อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก
  จำนวนคนเข้าชม  7850


อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก

อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง 

 

ส่วนหนึ่งจากความหมายของอายะฮฺที่  29  ซูเราะฮฺอัลอันฟาล

 

บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกเจ้าเกรงกลัวอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทำให้มีสิ่งจำแนกขึ้นแก่พวกเจ้า 

และจะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้าให้แก่พวกเจ้า และจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า 

และอัลลอฮฺคือพระผู้ทรงเป็นเจ้าของบุญคุณอันใหญ่หลวง

(อัลอันฟาล 8 : 29)

 

ความหมายของคำว่า (อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก) ตามที่นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายไว้มีดังนี้

 

1. ท่านอิสมาอิล อิบนุ อุมัร อิบนุ กะษีร ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 774) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

          ท่านอิบนุ อับบ๊าส ท่านอัซซุดดีย์ ท่านมุญาฮิด ท่านอิกริมะฮฺ ท่านอัฏฏ็อฮฺฮ๊าก ท่านก่อตาดะฮฺ ท่านมุกอติ้ล อิบนุ ฮัยยาน และท่านอื่นๆ ได้พูดไว้ว่า (อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก) หมายถึง ทางออก ท่านมุญาฮิด กล่าวเสริมไว้ว่าทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

          ในกระแสรายงานหนึ่งถึงท่านอิบนุอับบ๊าส ระบุไว้ว่า อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก หมายถึงทางรอดและในอีกกระแสหนึ่งที่รายงานถึงท่านระบุว่า หมายถึงความสำเร็จและชัยชนะและการช่วยเหลือ

 

          ท่านมุฮัมมัด อิบนุ อิสฮาก ได้กล่าวไว้ว่า อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก หมายถึงการแยกแยะระหว่างความจริงกับความเหลวไหลคำอธิบายนี้ของท่านอิบนุอิสฮาก ถือว่าเป็นคำอธิบายที่ให้ความหมายกว้างกว่าความหมายอื่นๆ ที่ได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ และยังเป็นความหมายที่เป็นปัจจัยหลัก ที่จะนำพาให้ความหมายอื่นๆ ที่เหลืออยู่เหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้อีกด้วย 

          ทั้งนี้ เพราะใครก็ตามที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ด้วยการทำตามคำสั่งของพระองค์ และออกห่างจากคำห้ามปรามของพระองค์ คนๆ นั้น ก็จะสามารถแยกแยะ สิ่งที่เป็นความจริงออกจากสิ่งที่เหลวไหลได้ และการรู้จักแยกแยะนี้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุแห่งความสำเร็จ ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน เป็นสาเหตุแห่งการรอดพ้น และเป็นสาเหตุของทางออกของเขาในเรื่องดุนยา และเป็นสาเหตุแห่งความผาสุกของเขาในวันกิยามะฮฺ...”

 

2. ท่านมุฮัมมัด อิบนุ อบีบักรอิบนุ กอยยิม อัลเญาซียะฮฺ” (อิบนุล กอยยิม) ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 751) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

           “ส่วนหนึ่งของ อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก นั้นก็ได้แก่ แสงรัศมีที่ผู้เป็นบ่าวใช้มันใน การแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงออกจากสิ่งที่เหลวไหล และยิ่งหัวใจของผู้เป็นบ่าวมีความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺมากเท่าใด อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก ของเขาก็จะยิ่งมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น

 

3. ท่านมุฮัมมัด อิบนุ ญะรี๊ร อัฏฏ็อบรี่ยฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 310) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

          คำอธิบายที่เราได้รายงานไว้ จากบุคคลที่เราได้รายงานถึงเขา ที่เกี่ยวกับความหมายของอัลฟุรกอน--สิ่งจำแนกทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องทั้งสิ้น ทั้งนี้ เนื่องจากคำอธิบายในเรื่องนี้ของพวกท่านเหล่านั้น ล้วนให้ความหมายที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          รากศัพท์ของคำว่าอัลฟุรกอน--สิ่งจำแนกที่เราใช้กันนั้น คือ การจำแนกและแยกแยะสิ่งสองสิ่งออกจากกัน

จนกระทั่งถึงคำพูดของท่านที่ว่า

          จากตรงนี้ ก็ทำให้สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ที่อัลกุรอานถูกขนานนามว่า อัลฟุรกอน(สิ่งจำแนก) นั้น ก็เนื่องมาจากการที่อัลกุรอานมีหน้าที่ในการจำแนกแยกแยะระหว่าง คน (สิ่ง) ที่ถูกต้อง และระหว่างคน (สิ่ง) ที่เหลวไหลออกจากกัน ด้วยบทพิสูจน์และหลักฐาน และด้วยกับอัตราและกรอบกำหนดของข้อกำหนดต่างๆ ตลอดจนด้วยกับนัยต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงของคำชี้ขาดแห่งอัลกุรอานนี้นี่เอง

