แด่หัวใจที่อ่อนล้า
โดย บินตฺ ยะฮฺยา
ขอชุโกรต่ออัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลก ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้กลับมาเขียนบทความอีกครั้ง และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นเสมือนแสงเทียนที่จุดประกายแห่งความหวังในหัวใจที่อ่อนล้าได้ลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ไม่ใช่เรื่องแปลกการที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับบททดสอบที่ถูกเตรียมไว้แล้ว ในความเป็นจริงพวกเราทุกคนได้รับการทดสอบตั้งแต่พวกเรายังเด็ก ในสมัยเรียน เราต้องทำการบ้านซึ่งเป็นแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจในบทเรียน เพื่อสอบเลื่อนชั้นให้สูงขึ้น อีกทั้งตอนที่เราสมัครงาน เราก็ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์อีกเช่นกัน แน่นอน บททดสอบเหล่านั้น มันเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดว่า เราผ่านเกณฑ์และมาตรฐานที่มนุษย์ตั้งไว้หรือไม่
แต่ทว่าการทดสอบของอัลลอฮฺนั้น ไม่ใช่การทดสอบวิชาความรู้ แต่เป็นการทดสอบความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน เพราะจะได้รู้ว่าผู้ใดที่คู่ควรกับรางวัลอันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮฺทรงตระเตรียมไว้ และแน่แท้การทดสอบย่อมประสบแก่ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ต้องโดนทดสอบกันทั้งนั้น แต่การจะผ่านบททดสอบไปให้ได้นั้น คงต้องใช้ความอดทนอย่างมากเช่นกัน ดังอายะฮฺต่อไปนี้
“และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากความกลัว ความหิว และด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 155)
จากอายะฮฺกุรอานข้างต้น ทำให้เราทราบว่า แท้จริงการทดสอบย่อมมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ความรัก การงาน หรืออื่นๆ อีกมากมาย หลายคนอาจจะรู้สึกน้อยเนื้อ ต่ำใจว่า ทำไมเราไม่เกิดมาบนกองเงินกองทองอย่างคนอื่นเขาบ้าง ทำไมเราต้องลำบาก ทำไมเราไม่มีเงินซื้อสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการ ทำไมเราไม่ได้ไปในที่ที่เราอยากไป ทำไมเราหน้าตาไม่ดี ทำไมเราไม่เก่ง ทำไมเราต้องมีโรคภัย ทำไม ทำไม และทำไม? อัลลอฮฺไม่ทรงยุติธรรมกับเรากระนั้นหรือ? ย่อมมิใช่เช่นนั้นอย่างแน่นอน
เรามาลองดูกันว่า ในขณะที่เราโอดครวญเกี่ยวกับความยากจนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น หากเราได้อ่านฮะดิษบทนี้ เราจะยังโอดครวญอยู่อีกหรือไม่?
จากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"คนจนจากบรรดามุสลิมนั้น จะได้เข้าสวรรค์ก่อนคนรวยจากพวกเขาครึ่งวัน หมายถึง 500 ปี”
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
บางคนอาจรู้สึกว่า ความจนเป็นปมด้อย เป็นความต่ำต้อย หากใครที่กำลังคิดอย่างนั้น ลองย้อนกลับไปดูสิว่า ท่านนบีของเราท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านร่ำรวยกระนั้นหรือ? ท่านอาศัยอยู่ในคฤหาสน์กระนั้นหรือ? ท่านสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์อันหรูหราหรือไม่? เปล่าเลย ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทั้งๆ ที่ท่านเป็นมนุษย์ผู้ทรงเกียรติที่สุด สถานภาพของท่านเป็นร่อซูลของอัลลอฮฺ
แล้วทำไมเรากลับให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น? ทั้งๆ ที่ ความจน ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ว่ามนุษย์สูงส่งหรือต่ำต้อย มีเกียรติหรือไร้เกียรติ หากแต่ว่าพฤติกรรมของมนุษย์เองต่างหากที่จะเป็นเครื่องวัดว่ามนุษย์ ผู้นั้น สูงส่งหรือต่ำต้อย คุณค่าขอมนุษย์ วัดกันที่ความดี ความมีคุณธรรม จริยธรรม และความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ ดังนี้
