ความสำคัญของภาษาอาหรับ
  จำนวนคนเข้าชม  26624

 

ความสำคัญของภาษาอาหรับ

โดย อาจารย์ วินัย สะมะอูน


          ภาษาต่างๆในโลกมนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันอง หรือระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าที่ตนนับถือ การสื่อสารระหว่างมนุษย์นั้นจะเป็นการติดต่อประสานงานในด้านการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เช่นการค้าขาย การสนทนาทั่วๆไป ส่วนการสิ่อสารกับพระเจ้าเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงออกซึ่งความเคารพภักดีต่อพระองค์

         นักภาษาระบุว่าสังคมมนุษย์มีภาษาของตนใช้สื่อสารประมาณ 3,000 ภาษา (สารานุกรมไทยฯ เล่ม 18) แต่ที่มีหนังสือที่เรียกว่าภาษาเขียนของตนเองไม่ถึง 100 ภาษา ภาษาไทยและภาษาอาหรับเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

         ภาษาเพื่อการสื่อสารของคนทั้งโลกย่อมขยายไปตามความต้องการและความจำเป็นของมนุษย์ ยิ่งโลกแคบลงด้วยกระบวนการทางโลกาภิวัฒน์อันมีสาระสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญ การสื่อสารก็จะกระชั้นถี่และรวมตัวกันแยกไม่ออก ภาษาต่างๆจึงล่องลอยมาจากทุกมุมโลก มารวมตัวกันอยู่ที่จอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ภายในห้องนอนส่วนตัวของคนที่เล่นอินเตอร์เน็ต

 

          นอกจากภาษาจะสื่อสารออกมาเป็นตัวหนังสือแล้วยังออกมาเป็นภาพเขียน ภาพถ่ายทั้งภาพที่เคลื่อนไหวและภาพนิ่ง สิ่งเหล่านี้เรียกกันโดยรวมตามนัยยะแห่งอัลกุรอานโองการ(อายะฮ์)แรกที่เรารู้จักกันดีว่า" อิกรออ์ - จงอ่าน - إقرأ " และโองการที่ว่า "อัลละมะบิกอลัม - ทรงสอนด้วยปากกา - علم بالقلم "

         บัญญัติของกุรอานในเชิงสัญลักษณ์และรูปแบบดังกล่าวนั้นหมายถึง "การอ่าน การสอน และการเขียน" ซึ่งเป็นเครื่องมือในการขยายองค์ความรู้ต่างๆ สู่มนุษย์ชาติซึ่งมีภาษาเป็นแกนกลาง จึงขยายโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นในโลกแห่งปัญญาและจิตใจ แต่ทำให้จำกัดแคบลงในโลกแห่งกายภาพจนกลายเป็นความแออัดที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย

          ที่กล่าวมานั้นคือบทบาทของ"ภาษา" ที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เป็นวัฒนธรรมเป็นอัตลักษ์ที่สำคัญ ที่บ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ความจริงย่อมรวมไปถึงภาษาของคนใบ้ที่ใช้แสดงภาษาด้วยท่าทางที่สามารถะแปลออกมาเป็นความเข้าใจเหมือนกับภาษาพูดที่คนทั่วไปใช้

         ภาษาในโลกนี้นับว่ามีความสำคัญกับมนุษย์และมนุษย์นำมาใช้อย่างแพร่หลายมากมายทั่วไปภาษาหนึ่งคือ ภาษาอาหรับ ทั้งด้านการสื่อสารชีวิตประจำวันและใช้ในการเรียนรู้ และการปฏิบัติศาสนารวมทั้งการศึกษาเพื่อความรู้ทั่วไป ภาษาอาหรับมาพร้อมกับศาสนาอิสลาม ดังนั้นผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนจึงต้องเรียนรู้ภาษาอาหรับเพื่ออ่านในพิธีทางศาสนา

