อ่านอัลกุรอาน เรื่องสำคัญยิ่งชีวิต
อิมาม อาลี เพ็ชรทองคำ
พี่น้องมุสลิมที่รัก อัลลอฮฺได้ประทานอัลกุรอานให้แก่อุมมะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด เพื่อเป็นแนวทาง เป็นทางนำ เป็นบทบัญญัติให้เราได้ปฏิบัติตามในคำสั่งห้าม คำสั่งใช้ อีกทั้งยังเพื่อบอกเรื่องราวของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้ความรู้ ให้เหตุผลแก่เรา จึงถือเป็นคัมภีร์ที่เราต้องให้ความสำคัญและอ่านกันอย่างสม่ำเสมอ
พี่น้องมุสลิมที่รัก การอ่านอัลกุรอานเป็นเรื่องที่ประเสริฐ ทำให้เกิดภาคผลทั้งในเรื่องของดุนยาและอาคิเราะฮฺ ขอยกหะดีษต้นหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวไว้เพื่อบ่งบอกเราให้รู้ถึงหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอ่านอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นดำรัสของอัลลอฮฺ ซึ่งท่านนบีกล่าวว่า
مَا اجْتَمَعَ قَوْمٌ فِي بَيْتٍ مِنْ بُيُوتِ اللَّهِ يَتْلُونَ كِتَابَ اللَّهِ وَيَتَدَارَسُونَهُ بَيْنَهُمْ إِلَّا نَزَلَتْ عَلَيْهِمُ السَّكِينَةُ وَغَشِيَتْهُمُ الرَّحْمَةُ وَحَفَّتْهُمُ الْمَلَائِكَةُ وَذَكَرَهُمُ اللَّهُ فِيمَنْ عِنْدَهُ .....
หะดีษนี้เป็นเรื่องราวที่บ่งบอกถึงมุสลิมมุอ์มินที่มีความยำเกรงได้อ่านอัลกุรอาน อัลลอฮฺจึงประทานภาคผลให้ดังปรากฏอยู่ในหะดีษข้างต้นนี้ ท่านนบี บอกว่า
”ไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่รวมตัวกันในบ้านของอัลลอฮฺ (หมายถึงมัสญิด) เพื่อที่จะอ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ แล้วก็ศึกษาข้อความ หาความหมาย ตัฟซีรเกี่ยวกับอัลกุรอาน เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการปฏิบัติ คนกลุ่มนี้จะได้รับภาคผลดังต่อไปนี้
♦ ประการที่หนึ่ง ความสงบ ความดีงาม ความประเสริฐจากอัลลอฮฺจะมายังพวกเขา
♦ ประการที่สอง ความรัก ความเอ็นดูเมตตา ความพึงพอใจของอัลลอฺฮฺจะถูกประทานให้แก่คนกลุ่มนั้น
♦ ประการที่สาม บรรดามะลาอิกะฮฺจะลงมาห้อมล้อมพวกเขาและปกป้องพวกเขา
♦ ประการที่สี่ อัลลอฮฺจะทรงกล่าวรำลึกถึงกลุ่มของพวกเขา แล้วก็ชื่อของพวกเขาให้เหล่ามะลาอิกะฮฺฟัง ถือเป็นการชมเชยพวกเขา”
พี่น้องมุสลิมที่รัก อัลกุรอานเป็นสิทธิ เป็นหน้าที่ที่อัลลอฮฺทรงมอบแก่เรา เราจึงมีหน้าที่ต้องอ่าน ในหนึ่งวันจะอ่านมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ขอให้เราอ่านเพื่อเป็นทางนำ เพื่อเป็นความรู้แก่เรา แล้วในขณะที่เราอ่านนั่นแหละ อัลลอฮฺจะประทานความสงบ ประทานความดี ประทานความรัก ความเมตตา ความพึงพอใจให้แก่เรา
เราทำสิ่งต่างๆเพื่อหวังความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ
เราละหมาดเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
เราเดินทางไปทำฮัจญ์เพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
เราถือศีลอดเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
เราทำศ่อดาเกาะฮฺเพื่อให้อัลลอฮฺปลื้มปิติกับเรามิใช่หรือ
สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงถึงการที่เรามีความรักต่อพระองค์ เราจึงควรเอาคัมภีร์ของพระองค์มาอ่าน มาศึกษา
พี่น้องมุสลิมที่รัก เราเคยอ่านจดหมายของคนที่เรารักเราชอบ จดหมายนั้นฉบับเดียวเราอ่านแล้วอ่านอีก เพราะเราอ่านแล้วเรารู้สึกว่าเรามีความสุข ได้รับความอิ่มเอิบ ในขณะเดียวกัน อัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์ของอัลลอฮฺที่เราบอกว่าเรารักพระองค์ เราอีมานต่อพระองค์นั้น เราได้นำคัมภีร์ของพระองค์มาอ่านเพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราวในอัลกุรอานมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเรามองไม่ออกว่าเราอ่านเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าอ่านแล้วจะได้อะไร
พี่น้องมุสลิมที่รัก การอ่านอัลกุรอานได้ภาคผล ได้รับผลบุญจากการอ่าน นอกเหนือจากนี้แล้วอัลลอฮฺยังทรงให้ภาคผลเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การมีศรัทธา สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นวัตถุประสงค์ ถึงแม้ว่าการอ่านอัลกุรอานจะได้รับผลบุญ แต่โดยปกติเมื่อเราเรียน ป.1 ถึง ป.6 เราได้ความรู้ระดับหนึ่ง เมื่อเรียน ม.3 ถึง ม. 6 เราก็ได้ความรู้อีกระดับหนึ่ง เรียนมหาวิทยาลัยเราก็ได้ความรู้อีกระดับหนึ่ง นั่นคือวิวัฒนาการความรู้ของเราซึ่งจะค่อยๆเพิ่มพูนขึ้นตามสติปัญญาและอายุ
แต่ในเรื่องราวของศาสนาแล้ว เราได้ให้ความรู้เรื่องศาสนาของเรามันมีวิวัฒนาการคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน เราอย่านึกเพียงว่าอ่านก็คืออ่าน แต่อ่านแล้วเราต้องพยายามทำความเข้าใจด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการแปลเป็นภาษาไทย มีการพูดมีการแปลที่ไหนถ้าเราไปฟัง ก็ขอให้ไปฟังในลักษณะที่จะไปเอาความรู้ ไม่ใช่ไปฟังเพื่อที่จะไปตำหนิ หรือเอาความมัน ความสนุกสนาน เพราะเรื่องของศาสนาไม่ใช่เรื่องของความมัน หรือความสนุกสนาน หรือเรื่องของการถือหางซึ่งกันและกัน
การอ่านอัลกุรอานถือเป็นหน้าที่ ผมขอย้ำว่ามันเป็นหน้าที่หนึ่ง ซึ่งเหมือนกับท่านต้องทำหน้าที่อีกหลายๆหน้าที่ มีหะดีษบทหนึ่งบอกว่าคนที่ให้ความสำคัญแก่อัลกุรอาน อัลกุรอานนั้นก็จะยกสถานะให้แก่เขา ส่วนใครที่เพิกเฉย หมางเมินหรือหันหลังให้อัลกุรอาน อัลกุรอานก็จะทำให้เขาตกต่ำ
إِنَّ اللَّهَ يَرْفَعُ بِهَذَا الْكِتَابِ أَقْوَامًا, وَيَضَعُ بِهِ آخَرِينَ
“แท้จริง อัลลอฮฺทรงยกคนกลุ่มหนึ่งด้วยคัมภีร์เล่มนี้
และทรงให้คนอีกกลุ่มหนึ่งตกต่ำก็ด้วยคัมภีร์เล่มนี้เช่นเดียวกัน”
หมายความว่าถ้าเราอ่านอัลกุรอานแล้วได้รับความรู้จากอัลกุรอาน ทำให้อัลกุรอานเป็นเรื่องราวที่เราเชื่อแล้วนำไปปฏิบัติ แล้วทำให้สมบูรณ์ในคำสั่งใช้และออกห่างจากคำสั่งห้ามที่ปรากฎอยู่ในอัลกุรอาน แล้วทำให้เกิดการอีมานต่ออัลลอฮฺ นั่นแหละครับคือการที่อัลกุรอานยกสถานะท่านให้สูงขึ้นในสังคม ในทางตรงกันข้ามเมื่อท่านอ่านอัลกุรอานแต่ท่านไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านนั้น อัลกุรอานก็จะไม่ทำให้ท่านมีสถานะ หรือมีคุณค่าในสังคมมนุษย์
พี่น้องมุสลิมที่รัก หะดีษบทนี้เป็นการยืนยันว่า หากเราอ่านอัลกุรอานแล้วการอ่านนั้นนำเราไปสู่ความเชื่อ นำไปสู่การปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามสั่งใช้ นำไปสู่ความดีงามทั้งหลายและสุดท้ายนำเราไปสู่การอีมานต่ออัลลอฮฺ อีมานต่อคัมภีร์และร่อซุลของพระองค์ นั่นแหละการอ่านนั้นจึงจะนำเราไปสู่สถานะอันสูง แต่ถ้าอ่านแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นมาเลย นั่นแหละคัมภีร์เล่มนี้ก็จะทำให้เขาตกต่ำได้เช่นเดียวกัน
การอ่านอัลกุรอานเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ เป็นการให้ความสำคัญกับบทบัญญัติของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในซูเราะฮฺฏอฮา อายะฮฺที่ 124-126 ว่า
وَمَنْ أَعْرَضَ عَن ذِكْرِي فَإِنَّ لَهُ مَعِيشَةً ضَنكًا وَنَحْشُرُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَعْمَىٰ ( 124 )
قَالَ رَبِّ لِمَ حَشَرْتَنِي أَعْمَىٰ وَقَدْ كُنتُ بَصِيرًا ( 125 )
قَالَ كَذَٰلِكَ أَتَتْكَ آيَاتُنَا فَنَسِيتَهَا ۖ وَكَذَٰلِكَ الْيَوْمَ تُنسَىٰ ( 126)
“ใครก็ตามที่ผินหลังให้กับการผินหลังให้อัลลอฮฺ (ก็คือเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ เช่น ไม่ผินหลังให้กับการละหมาด ไม่ผินหลังให้กับการถือศีลอด ไม่ผินหลังให้กับการทำความดีต่อพ่อแม่ ไม่ผินหลังให้กับการหาความรู้จากอัลกุรอานหรือความดีต่างๆ ) ทั้งหมดนี้ถือเป็นการซิกรุลลอฮฺทั้งสิ้น”
เราทำความดีเพื่ออะไร ? เพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา เราทำความดีเพื่ออะไร ? เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ฉะนั้นการอ่านอัลกุรอานก็เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงอัลลอฮฺ
“ใครก็ตามที่ผินหลังให้ แท้จริง สำหรับเขานั้นจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างคับแคบ อย่างไม่สะดวกสบาย อย่างแย่ๆ และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในสภาพของคนตาบอด”
เราหวนกลับไปดูสิว่าในโลกดุนยานี้เรามีความสุขสบายดีไหม ? มันเป็นความเป็นอยู่ที่ทำให้เรารอดพ้นจากการลงโทษได้ไหม มีประโยชน์ต่อพวกพ้องมุสลิมมากแค่ไหน นี่คือสิ่งที่กลับไปสู่หะดีษข้างต้นว่า เราเป็นผู้ที่อัลกุรอานยกสถานะเราให้สูงขึ้นไหม ? หรือเป็นผู้ที่อัลกุรอานกดเราให้ต่ำลง ดังกล่าวนี้แหละที่อายะฮฺนี้บอกอย่างชัดเจนว่า
“เขาจะอยู่ในสภาพที่แย่ๆ ไม่ใช่เฉพาะในดุนยานี้เท่านั้น ในวันกิยามะฮฺเขาก็จะถูกฟื้นคืนชีพในสภาพที่ตาบอด”
พี่น้องมุสลิมที่รัก ในโลกดุนยานี้เราอยู่ในสภาพที่มีตาดี แต่พอถึงโลกอาคิเราะฮฺเราจะอยู่ในสภาพตาบอด แล้วคนนั้นก็จะกล่าวกับพระเจ้าของเขาว่า
“ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์จึงทรงทำให้ข้าพระองค์ตาบอด ฟื้นขึ้นมาในสภาพที่ตาบอดทั้ง ๆ ที่ ในดุนยาข้าพระองค์ก็เป็นคนตาดี ข้าพระองค์มีสายตาที่มองเห็น แล้วทำไมอาคิเราะฮฺจึงมองไม่เห็น”
อัลลอฮฺทรงตอบว่า
“เมื่อโองการของข้ามายังเจ้า เจ้าก็ลืม เจ้าไม่ได้ใช้สายตา ไม่ได้ใช้สติปัญญาหรือคำพูดอ่านออกมา หรือคิดออกมา หรือการจะปฏิบัติมันออกมา เจ้าก็ลืม วันนี้เจ้าจึงถูกลืม”
เกิดมาไม่ต้องมีตา เพราะอะไร ? ก็อัลลอฮฺทรงให้ตามาแล้วก็ไม่ยอมใช้ เมื่อในดุนยาไม่ใช้ วันกิยามะฮฺก็ไม่ต้องใช้ก็แล้วกัน
ฉะนั้นเราอย่าเป็นผู้ที่แกล้งลืมโองการของอัลลอฮฺ แต่ขอให้เราอ่านอัลกุรอานทุกวัน วันละเท่าไรก็ได้ ให้ศึกษาหาความรู้ทุกอายะฮฺที่เราอ่าน เท่าไรก็ได้ อัลลอฮฺไม่ได้ทรงกำหนดอะไรมากมาย
แต่ในการที่พระองค์ไม่ได้ทรงกำหนดเอาไว้นี่แหละ ที่ทำให้เราอ่านสัปดาห์ละครั้งก็พอ ต่อไปก็เป็นเดือนละครั้งก็พอ ต่อไปก็กลายเป็นว่า เอาไว้มีเวลาก็ค่อยอ่าน นี่แหละครับ พอนานๆ ไปก็กลายเป็นเพิกเฉย ท้ายที่สุดก็ลืม
พี่น้องมุสลิมที่รัก การอ่านอัลกุรอานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะอ่านที่มัสญิด หรือจะอ่านที่บ้าน หรือจะอ่านที่ทำงาน ไม่ว่าที่ไหนที่ท่านสามารถ ที่ท่านคิดและนึกถึงอัลลอฮฺก็หยิบอัลกุรอานมาอ่าน หรือท่านไม่อ่านจะใช้ท่องจำเอาก็ได้
เมื่อเวลาที่เราฟังอิมามอ่านอัลกุรอานในละหมาด เวลาเราเดินกลับบ้านก็ไปเปิดความหมายภาษาไทยว่าอายะฮฺที่อิมามอ่านมีความหมายอย่างไร ทำไมอิมามจึงอ่านซูเราะฮฺนี้บ่อย ทำไมคนชอบพูดถึงซูเราะฮฺนั้นบ่อย ลองกลับไปเปิดดูความหมายสิว่า มันหมายความว่าอย่างไร ดูความหมายหรือจุดมุ่งหมายที่เขาจะเอาที่อัลลอฮฺ สุดท้ายคืออัลกุรอานนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเราอย่างมากและสำคัญยิ่งต่อชีวิตของเรา
( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )