เสียงเรียกของ...ญะฮันนัม
โดย บินติ ยะห์ยา
“ญะฮันนัม” นรกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และแน่นอนคุณลักษณะของมันย่อมแตกต่างจากสวรรค์โดยสิ้นเชิง สวรรค์นั้นอุดมไปด้วยความรื่นรมย์ งดงาม ในขณะที่นรกเต็มไปด้วยเปลวเพลิงที่ลุกโชนอันร้อนแรง ที่แม้แต่จินตนาการของมนุษย์ก็ไม่อาจจะวาดมโนภาพไปถึงได้ และหากว่าเราต้องเลือกระหว่างทั้งสองแล้วละก็ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนย่อมเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชาวสวรรค์อย่างแน่นอน แต่ทว่าสิ่งที่แปลกก็คือ ผู้คนพากันปรารถนาที่จะได้เข้าสวรรค์ โดยที่พวกเขาอาจลืมไปว่าทุกการงานของพวกเขาไม่ว่าจะในที่ลับหรือที่แจ้ง ย่อมไม่มีทางรอดพ้นจากการเฝ้ามองของพระเจ้าของพวกเขาไปได้ พระองค์ผู้ทรงรอบรู้เหนือทุกสิ่ง
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของนรกในขณะที่สนทนากับท่าน ญิบรีล ไว้ดังนี้
มีรายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก ได้กล่าวว่า : ญิบรีลได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องที่เกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ เมื่อเขาได้มาถึง สีหน้าของเขาก็เปลี่ยนไป
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้กล่าวกับญิบรีลว่า “ฉันไม่เคยเห็นสีหน้าของท่านเปลี่ยนไปแบบนี้เลย”
ญิบรีลก็ได้กล่าวว่า “โอ้มุฮัมมัด ฉันมาหาท่านด้วยเรื่องของวันกิยามะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺทรงบัญชาให้จุดไฟนรกเพื่อที่จะให้มันลุกโชนขึ้นในวันนั้น และเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่รู้ว่า นรกญะฮันนัมนั้นมีอยู่จริง ไฟนรก ก็มีจริง การลงโทษในหลุมศพก็จะเกิดขึ้นจริง และการลงโทษของอัลลอฮฺนั้นใหญ่หลวงนัก แล้วเขาผู้นั้นก็ยังคงอยู่อย่างสุขสบายใจ ไร้ซึ่งความกังวลใดๆ อีก”
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า : “โอ้ ท่านญิบรีล โปรดบอกฉันถึงลักษณะของญะฮันนัมด้วยเถิด”
ญิบรีลได้กล่าว : ได้สิ แท้จริง เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสร้างญะฮันนัม พระองค์ทรงทำให้ไฟลุกโชนขึ้นมาเป็นเวลา 1000 ปี ดังนั้นไฟก็กลายเป็นสีแดง จากนั้นพระองค์ก็ทำให้มันลุกโชนไปอีก 1000 ปี ดังนั้นมันก็กลายเป็นสีขาว จากนั้นพระองค์ก็ทำให้มันลุกโชนไปอีก 1000 ปี ดังนั้นมันก็เป็นสีดำ เมื่อมันกลายเป็นสีดำมืดสนิทแล้ว เปลวเพลิงนั้นก็ไม่มีวันดับลงอีกเลย
♦ ขอสาบานต่อผู้ทรงส่งท่านมาด้วยกับความจริงว่า หากนรกถูกเปิดแม้เพียงเท่ากับรูเข็ม ผู้คนในโลกดุนยาทั้งหมดก็จะถูกเผาไหม้จากความร้อนของมัน
♦ ขอสาบานต่อผู้ทรงส่งท่านมาด้วยกับความจริงว่า หากอาภรณ์หนึ่งจากบรรดาอาภรณ์ของชาวนรกแขวนอยู่ระหว่างท้องฟ้าและแผ่นดิน ผู้ที่อยู่บนโลกนี้ทั้งหมดก็จะต้องตายลง อันเนื่องมาจากความเน่าเหม็นและความร้อนของมัน
♦ ขอสาบานต่อผู้ทรงส่งท่านมาเป็นนบีด้วยกับความจริงว่า หากโซ่ตรวนซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวถึงไว้ในอัลกุรอาน ยาว 1 ศอก ถูกวางลงบนภูเขา ภูเขานั้นก็จะละลายจนกระทั่งไปถึงแผ่นดินชั้นที่เจ็ด
♦ ขอสาบานต่อผู้ทรงส่งท่านมาเป็นนบีด้วยกับความจริงว่า หากชายคนหนึ่งที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เมื่อเขาถูกลงโทษ ผู้ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ก็จะถูกเผาไหม้ไปด้วย เนื่องจากความรุนแรงจากการลงโทษนั้น
ความร้อนของนรกนั้นรุนแรงยิ่งนัก ก้นหลุมของมันนั้นกว้างใหญ่ เครื่องประดับของมันคือ ฆ้อนเหล็ก เครื่องดื่มของมันคือน้ำที่เดือดพล่านและน้ำเลือดน้ำหนอง อาภรณ์ของมันนั้นถูกตัดมาจากไฟ สำหรับนรกนั้นมี 7 ประตู แต่ละประตูนั้นพวกเขาถูกแบ่งไว้เป็นสัดส่วนเรียบร้อยแล้ว สำหรับชายและหญิง
เมื่อทราบถึงคุณลักษณะของนรกกันเรียบร้อยแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอเกี่ยวกับผู้ที่จะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในนรก ทั้งนี้ก็เป็นไปตามระดับความผิดของแต่ละบุคคล นรกนั้นต่างจากสวรรค์ตรงที่ นรกมี 7 ประตู ส่วนสวรรค์นั้นมี 8 ประตู แต่ละประตู ต่างก็รอผู้ที่จะเข้ามาอยู่ ตามสภาพความผิดที่ต่างกัน และอัลกุรอานได้บอกเล่าถึงประตูนรกไว้ดังนี้
“แท้จริง นรกที่ได้ถูกสัญญาไว้สำหรับพวกเขาทั้งหมดนั้นมี 7 ประตู แต่ละประตูนั้น พวกเขาเหล่านั้นถูกแบ่งไว้เป็นสัดส่วนเรียบร้อยแล้ว”
(อัลฮิจรฺ 15 : 43-44)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้กล่าวถึงบุคคลที่จะต้องลงไปอาศัยอยู่ในนรกแต่ละประตูไว้ว่า
“ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า : ใครบ้างที่จะอาศัยอยู่ในประตูต่างๆ เหล่านี้”
ญิบรีลก็ได้กล่าวว่า :
ประตูที่หนึ่ง เป็นประตูที่อยู่ในชั้นต่ำสุดจากนรก ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ บรรดาผู้ที่กลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกีน) ผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาจากบรรดาบนีอิสรออีล และ วงศ์วานของฟิรเอาว์น ชื่อของประตูนี้คือ “อัลฮาวียะฮฺ”
ประตูที่สอง ชื่อของมันคือ “อัลญะฮีม” ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ บรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน)
ประตูที่สาม ชื่อของมันคือ “ซะก็อร” ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ บรรดาผู้ที่สักการบูชาดวงดาว
ประตูที่สี่ ชื่อของมันคือ “ละซอ” ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ อิบลีสและผู้ที่ปฏิบัติตามมันและ พวกบูชาไฟ
ประตูที่ห้า ชื่อของมันคือ “อัลฮุฏอมะฮฺ” ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ พวกยิว
ประตูที่หก ชื่อของมันคือ “อัลอะซีซ” ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นก็คือ พวกคริสเตียน
จากนั้น ญิบรีลก็นิ่งไป ด้วยความอายท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้กล่าวว่า : ทำไม่ท่านจึงไม่บอกฉันถึงผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนรกประตูที่เจ็ดเล่า?
ญิบรีลจึงกล่าวว่า : ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ใน ประตูที่เจ็ด นั้นคือ บรรดาผู้ที่ทำบาปใหญ่ที่มาจากประชาชาติของท่าน ซึ่งพวกเขาได้ตายไป โดยที่ไม่ได้กลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ท่านนบีได้ฟังแล้วก็เป็นลมหมดสติไป ดังนั้น ญิบรีลจึงได้วางศีรษะของท่านนบีลงบนตักของท่าน จนกระทั่งท่านนบีได้ฟื้นขึ้นมา
เมื่อท่านฟื้นขึ้นมา ท่านก็ได้กล่าวว่า “โอ้ท่านญิบรีล นี่เป็นมุซีบะฮฺที่ใหญ่ยิ่งที่มาประสบแก่ฉัน และฉันก็เสียใจมาก จะมีคนหนึ่งคนใดจากประชาชาติของฉันต้องเข้าไปอยู่ในไฟนรกด้วยหรือนี่ ?
ญิบรีลกล่าวว่า : ใช่แล้ว คือ ส่วนหนึ่งจากประชาชาติของท่านที่กระทำบาปใหญ่ จากนั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้ร้องไห้ออกมา และญิบรีลก็ร้องไห้ด้วย”
มาถึงจุดนี้ พวกเราคงจะรู้จักนรกญะฮันนัมกันพอสมควรแล้ว ทำไมเราต้องมาพูดถึงญะฮันนัมล่ะ ? ก็เพราะว่า พวกเราเป็นประชาชาติยุคหลังที่เกิดมาพร้อมกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ การศึกษา รวมถึงสิ่งอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้น พวกเราจึงถือเป็นประชาชาติที่ต้องเสี่ยงกับนรกญะฮันนัมเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะว่าเราเกิดมาพร้อมกับสิ่งล่อตาล่อใจมากมายเหลือเกิน มากจนเราอาจหลงระเริงไปกับมายาของดุนยาโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น พวกเราชาวมุสลิม ยุคไฮเทค คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ชีวิต อย่างระมัดระวังอย่างยิ่งยวด น่าจะระวังมากกว่าคนในยุคก่อนๆ เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน การทำงาน การศึกษา รวมไปถึงการดูแลครอบครัว เพื่อให้ดำรงอยู่ในแนวทางของอิสลามที่ถูกต้องดีงาม
แต่ก่อนที่เราจะพูดเรื่องอื่นต่อไป หลายๆ คนคงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า แล้วเสียงเรียกของญะฮันนัมคืออะไร?
หรือไม่ก็ แล้วใครล่ะที่เคยได้ยินเสียงเรียกของมัน ?
แต่ก่อนที่จะตอบ ผู้เขียนแน่ใจอย่างมากว่า พวกเราทุกคนย่อมเคยได้ยินเสียงของมันอย่างแน่นอน อย่าเพิ่งงง เสียงที่ว่าได้ยินกับทุกคนนั้น ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะลงนรก หากแต่ว่าเสียงที่หมายถึงนั้น มันคือเสียงจากก้นบึ้งของหัวใจมนุษย์ที่เกิดจากอารมณ์ใฝ่ต่ำนั่นเอง
แล้วทำไมถึงเรียกมันว่าเสียงเรียกของญะฮันนัม ก็เพราะว่า เวลาที่เราอยากทำบางสิ่งบางอย่างแต่สิ่งนั้นมันขัดกับหลักการทางศาสนา ในใจของเรามันก็เหมือนจะมี 2 เสียง ดังขึ้นมา เสียงหนึ่งบอกว่า “อย่าเลย มันบาปนะ” และอีกเสียงหนึ่งบอกว่า “เหอะน่า ครั้งเดียวคงไม่เป็นไร” หรือ “ถึงบาปก็ยอม”
เมื่อไรที่เราตามเสียงที่บอกว่า “เหอะน่า” หรือ “ถึงบาปก็ยอม” นั่นหมายถึง เรากำลังตามเสียงเรียกของหัวโจกของนรกตัวฉกาจเลย มันก็คือ ชัยฏอนมารร้ายนั่นเอง และเมื่อเราทำตามเสียงเรียกของมารร้ายเป็นประจำสม่ำเสมอแล้ว สุดท้ายที่ของเราจะอยู่ที่ตรงไหน? อันนี้คงไม่ต้องบอก
ดังนั้น วันนี้เราคงต้องมีสติให้มากๆ สำหรับทุกๆ การงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะมัล อิบาดะฮฺ หรือไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม เพราะว่าสติเป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกผิดชอบชั่วดี สามารถระงับ ยับยั้งตนเองได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ที่เข้มแข็งที่สุด ไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่เข้มแข็งที่สุดคือ ผู้ที่ระงับอารมณ์ของเขาได้เมื่อเขาโกรธ”
และที่จะขาดเสียมิได้ คือ ความบริสุทธิ์ใจ นั่นเอง เพราะว่าทุกๆ การงานนั้น จำเป็นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจควบคู่ไปด้วยทั้งสิ้น มิเช่นนั้นแล้ว การงานนั้นๆ ย่อมไม่ยังประโยชน์ใดๆ แก่เจ้าของของมัน ดังฮะดิษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวว่า
“แท้จริง การงานต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา”
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)
ฉะนั้น เราและท่านทั้งหลาย พึงระวัง ระวังที่จะถูกชักจูง ด้วยเสียงเรียกของญะฮันนัม ระวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพียงเพราะการงานที่ปราศจากความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากความยำเกรง เพราะหากเราเลือกทางผิด เราอาจจะต้องไปเป็นเชื้อเพลิงของมันก็เป็นได้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ขอยืนยันว่า ข้าจะบรรจุนรกให้เต็มไปด้วยพวกญิน และมนุษย์ไว้ด้วยกันทั้งหมดอย่างแน่นอน”
ท้ายนี้ ขอให้เราและท่านทั้งหลาย ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง มั่นคงอยู่ในขอบเขตของศาสนา ไม่หลงคล้อยตามไปกับเสียงเชิญชวนของมารร้าย เพื่อที่พวกเราจะรอดพ้น ปลอดภัยจากความน่าสะพรึงกลัวของญะฮันนัมด้วยเถิด... อามีน
บทกลอนสอนใจ
• แสวงหาสิ่งใดหรือหนุ่มสาว • คำยกยอสรรเสริญอันเยิ่นยาว
• หรือเรื่องราวหอมหวานแห่งวันวาน • อัลกุรอานถูกขานดังที่นี่
• แต่ความหมายแห่งคัมภีร์อยู่ที่ไหน • กี่บทเรียนเพียรอ่านแล้วผ่านไป
• แต่หัวใจมิได้ซับรับมาทำ • ที่พากเพียรเพื่อรอเขียนข้อสอบ
• หรือเพื่อตอบสำนึกอันลึกล้ำ • เจ้าจะเลือกดุนยาสีพร่าดำ
• ฤาทางนำสีทองอันทอดยาว • เจ้าโหยหาชั่วคราวแห่งความสุข
• เพื่อจะทุกข์ถาวรหรือหนุ่มสาว • เสียงกุรอานขานกรู่อยู่ปาวๆ
• ใยพวกเจ้ากลับโยนตัวลงกลั้วไฟ
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 18 ธันวาคม 2553