ด้วยรักและห่วงใย(เยาวชนมุสลิม)
  จำนวนคนเข้าชม  2529


ด้วยรักและห่วงใย(เยาวชนมุสลิม)

 

โดย บินติ กะม๊าล

 

          เยาวชนมุสลิมที่รักทั้งหลาย ศาสนาอิสลามนั้นสูงส่งมาได้ดังเช่นปัจจุบันนี้ ก็เพราะบรรพชนของเราได้ยืนหยัดต่อสู้มาด้วยความยากลำบาก เสียเลือด เสียเนื้อ ยอมเสียสละทุ่มเทความพยายามเพื่อให้ศาสนาของอัลลอฮฺดำรงอยู่ อีกทั้งยังแผ่ขยายอาณาจักรขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศเกือบทั่วทุกมุมโลกแล้ว ทั้งนี้ นับเป็นคุณอนันต์อันใหญ่หลวงของเหล่าอัครสาวก และบรรพชนรุ่นก่อนๆ ที่เรา ท่านควรยึดเป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ศาสนาของอัลลอฮฺในฐานะผู้ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับรองว่าเป็นทายาทของท่าน นั่นก็คือ ผู้รู้ นักวิชาการด้านศาสนานั่นเอง ขอหยิบยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของเยาวชนรุ่นก่อนๆ มาเล่าให้ฟัง คือ

 

     1. อับดุลเลาะฮฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนุ อ๊าศ ท่านเข้ารับอิสลามในวัยเด็ก และได้รับการเลี้ยงดูจากท่าน ร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านเป็นผู้ที่ทำอิบาดะฮฺมาก ผู้ถือศีลอด ผู้ละหมาดในเวลากลางคืน เป็นนักอ่านอัลกุรอาน และเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสลาม ท่านยังเป็นผู้ที่อ่านอัลกุรอานจบทั้งหมดเล่มเพียงระยะเวลาแค่สามวันเท่านั้น ความสุขของท่านคือ การทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

     2. ซัยคฺ อิบนุ ซาบิต เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านเป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมอัลกุรอานในสมัยท่านอบูบักร อัซซิดดี๊ก ซึ่งในขณะนั้น ท่านซัยคฺมีอายุ 22 ปี เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่ง ท่านซัยดฺ อิบนุ ซาบิต อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่เป็น จนกระทั่งท่านมีอายุ 12 ปี ภายหลังจากนั้น ท่านก็พากเพียร พยายามศึกษาหาความรู้จนสามารถอ่านเขียนภาษาอาหรับ ภาษาเปอร์เซียและภาษาอื่นๆ อีกด้วยระยะเวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น 

     ท่านอบูบักร ได้มอบหมายให้ท่านซัยดฺ อิบนุ ซาบิต ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ด้วยการรวบรวมอัลกุรอานเป็นรูปเล่ม เพราะท่านซัยดฺ ได้อยู่ร่วมกับท่านร่อซูลทั้งสองครั้ง เมื่อญิบรีลลงมาทวนอัลกุรอานให้ในปีสุดท้ายก่อนที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเสียชีวิต

 

     3. ท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ อุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ  ท่านอับดุลเลาะฮฺ บุตรของท่านอุมัร เข้ารับอิสลามพร้อมกับบิดาของท่าน อพยพไปมะดีนะฮฺพร้อมกับบิดาเช่นกัน ท่านอพยพไปนครมะดีนะฮฺและต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของอัลลอฮฺตั้งแต่ท่านยังมีอายุน้อยๆ ท่านเคยขออนุญาตท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกรบในสงครามบัดรฺ และสงครามอุฮุด แต่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่อนุญาตให้จนกระทั่งสงครามคอนดั๊ก ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงอนุญาตให้กับอับดุลเลาะฮฺ ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุ 15 ปีเท่านั้น

     ท่านเป็นชายหนุ่มที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มากกว่าใคร เป็นผู้ที่นุ่มนวลต่อท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทุกๆ อิริยาบถของท่าน เป็นผู้ที่มีความยำเกรง นอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺมาก ท่านจะไม่รับประทานอาหารมื้อใด นอกเสียจากว่า จะมีเด็กกำพร้าร่วมโต๊ะอาหารกับท่านด้วย ท่านใช้เวลาในการท่องจำอัลกุรอานและศึกษาความหมายของซูเราะฮฺ อัลบะกอเราะฮฺเพียงซูเราะฮฺเดียวถึง 8 ปี

 

     4. อุซามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ เป็นบุตรของท่านซัยดฺ อิบนิ ฮารีษะฮฺ ซึ่งบิดาของท่านเคยเป็นบุตร บุญธรรมในบ้านของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ภายหลังจากนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ทรงยกเลิกการรับเป็นบุตรบุญธรรม โดยห้ามการเปลี่ยนชื่อพ่อเดิม คือ ซัยดฺ อิบนุ ฮารีษะฮฺ เป็น ซัยดฺ อิบนุ มุฮัมมัด ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แต่งตั้งท่านอุซามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ ให้เป็นแม่ทัพนำทหารไปทำสงครามกับโรมัน ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้นทั้งๆ ที่มีสาวกอาวุโสหลายท่านอยู่ในกองทัพนั้นด้วย

 

     5. อับดุลเลาะฮฺ อิบนุ อบูบักร อัซซิดดี๊ก ท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการอพยพของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พร้อมกับบิดาของท่าน (อบูบักร) ท่านเป็นผู้นำข่าวคราวของชาวกุร็อยชฺมาบอกกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในขณะที่ท่านทั้งสองหลบอยู่ในถ้ำซู๊ร และยังเป็นผู้คุ้มกันน้องสาวของท่าน (อัสมาอฺ บินติ อบูบักร) ขณะที่นำอาหารมาให้แก่ท่านร่อซูลและบิดาโดยการกลบรอยเท้าที่อัสมาอฺเดิน

 

     6. มุศอัย อิบนุ อุมัยรฺ ท่านเป็นเศรษฐีหนุ่มชาวกุร็อยชฺที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายและมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ท่านเข้ารับอิสลามอายุต่ำกว่า 18 ปี มารดาของท่านจึงกักขัง หน่วงเหนี่ยวและทรมานท่าน มุศอับได้หลบหนีออกมาพร้อมๆ กับการละทิ้งทรัพย์สินเงินทอง ความผาสุก และความมั่งคั่งที่เขามีอยู่เพื่ออิสลาม 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้เขาอพยพไปเอธิโอเปีย ภายหลังจากนั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ใช้ให้ไปเป็นตัวแทนมุสลิมที่นครมะดีนะฮฺอีก ซึ่งการครั้งนี้ถือว่า ท่านเป็นทูตของอิสลามคนแรกที่เชิญชวนชาวมะดีนะฮฺสู่ศาสนาอิสลาม ท่านทำหน้าที่สอนศาสนา สอนการปฏิบัติศาสนกิจให้กับชาวเมืองในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 22 ปี ครั้นเมื่อท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อพยพไปเมืองมะดีนะฮฺได้พบว่าชาวเมืองมะดีนะฮฺเข้ารับอิสลามแล้วเป็นจำนวนมาก ในหน้าที่ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มอบหมายให้กระทำ 

     และในสงครามอุฮุด ท่านมุศอับได้เป็นผู้ถือธงโบกนำทัพในสมรภูมิ เมื่อมือข้างขวาของท่านถูก ตัดขาด ท่านก็เอามือข้างซ้ายถือธงและเมื่อมือข้างซ้ายของท่านถูกตัดขาดอีก ท่านก็เอาต้นแขนทั้งสองข้าง จับธง แล้วท่านก็ถูกฆ่าตายเป็นชะฮีดในขณะที่ท่านอายุยังน้อยนิด ท่านยอมละทิ้งความสุขสบายเพราะรักที่จะอยู่ในสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

     7. ท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์ ชายหนุ่มที่ค้นหาสัจธรรม ความจริงแห่งชีวิต ท่านอพยพมาจากเปอร์เซีย ละทิ้งบิดาและครอบครัวที่เคารพบูชาไฟ ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองชามอยู่กับบาทหลวงเป็นจำนวนมาก ท่านมีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์เตารอตและอินญีล และได้รับรู้จากบาทหลวงว่าลักษณะของนบีท่านสุดท้ายจะไม่รับประทานสิ่งที่เป็นซอดะเกาะฮฺ แต่จะรับสิ่งที่เป็นฮะดียะฮฺ และมีตราสัญลักษณ์ที่บ่า 

     ท่านได้ทราบข่าวว่า นบีท่านสุดท้ายจะอพยพมามะดีนะฮฺ แต่ทว่าชาวยิวได้ขายท่านเป็นทาส เมื่อครั้งที่ท่านนบีได้รับการแต่งตั้งที่นครมักกะฮฺ ท่านยังคงอยู่ที่มะดีนะฮฺไม่ได้รับข่าวการแต่งตั้งของนบีท่านสุดท้ายเลย จนกระทั่งท่านนบีได้อพยพมา 

     แล้วท่านซัลมานก็ทดลองมอบซอดาเกาะฮฺให้ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่แตะต้องซอดาเกาะฮฺนั้นเลย แล้วท่านซัลมานก็ทดลองมอบฮะดียะฮฺให้ท่านอีกครั้ง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงรับมา แล้วท่านซัลมานก็เดินไปด้านหลังท่านร่อซูลเพื่อจะดูตราประทับที่บ่าของท่าน ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รู้ได้ทันที จึงดึงเสื้อลงเพื่อให้ท่าน ซัลมานได้เห็นตราประทับนั้น หลังจากที่ท่านซัลมานได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เคยทราบแล้ว ท่านจึงเข้ารับอิสลาม บรรดามุสลิมจึงรวบรวมเงินซื้อท่านซัลมานและปล่อยให้เป็นไทในที่สุด

     ท่านซัลมานมีบทบาทสำคัญในสงครามคอนดั๊ก ท่านให้คำปรึกษากับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในการขุดสนามเพลาะรอบๆ เมืองมะดีนะฮฺ เพื่อป้องกันการโจมตีของเหล่าศัตรูที่เป็นยิวและกุร็อยชฺ แผนการรบเช่นนี้ บรรดามุสลิมไม่เคยทำมาก่อน และในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ บรรดากุฟฟ๊ารไม่สามารถเข้าเมืองมะดีนะฮฺได้ ต้องพ่ายแพ้แตกทัพกลับไปอย่างสิ้นหวังที่จะเอาชนะกับบรรดามุสลิม

 

     8. ท่านอัมม๊าร อิบนุ ยาซิร เข้ารับอิสลามในขณะที่ท่านยังเล็กอยู่ มารดาของท่านถูกทรมานอย่างแสนสาหัส แล้วท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวกับครอบครัวของท่านว่า

จงอดทนไว้เถิด ครอบครัวยาซิรเอ๋ย แท้จริง สัญญาของพวกท่าน คือ สวนสวรรค์

     มารดาของท่านได้เสียชีวิตลง และบิดาของท่านก็เช่นกัน ถูกทรมาน จนกระทั่งตายชะฮีด ส่วนท่านอัมม๊าร ไม่สามารถทนต่อการทรมานอันเจ็บปวดนี้ได้ ท่านจึงกล่าวคำปฏิเสธออกมาเพราะโดนบังคับ แล้วท่านก็ร้องไห้มาหาท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานอายะฮฺนี้มาให้

     “ผู้ใดปฏิเสธศรัทธา หลังจากที่พวกเขาได้ศรัทธาแล้ว (เขาจะได้รับความกริ้วโกรธจากอัลลอฮฺ) เว้นแต่ ผู้ที่ถูกบังคับทั้งๆ ที่หัวใจของเขาเปี่ยมไปด้วยศรัทธา)”

(อันนะฮฺลฺ 16 : 106)

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ปลอบใจท่านอัมม๊าร ว่า ตราบใดที่หัวใจยังศรัทธาก็ไม่มีความผิดใดๆ หากกล่าวออกมาโดยการถูกบังคับขู่เข็ญ แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็บอกข่าวดีแก่ท่านอัมม๊ารว่า จะได้เป็นชะฮีด แล้วท่านอัมม๊ารก็ได้ตายชะฮีดจริงๆ ในสงครามศิฟฟีน ด้วยน้ำมือทหารของท่านมุอาวียะฮฺ ซึ่งในขณะนั้น ท่านมีอายุ 90 ปี

 

     9. ท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ ซุบัยรฺ เป็นเยาวชนที่ดีที่สุดคนหนึ่งเป็นลูกชายของท่านหญิงอัสมาอฺ บุตรสาวของท่านอบูบักร อัซซิดดี๊ก เป็นเด็กคนแรกที่เกิดที่เมืองมะดีนะฮฺ หลังการอพยพ บรรดามุสลิมต่าง ดีใจในการเกิดของท่านอับดุลเลาะฮฺ เพราะชาวยิวเคยสบประมาทไว้ว่า บรรดามุสลิมจะเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสกุล บิดาของท่านจะพาท่านร่วมทำสงคราม และไปพิชิตเมืองต่างๆ ด้วยกันซึ่งขณะนั้น ท่านมีอายุ 14 ปี 

     ท่านเป็นนักสู้ เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ท่านยังเป็นผู้มีบทบาทในการรบแถบตอนเหนือของอัฟริกาในช่วงการปกครองของท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน และสงครามกิสฏอนฏีนียะฮฺและร่วมสงครามอูฐ พร้อมกับ น้าสาวของท่าน (ท่านหญิง อาอิชะฮฺ บินติ อบูบักร) ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้เรียกฉายาตัวเธอเองด้วยชื่อของท่านอับดุลเลาะฮฺ คือ อุมมุ อิบดิลลาฮฺ 

     มีผู้กล่าวว่า ไม่มีใครที่เป็นที่รักยิ่งแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺมากไปกว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และพ่อแม่ของเธอ (อบูบักร) รองลงมาก็คือ ท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ ซุบัยรฺ

 

          เราได้อ่านประวัติของเยาวชนรุ่นก่อนๆ ไปแล้ว พวกเขาเหล่านั้นรับใช้ศาสนาของอัลลอฮฺกันอย่างไร? เขาใช้เวลาทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกสัปดาห์ ทุกวัน ทุกเดือน และทุกปีไปอย่างคุ้มค่า เวลาที่เสียไป แต่ละวินาทีเพื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เพื่อศาสนาอิสลาม

 

          อัลลอฮฺ ทรงสาบานด้วยกาลเวลาไว้หลายซูเราะฮฺในอัลกุรอานก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเวลา ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

ขอสาบานด้วยเวลารุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบของเดือนซุลฮิจญะฮฺ

ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันมืดมิด

ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และด้วยเวลากลางวัน เมื่อมันเจิดจ้าประกายแสง

ขอสาบานด้วยเวลาอัศรฺ (เวลาเย็น

       แท้จริง มนุษย์ทั้งผองอยู่ในข่ายของความขาดทุนเพราะลุ่มหลงในโลกีย์ ยกเว้นคนที่มีศรัทธาตามหลักอิสลามและประกอบคุณงามความดีตามที่อัลลอฮฺทรงกำหนด และได้สั่งเสียกันและกันให้ยึดมั่นต่อหลักสัจธรรมและสั่งเสียกันและกันให้ยึดมั่นต่อหลักขันติธรรมเท่านั้น

(อัลอัศรฺ 106 : 1-3)

 

          การที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงเรื่องกาลเวลาเพื่อให้มนุษย์ได้คิดทบทวนถึงสัญญาณต่างๆ ของพระองค์ที่ทรงสร้างขึ้นมา

 

     “และพระองค์คือ ผู้ทรงบันดาลให้มีกลางคืนและกลางวันหมุนเวียนสลับเปลี่ยนแทนที่กัน สำหรับผู้ปรารถนาที่จะรำลึกทบทวนหรือปรารถนาจะขอบคุณ

(อัลฟุรกอน 25 : 62)

 

          เวลานับเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่พระองค์ประทานมาให้กับมนุษย์ ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

ความโปรดปรานสองสิ่งที่ผู้คนไม่เห็นคุณค่า นั่นคือ การมีสุขภาพดีและการมีเวลาว่าง

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังแนะนำให้เรารีบทำงานที่ดีก่อนที่จะสายเกินไป

 

จงฉวยโอกาสทำงานที่ดีๆ ห้าประการก่อนที่อีกห้าประการจะมาถึง 

วัยหนุ่มสาวก่อนที่ความชราจะมาถึง ขณะที่ยังสุขภาพดีก่อนที่การเจ็บป่วยจะมาถึง 

ขณะมีความร่ำรวยก่อนที่ความยากจนจะมาถึง ขณะมีเวลาว่างก่อนที่งานยุ่งๆ จะมาถึง 

ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อนที่ความตายจะมาถึง

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)

 

          เวลาเปรียบเสมือนชีวิตของคนเรา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถจะเรียกให้หวนกลับคืนได้ ไม่มีลด ไม่มีเพิ่ม อยู่ที่ว่าเราจะใช้เวลาไปในทางใด เราจะต้องรับผิดชอบ และเมื่อถึงวันกิยามะฮฺ ทุกคนจะถูกถามถึงว่าใช้เวลาไปกับสิ่งใด ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

เท้าทั้งสองของบ่าวจะไม่ขยับเขยื้อนไปไหน จนกว่าเขาจะถูกถามถึงสี่ประการต่อไปนี้คือ 

จะถูกถามถึงอายุขัยของเขา ว่าใช้ให้หมดไปกับสิ่งใด

วัยหนุ่มสาวของเขา ว่าใช้เวลาไปในเรื่องใด

ทรัพย์สินของเขา ว่าได้มาจากไหน? และใช้จ่ายไปในสิ่งใด

ความรู้ของเขาว่าเขาทำอะไรกับความรู้นั้น?”

 

          การใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของอาคิเราะฮฺเท่านั้น แล้วเราพร้อมที่จะเตรียมเสบียงเพื่อกลับไปหาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้วหรือยัง? อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้น มิใช่อื่นใด เว้นแต่ เป็นการละเล่นและการสนุกสนาน ร่าเริงเท่านั้น 

และแท้จริง สถานที่ในโลกอาคิเราะฮฺนั้น คือ ชีวิตที่แท้จริงอย่างแน่นอน หากพวกเขาจะได้รู้

(อัลอังกะบู๊ต 29 : 64)

 

ถ้าหากจะมองดูเยาวชนในปัจจุบัน เขารักษาเวลาอันมีค่าได้เทียบเท่ากับเยาวชนรุ่นก่อนๆ หรือไม่ ?

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า สื่อเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เนต เอ็มเอสเอน หรือจะส่ง เอสเอ็มเอส หรือ เอ็มเอ็มเอส หรือเล่นเกมจากไอพอตนาโนหรือจะดูหนังจากเอ็มพี 4 หรือจะเช็คเมล ซึ่งมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็รวมโปรแกรมสื่อสารได้ทุกรูปแบบ สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็จัดเป็นเครื่องชักจูงความประพฤติของเด็กให้เป็นไปในทางที่ดีและในทางที่เสียหายก็ได้

 

          ในเมื่อประโยชน์มีมากมายเท่าใด โทษที่ตามมาก็มีมากเท่านั้น ประโยชน์ที่เยาวชนได้รับจากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ศาสนาที่บรรดาอุละมาอฺได้พยายามคัดสรรให้มุสลิมได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ทางด้านศาสนาอย่างเต็มที่ก็มีมาก ในบางครั้งเราต้องการรู้ระดับสายรายงานฮะดิษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สักบท เราก็สามารถหาได้แค่อึดใจเดียว ก็รู้ได้ว่าฮะดิษนี้เชื่อถือได้หรือไม่? อย่างไร? โดยการเข้าไปดูเว็บไซต์ต่างๆ ของประเทศอาหรับที่เชื่อถือได้ หรือต้องการคุตบะฮฺสักเรื่องหนึ่งก็สามารถหาได้ดั่งใจ หรือเข้าไปที่เว็บสารานุกรมเสรี ที่มีทั้งภาษาไทย ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษก็ได้แล้ว และเรายังจะได้รับประโยชน์อีกมากมาย หากเราใช้สื่อนั้นให้เป็นไปในทางบวก

 

          แต่สำหรับบุคคลลางกลุ่มที่ไม่หวังดีกับอิสลาม เขาก็ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายเยาวชนมุสลิมเช่นกัน ด้วยการชักชวนให้เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไร้สาระ ถ้าเยาวชนมุสลิมใช้สื่อโดยไม่ระมัดระวังอาจจะตกหลุมพลางที่ศัตรูได้มอมเมาเอาไว้ก็ได้

 

           ปัจจุบันนี้ มุสลิมมิได้ออกไปสู้รบปรบมือกับศัตรูในสนามรบที่มีแม่ทัพคอยบัญชาการเหมือนกับบรรพชนในอดีต แต่บรรดามุสลิมปัจจุบันก็ยังมีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับชนรุ่นก่อนๆ คือ พิทักษ์ไว้ซึ่งศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาเดียวที่อัลลอฮฺทรงรับรองในวันกิยามะฮฺ 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “และผู้ใดที่แสวงหาศาสนาอื่นจากศาสนาอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับเป็นอันขาด และวันอาคิเราะฮฺเขาก็จะเป็นผู้ที่ขาดทุน

(อาละอิมรอน 3: 85)

 

           แล้วเราในฐานะที่เป็นทายาทของบรรดานบีที่ต้องสืบสานบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้กับคนรุ่นหลัง อีกต่อไป ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

 

     “จงให้มีขึ้นจากพวกเจ้าซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี และใช้ให้กระทำสิ่งที่ดีงาม และห้าม มิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม และชนเหล่านี้แหละ คือ ผู้ที่ได้รับความสำเร็จ

(อาละอิมรอน 3 : 104)

 

          เราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง? เราใช้เวลาไปในการทำอิบาดะฮฺ อ่านอัลกุรอาน ท่องจำอัลกุรอาน อ่านตำรับตำราศาสนาใช้กันให้ทำความดี และห้ามปรามกันมิให้ทำความชั่ว ทำประโยชน์ให้พี่น้องมุสลิมมากน้อยแค่ไหน? เพียงใด? เราสละเวลาช่วยเหลือคนทุกข์ยากได้ยาก เราเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือไม่? เราแบ่งเวลาในการทำภารกิจในแต่ละวันได้เหมาะสมหรือไม่

          เราอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูลดีๆ ที่รอให้เรานำไปใช้ นำไปปฏิบัติและนำไปเผยแผ่ หรือว่าเราใช้เวลาไปกับการแชท การเปิดเฟสบุ๊ค ทวิสเตอร์ เพื่อดูรูปภาพสวยๆ ของเพื่อที่เรารู้จัก และเพื่อที่เรายังไม่เคยรู้จักเขามาก่อน หรือเข้าไปคอมเมนต์ภาพด้วยภาษาแปลกๆ ที่ทำให้คุณครูภาษาไทยต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เราใช้เวลาไปกับการดูหนัง ดูละคร ดูแฟชั่น ติดตามการแต่งตัวของดาราเกาหลี ฟังเพลงฮิตติดอันดับ หรือดูข่าว (คาว) ในวงการบันเทิงที่ฮ็อตสุดๆ จะได้เอาไปเม้าท์กันได้มันปากกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม 

          อดตาหลับขับตานอน เพื่อรอดูฟุตบอลคู่โปรดที่เราติดตาม คุยโทรศัพท์เป็นชั่วโมงๆ กับเรื่องที่ไร้แก่นสาร นินทาใส่ร้ายผู้อื่น ยุแหย่ให้พี่น้องมุสลิมเกิดความบาดหมางใจกัน เราใช้เวลาไปกับเรื่องที่เป็นฟิตนะฮฺ หรือยุ่งอยู่กับธุรกิจที่มีผลกำไรอันมหาศาล สะสมทรัพย์จนเผลอลืมหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ลืมไปว่าเมื่อ วันนั้นมาถึง เราก็ไม่สามารถที่จะเอาทรัพย์สินไปได้แม้แต่สตางค์แดงเดียว นอกจากอะมั๊ล ซอและฮฺที่ตามติดเราไปเท่านั้น 

ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “การอวดมั่งมีของพวกเจ้าได้ทำให้เจ้าหลงจากหนทางภักดีต่ออัลลอฮฺ ไปจนกระทั่ง สูเจ้าตายและ ถูกฝังในสุสาน หยุดเสียเถอะ! อีกหน่อยสูเจ้าจะรู้ผลร้ายของการอวดมั่งมี จนหลงทาง และแน่นอนอีกหน่อยสูเจ้าจะรู้

      หยุดนะ ถ้าพวกเจ้าจะรู้ผลร้ายอย่างชัดเจนละก็ พวกเจ้าจะต้องหยุดแน่ๆ แน่นอนที่สุด ใน วันกิยามะฮฺ พวกเจ้าจะได้เห็นนรก และก็แน่นอน พวกเขาจะได้เห็นมันด้วยตาอย่างแจ่มชัดทีเดียว

     และในวันนั้น สูเจ้าจะถูกสอบสวนถึงความสุขต่างๆ ที่พวกเจ้าตักตวงเอาไป แล้วจะได้รับการสนองตอบอย่าง สาสม

(อัตตะกาซุร 102 : 1-8)

 

           ทุกๆ วันที่ผ่านมา นั่นก็หมายถึง อายุขัยของมนุษย์ก็ลดน้อยถอยลง ใกล้ความตายเข้าไปทุกที ดังนั้น จึงจำเป้นที่เราต้องฉกฉวยเวลาในการทำอะมั้ลที่ดี สะสมเสบียงที่เกิดประโยชน์กับตัวเราเองในวันอาคิเราะฮฺ เพราะแน่นอน ทุกคนจะต้องกลับคืนสู่อัลลอฮฺ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว 

 

     มีสาวกถามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึง คนที่ดีที่สุดคือใคร 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่าคนที่ดีที่สุด คือ บุคคลที่มีอายุยืนพร้อมกับประกอบการงานที่ดีด้วย

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)

 

สรรพสิ่งที่ถูกสร้างต้องสูญสลาย

มิมีใครอยู่นิรันดรนอกจากผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร

ราตรีกาลแม้นจะเนิ่นนาน ก็จะต้องมีฟะญัรส่องแสง

อายุขัยแม้นจะยืนยาว ก็จะต้องมีวันดับสูญลงสุสาน

 

     “ข้าแด่อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าข้าพระองค์ อันเป็นศาสนาที่พระองค์ทรงประทานมาให้เพื่อคุ้มครองกิจการของเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด

     ขอพระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขชีวิตในโลกดุนยาของเหล่าข้าพระองค์ ซึ่งพวกเหล่าข้าพระองค์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเถิด

     และขอพระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขโลกอาคิเราะฮฺของเหล่าข้าพระองค์ ซึ่งป็นที่กลับไปของเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด

     และขอพระองค์ทรงทำให้ชีวิตมีอยู่เพื่อเพิ่มพูนในคุณความดีแก่เหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด

     และขอพระองค์ทรงให้ความตายเป็นการพักผ่อน (ยุติ) ความชั่วร้ายทั้งหลายสำหรับเหล่าข้าพระองค์ ด้วยเถิด

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 18 ธันวาคม 2553