          ความพิเศษประการหนึ่งที่ได้รับจากภาษาอาหรับคือ อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ ดังนั้นแม้คนที่มิใช่อาหรับอ่านที่ใช้ภาษาต่างๆทั่วโลก จึงต้องเรียนรู้ภาษาอาหรับไปด้วยอีกภาษาหนึ่ง อย่างน้อยต้องอ่านได้ แม้จะพูดเชิงสื่อสารไม่ได้ก็ตาม เป็นอีกสำเนียงหนึ่งที่สะทอนถึงอัตลักษ์รวมของมุสลิมผู้นั้น

 

         การที่มุสลิมทุกคนต้องเรียนรู้การอ่านภาษาอาหรับให้ชัดเจนเพราะหน้าที่ประการหนึ่งของมุสลิมคือ การทำละหมาด และศาสนพิธีอื่นๆ อีกมากมายซึ่งจะต้องกล่าวเป็นภาษาอาหรับ เช่น การอะซาน การขอพรในวาระต่างๆ ซึ่งมุสลิมจะต้องกล่าวเป็นภาษาอาหรับ ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงต้องเรียนภาษาอาหรับเพื่อการอ่านในพิธีต่างๆ

         การอ่านอัลกุรอานจะได้รับผลบุญซึ่งตอบแทนจากอัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้รับรองไว้ว่าการอ่านอัลกุรอานเพียงหนึ่งตัวอักษรจะได้รับการตอบแทนหนึ่งความดี หนึ่งความดีทวีเป็สิบความดี ดังนั้นเพียงอักษรเดียวจากอัลกุรอาน หากใครอ่านจะได้รับถึงสิบความดีเป็นสิ่งตอบแทน

          การอ่านอัลกุรอานจึงเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องอ่าน แม้ผู้ฟังจะไม่ทราบความหมาย แต่เมื่อได้ยินเสียงอัลกุรอาน ก็จะเกิดความสงบ ไม่พูดหรือกระทำอะไรแทรกซ้อนเสียงอัลกุรอานที่ตนรับฟัง ผู้เคร่งครัดจะหยุดการกระทำทุกอย่างจนเมื่อสิ้นเสียงอัลกุรอ่านจึงจะเริ่มทำใหม่หรือต่อเนื่องก็ตาม เพื่อแสดงถึงความเคารพในอัลกุรอาน ซึ่งเป็นดำรัสจากพระผู้เป็นเจ้า

         สิ่งที่ควรแก้ไขในสังคมของเราคือการอ่านอัลกุรอานและพูดคุยไปด้วย ซึ่งถือว่ากระทำผิดต่อบัญญัติของอิสลามและไม่ให้เกียรติต่ออัลกุรอาน การเปิดเครื่องเสียงฟังอัลกุรอานนั้นไม่ควรกระทำเพื่อความบันเทิง หากไม่อยู่ในบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการฟังและไม่เงียบสงบอย่างแท้จริงก็ไม่ควรจะเปิดหรืออ่านอัลกุรอาน ในบทอัละรอฟ โองการที่ 203 ความว่า

"เมื่ออ่านอัลกุรอาน พวกเจ้าจงฟังและจงเงียบสงบเถิด เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา"

 

         กรณีผลตอบแทนแห่งความดีจากอัลกุอาน แม้อัลกุรอานจะเป็นภาษาอาหรับ แต่ผลตอบแทนนี้จะไม่ได้รับด้วยการใช้ภาษาอาหรับในกรณีอื่น เช่น การอ่านหะดิษ หรือการอ่านตำราทางศาสนา การพูดสนทนาด้วยภาษาอาหรับ และอื่นๆ

