคคลในประชาชาติเดียวกัน
ความรู้สึกที่ว่า “ผู้ที่มีความต้องการและผู้ที่ถูกทอดทิ้งมีสิทธิในทรัพย์สมบัติ” อันนี้ เป็นความรู้สึกในการรำลึกนึกถึงบุญคุณของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต่อการที่พระองค์ได้พระราชทานนิอฺมัตให้แก่เขาประการหนึ่ง และเป็นความรู้สึกในภราดรภาพแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยกันอีกประการหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการประกันความปกติสุขของสังคม เพื่อให้ประชาชาติทั้งมวลอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
3. การเชื่อมั่นในวันตอบแทน
ด้วยการแสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์ในทางเชื่อถือและการปฏิบัติ ลักษณะอันนี้ เป็นการวางรากฐานลงในจิตใจของการศรัทธา ซึ่งจะมีผล อย่างชัดแจ้งในการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านความรู้สึกและการปฏิบัติ
ผู้ที่มีความเชื่อมั่นต่อวันตอบแทน เขาจะดำเนินชีวิตของเขาด้วยความตระหนักถึงความยุติธรรมของโลกอาคิเราะฮฺ มิใช่ความยุติธรรมที่อยู่บนหน้าผืนแผ่นดินนี้ ดังนั้น เขาจะยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตัวของเขาทั้งดีและชั่ว โดยคิดเสียว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลตอบแทนในวันหน้าอย่างแน่นอน ส่วนผู้ปฏิเสธหรือไม่ยอมเชื่อมั่นในวันตอบแทน เขาจะคิดแต่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต อันมีขอบเขตเท่านี้เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความทุกข์ยาก ความวิตกกังวลใจ ก็จะมีอยู่เป็นประจำในจิตใจของเขา
4. ความเกรงกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ลักษณะอันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมั่นในวันตอบแทน เป็นการควบคุมจิตใจให้มีความตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นการเตือนให้มีความรู้สึกว่า มาตรแม้นว่าเราจะมีความจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่สักปานใดก็ตาม แต่การลงโทษของพระองค์นั้นจะเกิดขึ้นได้ทุกชั่วกระพริบตา ไม่มีใครจะล่วงรู้ได้ว่า การทดสอบของพระองค์จะเกิดขึ้นเมื่อใด และในสถานที่ใด จึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องปฏิบัติความดีอยู่เสมอ
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงยกโทษให้แก่ท่าน ทั้งในอดีตและอนาคต กระนั้นก็ดี ท่านยังมีความระมัดระวังตัว มีความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺอยู่เสมอ ท่านมีความมั่นใจว่าการงานของท่านนั้น จะไม่ช่วยให้ท่านเข้าสวนสวรรค์ได้ นอกจากจะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากพระองค์
ท่านได้กล่าวแก่บรรดาสาวกของท่านว่า “การงานของผู้หนึ่งผู้ใดจะไม่ช่วยให้เขาเข้าสวรรค์ได้”
บรรดาสาวกถามกันขึ้นว่า “แม้แต่ท่านหรือ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ”
ท่านตอบว่า “แม้แต่ตัวฉัน นอกจากพระองค์อัลลอฮฺจะทรงปกคลุมฉัน ด้วยความเอ็นดูเมตตาของพระองค์”
5. รักษาทวารของเขาให้พ้นจากสิ่งต้องห้าม
ลักษณะอันนี้หมายถึง การมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ อิสลามต้องการที่จะให้บุคคลอยู่ร่วมกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่ใช้สิทธิล่วงเกินผู้อื่นโดยปราศจากขอบเขต อิสลามต้องการสังคมที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งการปฏิสนธิของครอบครัวที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ต้องการสังคมที่บุตรทุกคนรู้จักบิดาของเขา ไม่มีความกระดากอายในการแสดงตัวต่อสังคม
6. การรักษาคำมั่นสัญญา รักษาอะมานะฮฺ และการรักษาหน้าที่ในการเป็นพยาน
คุณลักษณะอันนี้ เป็นหลักการสำคัญแห่งศีลธรรมอิสลาม ซึ่งระบบสังคมอิสลาม จะตั้งอยู่ได้ด้วยความผาสุก ก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคมอิสลาม ที่จะต้องช่วยกันรักษาคำมั่นสัญญาที่มีต่อกัน รักษาอะมานะฮฺที่ได้รับมอบหมายไว้และรักษาหน้าที่ในการเป็นพยานที่เที่ยงตรง
คุณลักษณะเท่าที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างละเอียดคือคุณลักษณะที่จะเป็นเครื่องประกันความเป็นมุอฺมินของเราหรืออีกนัยหนึ่งคือ แนวทางที่จะนำเราไปสู่ความมีเกียรตินั้นเอง แต่อย่าลืมว่า แนวทางไปสู่ความมีเกียรตินั้น จะต้องยึดถือการอดทนขันติเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี 2559 โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร