ความเชื่อของแนวทางสลัฟ
อาบีดีณ โยธาสมุทร เรียบเรียง
บิ้สมิ้ลลาฮิ้รร่อฮฺมานิ้รร่อฮีม
สำหรับหลักความเชื่อของแนวทางสลัฟนั้น บรรดานักวิชาการได้ทำการรวบรวมและประมวลข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมายในตำราวิชาการของพวกท่าน ทั้งที่เป็นตำราขนาดใหญ่และที่เป็นเอกสารฉบับย่อที่สรุปเนื้อหาสำคัญและประเด็นหลักๆของเรื่องนี้เอาไว้
ซึ่งเราสามารถประมวลเนื้อหาและจับใจความสำคัญของเรื่องนี้ ตามที่ได้มีการระบุเอาไว้ในแหล่งข้อมูลของบรรดาวิชาการ แล้วนำข้อมูลดังกล่าวนี้มาปรับให้อยู่ในรูปของมารตาฐานหรือหลักการพื้นฐานสำคัญๆของหลักความเชื่อของแนวทางสลัฟ แล้วจึงสรุปออกมาเป็นข้อๆเพื่อง่ายแก่การเข้าใจได้ดังนี้
1) จะต้องมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “อีหม่าน” ให้ถูกต้อง.
2) จะต้องมีความเชื่อและมีจุดยืนที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรณีของ “บุคคลที่เป็นมุสลิมที่ไปกระทำบาปใหญ่”.
3) จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อบุคคลที่เป็นผู้นำ/ผู้ปกครองมุสลิม.
4) จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม และบรรดาบุคคลในครอบครัวของท่านร่อซูลุลลอฮฺﷺ
5) จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อทุกๆข้อมูลที่อัลลอฮฺ ตะอาลา และร่อซู้ลของพระองค์ ﷺได้แจ้งเอาไว้.
6) จะต้องมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “ก่อดั้ร”(กำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา )ให้ถูกต้อง
*หมายเหตุ คำว่า “ถูกต้อง” ทุกๆคำ ที่ถูกนำมากล่าวไว้ในมาตรฐานสำคัญทั้งหกข้อนี้ หมายถึง ถูกต้องตรงตามข้อมูลที่ได้มีการรายงานมาจากบรรดาสลัฟศอและฮฺ ร่อฮิมะฮุมุ้ลลอฮฺ นั่นเอง
รายละเอียดของมาตรฐานสำคัญหกประการ
หลังจากที่เราได้รับทราบกันถึงมาตรฐานสำคัญของหลักความเชื่อของแนวสลัฟทั้งหกประการดังที่กล่าวไป เรียบร้อยแล้ว ถัดจากนี้ไป จะเป็นการอธิบายถึงรายละเอียดของมาตรฐานสำคัญดังกล่าวแต่ละข้อทั้งหกข้อ โดยจะทำการอธิบายและให้รายละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างและชัดเจนมากขึ้นทีละข้อๆดังนี้
1. จะต้องมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “อีหม่าน” ให้ถูกต้อง
บรรดาสลัฟศอและฮฺเชื่อกันว่า “อีหม่าน” หรือการศรัทธานั้น ประกอบไว้ด้วยการเชื่อ,การกระทำและคำพูด ซึ่งทั้งหมดรวมกันเรียกว่า อีหม่าน จะแยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปไม่ได้ ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ถ้าหากเกิดความบกพร่องขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากสามเรื่องนี้ ความบกพร่องดังกล่าวย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับ “อีหม่าน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะหนักจะเบาอย่างไรนั้น ก็เป็นไปตามแต่ละกรณี.
และเมื่อบรรดาสลัฟได้ให้การยอมรับในข้อมูลเกี่ยวกับอีหม่านเช่นนี้แล้ว พวกท่านเองก็ยังมีความเชื่อและความเข้าใจในอีกประเด็นหนึ่งของเรื่อง “อีหม่าน” ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นการต่อยอดมาจากประเด็นที่ผ่านมาเมื่อครู่ อันได้แก่ การเชื่อว่า “อีหม่าน” นั้น มีการเพิ่มและมีการลด จะเพิ่มด้วยการทำดีและเชื่อฟังพระเจ้า ตะอาลา และจะลดด้วยการฝ่าฝืนพระองค์นั่นเอง.
ท่านร่อซู้ล ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((الإيمان بضع وسبعون شعبة فأعلاها قول لا إله إلا الله وأدناها إماطة الأذى عن الطريق والحياء شعبة من الإيمان))[5]
“อีหม่านนั้น มีอยู่เจ็ดสิบกว่ากลุ่ม กลุ่มที่สูงที่สุดได้แก่ คำพูดที่ว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮฺ (ความว่า ไม่มีผู้ที่ถูกสักการะและภักดีโดยชอบธรรมผู้ใดอื่นอีกแล้ว นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น) และกลุ่มที่ต่ำที่สุดนั้นได้แก่ การขจัดอุปสรรคออกจากหนทาง และความละอายก็คือกลุ่มหนึ่งจาก อีหม่าน”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ และมุสลิม )
ส่วนหลักฐานที่ยืนยันว่าอีหม่านนั้นสามารถเพิ่มและลดได้นั้น ได้แก่ดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า
﴿إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللَّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَعَلَىٰ رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ﴾[6]
“อันที่จริงแล้ว บรรดาผู้ศรัทธานั้นคือ บรรดาบุคคลที่เมื่อได้มีการกล่าวถึงอัลลอฮฺขึ้นมา หัวใจของพวกเขาก็จะหวั่นไหว และเมื่ออาย้าตของพระองค์ได้ถูกนำมาอ่านแก่พวกเขา อาย้าตเหล่านั้นก็จะเพิ่มพูนอีหม่านให้แก่พวกเขา และพวกเขาก็จะมอบหมายต่อเฉพาะพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาเท่านั้น “
ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((من رأى منكم منكرا فليغير بيده فإن لم يستطع فبلسانه فإن لم يستطع فبقلبه وذلك أضعف الإيمان)) [7]
“พวกท่านคนใดก็ตามที่พบเห็นสิ่งที่ไม่ดี เขาก็จงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นเสีย ด้วยมือของเขา แต่หากเขาไม่สามารถก็ให้กระทำด้วยลิ้นของเขาแทน และหากเขายังไม่สามารถอีก ก็ให้กระทำด้วยหัวใจของเขาแทน ซึ่งนั่นคือ อีหม่านที่อ่อนแอที่สุด”
(บันทึกโดย มุสลิม )
ท่านอิหม่าม อั้ลบุคอรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (ฮ.ศ. 256) ได้กล่าวไว้ในหนึงสือ “ศ่อฮี้ฮฺฯ” ของท่านว่า “บทว่าด้วย การเพิ่มขึ้นและการลดลงของอีหม่าน” และดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿وَزِدْنَاهُمْ هُدًى﴾[8] “และเราได้เพิ่มการนำทางให้แก่พวกเขา”
และ
﴿وَيَزْدَادَ الَّذِينَ آمَنُوا إِيمَانًا﴾[9] “และเพื่อที่บรรดาผู้ศรัทธาจะได้เพิ่มพูนอีหม่านให้มีมากขึ้น”
2. จะต้องมีความเชื่อและมีจุดยืนที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรณีของ “บุคคลที่เป็นมุสลิมที่ไปกระทำบาปใหญ่”
บรรดาสลัฟศอและฮฺเชื่อกันว่า คนที่เป็นมุสลิมที่ไปกระทำบาปใหญ่ ที่นอกเหนือจากคดีที่ทำให้ตกศาสนา คือ คนบาปที่ยังเป็นมุสลิมอยู่ ตราบใดที่เขาผู้นั้นยังศรัทธาอยู่ว่า บาปที่ตนกระทำคือ ความผิดและคือ เรื่องต้องห้ามตามบทบัญญัติ และยังเชื่ออีกด้วยว่า บุคคลประเภทนี้ยังคงมีสิทธิ์ได้เข้าสวรรค์อยู่
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا تُوبُوا إِلَى اللَّهِ تَوْبَةً نَّصُوحًا عَسَىٰ رَبُّكُمْ أَن يُكَفِّرَ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ...﴾[10]
“ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงกลับตัวสู่อัลลอฮฺ ด้วยการกลับตัวอันบริสุทธิ์กันเสียเถิด เพื่อที่พระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้าจะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้าออกจากพวกเจ้าและจะทรงนำพวกเจ้าเข้าสู่บรรดาสรวงสวรรค์”
ท่านเชคอับดุ้รร้อซซ้าก อิบนุ อับดิลมุ้ฮฺซิน อั้ลบัดรฺ ฮะฟิซ่อฮุ้ลลอฮฺ ได้พูดเกี่ยวกับอายะฮฺนี้ไว้ความว่า
“ข้อความนี้สื่อสารถึงทั้งบุคคลที่เป็นคนที่เชื่อฟังและบุคคลที่เป็นคนที่ฝ่าฝืน พระองค์ทรงเรียกพวกเขาทั้งหมดด้วยชื่อแห่งอีหม่าน ซึ่งในการนี้ถือเป็นข้อยืนยันว่า บุคคลที่ทำบาปใหญ่นั้นไม่ได้เป็นกาเฟรแต่อย่างใด”[11]
ท่านอิหม่ามอบูซุ้รอะฮฺ อั้รรอซียฺ (ฮ.ศ. 264) และท่านอิหม่านอบูฮาติม อั้รรอซียฺ (ฮ.ศ. 277) ร่อฮิมะฮุมั้ลลอฮฺ ได้เล่าถึงแนวทางของบรรดานักวิชาการชาวซุนนะฮฺจากทุกมุมเมืองเท่าที่ท่านมีชีวิตอยู่ทันและได้มีโอกาสพบเจอ ไว้ในสารฉบับหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “อะกีดะตุ้รร่อซิยัยน์” ซึ่งบันทึกโดย ท่านอิหม่ามอั้ลลาละกาอีย์[12]ไว้ ความว่า
“เราได้มีชีวิตอยู่ทันและพบเจอกับบรรดานักวิชาการจากทุกแคว้นทุกเมือง ไม่ว่าจะเป็นฮิย้าซ อีรัก อียิปต์ ชามและเยเมน ซึ่งปรากฏว่าส่วนหนึ่งจากแนวทางของพวกท่านเหล่านั้นได้แก่...” แล้วท่านทั้งสองก็ได้เล่าถึงหลักความเชื่อของบรรดานักวิชาการเหล่านั้น จนกระทั่งถึงคำพูดของพวกท่านที่มีความว่า “...และพวกบุคคลที่กระทำบาปใหญ่นั้น จะอยู่ภายใต้พระประสงค์ของอัลลอฮฺ อั้ซซะวะยั้ล , พวกเราจะไม่ทำการตัดสินให้ ชาวกิ้บละฮฺ(กิบลัต)คนใดเป็นกาเฟร ด้วยเพราะความผิดบาปของพวกเขา...” สิ้นสุดคำพูดของพวกท่านในส่วนที่ต้องการจะนำเสนอ
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿إِنَّ اللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَاءُ...﴾[13]
“แน่นอนว่า อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้ในกรณีที่มีการตั้งภาคีกับพระองค์ และจะทรงอภัยโทษให้ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีนี้ แก่ผู้ที่ทรงประสงค์”
3. จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อบุคคลที่เป็นผู้นำ/ผู้ปกครองมุสลิม
ชาวสลัฟศอและฮฺจะพากันให้การจงรักภักดีและเชื่อฟังผู้นำมุสลิมในเรื่องที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระเจ้า ตะอาลา และจะไม่คิดกระด้างกระเดื่อง,ต่อต้านหรือกระทำการประท้วงโค้นล้มผู้นำมุสลิม ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือจะด้วยการกระทำก็ตามแต่
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الْأَمْرِ مِنكُمْ...﴾[14]
“ เหล่าผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงภักดีต่ออัลลอฮฺและจงภักดีต่อร่อซู้ล และต่อบรรดาผู้รับผิดชอบดูแลกิจการของพวกเจ้า”
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวให้คำตอบศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งที่เข้ามาถามท่านเกี่ยวกับผู้ปกครองที่อธรรมว่าควรจะมีท่าทีอย่างไรกับเขาผู้นั้นดี ไว้ว่า
((اسمعوا وأطيعوا فإنما عليهم ما حُمِّلوا وعليكم ما حُمِّلتم))[15]
“พวกท่านจงรับฟังและจงภักดี เพราะอันที่จริงแล้ว ภาระ(หรือโทษทัณฑ์)ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบก็ได้แก่ สิ่งที่พวกเขาได้ถูกให้ทำการแบกรับมันไว้ และภาระ(หรือโทษทัณฑ์)ที่พวกเจ้าเองต้องรับผิดชอบก็ได้แก่ สิ่งที่พวกเจ้าถูกให้ทำการแบกรับมันไว้นั่นเอง”
(บันทึกโดย มุสลิม )
ท่านร่อซู้ล ﷺได้กล่าวไว้ว่า
((يكون بعدي أئمة لا يهتدون بهداي ، ولا يستنّون بسنّتي ، وسيقوم فيهم رجال قلوبهم قلوب الشياطين في جُثمان الإنس)) قال قلت كيف أصنع يا رسول الله إن أدركت ذلك؟ قال ((تسمع وتطيع { للأمير } ، وإن ضُرب ظهرُك وأُخذ مالُك ، فاسمع وأطع))[16]
“ภายหลังจากฉัน จะมีพวกผู้นำที่ไม่ยอมยึดถือทางนำของฉันและไม่ดำเนินตามแบบอย่างของฉันเกิดขึ้นมา และจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่หัวใจของพวกมัน คือหัวใจของไชยตอนที่อยู่ในซากของมนุษย์ปรากฏขึ้นในหมู่พวกเขา
ท่าน(ฮุซัยฟะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮฺ ) กล่าวว่า ฉันได้กล่าวว่า ผมควรทำอย่างไรดีครับ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ถ้าหากผมอยู่ทันเหตุการณ์นั้น ?
ท่านกล่าวว่า “จงรับฟังและจงภักดี (ต่อผู้นำ) แม้แผ่นหลังของเจ้าจะถูกโบยและแม้ทรัพย์สินของเจ้าจะถูกยึดเอาไป เจ้าก็จงรับฟังและจงภักดี”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ และมุสลิม ซึ่งถ้อยคำในการรายงานนี้เป็นของท่าน)
ท่านร่อซู้ล ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((ستكون أَثَرة وأمور تنكرونها)) ، قالوا يا رسول الله ، فما تأمرنا ؟ قال (( تؤدّون الحق الذي عليكم وتسألون الله الذي لكم))[17]
“จะมีความเห็นแก่ตัว (ผู้ปกครองที่อธรรม) และจะมีเรื่องราวที่พวกท่านไม่ชอบเกิดขึ้น” พวกเขากล่าวกันว่า ท่านร่อซูลลุ้ลลอฮฺครับ แล้วท่านจะสั่งอะไรกับเราหรือ? ท่านกล่าวว่า “จงกระทำในสิทธิ์ที่พวกท่านได้รับมอบหมายมา และจงไปวอนขอสิทธิ์ที่พวกท่านพึงจะได้ จากอัลลอฮฺเถิด”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ และมุสลิม)
ครั้งหนึ่งบรรดานักวิชาการในเมืองแบกแดดได้พากันเข้าไปหาท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ เพื่อขอคำปรึกษาจากท่านเกี่ยวกับฟิตนะฮฺ(ความโกลาหล)ที่พวกท่านเหล่านั้นได้พานพบจากผู้นำในยุคนั้น ทั้งในด้านอะกีดะฮฺและในด้านความปลอดภัยในการใช้ชีวิตจนไม่อาจจะทนให้เขาผู้นั้นทำหน้าที่ในการปกครองต่อไปได้ ท่านอิหม่ามจึงตอบพวกท่านเหล่านั้นไป ความว่า
“พวกท่านทั้งหลาย จงคัดค้านด้วยหัวใจของพวกท่าน และอย่าได้ถอนมือออกจากการภักดี พวกท่านจงอย่าหักไม้ค้ำยันของบรรดามุสลิม อย่าได้หลั่งเลือดของพวกท่านและเลือดของบรรดามุสลิมที่อยู่กับพวกท่าน พวกท่านจงมองไปที่ปั้นปลายของกิจการของพวกท่านและจงอดทน ตราบจนกว่าคนดีๆจะได้พักผ่อนและได้คลายกังวลหลุดพ้นไปจากคนทราม”
ท่านพูดต่อไปอีกว่า “ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมดังกล่าวนี้ สวนทางกับข้อมูลในอดีตที่สั่งใช้ให้เราอดทนในสถานการณ์เช่นนี้”[18]
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อะกีดะฮฺอั้ลวาซิตียะฮฺ” ของท่านความว่า
“ และนอกเหนือจากนั้น พร้อมๆ กันกับหลักเกณฑ์เหล่านี้ พวกเขาก็ยังทำการสั่งใช้ในเรื่องคุณธรรมและห้ามปรามจากเรื่องที่ไม่ดี ตามที่บทบัญญัติได้กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ และพวกเขาต่างเห็นด้วยและยอมรับในการจัดให้มีการทำฮัจญ์ การละหมาดวันศุกร์และวันอีดกับบรรดาผู้นำทั้งที่เป็นคนดีและที่เป็นคนชั่ว และพวกเขาจะทำการรักษาการละหมาดญะมาอะฮฺเอาไว้ ”[19]
ส่วนในกรณีที่ผู้นำคนนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดเจน และแกนนำสังคมของมุสลิมมีความพร้อมที่จะกระทำการเปลี่ยนตัวผู้นำได้โดยไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและปัญหาที่หนักไปกว่าเดิมที่เป็นอยู่ อาทิเช่น ปัญหาความปั่นป่วนในสังคมและการเสียเลือดเสียเนื้อของผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น ในกรณีนี้ก็อนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้ โดยต้องวางอยู่บนฐานของความรอบครอบ ไตร่ตรองและพิจรณาความสมดุลระหว่างผลดีและผลเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาเป็นสำคัญ
ท่านเชคอับดุลอะซี้ซ อิบนุ บ้าซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ( ฮ.ศ.1420 ) ได้กล่าวไว้ว่า
“นอกเสียจากเมื่อชาวมุสลิมได้แลเห็นการปฏิเสธศรัทธาที่เด่นชัด และพวกตนก็มีหลักฐานอันหนาแน่นจากอัลลอฮฺที่ให้การยืนยันในเรื่องนี้ ก็ไม่เป็นไรที่จะออกมาต่อต้านผู้ปกครองคนนั้นเพื่อขจัดเขาออกไป ถ้าหากพวกเขามีความสามารถพอ ส่วนในกรณีที่พวกเขาไร้ความสามารถก็อย่าได้ออกมา หรือในกรณีที่การออกมากระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความชั่วร้ายที่หนักกว่า พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกมากระทำเช่นนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมเอาไว้นั่นเอง...”[20]
ท่านเชคอุบั้ยดฺ อิบนุ อับดิลลอฮฺ อั้ลญาบิรี่ยฺ ฮะฟิซ่อฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า
“ชาวซุนนะฮฺนั้น เป็นกลุ่มคนที่รักษาสัญญาและธำรงในคำมั่น ชาวซุนนะฮฺคือ กลุ่มคนที่ดำเนินตามคำมั่นสัญญาที่ได้มีไว้อย่างสมบูรณ์ ชาวซุนนะฮฺเป็นกลุ่มคนที่ให้การพิทักษ์การอยู่ร่วมกัน พวกเขาจะปกป้องเกียรติของผู้ที่อยู่ร่วมกับพวกเขา ไม่ละเมิดเกียรติ ไม่ละเมิดทรัพย์สินและไม่ละเมิดชีวิตของบุคคลผู้นั้น ชาวซุนนะฮฺที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาตลอดจนประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม พวกเขาให้การยึดมั่นต่ออัลลอฮฺว่า ระหว่างพวกเขาและระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านั้นที่พวกตนอาศัยอยู่ มีสัญญาและมีข้อตกลงระหว่างกัน ดังนั้นพวกเขาจะไม่บิดพลิ้วต่อมันเป็นอันขาด”
(ดู http://ar.miraath.net/fatwah/10651 สืบค้นเมื่อ 11/9/2015)
สรุปคือ แนวทางสลัฟจะไม่ยินยอมให้มีการกระด้างกระเดื่องต่อผู้นำมุสลิม แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ให้ทำหน้าที่ในการกล่าวเตือนในสิ่งผิดให้สุดความสามารถตามช่องทางที่ได้ถูกกำหนดไว้ และหากในกรณีที่ผู้นำได้ทำการปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดเจนโดยมีหลักฐานยืนยันได้ การจะออกมาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิจารณาและประเมินสถานการณ์อย่างรอบครอบถึงความเป็นไปได้และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาให้ดี หากไร้ความสามารหรืออยู่ในกรณีที่ได้ไม่คุ้มเสียหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายและการหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์ก็ไม่อนุญาติให้กระทำ และเช่นเดียวกัน หากเขาเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้สัญญาการเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม ก็ให้เขาทำการรักษาสัญญาดังกล่าวไว้ให้เต็มที่ๆสุดด้วยนั่นเอง
อนึ่ง ประเด็นนี้มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับประเด็นก่อนหน้าที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้อที่ 2 ดังนั้น โปรดพิจารณาเรื่องราวอย่างรอบครอบและระมัดระวังด้วย เนื่องจากกลุ่มกบฏ (ค่อวาริจ) ในยุคปัจจุบันมักจะนำความเชื่อผิดๆของพวกตนที่มีขึ้นเกี่ยวกับมาตรฐานข้อที่2 มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่พวกตนในการประพฤติผิดและมีจุดยืนที่ผิดๆในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อที่3 ต่อไปอีกด้วยนั่นเอง.
4. จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม และบรรดาบุคคลในครอบครัวของท่านร่อซูลุลลอฮฺﷺ
สำหรับมาตรฐานสำคัญในข้อนี้ ชาวสลัฟมีจุดยืนดังต่อไปนี้
-♥- รักและให้เกียรติศ่อฮาบะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม ทุกท่าน ซึ่งพวกท่านมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 114,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสี่พัน) ท่าน[21]
-♥- สำรวมปากและสำรวมใจในเรื่องราวเกี่ยวกับพวกท่าน และเชื่อว่าพวกท่านเป็นกลุ่มชนที่มีเกียรติที่สุด เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺ ตะอาลา พอพระทัยและเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการรับรองว่าอยู่ในความดีงาม
-♥- เชื่อว่าศ่อฮาบะฮฺสิบท่านที่ท่านร่อซู้ล ﷺรับรองว่าเป็นชาวสวรรค์นั้น เป็นชาวสวรรค์จริงๆ ตลอดจนเชื่อว่าบุคคลที่ประเสริฐที่สุดในพวกท่านคือ ท่านอบูบักร ตามด้วยท่านอุมัร ตามด้วยท่านอุสมาน และตามด้วยท่านอลี ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม ซึ่งพวกท่านเหล่านี้คือ บรรดา “คุละฟ้าอั้รรอชิดูน”
-♥- ให้เกียรติและเชิดชูวงศ์ญาติและบรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ ตามสิทธิที่พวกท่านพึงจะได้รับ
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُم بِإِحْسَانٍ رَّضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ﴾[22]
“ และบรรดาผู้ที่รุดนำหน้าไปในยุคแรก จากชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศ้อร ตลอดจนบรรดาผู้ที่ดำเนินตามพวกเขาด้วยการดำเนินตามอย่างดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยพวกเขาแล้ว และพวกเขาก็ต่างพอใจพระองค์
และพระองค์ยังได้ทรงจัดเตรียมบรรดาสวนสวรรค์ที่มีลำธารหลายสายไหลอยู่เบื้องล่างไว้ให้แก่พวกเขาแล้วอีกด้วย พวกเขาจะเป็นผู้ที่พำนักอยู่ในนั้นอย่างถาวรตลอดไป นั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ “
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัส เกี่ยวกับท่าทีที่เหมาะสมที่มุสลิมพึงปฏิบัตต่อบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม ไว้ว่า
﴿وَالَّذِينَ جَاءُوا مِن بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِّلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ﴾[23]
“ และบรรดาผู้ที่มาภายหลังจากพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาต่างกล่าวกันว่า พระเจ้าของเรา ขอพระองค์โปรดทรงอภัยแก่พวกเราและแก่พี่น้องของพวกเราที่รุดหน้านำพวกเราไปแล้วด้วยความศรัทธาด้วยเถิด
และขอพระองค์โปรดอย่าทรงทำให้ในหัวใจของพวกเรามีความขุ่นเคืองใดๆ ทั้งสิ้น ต่อบรรดาผู้ศรัทธาเลย พระเจ้าของเรา แน่นอนว่าพระองค์คือ พระผู้ทรงเอ็นดูอย่างยิ่งพระผู้ทรงเมตตาอย่างที่สุด”
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿النَّبِيُّ أَوْلَىٰ بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنفُسِهِمْ ۖ وَأَزْوَاجُهُ أُمَّهَاتُهُمْ...﴾[24]
"ผู้เป็นนบีนั้น สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาแล้วมีความเหมาะสมยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเองเสียอีก และบรรดาภรรยาของท่านก็เป็นบรรดามารดาของพวกเขา”
ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((أذكِّركم الله في أهل بيتي))[25]
“ฉันขอย้ำเตือนพวกท่านเกี่ยวกับบุคคลในครอบครัวของฉัน”
( บันทึกโดย มุสลิม )
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((اقتدوا بالذين من بعدي أبي بكر وعمر))[26]
“พวกท่านจงดำเนินตามบุคคลสองท่านภายหลังจากฉัน ซึ่งได้แก่ อบูบักรและอุมัร นั่นเอง”
(บันทึกโดย อั้ตติ้รมิซีย์)
ท่าน อิบนุอุมัร ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ (ฮ.ศ.73) ได้กล่าวไว้ความว่า
“ ในสมัยของท่านนบีนั้น พวกเราจะไม่นำใครทั้งสิ้นมาเทียบกับท่านอบูบักร ถัดจากนั้นก็คือ ท่านอุมัรและถัดลงมาก็คือ ท่านอุสมาน และถัดจากนั้นพวกเราก็จะปล่อยให้บรรดาสหายของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺเป็นไปตามสถานภาพของพวกท่าน โดยไม่ยกใครให้เหนือกว่าใคร”[27]
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ )
ท่านอลี ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ (ฮ.ศ.40) ได้กล่าวไว้ความว่า
“ไม่มีใครทั้งสิ้นที่มาบอกว่ากระผมประเสริฐกว่าท่านอบูบักรและท่านอุมัร นอกจากกระผมจะจัดการเฆี่ยนเขาผู้นั้นตามอัตราโทษของผู้กระทำการกล่าวให้ร้าย”[28] กล่าวคือท่านจะทำการลงโทษคนทุกคนที่มีคำพูดเช่นนั้นตามอัตราโทษที่ท่านได้คาดโทษไว้นั่นเอง”
( บันทึกโดย อิบนุอบีอาศิม)
ท่านเชค มุฮัมหมัด อิบนุอับดิลวะฮ้าบ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ( ฮ.ศ.1206 ) ได้กล่าวไว้ใน สารฉบับหนึ่งของท่านที่มีชื่อว่า “ริซาละตุนฟิ้รร้อดดิ อลั้รรอฟิเดาะฮฺ” ความว่า
“ดังนั้น เมื่อได้รับทราบถึงอาย้าตอั้ลกุรอ่านจำนวนมากที่ได้กล่าวถึงความประเสริฐของพวกท่าน ตลอดจนฮะดี้ษที่อยู่ในขั้นมุตะวาติ้ร (ปลอดข้อครหา) โดยมองจากภาพรวมของเนื้อหา ที่ต่างยืนยันถึงความสมบูรณ์แบบของพวกท่านแล้ว หากใครก็ตามที่ยังคงเชื่อว่า พวกท่านเลว หรือจำนวนมากของพวกท่านเลว และเชื่อว่าพวกท่านตกศาสนาหรือส่วนใหญ่ในพวกท่านตกศาสนา หรือเชื่อว่า การด่าทอพวกท่านเป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำและเป็นเรื่องที่อนุญาตให้กระทำได้ หรือกระทำการด่าทอพวกท่านโดยมีความเชื่อว่า การด่าทอพวกท่านนั้น เป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำและเป็นเรื่องที่อนุญาตให้กระทำได้ แน่นอนว่า เขาผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธต่ออัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ ในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงแจ้งเอาไว้เกี่ยวกับความประเสริฐของพวกท่านและความสมบูรณ์แบบของพวกท่าน...เสียแล้ว”[29]
ท่านร่อซู้ล ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((لا تسبوا أصحابي ، فلو أن أحدكم أنفق مثل أحد ذهبا ما بلغ مد أحدهم ولا نصيفه ))[30]
“พวกท่านอย่าได้ด่าทอบรรดาสหายของฉัน เพราะแม้ว่า ใครซักคนในพวกท่านจะทำการบริจาคทองเหมือนภูเขาอุฮุดออกไป มันก็ไม่เท่ากันกับจำนวนมุดหนึ่งของบุคคลหนึ่งในพวกเขาและไม่เท่าแม้แต่จำนวนครึ่งมุดของเขาเลย”(หนึ่งมุดเท่ากับหนึ่งกอบมือ)
( บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ และมุสลิม )
ท่านเชคมุฮัมหมัด อิบนุ อับดิลวะฮ้าบ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ความว่า
“ถ้าหากเป็นกรณีของการด่าทอบุคคลที่ไม่ได้มีหลักฐานที่ถึงขั้นมุตะวาติ้รให้การยืนยันในความประเสริฐและความสมบูรณ์ของบุคคลท่านนั้น เมื่อมองจากข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์แล้ว พบว่า ให้ทำการนับว่า บุคคลที่ทำการด่าทอบุคคลท่านนั้น เป็น คนบาป (ฟาศิก) ยกเว้นในกรณีที่เขาทำการด่าทอบุคคลท่านนั้น เนื่องจากการที่ท่านเป็นศ่อฮาบะฮฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺ เพราะในกรณีนี้ถือว่า เป็นการปฏิเสธศรัทธา”[31]
และท่านเชค ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ยังได้กล่าวไว้อีกความว่า
“และนี่คือ การทำลายฐานรากของศาสนา เนื่องจากฐานรากของศาสนานั้น คือ อั้ลกุ้รอานและอั้ลฮะดี้ษ ดังนั้น เมื่อมีการคิดไปว่า บุคคลผู้ที่รับข้อมูลมาจากท่านนบี ﷺ ต่างสิ้นศาสนากันหมด ยกเว้นจำนวนที่ไม่สามารถทำให้คำบอกเล่าของพวกเขาถึงขั้นตะวาตุ้ร (ปลอดข้อครหา) ได้เท่านั้น เมื่อนั้น ความเคลือบแคลงต่ออั้ลกุรอานและอั้ลฮะดี้ษก็จะเกิดขึ้นทันที พวกเราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากหลักความเชื่อที่นำพาไปสู่การทำลายร้างศาสนา”[32]
5. จะต้องมีความเชื่อ,มีจุดยืนและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อทุกๆข้อมูลที่อัลลอฮฺ ตะอาลา และร่อซู้ลของพระองค์ ﷺได้แจ้งเอาไว้
บรรดาสลัฟต่างมีความเชื่อถือและมั่นใจในทุกข้อมูลที่อัลลอฮฺ ตะอาลา และร่อซู้ลของพระองค์ ﷺ ได้แจ้งเอาไว้ให้รับทราบ โดยพวกท่านมั่นใจว่า
1. ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง , สื่อถึงข้อเท็จจริง ,และมีความครบถ้วนสมบูรณ์จริง
2. ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดเป็นข้อมูลที่มีการเลือกใช้ถ้อยคำและรูปประโยคในการสื่อสารที่
2.1. มีความเหมาะสมที่สุดและชัดเจนที่สุด. และ
2.2. บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงได้อย่างเที่ยงตรงและสมบูรณ์แบบที่สุดอีกด้วย
โดยทั้งหมดนี้ บุคคลใดก็ตามที่อ้างตนว่าดำเนินตามพวกท่านเหล่านี้ เขาเองก็จำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดด้วยเช่นกัน โดยจะต้องเป็นการเชื่อถือและมั่นใจที่วางอยู่บนฐานความเข้าใจของบรรดาสลัฟศอและฮฺ มิใช่ฐานความเข้าใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากพวกท่านด้วย.