          ภาษาอาหรับมีความรู้ที่เยวกับไวยกรณ์อาหรับอย่างย่ามหัศจรรย์ คำหนึ่งจะสามารถผันออกไปได้มากมายพร้อมทั้งความหมายที่เปลี่ยนไปตามความต้องการด้วย เช่น คำว่า "กิน" เมื่อจะเปลี่ยนเป็น "ผู้กิน" หรือ "สิ่งที่กิน" หรือ "เวลากิน" หรือ "ที่กิน" หรือ "จะกิน" หรือ "กินแล้ว" หรือ "จงกิน" ก็ไม่จำเป็นต้องเติมคำนำหน้าแต่ประการใด เพียงตัดต่อผันแปรอักษรในตัวของคำเองจะได้ความหมายที่ต้องการแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยในการที่อัลลอฮ์ ได้ให้อัลกุรอานลงมาเป็นภาษาอาหรับ เพราะสามารถจะสร้างความเข้าใจแก่ผู้รับสารแห่งกุรอานอันชัดแจ้งแล้วนำไปตริตรองอย่างมีวิทยปัญญาสามารถยุติปัญหาต่างๆได้ ดังปรากฏในบทยูซุฟ โองการที่ 2 ความว่า

"เราได้ให้อัลกุรอานลงมาเป็นภาษาอาหรับ เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้ปัญญาตริตรอง"

จากบทอันนะหลุ โองการที่ 103 ความว่า

"และนี่คือภาษาอาหรับที่ชัดแจ้ง"

จากบทอัรรอดด์ โองการที่ 39 ความว่า

"เราได้ให้กุรอานลงมาเป็นบทชี้ขาด"

 

          วิชาภาษาอาหรับที่น่ามหัศจรรย์อีกวิชาหนึ่งคือ "ตัจวีด" อันเป็นวิชาที่กำหนดเพื่อควบคุมและรักษาการอ่านกุรอานให้ถูกต้องมั่นคงและสวยงาม ทำให้มีสุนทรีย์แห่งการอ่านอย่างสมบูรณ์ มีความไพเราะอย่างมีเอกลักษณ์ รายละเอียด มีถึงการกำหนดความสั้นความยาวแห่งการอ่าน การครวญการหน่วงเสียง แหล่งการออกเสียงแห่งอักษรอย่างเป็นรูปธรรม มีทำนองการอ่านหลายทำนอง

         การอ่านกุรอานเป็นศิลปะแห่งชีวิตซึ่งสามารถแทรกซึมสู่จิตวิญญาณของผู้อ่านและผู้ฟังได้อย่างทราบซึ้ง ทำให้เกิดความสุขสดชื่นและสุนทรีย์แห่งชีวิตอย่างแท้จริง บางคนฟังหรืออ่านอัลกุรอานแล้วสั่นไหวความรู้สึก จนเกิดปฏิกิริยาสนองตอบเช่นร้องไห้ จนผู้อ่านบางท่านถือว่าการร้องให้เป็นแบบฉบับของท่านศาสดา ดังนั้นเขาจึงเลือกอ่านโองการที่สร้างความสั่นไหวแก่อารมณ์จนครวญสะอื้นน้ำตาไหลนองหน้า

         บางโองการมีคำสั่งให้ปฏิบัติ ผู้อ่านและผู้ฟังก็เกิดแรงบันดาลใจปฏิบัติสิ่งนั้น และพร้อมที่จะปฏิบัติทันที เช่น โองการที่สั่งให้สุญูด คือ ก้มกราบต่ออัลลอฮ์ ก็จะก้มกราบทันทีไม่ว่าจะอ่านในละหมาดหรือนอกละหมาดก็ตาม หากอ่านคำสั่งให้ทำทานก็จะทำทานทันที เป็นจริยธรรมแห่งการอ่านอัลกุรอานที่มุสลิมควรยึดปฏิบัติโดยถาวร

จากบทอัลมุซัมมิล โองการที่ 4 ความว่า

"..และจงอ่านกุรอานให้สวยงาม"

 

 



หนังสือ"อนุสรณ์ งานครบรอบ 30 ปีสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ"