การรีบเร่งทำความดี
  จำนวนคนเข้าชม  6480

บทที่ว่าด้วยการรีบเร่งทำความดี
และกระตุ้นผู้ที่มุ่งไปในแนวทางที่ดีแล้ว ให้ทุ่มเททำความดีด้วยความจริงจัง ไม่ลังเล


เล่าจากอะบีฮุรอยเราะห์ ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์  ได้กล่าวว่า :
        “ท่านทั้งหลายจงรีบทำความดีก่อนที่จะเกิดความวิบัติ ที่มีสภาพเหมือนช่วงต่างๆ ในเวลากลางคืนที่มืดมิด ที่คนหนึ่งในยามเช้าเขามีศรัทธา(มุอฺมิน) พอตกเวลาเย็นเขากลายเป็นผู้ไร้ศรัทธา (กาฟิร) หรือในยามเย็น เขาเป็นผู้ไร้ศรัทธา (กาฟิร) พอถึงเวลาเช้าเขากลายเป็นผู้มีศรัทธา(มุอฺมิน) เขายอมแลกศาสนาด้วยทรัพย์สินอันไร้ค่าในโลกนี้”

รายงานโดยมุสลิม


เล่าจากอะบี ซิรวะอะห์ บุตรอัลฮาริส ได้กล่าวว่า :
       ข้าพเจ้ายืนละหมาดอัสร์อยู่ข้างหลังท่านนบี  ที่นครมะดีนะห์ ต่อมาท่านได้สลาม(เสร็จ)ละหมาด ท่านลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว แล้วก้าวข้ามไหล่ผู้คนไปที่ห้องภรรยาคนหนึ่งของท่าน ผู้คนพากันตกใจในความรีบร้อนของท่าน จากนั้นได้กลับออกมาหาพวกเขา เมื่อท่านเห็นว่าพวกเขาประหลาดใจในความรีบร้อนของท่าน ท่านจึงกล่าวว่า :
       “ฉันนึกขึ้นได้ว่ามีทองคำหรือเงินแท่งอยู่ที่เรา และฉันไม่ชอบที่มันจะทำให้เกิดความกังวลใจแก่ฉัน ฉันจึงใช้ให้นำมันออกมาแจกจ่าย”


รายงายโดยบุคอรีย์
และในรายงานหนึ่งของบุคอรีย์ว่า : “ฉันได้ทิ้งทองคำหรือเงินแท่งที่เป็นซะกาตไว้ในบ้าน และฉันไม่ชอบที่จะให้มันค้างคืนอยู่ในบ้าน”



เล่าจากญาบิร  มีคนหนึ่งกล่าวแก่ท่านนบี  ในวันศึกที่อุฮุดว่า :
ขอท่านได้โปรดบอกฉันเถิดถ้าหากฉันถูกสังหาร ฉันจะไปอยู่ที่ไหน?
ท่านตอบว่า : “อยู่ในสวรรค์”
เขาได้โยนผลอินทผลัมที่อยู่ในมือทิ้งไป แล้วเข้าสู้รบ จนในที่สุดเขาถูกสังหาร

รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม



เล่าจากอะบีฮุรอยเราะห์   ได้กล่าวว่า : มีคนหนึ่งมาหาท่านรอซูลุลลอฮ์ แล้วถามว่า :
 โอ้ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ การบริจาค(ซอดาเกาะห์)อย่างไหนที่ได้รับผลบุญมากที่สุด?
ท่านตอบว่า :
“คือการที่ท่านบริจาคขณะที่ตัวท่านเองมีสุขภาพดี มีความหวง กลัวความจน และอยากรวย และท่านอย่าเพิกเฉย จนเมื่อวิญญาณขึ้นมาถึงลูกกระเดือก ท่านก็จะกล่าวว่า เป็นของคนนั้นเท่านั้น เป็นของคนนี้เท่านี้ ทั้งที่มันต้องเป็นของคนนั้นคนนี้อยู่แล้ว”