ทั้งนี้เนื่องจาก ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นเป็นเรื่องที่เป็นผลลัพท์มาจากความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ซึ่งลักษณะของแหล่งข้อมูลที่จะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้นั้น จำเป็นที่แหล่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.ต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆหรือรู้จักข้อมูลนั้นๆโดยละเอียดและถูกต้อง
๒.ต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่มีสัจจะในการถ่ายทอดข้อมูล
๓.ต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลของตนอออกมาได้อย่างเที่ยงตรง เฉียบคมและชัดเจน
๔.ต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่มีจรรยาบรรณ ไม่มีเจตนาร้ายแอบแผง
ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสี่ลักษณะสำคัญตรงนี้ มีอยู่อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบอย่างยิ่งในข้อมูลจากอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ ﷺ
เมื่อเป็นเช่นนี้การเคลือบแคงสงสัย ไม่มั่นใจ หรือการพยามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อมูลเหล่านี้ให้ผิดไปจากความหมายที่รูปคำที่ถูกเลือกใช้ไว้ในข้อความของข้อมูลเหล่านี้ได้สื่อสารเอาไว้ให้เป็นที่เข้าใจตั่งแต่ครั้งแรกเมื่อได้อ่านหรือได้รับฟังโดยปราศจากหลักฐาน จึงถือได้ว่าเป็นการเสียมารยาทขั้นรุนแรงกับอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ ﷺ
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
قُلْ أَأَنتُمْ أَعْلَمُ أَمِ اللَّهُ (البقرة ، 140)
“จงพูดว่า พวกเจ้า หรือ อัลลอฮฺ กันแน่ ที่รู้ดีกว่า”
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿اللَّهُ لَا إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ۚ لَيَجْمَعَنَّكُمْ إِلَىٰ يَوْمِ الْقِيَامَةِ لَا رَيْبَ فِيهِ ۗ وَمَنْ أَصْدَقُ مِنَ اللَّهِ حَدِيثًا﴾[33]
“อัลลอฮฺคือ พระผู้ที่ ไม่มีผู้ที่ถูกสักการะและภักดีโดยชอบธรรมผู้ใดอื่นอีกแล้ว นอกจากพระองค์เท่านั้น แน่นอนว่าพระองค์ จะทรงทำการรวบรวมพวกเจ้าสู่วันกิยามะฮฺ ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยใดๆทั้งสิ้นในเรื่องนี้ และใครกันอีก ที่จะมีคำพูดที่สัจจริงยิ่งกว่าอัลลอฮฺ”
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَمَا يَنطِقُ عَنِ الْهَوَىٰ . إِنْ هُوَ إِلَّا وَحْيٌ يُوحَىٰ﴾[34]
“และเขาไม่ได้พูดออกมาจากอารมณ์ส่วนตัว. สิ่งนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากเป็นการได้รับการประทานข้อมูลมาให้เท่านั้น (วะฮฺ) “
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัส เกี่ยวกับลักษณะของภาษาที่ทรงใช้ในอั้ลกุ้รอานของพระองค์ไว้ว่า
﴿بِلِسَانٍ عَرَبِيٍّ مُّبِينٍ﴾[35] “ด้วยลิ้น (ภาษา) อรับที่ชัดเจนอย่างยิ่ง”
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
الم (1) ذَٰلِكَ الْكِتَابُ لَا رَيْبَ ۛ فِيهِ ۛ هُدًى لِّلْمُتَّقِينَ (2)
“อะลีฟ ลาม มีม นั่นคือ คัมภีร์ที่ไม่มีความสงสัยเคลือบแคงใดๆทั้งสิ้นในนั้น เป็นการชี้นำสำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”
ท่านร่อซู้ล ﷺ กล่าวว่า
((إِنَّ أَتْقَاكُمْ وَأَعْلَمَكُمْ بِاللَّهِ أَنَا))
”แน่นอนว่า คนที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺที่สุดและรู้จักอัลลอฮฺมากที่สุดในพวกท่านก็คือ ฉัน”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮา ได้กล่าวไว้ว่า
" من حدثك أن النبي ﷺ كتم شيئا من الوحي فلا تصدقه ، إن الله تعالى يقول
﴿يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ ۖ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ...﴾[36] "[37]
“ หากมีใครก็ตามมาบอกท่านว่า ท่านนบี ﷺ ได้ทำการปกปิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากอั้ลวะฮฺ (ข้อมูลที่ได้รับการประทานมา) เอาไว้ ท่านก็อย่าได้เชื่อเขา แน่นอนว่า อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่ง ได้ตรัสไว้ว่า
(( ผู้เป็นร่อซู้ล เจ้าจงเผยแผ่สิ่งที่ถูกประทานลงมาให้เจ้าจากพระเจ้าของเจ้า และหากเจ้าไม่ยอมกระทำ นั่นก็เท่ากับว่าเจ้าไม่ได้เคยเผยแผ่สารใดๆของพระองค์มาก่อนเลย)) ”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ และมุสลิม )
สรุปว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่จะต้องให้ความเชื่อถือต่อทุกสิ่งที่พระเจ้า ตะอาลา และร่อซู้ลของพระองค์ ﷺ ได้บอกไว้ โดยไม่ต่อต้าน ไม่เคลือบแคลงและไม่ดูถูก ทั้งนี้ ยังต้องเป็นความเชื่อถือที่ประกอบกับการมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกับความเข้าใจของบรรดาสลัฟ ศอและฮฺ อีกด้วย นั่นเอง
6. จะต้องมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “ก่อดั้ร”(กำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา )ให้ถูกต้อง
แนวทางสลัฟเป็นแนวทางที่มีการศรัทธาต่อเรื่องก่อดั้ร หรือกำหนดสภาวการณ์อย่างถูกต้อง โดยเป็นความเชื่อที่ได้มาจากการยึดโยงข้อมูลจากบรรดาหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้เข้าด้วยกัน แล้วจึงกลั่นออกมาเป็นความเข้าใจที่เที่ยงตรงที่สามารถทำให้หลักฐานแต่ละส่วนทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ มิใช่เป็นเพียงความเข้าใจที่หยิบจับมาจากหลักฐานบางส่วนและทิ้งอีกบ้างส่วนไปเช่นที่เกิดกับกลุ่มที่หลงออกจากทางหลายๆกลุ่ม
สำหรับแนวทางในการอธิบายถึงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องก่อดั้รตามความเข้าใจของแนวทางสลัฟนี้ เพื่อความสะดวกแก่การเข้าใจแล้ว เราควรแบ่งเนื้อหาในการอธิบายออกเป็นสองส่วนดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ตะอาลา และส่วนที่สอง เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้เป็นบ่าว.
สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ตะอาลา นั้น แนวทางสลัฟเชื่อว่า
1- พระเจ้าทรงรู้ทุกสิ่ง ทรงกำหนดทุกเรื่องราว ทรงมีอำนาจเบ็ดเส็จในการตัดสินว่าเรื่องใดควรจะเกิดขึ้นหรือเรื่องใดไม่ควรจะเกิดขึ้นและทรงเป็นผู้ที่ทรงสร้างให้ทุกๆสิ่งมีขึ้นมาได้.
2-พระเจ้าทรงมีเหตุผลที่ลึกซึ้งและมีความเหมาะสมที่สุดเสมอ ในการบริหารกิจการต่างๆของพระองค์.
3-พระเจ้าจะไม่ทรงถูกถามในสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ.
4-พระเจ้าได้ทรงประกาศไว้ชัดเจนว่า พระองค์จะไม่ทรงอธรรมต่อผู้ใดทั้งสิ้น.
ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้เป็นบ่าวนั้น แนวทางสลัฟเชื่อว่า
1-ผู้เป็นบ่าวอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า ตะอาลา
2-ผู้เป็นบ่าวถูกกำหนดหน้าที่มาให้รับผิดชอบ
3-ผู้เป็นบ่าวได้รับการอำนวยให้อยู่ในสภาพของผู้ที่มีความสามารถในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนได้ กล่าวคือ สามารถคิดได้ ตัดสินใจได้และลงมือกระทำได้
4-ผู้เป็นบ่าวไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคต
5-ผู้เป็นบ่าวจะต้องถูกสอบสวนในสิ่งที่ตนได้กระทำไว้
สรุปคือ แนวทางสลัฟเชื่อว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ภายใต้การกำหนดของพระองค์ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงกำหนดหน้าที่ให้พวกเราต้องรับผิดชอบ ทรงเมตตาต่อพวกเราโดยทรงทำให้พวกเราอยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา
แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ได้ทรงปิดไม่ให้พวกเราได้รับทราบว่า อนาคตของพวกเราแต่ละคนที่ถูกกำหนดเอาไว้นั้นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการกระทำต่างๆของพวกเราที่ได้กระทำออกมาจึงวางอยู่บนฐานของความคิดและการตัดสินใจของเราที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นๆออกมา ณ เวลานั้น มิได้วางอยู่บนฐานของการหยั่งรู้ถึงอนาคตของตนแต่อย่างใด
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็จะทรงคิดบัญชีพวกเราจากสิ่งที่เราได้ตัดสินใจลงมือกระทำมันลงไป ซึ่งทั้งหมดจะสอดคล้องกับกำหนดสภาวการณ์ของพระองค์ที่ได้วางไว้และพระองค์ไม่ได้ทรงอธรรมต่อผู้ใดทั้งสิ้นอย่างแน่นอน
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿إِنَّا كُلَّ شَيْءٍ خَلَقْنَاهُ بِقَدَرٍ﴾[38] “ และทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเราสร้างมันขึ้นมาด้วยกำหนดการณ์ “
และตรัสว่า
﴿وَمَا تَشَاءُونَ إِلَّا أَن يَشَاءَ اللَّهُ رَبُّ الْعَالَمِينَ﴾[39]
“ และพวกเจ้ามิได้ประสงค์ นอกเสียจากอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าแห่งทุกสิ่งจะทรงประสงค์เท่านั้น”
( อั้ตตั้กวี้ร/29)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَمَا تَدْرِي نَفْسٌ مَّاذَا تَكْسِبُ غَدًا ۖ وَمَا تَدْرِي نَفْسٌ بِأَيِّ أَرْضٍ تَمُوتُ ۚ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ﴾[40]
“และชีวิตหนึ่งย่อมไม่ทราบว่า มันจะขวนขวายได้อะไรมาในวันพรุ่งนี้ และชีวิตหนึ่งย่อมไม่ทราบว่ามันจะตายลง ณ แผ่นดินผืนใด แน่นอนว่า อัลลอฮฺทรงเป็นพระผู้ทรงรอบรู้ พระผู้ทรงเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง”
พระองค์ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿...كُلَّمَا أُلْقِيَ فِيهَا فَوْجٌ سَأَلَهُمْ خَزَنَتُهَا أَلَمْ يَأْتِكُمْ نَذِيرٌ. قَالُوا بَلَىٰ قَدْ جَاءَنَا نَذِيرٌ فَكَذَّبْنَا...﴾[41]
“ทุกครั้งที่มีกลุ่มๆหนึ่งถูกโยนตัวลงไปในนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลมันอยู่ก็จะถามพวกเขาว่า ผู้ตักเตือนได้มาหาพวกเจ้าแล้วไม่ใช่หรือ.
พวกเขากล่าวว่า ใช่ พวกเขามาหาพวกเราแล้ว แต่พวกเราปฏิเสธ”
ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((اعملوا فكل ميسر لما خلق له)) [42]
“พวกท่านจงปฏิบัติกันเถิด เพราะทุกคนจะได้รับการอำนวยสู่สิ่งที่ตนถูกสร้างขึ้นมาสำหรับมัน”
(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์และมุสลิม)
ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า
((احرص على ما ينفعك واستعن بالله))[43]
“ ท่านจงเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน และจงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ”
(บันทึกโดย มุสลิม)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿لَا يُسْأَلُ عَمَّا يَفْعَلُ وَهُمْ يُسْأَلُونَ﴾[44]
“ พระองค์จะไม่ทรงถูกสอบถามถึงสิ่งที่ได้ทรงกระทำ ในขณะที่พวกเขาเองต่างหากที่จะต้องถูกสอบสวน “
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿...وَوَجَدُوا مَا عَمِلُوا حَاضِرًا ۗ وَلَا يَظْلِمُ رَبُّكَ أَحَدًا﴾[45]
“และพวกเขาก็พบกับสิ่งที่พวกตนได้กระทำกันไว้ โดยที่มันมาปรากฏอยู่ต่อหน้า
และพระเจ้าของเจ้าไม่ทรงอธรรมต่อผู้ใดทั้งสิ้น”
وصلى الله على محمد وآله وصحبه أجمعين