ถ้อยคำตักเตือน จาก ชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์
  จำนวนคนเข้าชม  1516

ถ้อยคำตักเตือน จาก ชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์

 

แปลเรียบเรียง ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา

 

     มีหะดีษที่รายงานจากท่านอบูมาลิก อัลอัชอะรีย์ รอฎิยัลลอฮุอันฮุว่าแท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า :


     “เรื่องสี่อย่างที่เป็นเรื่องในยุคของพวกญาฮิลียะฮฺซึ่งยังคงมีอยู่ในประชาชาติของฉันโดยที่พวกเขายังไม่เลิกรามันคือ

(1.) การเชิดชูโอ้อวดวงศ์ตระกูล

(2.) การตำหนิเหยียดหยามในเรื่องสกุลเชื้อชาติ 

(3.) การขอฝนจากหมู่ดาว และ

(4.) การร้องไห้ฟูมฟายต่อผู้ตาย” 

และท่านนบีได้กล่าวอีกว่า

     “หญิงที่ร้องไห้ฟูมฟายและไม่สำนึกผิดก่อนที่นางจะตาย ในวันกิยามะฮฺร่างของนางจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพโดยถูกราดด้วยทองเหลืองที่หลอมละลายคล้ายๆกับเสื้อเกราะ จนผิวหนังของนางพุพอง เน่าเฟะ

(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

 

ท่านชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์ได้กล่าวว่า

 

     “ผู้รู้ที่แท้จริงนั้น คราใดที่เขามีความรู้เพิ่มมากขึ้น ครานั้นเขาก็จะยิ่งรู้ซึ้งถึงความโง่ของตนเอง

     ส่วนผู้ที่น่าสมเพชเวทนา(พวกอวดรู้)นั้นคราใดที่เขาได้รับรู้อะไรแค่เพียงสักอย่าง ครานั้นเขาก็จะยิ่งมีความลำพองตน ประหนึ่งว่าเขาคือปราชญ์ชั้นอาวุโสของโลกอิสลาม

     ซึ่ง(คนที่น่าสมเพชนี้)เมื่อเขาได้เรียนรู้เพียงแค่อักษรเดียว หรือเพียงแค่สองสามคำ เขาก็จะคิดว่าไม่มีใครที่จะสามารถมาเทียบเคียงกับเขาได้เลยสักคน คนแบบนี้ไม่มีทางได้เป็นผู้รู้อย่างแน่นอน และเขาจะเป็นได้เพียงแค่พวกหลงตัวเองเท่านั้น และตกอยู่ในความเลวร้ายอันมากมาย

 

ท่านชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์ได้กล่าวว่า 

 

     “ผู้ใดก็ตามที่ไม่ยึดมั่นอัลกุรอานและสุนนะฮฺ(อย่างแท้จริง) เขาก็จะมีพฤติกรรมโลเลแปรเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ และท่านก็จะได้ยินคำพูดของเขาว่ามันค้าน ย้อนแย้งกับคำพูดก่อนหน้าของเขาอยู่เสมอ(วันก่อนพูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง) ซึ่งต่างกับผู้ที่ยึดมั่นอัลกุรอานและสุนนะฮฺอย่างแท้จริงในทุกยุคทุกสมัย โดยที่คำพูดของพวกเขาเหล่านั้นล้วนแต่มั่นคงไม่แปรเปลี่ยน และเป็นหนึ่งเดียว เพราะแหล่งยึดมั่นของพวกเขามีเพียงหนึ่งเดียวและมั่นคงไม่แปรผัน นั่นก็คือ อัลกุรอานและสุนนะฮฺ

 

ชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์ได้กล่าวว่า 

 

     “ไม่มีผู้ใดที่แต่งตำราขึ้นมาหนึ่งเล่ม นอกเสียจากว่าเขาผู้นั้นจะแต่งมันขึ้นมาเพื่อสนองต่อสิ่งที่อยู่ภายในใจของเขา แม้กระทั่งตำราที่เกี่ยวข้องกับไวยากรณ์อาหรับก็ตาม ท่านก็จะพบเรื่องอะกีดะฮฺ(หลักความเชื่อมั่น)ภายในตำราเล่มนั้น

     ด้วยเหตุนี้เองเมื่อพวกมัวะอฺตะซิละฮฺ(กลุ่มหลงผิดกลุ่มหนึ่ง)ได้แต่งตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับไวยากรณ์อาหรับ และวาทศาสตร์(บะลาเฆาะฮฺ) พวกเขาก็จะนำหลักความเชื่อมั่นของพวกมัวะอฺตะซิละฮฺใส่ลงไปในตำราเล่มนั้นอย่างเต็มที่

 

     (ยกตัวอย่างเช่น) ตำราอัลค่อศออิศ ของอิบนุญินนีย์ -ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตำราหลักด้านหลักภาษา- เป็นตำราที่เต็มไปด้วยตัวอย่างต่างๆที่ตอกย้ำถึงหลักความเชื่อมั่นของมัวะอฺตะซิละฮฺ และเต็มไปด้วยถ้อยคำมากมายที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อมั่นของมัวะอฺตะซิละฮฺ

     ฉะนั้นท่านจงระวังให้ดี เมื่อท่านคิดจะกล่าวว่าตำราเล่มนี้(อัลค่อศออิศ)เป็นแค่ตำราด้านไวยากรณ์อาหรับซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหลักความเชื่อมั่นเลย

     เพราะจริงๆแล้วหลักความเชื่อมั่นนั้นมันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เสมอ(โดยไม่แยกจากกัน) และจะไม่มีใครคนใดที่แต่งตำราขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง นอกเสียจากว่าเขาแต่งมันขึ้นมาเพื่อสนองต่อหลักความเชื่อมั่นของเขา ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องรับรู้ในเรื่องนี้

 

ชัยคฺสุลัยมาน อัรรุฮัยลี่ย์ได้กล่าวว่า 

 

     "บางครั้งคนเราก็ถูกทดสอบด้วยการเผชิญกับผู้เห็นต่างคนหนึ่งที่มีความรู้จริง มันก็เป็นเรื่องง่ายที่เขาจะถกและโต้แย้งกับคนๆนั้น แต่หากว่าเมื่อคนเราถูกทดสอบด้วยการเผชิญกับ(ผู้เห็นต่าง)คนหนึ่งที่ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา และไม่มีความยุติธรรม ซึ่งคนประเภทนี้จะไม่โต้แย้งด้วยความรู้ และจะไม่ตัดสินด้วยความยุติธรรม และจะไม่สนทนาด้วยปัญญา ดังนั้นจึงไม่มีหนทางใดที่จะไปสนทนากับคนประเภทนี้ 

 

     ดังนั้นหน้าที่ของเขา(ผู้ที่ถูกทดสอบให้เผชิญกับคนประเภทนี้) ก็คือ เขาจะต้องนิ่งเงียบจาก(การสนทนาหรือโต้แย้งกับ)คนประเภทนี้ แล้วสักวันคนประเภทนี้ก็จะเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมาเอง ถึงแม้ว่าเขาจะทำเป็นอิ่มเอมกับสิ่งที่เขาไม่เคยมีเลยก็ตาม"(ไม่เคยมีความรู้ ไม่เคยมีความยุติธรรม ไม่เคยมีปัญญา)