ตรวจสอบตนเอง
โดย อาจารย์ยะห์ยา อับดุลกะรีม
ตรวจสอบ หมายถึง การตรวจสอบตัวเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในโลกอาคิเราะฮฺ
ตรวจสอบการกระทำและคำพูดของเราเอง ให้เป็นคนที่ทำดี ทำถูก พูดดี พูดถูก
ชาวสะลัฟ ศอและห์ ต่างก็ชอบตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ เข้าใกล้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เสมอด้วยการปฏิบัติสิ่งที่เป็นการตออะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อะไรที่จะทำให้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะรีบกระทำ และตรวจสอบตัวเองว่า ได้กระทำพลั้งพลาดในเรื่องอันใดบ้าง กลัวว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่รับการกระทำนั้นๆ นี่คือ ชาวสะลัฟ รุ่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รับรอง
มีรายงาน จากท่าน ชัดด๊าด อิบนิ เอ๊าส์ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“คนที่มีปัญญา คือ ผู้ตรวจสอบกิจการงานตัวเอง และปฏิบัติการงาน เพื่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลัง ความตาย
ส่วนผู้ที่บกพร่องในกิจการงานของตัวเอง คือ คนที่ทำอะไรตามอำเภอใจของเขาเอง ทำตามอารมณ์ของเขาพาไป ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ แล้วยังไม่สารภาพโทษ แต่ยังหวังว่าอัลลอฮฺ จะยกโทษให้”
(รายงานโดย ติรมิซีย์ ฮะดิษฮะซัน)
คำว่า ตรวจสอบตัวเอง หมายถึง ตรวจสอบบัญชีดีชั่วของตัวเองในโลกดุนยา ก่อนจะถูกคิดบัญชีในโลกอาคิเราะฮฺ
และมีรายงานจากท่านอุมัร อิบนุล ค็อฏฏ็อบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ถึงคำพูดของท่านที่ว่า
“จงคิดบัญชีการงานตัวเอง ก่อนที่จะถูกคิดบัญชีให้ จงเตรียมตัวพบกับวันที่ถูกเสนอต่ออัลลอฮฺ เพื่อการสอบสวน
แท้จริง การสอบสวนในวันกิยามะฮ จะเบาสำหรับผู้ที่สอบสวนคิดบัญชีตัวเองก่อนแล้วในดุนยา”
ท่านอาลี อิบนิ อะบีฏอลิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้นท่านร้องไห้มาก เกรงกลัวอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และตรวจสอบตัวเองเสมอ
ท่านจะกลัวสองสิ่งนี้มาก นั่นก็คือ การตั้งความหวังไว้สูงและการตามอารมณ์ เพราะการตั้งความหวังไว้สูงนั้น จะทำให้ลืมอาคิเราะฮฺ ส่วนการตามอารมณ์ จะทำให้ต่อต้านความจริง
สิ่งที่ช่วยให้เราเป็นคนที่ทบทวนตัวเอง
1. คบคนที่เขาเป็นคนดี ทบทวนตัวเองเสมอ
2. เข้าร่วมในการแสวงหาวิชาความรู้ การตักเตือนกัน การนึกถึงอาคิเราะฮฺมากๆ
3. ออกห่างสถานบันเทิง
4. ซิกรุลลอฮฺ มากๆ ดุอา มากๆ
วิธีคิดทบทวนตัวเองของท่าน อิบนิล กอยยิม
1. เรื่อง ฟัรฎู ก่อน ถ้าเห็นว่ายังบกพร่องก็ทำให้สมบูรณ์
2. เรื่องที่ศาสนาห้าม ถ้าเห็นว่ายังทำอยู่ ก็รีบเตาบะฮฺเสีย และทำความดีเพื่อลบล้างความชั่ว
3. เรื่องทำตนให้ตกอยู่ในความหลงมัวเมาในสิ่งผิด ก็แก้ไขให้หันหน้าหาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา
4. เรื่องของอวัยวะ ตัวเราทำอะไรไปบ้าง ลิ้นพูดอะไร? เท้าเดินไปไหน? มือไปละเมิดใคร? ตามองอะไร? หู ฟังอะไร?
ประโยชน์ของการทบทวนตัวเอง
1. ได้พิจารณาถึง นัฟซู ใครไม่ดูเรื่องนี้ก็จะไม่ได้แก้ไขตำหนิของตนเอง
2. ได้เตาบะฮฺและเสียใจ จะได้โอกาสนำสิ่งดีๆ ที่เคยพลาดไปนั้นกลับคืนมา
3. ได้รู้ถึงความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่เมตตาและอภัยให้บ่าวเสมอ
4. ได้ความขยันหมั่นเพียรในการทำสิ่งที่เป็นการตออะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา คืนมา
5. ได้ส่งคืน มอบสิทธิ์ต่างๆ ที่ละเมิดมา แด่ผู้เป็นเจ้าของ
แบบทดสอบในการทบทวนตัวเอง
1. ขาดละหมาดไปเท่าไหร่?
2. ขาดละหมาดวันศุกร์ไปกี่ศุกร์?
3. ขาดบวชรอมฎอนไปกี่วัน?
4. มีความพร้อมแล้ว ทำไมไม่ไปทำฮัจย์?
5. ขี้เกียจทำความดีไปเท่าไหร่?
6. เห็นของไม่ดีก็ไม่ห้ามปราม กี่ครั้งกี่หน?
7. วันๆ เอาแต่มองของฮะรามกี่ครั้ง?
8. วันๆ พูดในสิ่งไม่ดีไปเท่าไหร่?
9. วันๆ โกรธพ่อแม่ ไม่พอใจพ่อแม่กี่หน?
10. วันๆ ซอเล็ม ละเมิดผู้อื่น นินทาผู้อื่นเท่าไหร่?
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 16 มกราคม 2559