รายงานโดยมุสลิม


 เล่าจากอะนัส   ว่า
ท่านรอซูลุลลอฮ์  ได้หยิบดาบขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในวันสงครามที่อุฮุด แล้วกล่าวว่า :
มีใครจะเอาดาบเล่มนี้ไปจากฉันบ้าง?
พวกเขาแบมือออกทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า : ฉันเอง ฉันเอง
ท่านกล่าวว่า : มีใครบ้างที่จะนำไปใช้อย่างสมศักดิ์ศรี?
พวกเขาชะงัก
อะบูดุญานะห์  ได้พูดขึ้นว่า : ฉันเองที่เอามันไปใช้อย่างสมศักดิ์ศรี
และเขาได้เอาดาบเล่มนั้นไป เขาใช้มันผ่าหัวพวกมุชริกีน

รายงานโดยมุสลิม
(อะบูดุญานะห์มีชื่อจริงว่า : สิมาก บุตรคอรอชะห์)


เล่าจาก อัซซุบัยร์ บุตรอะดีย์ว่า : พวกเราได้มาหา อะนัส บุตรมาลิก   และพวกเราได้ร้องเรียนต่อเขา ถึงสิ่งที่พวกเราได้พบจากฮัจญาจ เขากล่าวว่า : “ท่านทั้งหลายจงอดทนเถิด เพราะความจริงจะไม่มียุคใดนอกจากยุคหลังจากนั้นจะเลวยิ่งกว่า จนกว่าพวกท่านจะไปพบกับองค์อภิบาลของพวกท่าน”
ฉันได้ยินคำพูดนี้มาจากนบี ของพวกท่าน

รายงานโดยบุคอรีย์


เล่าจากอะบีฮุรอยเราะห์   ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า :
        “ท่านทั้งหลายจงรีบเร่งทำความดี ก่อนที่ 7 ประการนี้จะเกิดขึ้นกับพวกท่าน
พวกท่านไม่ได้รอคอยสิ่งใดนอกจากความจนที่ถูกลืมไปแล้ว หรือความรวยที่กดขี่ หรือความเจ็บป่วยที่ทำให้ถดถอย หรือความชราภาพที่ทำให้สติเลอะเลือน หรือความตายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือดัจญาลซึ่งเป็นสิ่งเร้นลับที่เลวร้าย หรือวันกิยามะห์นั้นวุ่นวายและขื่นขมยิ่ง”

รายงานโดยติรมีซี และกล่าวว่า : เป็นฮะดีษฮะซัน


เล่าจากเขา (อบีฮุรอยเราะห์) ว่าท่านรอซูลุลลอฮ์  ได้กล่าวไว้ในวันศึกที่คอยบัรว่า :
“ฉันจะต้องมอบธงผืนนี้ให้แก่ผู้ที่รักอัลเลาะห์และศาสนทูตของพระองค์ ซึ่งอัลเลาะห์จะมอบชัยชนะให้อยู่ในมือทั้งสองข้างของเขา”
อุมัร  ได้กล่าวว่า : ฉันไม่เคยอยากได้ตำแหน่งเลย นอกจากในวันนั้น ฉันกระโดดคอยชะเง้อเพื่อให้ได้มัน โดยหวังว่าฉันจะถูกเรียกให้ไปรับธง
ต่อมาท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้เรียกอะลี บุตรอะบีตอลิบ  ท่านได้มอบธงให้เขาแล้วกล่าวว่า :
“จงมุ่งหน้าไปและอย่าเหลียวมอง จนกว่าอัลเลาะห์จะมอบชัยชนะแก่ท่าน”
อะลีออกเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง เขาหยุด แต่ก็ไม่ได้เหลียวมอง เขาส่งเสียงตะโกนว่า :
ท่านรอซูลลุลเลาะห์ ฉันจะออกไปต่อสู้กับผู้คนเพื่อยึดหลักอะไร?
ท่านกล่าวว่า : ท่านจงต่อสู้กับผู้คนจนกว่าพวกจะกล่าวปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่ถูกสักการะ โดยเที่ยงแท้ นอกจากอัลเลาะห์เท่านั้น และว่ามูฮัมหมัด เป็นศาสนทูตของพระองค์ เมื่อพวกเขาได้กระทำการดังกล่าวนั้น พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจากท่าน ทั้งเลือดเนื้อ และทรัพย์สินของพวกเขา ยกเว้นโดยสิทธิ์ของมัน (ตามที่ศาสนากำหนด) และการสอบสวนพวกเขาเป็นหน้าที่ของอัลเลาะห์

รายงานโดยมุสลิม


ที่มา: ริยาดุสซอลีฮีน


โดย อาจารย์ อรุณ บุญชม