ตาชั่งความดีความชั่ว
  จำนวนคนเข้าชม  9487


ตาชั่งความดีความชั่ว

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา มีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะอัตตักวาหรือความยำเกรงต่อพระองค์นั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺ สิ่งที่เป็นอะมัลศอลิหฺต่างๆ 

 

          ซึ่งผลของการที่เรามีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในกุบูร และปกป้องเราจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยานี้ เราก็จะได้รับชีวิตที่ดีงาม และในโลกอาคิเราะฮฺ เราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 47 อัลลอฮฺ ซุบฮา นะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَنَضَعُ الْمَوَازِينَ الْقِسْطَ لِيَوْمِ الْقِيَامَةِ فَلَا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَيْئًا ۖ وَإِن كَانَ مِثْقَالَ حَبَّةٍ مِّنْ خَرْدَلٍ أَتَيْنَا بِهَا ۗ وَكَفَىٰ بِنَا حَاسِبِينَ

 

      “และสำหรับวันกิยามะฮฺ เราได้วาง الْمَوَازِينَ الْقِسْطَ ตาชั่งที่มีความเที่ยงตรง ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรมอย่างเด็ดขาด (นั่นก็คือ ทุกๆชีวิตจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน ความดีที่ใครทำไว้ ก็จะอยู่ครบถ้วน ไม่มีสูญหายไปไหน ส่วนความชั่วที่เขาทำไว้ก็จะอยู่ครบถ้วน และไม่ถูกเพิ่มเติมแต่อย่างใด) และแม้ว่า(ทั้งความดีและความชั่วมันจะมีน้ำหนักเท่ากับเมล็ดพืชผักเม็ดเล็กๆ เราก็จะนำมันมาแสดง (นำมาชั่งด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น) และเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับเราที่เป็นผู้ชำระสอบสวน

 

           อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกเราว่า ในวันกิยามะฮฺ พระองค์จะทรงให้มีตาชั่งที่มีลักษณะเป็นจานสองด้านที่จับต้องมองเห็นได้ คุณสมบัติของตาชั่งนี้คือ มีความเที่ยงตรง มีความเที่ยงธรรม มีความถูกต้องที่สุด ตาชั่งนี้สำหรับนำมาชั่งน้ำหนักความดีและความชั่วของเราทุกๆคนที่เราได้กระทำไว้บนโลกดุนยานี้ จานด้านหนึ่งชั่งความดี ส่วนจานอีกด้านหนึ่งเอาไว้ชั่งความชั่ว

 

          ดังนั้น การศรัทธาในการมีอยู่จริงของตาชั่งในวันกิยามะฮฺ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักศรัทธาของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เป็นส่วนหนึ่งของหลักการศรัทธาต่อโลกอาคิเราะฮฺ อันเป็นหลักศรัทธาประการที่สี่ของหลักศรัทธาของอัลอิสลาม และเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮฺอย่างแน่นอน โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น เป็นกระบวนการที่อุละมาอ์ได้บอกว่า จะเกิดขึ้นภายหลังจากการที่กระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้ว หลังจากนั้น จึงจะนำความดีความชั่วมาวางบนตาชั่ง เป็นการชั่งน้ำหนักของความดีความชั่ว เพื่อที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะได้ทรงให้การตอบแทนแก่ทุกคน 

 

     ♦..ถ้าหากความดีของใครหนักมากกว่าความชั่ว เขาก็จะเป็นผู้ที่ประสบชัยชนะ เป็นผู้ที่ได้รับความสำเร็จ นั่นก็คือ ได้เป็นชาวสวรรค์ 

     ♣..แต่หากใครที่มีน้ำหนักของความชั่วมากกว่าน้ำหนักของความดี ก็แสดงว่าตาชั่งความดีของเขานั้นเบา เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่ประสบกับการขาดทุนอย่างย่อยยับ นั่นก็คือ เขาจะมีสภาพเป็นชาวนรก

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุอ์มินูน อายะฮฺที่ 102 – 103 - 104 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

فَمَن ثَقُلَتْ مَوَازِينُهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ ( 102 )

     “ดังนั้น ผู้ใดที่ตาชั่ง(ด้านความดี)ของเขาหนัก เขาเหล่านั้นแหละ เป็นผู้ประสบชัยชนะ

 

وَمَنْ خَفَّتْ مَوَازِينُهُ فَأُولَٰئِكَ الَّذِينَ خَسِرُوا أَنفُسَهُمْ فِي جَهَنَّمَ خَالِدُونَ ( 103 )

     “สำหรับผู้ใดที่ตาชั่ง(ด้านความดี)ของเขาเบา เขาเหล่านั้นแหละ คือบรรดาผู้ที่ทำให้ตัวของพวกเขาขาดทุน โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในนรกตลอดกาล

 

     ไม่ใช่อยู่แบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่อยู่แบบ خَالِدُونَ ตลอดกาล แล้วก็ไม่ใช่อยู่ในนรกเฉยๆ ไม่ใช่อยู่แบบการรักษาในโรงพยาบาล แต่....

 

تَلْفَحُ وُجُوهَهُمُ النَّارُ وَهُمْ فِيهَا كَالِحُونَ ( 104 )

     “(อยู่ในนรกแล้ว อัลลอฮฺ ยังทรงให้)ไฟนรกเผาไหม้ใบหน้าของพวกเขา และพวกเขาจะอยู่ในนรกนั้น โดย كَالِحُونَ มีใบหน้าที่บูดเบี้ยว (จากการถูกทรมาน) อยู่ในสภาพที่น่าสมเพช

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย กระบวนการของตาชั่งในวันกิยามะฮฺ เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันให้เราเห็นถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมของพระองค์อีกด้วย

 

          อัลหะดีษในมุสนัดของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

إِنَّ اللهَ تَعَالَى يَسْتَخْلِصُ رَجُلًا مِنْ أُمَّتِيْ عَلَى رُؤُوْسِ الخَلَائِقِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ،

     “แท้จริง ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ ตะอาลาจะทรงนำชายคนหนึ่งจากประชาชาติของฉันให้มาอยู่ต่อหน้ามนุษยชาติทั้งหมด

 

فَيَنْشُرُ عَلَيْهِ تِسْعَةً وَتِسْعِيْنَ سِجِلًّا،

     “และพระองค์ได้ทรงนำสมุดหรืออาจจะเป็นแผ่นบันทึก(ของเขา)มาแผ่แก่เขา (มาแสดงให้เขาเห็น)จำนวนเก้าสิบเก้าฉบับ

 

كُلُّ سِجِلٍّ مَدُّ الْبَصَرِ،

     “บันทึกแต่ละฉบับๆ ยาวสุดสายตา

 

          ยาวสุดลูกหูลูกตา ฉบับเดียวยาวสุดลูกหูลูกตา แล้วเก้าสิบเก้าฉบับจะยาวไปแค่ไหน เราก็ลองนึกภาพดู ..ซึ่งบันทึกทั้งเก้าสิบเก้าฉบับนี้ ตามรายงานบอกว่าเป็นบันทึกความชั่วของชายคนนี้ ..แสดงว่า ชายคนนี้ต้องทำความชั่วมาอย่างมากมาย แต่ความชั่วนี้ มีคำอธิบายของอุละมาอ์ว่า ไม่ใช่ความชั่วที่เกิดจากการทำชิริก แต่เป็นมะอ์ศิยะฮฺ เป็นความชั่วในเรื่องอื่นๆ

 

ثُمَّ يَقُوْلُ لَهُ : أَتُنْكِرُ مِنْ هَذَا شَيْئاً؟ أَظَلَمَكَ كَتَبَتِي الْحاَفِظُوْنَ؟

     “แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสกับชายคนนี้ว่า ..เจ้ามีข้อโต้แย้งอะไรไหม(ในสิ่งที่อยู่ในบันทึกเหล่านี้)? มีเรื่องอะไรที่เจ้าจะปฏิเสธไหม ว่าเจ้าไม่ได้ทำ ? ผู้บันทึกของข้า เขาได้จดบันทึกอะไรที่เป็นการอธรรมต่อเจ้าหรือเปล่า? (อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถามชายคนนี้ว่า มะลาอิกะฮฺที่คอยจดบันทึกความดีความชั่วน่ะ เขาไม่ได้บันทึกความดีอื่นๆที่เจ้าทำไว้หรือเปล่า หรือเขาได้เพิ่มบันทึกความชั่วอะไรที่เจ้าไม่ได้ทำไว้หรือเปล่า ) ”

 

          ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะความจริงแล้ว พระองค์ไม่ต้องมาถามอะไรเราก็ได้ เพราะพระองค์ทรงทราบอย่างละเอียดอยู่แล้ว ในทุกๆสิ่งที่เราทำ แต่พระองค์ก็ทรงถามเรา แสดงหลักฐานให้เราได้เห็นว่ามันถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ให้เราได้ยืนยันตัวเรา..ก็เหมือนเวลาเราจะตัดสินอะไรใคร ถ้าจะให้ถูกต้องยุติธรรม มันก็ต้องมีหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจน มีการซักไซ้ไต่ถามเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ... ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน พระองค์ก็ทรงถามว่า บันทึกของเขามีอะไรผิดพลาดไหม

 

قَالَ : لَا يَارَبِّ

     “ชายคนนี้ได้ตอบว่าไม่เลย โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์” (บันทึกทุกอย่างถูกต้องหมดจด ไม่มีอะไรที่ผิดพลาดเลยแม้แต่น้อย )

 

فَيَقُوْلُ : أَلَكَ عُذْرٌ أَوْ حَسَنَةٌ؟

     “แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสแก่ชายคนนี้อีกว่าเจ้ามีข้อแก้ต่างหรือมีความดีใดๆ ที่จะมานำเสนอไหม?”

 

فَيُبْهَتُ الرَّجُلُ، فَيَقُوْلُ : لَا يَارَبِّ

     “ชายคนนี้ก็ได้กล่าวอย่างสิ้นหวังว่า ..ไม่มีเลย โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์

     (เขาไม่มีข้อแก้ตัว ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แล้วก็ไม่มีความดีใดๆมานำเสนอเลย)

 

فَيَقُوْلُพระองค์จึงตรัสว่า..”

: بَلَى إِنَّ لَكَ عِنْدَنَا حَسَنَةً وَاحِدَةً، لَا ظُلْمَ الْيَوْمَ عَلَيْكَ،

     “ไม่ใช่อย่างที่เจ้าคิดหรอก แท้จริงแล้ว เจ้ามีอยู่หนี่งความดี ที่เรานี้ และจะไม่มีการอธรรมใด ๆแก่เจ้าในวันนี้อย่างเด็ดขาด

 

فَتُخْرَجُ لَهُ بِطَاقَةٌ،

     “แล้วบัตรแผ่นหนึ่งก็ถูกนำมาแสดง (ก็คือมีความดีอยู่ความดีเดียวที่ถูกนำมาแสดงแก่เขา)”

 

فِيْهَا : أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ؛

     “ในบัตรแผ่นนั้น บันทึกว่าอัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วะอัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดันอับดุฮูวะเราะซุลุฮฺ

     (สิ่งที่อยู่ในบันทึกนี้ มันก็คือการที่ชายคนนี้ เขาได้กล่าวคำปฏิญาณว่า...ข้าพระองค์ขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกอิบาดะฮฺอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น และข้าพระองค์ขอปฏิญาณตนว่า มุฮัมมัดเป็นบ่าวและเราะซูลของพระองค์ ...ซึ่งคำกล่าวปฏิญาณนี้ต้องเป็นการกล่าวปฏิญาณที่ต้องครบเงื่อนไขตามที่บรรดาอุละมาอ์ได้วางเงื่อนไขไว้ เป็นการปฏิญาณที่ยึดมั่นด้วยหัวใจ แล้วเปล่งออกมาเป็นคำพูด แล้วนำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งผลของมันก็คือ การมอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตอาลานั่นเอง)

 

หลังจากนั้น

 

فَيَقُوْلُ : أَحْضِرُوْهُ ،

แล้วพระองค์ก็ทรงสั่งบรรดามะลาอิกะฮฺว่าเจ้าทั้งหลายจงนำตัวชายคนนี้มา

ให้เอาความดีความชั่วของเขามาวางบนตาชั่ง: احْضُرْ وَزْنَكَ ،ในบางรายงานก็บอกว่า

 

فَيَقُوْلُ : يَارَبِّ مَا هَذِهِ الْبِطَاقَةُ مَعَ هَذِهِ السِّجِلَّاتِ؟

     “และชายคนนี้ก็ได้กล่าวว่าโอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ บัตรบันทึกเพียงแผ่นเดียวนี้จะเอาไปชั่งกับบันทึกอันมากมายเหล่านี้ได้อย่างไร?!” (มันเทียบกันไม่ได้เลย)

 

فَيُقَالُ : إِنَّكَ لَا تُظْلَمُ،

     “พระองค์ตรัสว่า..แท้จริงเจ้าจะไม่ถูกอธรรม

 

قَالَ : فَتُوضَعُ السِّجِلَّاتُ فِي كِفَّةٍ ، وَالْبِطَاقَةُ فِي كِفَّةٍ ، فَطَاشَتِ السِّجِلَّاتُ وَثَقُلَتِ الْبِطَاقَةُ ؛ فَلَا يَثْقُلُ مَعَ اسْمِ اللَّهِ شَيْءٌ

     “หลังจากนั้น บันทึก(ทั้งเก้าสิบเก้าฉบับ)ก็ถูกนำมาวางบนจานของตาชั่งด้านหนึ่ง ส่วนบัตรบันทึกเพียงแผ่นเดียวก็ถูกนำมาวางลงบนจานของตาชั่งอีกด้านหนึ่ง (เราก็คิดว่า จานด้านที่วางบันทึกทั้งเก้าสิบเก้าฉบับต้องหนักกว่า แต่ปรากฏว่า จานด้านที่วาง)บันทึก(ทั้งเก้าสิบเก้าฉบับ)กลับลอยขึ้นมา ในขณะที่จานด้านที่วางบัตรบันทึกเพียงแผ่นเดียวกลับหนักกว่า...

      ดังนั้น (นี่แสดงให้เห็นว่า) ไม่มีสิ่งใดที่จะมีน้ำหนักมากไปกว่าพระนามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          อัลหะดีษนี้ แสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของพระองค์ ที่ทรงทำให้ความดีความชั่วต่างๆที่เราทำ ที่มันเป็นเรื่องของนามธรรมในวันกิยามะฮฺนั้น ได้กลายเป็นรูปร่างที่สามารถนำมาชั่งได้ แล้วก็ยังแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมของพระองค์ ความเมตตาของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงลักษณะของตาชั่งว่า มีจานสองด้าน

 

         นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเตาฮีดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะการที่ชายคนนี้เขาดำรงตนอยู่ในคำปฏิญาณ อยู่ในกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺทั้งสองส่วน 

   ♦ กะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺในส่วนแรกคือ การละทิ้งชิริก ซึ่งมันจะนำไปสู่การมอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

   ♦ สำหรับกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺในส่วนที่สองก็คือการละทิ้งบิดอะฮฺ ซึ่งมันจะนำไปสู่การปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..

          ดังกล่าวนี้ มันสามารถที่จะทำให้ตาชั่งความดีของเขามีน้ำหนักมาก ถึงแม้ว่าเขาจะทำมะอฺศิยะฮฺ ทำความชั่วอื่นๆมาอย่างมากมายนั่นเอง (แต่ไม่ได้หมายความว่า มาส่งเสริมให้ทำความชั่ว หรือทำบาป แต่หะดีษชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่เราต้องเอาใจใส่ ให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ในส่วนของความชั่วหรือบาปที่ได้ทำไปนั้น ก็ต้องไปได้รับการลงโทษตามความผิดอยู่แล้ว หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์จะลงโทษเขา หรือหากพระองค์จะทรงประสงค์ไม่เอาโทษเขา พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้เขา ซึ่งความจริงก็คือ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า พระองค์จะทรงจัดการอย่างไรกับเรา ดังนั้น เราจึงต้องทำความดีอยู่ตลอดเวลา)

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่พูดมาข้างต้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการของตาชั่งในวันกิยามะฮฺ เป็นเรื่องของความเร้นลับที่เราไม่สามารถทราบในรายละเอียดต่างๆทั้งหมดได้ นอกจากเพียงเล็กน้อยที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงบอกถึงเรื่องของการชั่งความดีความชั่วในวันกิยามะฮฺ ก็เพื่อให้เราได้พยายามสร้างผลงาน ที่จะทำให้ตาชั่งความดีของเรานั้นมันมีน้ำหนักมาก ก็โดยการดำเนินชีวิตให้อยู่บทบัญญัติของศาสนา และให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องราวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้มากๆ ให้กล่าวรำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ

 

          เพราะจากอัลหะดีษข้างต้น แสดงให้เราเห็นแล้วว่า การกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทำให้ตาชั่งความดีของเรามีน้ำหนักมาก

 

          ก่อนจบคุฏบะฮฺในวันนี้ ขอบอกถึงวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ตาชั่งของเรามีน้ำหนักมากในกิยามะฮฺ เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายๆ ง่ายอย่างมากๆ นั่นก็คือการกล่าวซุบฮานัลลอฮฺ วะบิฮัมดิฮี ซุบฮานัลลอฮิลอะซีม"

 

          หลักฐานอยู่ในอัลหะดีษบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

« كَلِمَتَانِ حَبِيْبَتَانِ إِلى الرَّحْمَنِ، خَفِيْفَتَانِ عَلَى اللِّسَانِ، ثَقِيْلَتَانِ فِي الْمِيْزَانِ: سُبْحَانَ اللهِ وَبِحَمْدِهِ، سُبْحَانَ اللهِ الْعَظِيْمِ »

 

คำสองคำที่เป็นที่รัก พระผู้ทรงเมตตา น้ำหนักเบาสำหรับลิ้น แต่หนักสำหรับตาชั่ง นั้นคือ...

คำว่า ..ซุบฮานัลลอฮฺ วะบิฮัมดิฮี ซุบฮานัลลอ ฮิลอะซีม

 

“(มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ และบรรดาการสรรเสริญทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเท่านั้น

.. มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่)"

 

ก็ขอให้เราได้กล่าวกันบ่อยๆ

 

 

คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