สอบสวน...เงินแจกหลังตาย
โดย อาจารย์มุฮัมหมัด กาสุรงค์
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เถิด เพราะการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นเสบียงที่ดียิ่งสำหรับเรา ทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ
เมื่อพูดถึงคำว่า “สอบ” นั้น พวกเราทุกคนคงรู้จักและเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี คนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่า วันสอบนั้น เป็นวันที่สำคัญต่อชีวิตการเป็นนักเรียนนักศึกษาอย่างไร? คนที่ต้องการจะจบการศึกษา ก็อยากให้ตัวเองสอบผ่านได้คะแนนดีๆ เพราะถือว่านั่นคือความสำเร็จในการศึกษา บางคนสอบเพื่อที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็พยายามเอาใจช่วยทุกวิถีทางที่จะให้ลูกได้รับความสำเร็จดังใจปรารถนา จึงพยายามเอาใจลูกทุกอย่าง ลูกอยากได้อะไร อยากกินอะไร พ่อแม่ก็พยายามหามาให้ ไม่เคยบ่น ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ขออย่างเดียวให้ ลูกสอบได้ดังใจหวัง
เมื่อการสอบเป็นเรื่องที่สำคัญ และคนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการสอบ จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่พยายามทุกวิถีทาง ที่จะให้ตัวเองให้ลูกหลานได้รับความสำเร็จในการสอบ โดยไม่ได้คำนึงว่าวิธีการต่างๆ เหล่านั้น เป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้ยินข่าวอยู่เป็นประจำเกี่ยวกับการโกงข้อสอบ การทุจริตในการสอบ เมื่อผลสอบออกมาดี เป็นไปตามที่ใจหวัง ทุกคนก็จะดีใจ ตัวนักเรียนนักศึกษาก็ดีใจ ผู้ปกครองก็ดีใจ เจอใครก็เล่าให้ฟังว่า ลูกฉันสอบได้เกรงเท่านั้น คะแนนเท่านั้น ใครที่ผลสอบออกมาไม่ดี สอบไม่ผ่าน สอบไม่ติด ก็เสียใจ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เสียใจไปด้วย กินไม่ได้นอน ไม่หลับ ไม่อยากออกไปร่วมงานสังคม เพราะกลัวคนจะถามว่า ลูกสอบเป็นอย่างไร? กว่าจะทำใจได้ ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน พอทำใจได้ก็พยายามปลอบใจลูก บอกลูกว่าไม่เป็นไร โอกาสหน้าแก้ตัวใหม่
ท่านพี่น้อง การสอบในดุนยานั้น เรายังมีโอกาสแก้ตัว เรายังมีโอกาสที่จะช่วยเหลือกันได้ แต่เราเคยนึกถึงการสอบในโลกอาคิเราะฮฺกันบ้างหรือเปล่า? การสอบที่ทุกคนจะต้องถูกสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นคนร่ำรวย หรือยากจน คนผู้หญิงหรือคนผู้ชาย และการสอบในวันนั้น จะไม่มีการทุจริต หรือโกงข้อสอบ ใครก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือใครได้ พ่อแม่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ ลูกก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพ่อแม่ได้ เพื่อนที่ว่ารักกันจริงก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือกันได้ วันนั้นทุกคนจะพูดว่า “นัฟซีย์ นัฟซีย์” ตัวใครตัวมัน
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวว่า
“ครั้นเมื่อเสียงกัมปนาทได้มาถึง วันที่ผู้คนจะหนีจากพี่น้องของเขา จากแม่ของเขา จากพ่อของเขา จากภรรยาของเขา และลูกๆ ของเขา สำหรับแต่ละคนในหมู่พวกเขาในวันนั้น มีภาระพอตัวแก่เขาอยู่แล้ว”
(อะบะสะ 80 : 33-37)
จากอายะฮฺต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ได้บอกให้เรารู้ว่าในวันอาคิเราะฮฺ วันสอบที่ยิ่งใหญ่นั้น ทุกคนคิดถึงแต่ตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร? จะเป็นผู้ได้รับความสำเร็จ ได้รับความพอพระทัยจากพระองค์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้รับสวนสวรรค์จากพระองค์ มีชีวิตที่ผาสุกตลอดกาล อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ในวันกิยามะฮฺนั้น ความดีของใครที่หนักมากกว่า เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก”
(อัลกอริอะฮฺ 101 : 6-7)
หรือว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความหายนะ และความกริ้วโกรธจากพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต้องไปอยู่ในนรกที่มีไฟร้อนแรง
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ส่วนที่ความชั่วของใครหนักมากกว่า สถานที่ที่เขาจะไปอยู่ก็คือ ฮาวียะฮฺ เจ้ารู้ไหมว่า ฮาวียะฮฺ คืออะไร?
คำตอบก็คือ ไฟนรกที่ร้อนแรงนั่นเอง”
(อัลกอริอะฮฺ 101 : 8-11)
การสอบในวันนั้น ทรัพย์สินเงินทองไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ อำนาจบารมีต่างๆ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ สิ่งเดียวที่จะช่วยเราได้นั้น ก็คือ ผลงานของเรา ที่เราทำเอาไว้ในโลกดุนยานี้
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ในวันนั้น มนุษย์ทุกคนต่างออกมาเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาดูงานต่างๆ ที่เขาได้ทำไว้ในดุนยา
ดังนั้น ใครที่ทำดี แม้จะน้อยนิดเขาจะได้เห็นมันและใครทำชั่ว แม้จะน้อยนิดเขาจะได้เห็นมันเช่นกัน”
(อัซซัลซะละฮฺ 99 : 6-8)
ฉะนั้น วันนี้ วันที่เรายังมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ เราจะต้องพยายามประกอบคุณงามความดีให้มากๆ เพื่อเราจะได้มีชีวิตที่สุขสบายในโลกหน้า โลกที่นิรันดรตลอดไป เราอย่าได้ปล่อยตัว ปล่อยใจของเราไปกับความสุขสำราญ ความสวยงาม แสง สี เสียง แห่งโลกดุนยานี้ จนลืมว่าวันหนึ่ง เราต้องไปอยู่ต่อหน้าพระองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงยุติธรรม ผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งวันตอบแทน พระองค์ทรงเตือนเราว่า อย่าให้โลกดุนยานี้มาล่อลวงเราจนลืมโลกหน้า
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“โอ้ มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด
และจงกลัววันหนึ่ง ที่พ่อไม่อาจจะช่วยลูกของเขาได้ และลูกก็ไม่อาจจะช่วยพ่อของเขาได้แต่อย่างใด
แท้จริง สัญญาของอัลลอฮฺนั้นเป็นความจริง
ดังนั้น อย่าให้การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ล่อลวงพวกเจ้า อย่าให้ (ชัยฏอน) มาหลอกลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮฺเป็นอันขาด”
(ลุกมาน 31 : 33)
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำว่า ปัญญาชนคนที่รู้จักใช้สติปัญญาที่อัลลอฮฺทรงให้มานั้น เขาจะต้องใช้ชีวิตแบบไม่ลืมโลกอาคิเราะฮฺ เขารู้ดีว่าโลกดุนยานี้ เป็นโลกแห่งการเพาะปลูกความดี ส่วนอาคิเราะฮฺนั้น เป็นโลกแห่งการเก็บเกี่ยวความดีต่างๆ และเป็นโลกแห่งการรับผลตอบแทน ที่เขาได้ทำเอาไว้ในโลกดุนยานี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“คนที่เฉลียวฉลาด คือ ผู้ที่ทบทวนตัวของเขาเองอยู่เสมอ และกระทำสิ่งที่เขาจะได้รับภายหลังจากตาย
ส่วนคนที่โง่เขลา คือ ผู้ที่ปล่อยตัวของเขาเองไปตามอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำ และหวังต่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่เป็นลมๆ แล้งๆ”
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
ท่านพี่น้อง ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า ยังมีพี่น้องมุสลิมเราอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับโลกดุนยาด้วยความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ เป็นการบอกให้รู้ว่า วันที่เขาจะกลับไปหาพระเจ้านั้น ใกล้เข้ามาทุกที แต่เขาก็ยังไม่สำนึก ปล่อยตัวของเขาเองไปตามอารมณ์ ไม่ยอมละหมาด ไม่อ่านอัลกุรอาน ไม่จ่ายซะกาต ไม่บริจาคทรัพย์สินไปในหนทางของอัลลอฮฺ พอมีคนไปแนะนำตักเตือนให้เขาละหมาด เขาก็ละหมาดบ้าง ไม่ละหมาดบ้าง ดูเขาไม่สนใจกับคำสำทับคาดโทษของพระองค์อัลลอฮฺ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“นรกจงประสบแก่คนสับปลับที่ทำละหมาดเถิด ซึ่งพวกเขาเพิกเฉย ไม่ใส่ใจต่อการทำละหมาดแต่อย่างใด ว่าตรงเวลาหรือไม่ ทำเรียบร้อยหรือไม่?”
(อัลมาอูน 107 : 4-5)
เมื่อแนะนำให้เขาอ่านอัลกุรอาน ก็ไม่ยอมอ่าน อ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง เมื่อแนะนำให้ทำศ่อดาเกาะฮฺ บริจาคทรัพย์สินเงินทองไปในหนทางของอัลลอฮฺ เพราะการทำศ่อดาเกาะฮฺที่ถาวรนั้น ถึงแม้ว่า ผู้ที่ทำจะเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ยังได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่อง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“เมื่อมนุษย์ได้สิ้นชีวิต การงานของเขาจะขาดตอนลง ยกเว้นสามประการคือ
การทำทานที่ถาวร ความรู้ที่ยังประโยชน์แก่ผู้อื่น และบุตรที่ดี (ซอและฮฺ) ขอพรให้”
(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)
พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แจ้งให้ทราบว่า ใครที่บริจาคทรัพย์สินที่ฮะลาลไปในหนทางของอัลลอฮฺ ด้วยความเต็มใจและพอใจนั้นก็เสมือนว่าเขานั้นได้ให้อัลลอฮฺยืม อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนอย่างดีให้กับเขาเป็นเท่าทวีคูณ และทรงอภัยในความผิดต่างๆ ของเขาอีกด้วย พระองค์ ทรงตรัสว่า
“หากพวกเจ้าให้อัลลอฮฺยืมอย่างดีเยี่ยมแล้ว พระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลให้แก่พวกเจ้าเป็นเท่าทวีคูณ และจะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้าและอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงตอบแทนแก่ผู้กระทำความดี ทรงผ่อนผันการลงโทษ”
(อัตตะฆอบุน 64 : 17)
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำให้เรานั้น บริจาคขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ดังมีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ได้กล่าวว่า
“มีชายคนหนึ่งมาหาท่านร่อซูล และกล่าวว่า โอ้ ท่านร่อซูลของอัลลอฮฺ การบริจาคทานชนิดใด ที่จะได้รับผลตอบแทนมากที่สุด?
ท่านกล่าวว่า คือ การบริจาคในขณะที่ท่านยังมีสุขภาพดี กลัวความยากจน และหวังที่จะร่ำรวย และท่านอย่าประวิงเวลาหวงแหนที่จะบริจาค จนกระทั่งชีวิตมาถึงคอหอย แล้วท่านจึงจะกล่าวว่าให้คนนั้นเท่านั้น ให้คนนี้เท่านี้ และแน่นอนมันก็เป็นของคนนั้นเท่านั้น”
(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม)
เมื่อมีผู้แนะนำเขาให้บริจาค เขาก็ไม่ยอมบริจาค บอกว่าจะเก็บเงินเอาไว้แจกคนละหมาดตอนที่เขาตาย นี่ก็บอกลูกหลานเอาไว้แล้ว ว่าจะแจกคนละเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้เราบริจาคก่อนที่ความตายจะมาถึง พระองค์ ตรัสว่า
“จงบริจาคจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ก่อนที่ความตายจะมาถึงแก่ผู้ใดในหมู่ พวกเจ้า
แล้วเขาก็จะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ หากว่าพระองค์ท่านทรงผ่อนผันให้แก่ข้าพระองค์อีกสักช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย
เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้บริจาคก็จะดีแล้วข้าพระองค์ก็จะอยู่ในหมู่คนดีทั้งหลาย (ผู้ทรงคุณธรรม)”
(อัลมุนาฟิกูน 63 : 10)
เหตุไฉน จึงมีมุสลิมอีกจำนวนไม่น้อยที่รอจะบริจาคหลังจากที่เขาตายไปแล้ว ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้บริจาคก่อนความตายจะมาถึง หรือว่าพวกเขาเหล่านั้น จะขอเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถึงแม้ว่าชีวิตจะหาไม่ไปแล้วก็ตาม???
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 16 มกราคม 2559