มีความรู้ ดีแต่พูด แต่ไม่ทำ
โดย... อาจารย์ดาวูด รอมาน
นับได้ว่าเป็นแนวทางของผู้รู้ยุคนี้เสียส่วนมาก ที่มักจะใช้วิชาความรู้ด้านศาสนามาเป็นปัจจัยหลักสำหรับการประกอบอาชีพ ประกอบกับลีลาและวาทศิลป์ในการพูดเพื่อแสวงหาความชื่นชอบของผู้ฟัง โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่พูดหรือนำเสนอออกไปจะถูกหรือผิด และไม่คำนึงว่าตัวผู้พูดเองจะเป็นอย่างไร กล่าวคือ ใช้ให้คนอื่นทำความดีแต่ตัวเองไม่ทำ หรือห้ามคนอื่นทำชั่วแต่ว่าตัวเองสุดชั่ว อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า
“พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนทำดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวเองกระนั้นหรือ ทั้งๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์กันอยู่
และพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ?”
(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 44)
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ
เป็นที่น่าเกลียดยิ่ง ณ อัลลอฮฺกับการที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ”
(อัศศ็อฟ 61 : 2-3)
ดังนั้น กับความโกรธกริ้ว, เกลียดชังของอัลลอฮฺ เกิดมาจากการที่มนุษย์ได้กระทำสิ่งเลวร้าย โดยเฉพาะกับบรรดาผู้รู้แล้วพวกเขาคือต้นแบบให้กับผู้คนทั่วไปที่จะคอยปฏิบัติตามพฤติกรรม ปฏิบัติตามคำพูดของเขา ดังนั้น หากว่าผู้รู้ดีแต่พูดโดยไม่ทำจะทำให้ผู้คนเขาเข้าใจว่าอย่างไร?
แต่ว่าที่แน่ๆ คือ ผู้รู้ พวกนี้ทำตัวเหมือนพวกปราชญ์ของยิวที่ใช้คนอื่นให้เชื่อนบีมูฮัมหมัด แต่ตัวเองไม่ยอมเชื่อ และผู้รู้พวกนี้ต้องได้รับความโกรธกริ้ว ความเกลียดชังจากอัลลอฮฺอย่างแน่นอน
“ชายผู้หนึ่งจะถูกพามาในวันกิยามะฮฺแล้วจะถูกโยนลงไปในนรก ลำไส้ของเขาจะทะลักออกมาข้างนอก เขาจะหมุนอยู่รอบไส้เหมือนกับลาที่หมุนอยู่รอบโม่
ชาวนรกจะพากันชุมนุมรอบตัวเขาโดยกล่าวว่า : โอ้ท่านเป็นอะไรหรือ? ไม่ใช่ท่านดอกหรือที่เป็นผู้สั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามไม่ให้ทำความชั่ว?
เขาตอบว่า หามิได้ ! ฉันเป็นผู้ที่ได้สั่งใช้ให้ทำความดีแต่ฉันเองไม่เคยทำเลย และฉันเป็นผู้ที่ห้ามปรามไม่ให้ทำชั่วแต่ฉันเป็นผู้ทำเอง”
(บันทึกโดย บุคอรีย์และมุสลิม)
ที่มา : สารดาริสสลาม เล่มที่ 9 เดือนตุลาคม 2548