          ซึ่งการทำหน้าที่จำแนกระหว่างสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่เหลวไหลที่กล่าวถึงนี้ มีขึ้นโดยมีเหตุมาจากการที่อัลกุรอานได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ถูกและไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ให้การสนับสนุนคนที่ผิด คนที่เหลวไหลนั่นเอง...

 

4. ท่านอัลฮุซัยนฺ อิบนุ มัสอู๊ด อัลบะฆ่อวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 510) ได้กล่าวไว้ว่า

 

     ดำรัสของพระองค์ที่ว่าจะทรงทำให้มีสิ่งจำแนกเกิดขึ้นแก่พวกเจ้า

     ท่านมุญาฮิด กล่าวไว้ว่า : ทางออกทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

     ท่านมุกอติ้ล อิบนุ ฮัยยาน กล่าวไว้ว่า : ทางออกในเรื่องศาสนาโดยให้เขาได้หลุดพ้นออกมาจาก ข้อเคลือบแคลงต่างๆ ได้

     ท่านอิกริมะฮฺ กล่าวว่า : การแจกแจงอย่างชัดเจน

     ท่านอิบนุ อิสฮาก กล่าวว่า : การแบ่งแยกระหว่างความจริงกับความเท็จ อัลลอฮฺ จะทรงทำให้ความจริงของพวกท่านเป็นประจักษ์ขึ้นมา และ จะทรงดับความเท็จของพวกที่ขัดแย้งกับพวกท่านให้มอดลง

 

5. ท่านมุฮัมมัด อิบนุ อลี อัศศอนอานีย์ (อิมาม อัชเชากานี่ย) ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 1250) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

          พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงทำให้ความยำเกรงเป็นเงื่อนไขของการที่จะได้รับรางวัลที่ได้แจ้งเอาไว้นี้ ทั้ง ที่ความรู้ของพระองค์นั้น มีอยู่ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า พวกเขาจะยำเกรงหรือจะไม่ยำเกรง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้มันอยู่ในรูปของการสื่อสารตามที่มนุษย์ใช้พูด และสื่อสารระหว่างพวกเขาด้วยกันเองนั่นเอง

 

          ส่วนคำว่า อัตตักวา--ความยำเกรง คือ : การพยายยามระแวดระวังจากการฝ่าฝืนคำสั่งใช้ต่างๆ และหวังไม่ให้ถลำลงไปสู่ข้อห้ามต่างๆ

          ส่วน อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้สำหรับแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จ ซึ่งความหมายก็คือ : สิ่งนั้น (สิ่งจำแนก) จะทำให้จิตใจของพวกเขามีความมั่นคงแน่วแน่ขึ้น มีสายตาที่เฉียบคมมองทะลุปรุโปร่ง และมี ฮิดายะฮฺ--ทางนำ ที่ดีเลิศ ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่พวกเขานำไปใช้เพื่อการแยกแยะเรื่องราวเหล่านั้นออกจากกันได้ เมื่ออยู่ในภาวะที่กำลังสับสนจับทางไม่ถูก...

 

6. ท่านอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ นาศิร อั้ซซะอฺดีย ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 1376) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

          อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก นั้นคือ ความรู้และการนำทางที่เมื่อคนที่มีสิ่งนี้อยู่ เขาจะสามารถใช้มันในการแยกแยะระหว่างทางที่ถูกต้องกับทางที่หลงผิด ระหว่างความจริงกับความเท็จ ระหว่างสิ่งที่เป็นอนุมัติกับสิ่งที่ต้องห้าม และระหว่างหมู่ชนที่มีความผาสุกกับพวกที่ทุกข์ระทมได้ชัดเจนนั่นเอง

 

7. ท่านมุฮัมมัด อะมีน อิบนุ มุฮัมมัด มุคต๊าร อัชชันกิฏีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ (ตาย .. 1393) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

          คำพูดของกลุ่มนักวิชาการที่ได้แจ้งไปเกี่ยวกับความหมายของคำว่า อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก ที่บอกว่า หมายถึงทางออกนั้น ได้รับการสนับสนุนโดยพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺที่ว่า :

 

และผู้ใดก็ตามที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทำให้มีทางออกสำหรับเขากระทั่งจบ อายะฮฺ

 

          ส่วนคำอธิบายที่บอกว่า หมายถึง ทางรอด และชัยชะได้รับการช่วยเหลือนั้น โดยนัยของความหมายแล้ว ทั้งหมดจะย้อนกลับเข้ามาสู่ความหมายนี้ (ทางออก) ด้วยกันทั้งนั้น เพราะใครก็ตามที่อัลลอฮฺทรงให้เขามีทางออก นั่นก็เท่ากับว่าพระองค์ได้ทรงทำให้เขารอดพ้นแล้ว และเท่ากับว่าพระองค์ได้ทรงช่วยเหลือเขา ผู้นั้นแล้ว

 

          แต่ทว่า คำอธิบายที่อัลกุรอานและหลักภาษาได้ให้การบ่งชี้ไว้ว่า เป็นคำอธิบายที่ถูกต้องของอายะฮฺที่กล่าวถึงนี้ก็คือ คำอธิบายของท่านอิบนุ อิสฮาก เพราะ อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก เป็นคำนามที่เป็นที่มาของคำกริยา เพื่อต้องการให้มันบ่งบอกถึงลักษณะ ซึ่งได้แก่การเป็นตัวจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ และจากที่ได้กล่าวมานี้นี่เองที่เป็นความหมายของพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 

พระผู้ทรงมีความจำเริญยิ่ง ได้ทรงทยอยประทานอัลกุรอาน(สิ่งจำแนก) ลงมา

      หมายถึง คัมภีร์ที่ทำหน้าที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จออกจากกัน

และในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

และพระองค์ประทานอัลฟุรกอน(สิ่งจำแนก) ลงมา

 

และในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

และจงรำลึกถึง เมื่อเราได้มอบคัมภีร์และอัลฟุรกอน(สิ่งจำแนก) ให้แก่มูซา

 

ตลอดจนในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

และแน่นอน เราได้มอบอัลฟุรกอน(สิ่งจำแนก) ให้แก่มูซาและฮารูนแล้ว

 

     อีกทั้งพระดำรัสของพระองค์ พระผู้ทรงสูงส่งในซูเราะฮฺ อัลฮะดี๊ด ที่ว่า :

     บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺ และจงศรัทธาต่อร่อซูลของพระองค์ แล้วพระองค์ก็จะทรงมอบความเมตตาของพระองค์ให้แก่พวกเจ้าเป็นเท่าทวีคูณ และจะทรงทำให้พวกเจ้าได้รับรัศมีที่ พวกเจ้าจะใช้มันในการย่างก้าวออกเดิน และจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า

 

          เป็นการบ่งชี้ว่า ความหมายที่ต้องการจะหมายถึงของคำว่า อัลฟุรกอน--สิ่งจำแนก  ที่นี้ก็คือ : ความรู้ที่ทำหน้าที่จำแนกแยกแยะความจริงออกจากความเท็จนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากพระดำรัสของพระองค์ตรงนี้ที่ว่า

     “และจะทรงทำให้พวกเจ้าได้รับรัศมี ที่พวกเจ้าจะใช้มันในการย่างก้าวออกเดินนั้นหมายถึง ความรู้และทางนำที่ใช้สำหรับจำแนกแยกแยะความจริงออกจากความเท็จ ซึ่งพระดำรัสของพระองค์ พระผู้ทรงสูงส่ง ที่ตรัสเกี่ยวกับกรณีของคนที่เป็นกาเฟรที่หลังจากนั้น อัลลอฮฺได้ทรงมอบการนำทางให้กับเขาที่ว่า

 

     “หรือว่าผู้ที่เคยตาย (เป็นเพียงซากศพ) แล้วเราก็ได้ให้เขามีชีวิตขึ้นมาและได้ทำให้เขาได้รับรัศมีที่เขาใช้มันในการย่างก้าวออกเดินไปท่ามกลางผู้คน” 

 

     กระทั่งจบอายะฮฺนั้น ได้บ่งชี้ไว้ว่า จุดมุ่งหมายของคำว่า อันนูร--รัศมี  ที่นี้ก็คือ ทางนำ และคือการได้รู้จักกับความจริงนั่นเอง

 

          จึงสรุปได้ว่า อันนูร--รัศมี ที่ถูกระบุไว้ในซูเราะฮฺอัลฮะดี๊ด ก็คือความหมายของ อัลฟุรกอน-- สิ่งจำแนก ที่ถูกกล่าวไว้ในซูเราะฮฺอัลอันฟาล ดังที่ท่านเห็นอยู่นี้นี่เอง

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 16 มกราคม 2559