“โอ้ มวลมนุษย์ทั้งหลาย แท้จริง เราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ทำให้พวกเจ้านั้น แตกออกเป็นกลุ่มชนต่างๆ เป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อที่พวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักกัน
แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้านั้น คือ ผู้ที่ยำเกรงที่สุด ในหมู่พวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮฺทรงรู้ ทรงตะหนักยิ่ง”
(อัลฮุจญร็อต 49 : 13)
และมีฮะดิษบทหนึ่งรายงานว่า
“รายงานจาก อับดุลลอฮฺ บุตร อัมร์ บุตร อาศ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ใช่เป็นผู้หยาบคาย และไม่เป็นผู้ที่ทะเล้น แสดงคำพูดที่ไม่เหมาะสม และเขากล่าวว่า แท้จริง ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านนั้น คือ ผู้ที่มีมารยาทดีที่สุด”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)
จากอายะฮฺกุรอานและฮะดิษข้างต้น คงเป็นการยืนยันที่ชัดเจนแล้วว่า ในทัศนะของอิสลาม ความยำเกรง และมารยาทอันดีงามต่างหากที่เป็นเครื่องวัดเกียรติยศของมนุษย์ ณ ที่อัลลอฮฺ ไม่ใช่นามสกุล ไม่ใช่ชาติตระกูล ไม่ใช่รองเท้าแบรนด์เนม ไม่ใช่กระเป๋าราคาแพง ไม่ใช่บ้านช่องที่โอ่อ่า หากว่าใครที่มีทุกๆ สิ่งที่กล่าวมานี้ แต่ว่าเขาไม่ได้ทำตามสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซูลใช้ และไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซูลห้าม เขานั้นก็หามีเกียรติไม่ ณ ที่อัลลอฮฺ เงินหนึ่งพัน ไม่ว่าจะอยู่บนพาน หรืออยู่บนดิน ก็มีค่าหนึ่งพัน เพียงแค่อยู่ต่างที่กัน แต่ไม่ต่างค่ากันสักนิดเดียว
คุณคงเคยได้ยินที่มีคนเคยกล่าวว่า ทางเดินมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ว่าเส้นทางเดินของใครก็ต้องมีอุปสรรคทั้งนั้น ไม่มีใครในโลกนี้หรอก ที่จะได้ในทุกๆ สิ่ง ที่เขาต้องการ และหลายๆ ครั้ง ที่เราต้องรับมือกับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เช่น สมัยเรียนเคยไหมที่เราอุตสาห์อ่านหนังสืออย่างตั้งอกตั้งใจ แต่พอเข้าห้องสอบ สิ่งที่เราท่องมากลับกลายเป็นข้อมูลล่องหน นึกไม่ออกเอาดื้อๆ ซะอย่างนั้น หรือบางครั้ง เราต้องทำงานร่วมกับคนที่เราไม่ชอบ หรือทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ และใครอีกหลายคนผิดหวังเรื่องความรัก
และใครอีกหลายคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือนแบบไม่รู้ตัว และอีกหลายๆ คน ต้องมาแบกรับภาระของครอบครัว
แน่นอน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจของเรา ทำให้เรารู้สึกอึดอัด กังวลใจ เบื่อหน่าย คับข้องใจ อาจถึงขั้นท้อแท้สิ้นหวัง รู้สึกเหมือนกำลังแบกโลกนี้ไว้ทั้งใบ หัวใจมันอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย ได้โปรดเถิด จงอดทน ยกมือขอดุอาอฺวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และตั้งสติ ลองคิดทบทวนดูสิว่า เราเท่านั้นหรือ ที่จะประสบพบเจอกับอุปสรรคเช่นนี้ บางคนโอดครวญ ทั้งๆ ที่ชีวิตของเขายังดีกว่าอีกหลายชีวิตบนโลกใบนี้ด้วยซ้ำไป
ลองมองดูชาวแอฟริกันซิ ตั้งกี่แสน กี่ล้านคน ที่พวกเขาไม่มีอาหารกิน ไม่มีน้ำดื่ม อดมื้อกินมื้อ ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ไม่มีรองเท้าใส่ พวกเขามีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร?
หากเราบอกว่าบ้านเราคับแคบ ไม่สวย ไม่โอ่อ่ากว้างขวาง ลองดูคนที่ไม่มีบ้าน ต้องนอนข้างถนนบ้าง ใต้สะพานลอยบ้าง พวกเขามีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร?
มีฮะดิษบทหนึ่งที่รายงานจากท่านอบีซัร เป็นคำสั่งเสียให้เราดูคนที่ด้อยกว่าเรา ดังนี้
“จากท่านอบีซัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า เพื่อนของฉันได้สั่งเสียแก่ฉันเกี่ยวกับความดีหลายประการ
เขาสั่งเสียให้ฉันมองคนที่ด้อยกว่าฉัน อย่ามองคนที่เหนือกว่าฉัน
และสั่งเสียให้ฉัน รักบรรดา ผู้ยากไร้ และใกล้ชิดกับพวกเขา
และสั่งเสียให้ฉัน พูดแต่ความจริง ถึงแม้ว่ามันจะขมขื่นก็ตาม
และสั่งเสียให้ฉัน ติดต่อกับเครือญาติ ถึงแม้ว่าเขาจะผินหลังให้ก็ตาม
และสั่งเสียให้ฉันกล่าว (ลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮฺ) ให้มากๆ”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบัยฮะกีย์)
และหากเราลองย้อนไปอ่านประวัติบรรดานบี และบรรดาซอฮาบะฮฺทั้งหลายในอดีตที่พวกเขาเหล่านั้น ต้องประสบกับความทุกข์ยากทั้งกายใจ ต้องอพยพหลบหนี ต่อสู้ และละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน สูญเสียคนรัก แต่พวกเขาทำเช่นไรเล่า? พวกเขาก็อดทนด้วยหัวใจที่มอบไว้แด่พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา อดทนด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา และรอคอยการช่วยเหลือจากพระองค์ ดังอายะฮฺกุรอานที่ใช้ให้เราอดทน เหมือนบรรดานบีทั้งหลาย ดังนี้
“ดังนั้น เจ้าจงอดทน ดังเช่นบรรดาผู้ที่มีจิตมั่นคงจากบรรดาร่อซูลทั้งหลายที่ได้อดทนมากันก่อนแล้ว และอย่ารีบเร่ง (ให้มีการลงโทษ) แก่พวกเขา
วันที่พวกเขาจะเห็นสิ่งที่ถูกสัญญาไว้แก่พวกเขานั้น ประหนึ่งว่าพวกเขามิได้พำนักอยู่ในโลกนี้ เว้นแต่เพียงชั่วครู่หนึ่งของยามกลางวันเท่านั้น
นี่คือการประกาศตักเตือน ดังนั้น ความหายนะจะไม่ประสบแก่ผู้ใด นอกจากกุล่มชนผู้ฝ่าฝืนเท่านั้น”
(อัลอะฮฺก็อฟ 46 : 35)
และมีนักกวีได้กล่าวบทกวีไว้ ดังนี้
“อย่าท้อแท้ มาตรแม้นสิ่งที่หวังยังมิได้ จะเห็นทางรอดไซร้เมื่อใจอดทนหนา
ถึงทางเดินปิดไว้จงศรัทธา ด้วยอดทนนั่นแหละหนาจะมีชัย”
แท้จริง เราที่เป็นมุสลิมสมควรที่จะดีใจ สมควรที่จะขอบคุณต่ออัลลอฮฺให้มากๆ ที่ให้เราได้เกิดมาเป็นมุสลิม ได้มีอัลกุรอานและซุนนะฮฺเป็นทางนำชีวิต และพระองค์ทรงพร้อมที่จะตอบรับการวิงวอนของบ่าวผู้ศรัทธาอยู่เสมอ ดังอายะฮฺที่ว่า
“และเมื่อปวงบ่าวของข้าได้ถามถึงข้า (เจ้าก็จงตอบไปเถิดว่า) แท้จริง ข้าเป็นผู้อยู่ใกล้ชิด (กับพวกเจ้า) ข้าคอยสนองตอบคำวอนขอของบรรดาผู้วอนขอ เมื่อเขาได้วอนขอต่อข้า ดังนั้น พวกเขา จงตอบรับข้าเถิดและศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 186)
และถึงแม้ว่า พระองค์จะทรงทดสอบปวงบ่าวของพระองค์ด้วยปัญหา และอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากว่าพวกเขา “ตะวั๊กกั้ล” มอบหมายต่อพระองค์ เชื่อมั่น อดทน และรอคอยจนกระทั่งพระองค์ได้ทรงปัดเป่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นให้พ้นไป พวกเขาก็จะเป็นผู้ได้รับการตอบแทนความอดทนด้วยเช่นกัน
“ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า ความเดือดร้อน ความหม่นหมอง แม้กระทั่ง ถูกหนามขีดข่วน เมื่อมันมาประสบกับมุสลิม อัลลอฮฺจะทรงลบล้างบาปให้เขา ด้วยกับสาเหตุนั้นๆ”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)
โอ้ พี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลาย ย่อมเป็นการสมควรแล้วที่เราจักต้องกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” ในทุกๆ สภาพการณ์ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ความดีนั้นจะอยู่ในสิ่งที่เราชอบ หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ และใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับการทดสอบ ก็ขอให้เขาอดทน วางใจไว้กับพระองค์ มอบหมายต่อพระองค์ และมุ่งมั่นในการทำความดี
การทำความดีก็เฉกเช่นการปลูกต้นไม้ แม้ว่าในตอนแรกมันจะยังไม่ออกดอกออกผล แต่เราก็มั่นใจได้ว่า สุดท้าย มันก็จะมีดอกมีผลจากเมล็ดที่เราปลูก ความดีและความอดทนก็เช่นกัน แม้เราจะไม่ได้รับ การตอบแทนในทันทีทันใด แต่ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ผลตอบแทนที่จะได้ก็คือ ผลตอบแทนที่ดีนั่นเอง
ท้ายนี้ ขออัลลอฮฺทรงประทานหัวใจที่มีอีมาน และยึดมั่นในอิสลาม และสุขภาพที่แข็งแรงแก่พี่น้องมุสลิมของเราทุกคนด้วยเถิด...อามีน
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 16 มกราคม 2559