จุดประกายอิสลาม
สมศักดิ์ มูหะหมัด
นับเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺ ประทานให้แก่มวลมุสลิมด้วยการกำหนดให้มีวันอีดแก่พวกเขา วันอีดแรกเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ คือ วันญุมอะฮ์หรือวันศุกร์ เป็นวันครบรอบสัปดาห์ที่บรรดามุสลิมเสร็จสิ้นการปฏิบัติละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง อันเป็นการแสดงความภักดีต่ออัลลอฮฺ ส่วนวันอีดประจำปี คือ วันอีดิลฟิฎร์และวันอีดิลอัฎฮา วันอีดิลฟิฎร์มีมาภายหลังจากที่บรรดามุสลิมได้ปฏิบัติอิบาดะห์ประการสำคัญประจำปีเป็นเวลาถึง 1 เดือนเต็มคือ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐและทำการละหมาดกิยาม (ตะรอเวียะห์) พร้อมกับปฏิบัติคุณงามความดีประการอื่นๆ เช่น การอ่านทบทวนอัลกุรอาน การกล่าวซิกรุลลอฮฺ กล่าวซอละวาตนบี กล่าวขออภัยโทษในความผิด การทำซอดาเกาะฮ์ การประกอบพิธีอุมเราะห์ การเลี้ยงอาหารละศีลอด การแสดงความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากไร้ คนอนาถา เด็กกำพร้า หญิงหม้าย และคนชรา
วันอีดเป็นวันที่มุสลิมแสดงความปลื้มปิติในชีวิตแห่งโลกดุนยา เป็นการแสดงความยินดีที่ได้สะสมความดีไว้สำหรับโลกอาคิเราะห์ ความปลาบปลื้มเช่นนี้ อัลลอฮฺทรงให้นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำเสนอ โดยปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์ยูนุส อายะฮ์ที่ 58 ว่า
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺและด้วยความเมตตาของพระองค์ ดังกล่าวนั้น พวกเขาจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาได้สะสมไว้”
ความสำคัญของวันญุมอะฮฺหรือวันศุกร์มีรายงานสืบมา โดยเป็นหะดิษหลายบทระบุว่า วันที่ดีที่สุดในรอบสัปดาห์คือวันญุมอะฮฺ เพราะเป็นวันที่นบีอาดัมถูกบังเกิด ถูกให้พำนักอยู่ในสวรรค์ ถูกให้ออกจากสวรรค์ วันกิยามะฮฺจะเกิดในวันนี้ มีชั่วโมงหนึ่งที่ผู้ละหมาดขอสิ่งใดจากพระองค์อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะประทานให้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺให้กล่าวซอลาวาตแก่ท่านให้มาก
วันอีดิลฟิฏร์ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล เป็นวันที่แสดงถึงความสำเร็จของบรรดามุสลิมในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ สามารถเอาชนะต่อตัณหาอารมณ์ ความใคร่อยากกินอยากดื่ม เป็นวันแห่งความเมตตากรุณา ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเรียกวันนี้ว่า “วันแห่งการประทานรางวัล” โดยมีรายงานที่ท่านได้กล่าวกับญาบิร อัล อันซอรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
“เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนเซาวาล มีผู้ประกาศว่า โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงออกมารับรางวัลของพวกท่านเถิด”
แล้วท่านกล่าวอีกว่า
“โอ้ ญาบิร รางวัลของอัลลอฮฺไม่เหมือนกับรางวัลของผู้ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ วันอีดเป็นวันประทานรางวัล จึงสมควรที่บุคคลจะมีความนอบน้อมถ่อมตนในวันอีด โดยหวังว่า อัลลอฮฺจะทรงรับภาคผลในการถือศีลอดของเขา และการปฏิบัติอิบาดะฮฺของเขาระหว่างเดือนรอมฎอน”
มีรายงานจากอัฏฏอบรอนีย์ว่า
“เมื่อถึงวันอีดิลฟิฏร์ บรรดามลาอิกะฮฺจะยืนอยู่ ณ ต้นทางพลางประกาศว่า
โอ้ มุสลิมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงออกมายังพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงประทานความดี และผู้ทรงตอบแทนที่ยิ่งใหญ่
ท่านทั้งหลายถูกใช้ให้ละหมาดกิยาม ท่านทั้งหลายก็ละหมาด
ท่านทั้งหลายถูกใช้ให้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ท่านทั้งหลายก็ถือศีลอด
ท่านทั้งหลายต่างภักดีต่อพระเจ้าของพวกท่าน ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงมารับรางวัลของพวกท่านเถิด
เมื่อพวกเขาละหมาดอีด จะมีผู้ประกาศจากฟากฟ้าว่า
ท่านทั้งหลายจงกลับไปยังบ้านเรือนของพวกท่านโดยได้รับการนำทางที่ถูกต้อง
แท้จริง พระองค์ทรงอภัยโทษแก่พวกท่าน และวันนี้ได้ถูกตั้งชื่อในฟากฟ้าว่า เยามุลญะซาอ์ – วันแห่งการตอบแทน”
วันอีดในอิสลามมีความแตกต่างกับวันสำคัญของประชาชาติต่างๆ วันอีดิลฟิฏร์เป็นวันที่บรรดามุสลิมอำลาเดือนรอมฎอน บรรดามุสลิมทั่วโลกเริ่มวันอีดิลฟิฏร์ด้วยการกล่าวตักบีร เพื่อเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ อันเป็นการสนองคำบัญชาของพระองค์ที่ว่า
“และเพื่อสูเจ้าทั้งหลายทำให้จำนวนวัน (ของเดือนรอมฎอน) ครบถ้วน และเพื่อเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺที่ทรงนำทางพวกสูเจ้า เพื่อพวกสูเจ้าจะแสดงความขอบคุณ”
(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 185)
การกล่าวตักบีร เริ่มตั้งแต่เมื่อเห็นดวงจันทร์ค่ำแรกของเดือนเซาวาล โดยให้กล่าวมากๆ ไม่ว่าจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นหมู่คณะ ไม่ว่าจะอยู่ตามถนนหนทาง ในบ้านเรือน ในมัสญิด ในชุมชน ให้กล่าวคำตักบีรจนกระทั่งอิมามเริ่มนำละหมาดอีด รูปแบบของถ้อยคำตักบีร นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า ให้กล่าว 3 ครั้ง คือ
“อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่”
อิมามอันนะวาวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล มัจมัวอ์” ของท่านว่า รูปแบบของ การกล่าวถ้อยคำตักบีรที่ชอบให้ปฏิบัติคือ “อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร” นี่เป็นถ้อยคำที่ประจักษ์จากอิมามอัซซาฟิอีย์ อิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มินฮาณุฏฏอลิบีน” อีกกว่ารูปแบบถ้อยคำการกล่าวตักบีรคือ
“อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นในนอกจากอัลลอฮฺ
และอัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ และมวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ”
อิมามอัซซาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล อุม” ว่า ชอบให้กล่าวเสริมในถ้อยคำตักบีรว่า
“อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ มวลการสรรเสริญอันมากมายเป็นของอัลลอฮฺมหาบริสุทธิ์เป็นของอัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามเย็น อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ เราไม่เคารพอิบาดะฮ์ต่อผู้ใดนอกจากพระองค์ โดยมีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของพระองค์ และแม้ว่า บรรดาผู้ปฏิเสธจะเกลียดชังก็ตาม
ไม่มีพระเจ้าใด นอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว พระองค์ทรงสัจจริงตามคำสัญญา พระองค์ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ พระองค์องค์เดียวทรงทำให้บรรดาพลพรรคต้องแพ้พ่าย ไม่มีพระเจ้าในนอกจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่”
มีผู้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นนี้ ณ ภูเขาอัศศอฟา เมื่อจะทำการเดิน สะแอ
นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ที่ดีที่สุดให้กล่าวถ้อยคำตักบีร 2 ครั้ง อิบนิกุลามะฮ์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล มุฆนีย์” ว่า รูปแบบของถ้อยคำตักบีร คือ
นี่เป็นถ้อยคำกล่าวตักบีรของท่านอุมัร ท่านอิบนิมัสอู๊ด ส่วนอิมามอัซซาฟิอีย์กล่าวคำตักบีร 3 ครั้ง โดยเป็นถ้อยคำกล่าวของท่านญาบิร
วันอีดเป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณในความเมตตาของอัลลอฮฺและการภักดีต่อพระองค์ ดังนั้น ชาวซอลีฮีนบางท่านจึงกล่าวว่า
“วันอีดมิได้หมายถึง การสวมเสื้อผ้าใหม่ แต่อีด หมายถึง การเพิ่มพูนการภักดีต่ออัลลอฮฺ”
อีกบางท่านกล่าวว่า
“วันอีดมิได้หมายถึง การแต่งกายสวยงาม การมีพาหนะใหม่ แต่อีดหมายถึง ความหวังที่จะให้ความผิดของเขาถูกลบล้าง และเป็นการฟื้นฟูชีวิตใหม่ เพื่อภักดีต่ออัลลอฮฺ”
การที่ชาวซอลีฮีนกล่าวเช่นนั้น มิได้หมายความว่า พวกเขาตำหนิหรือปฏิเสธซุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดในวันอีด หากแต่พวกเขามีเจตนาที่จะสื่อความหมายว่า ถ้าหากว่าเป็นวันอีด การที่บุคคลจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการละเมิดจากการทำความชั่วมาเป็นการประกอบความดี พร้อมกับ การเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดเก่ามาส่วนใส่เสื้อผ้าชุดใหม่
อัล หะซัน อัล บัศรีย์ กล่าวว่า
“ทุกวันที่บุคคลไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ นั่นคือ วันอีด ทุกวันที่มุอฺมินตัดความยุ่งเหยิง ความวุ่นวายในโลกดุนยา เพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เพื่อการรำลึกถึงพระองค์ และเพื่อขอบคุณพระองค์ นั่นคือ วันอีด”
บัญญัติสำคัญในวันอีด ได้แก่ การละหมาดอีดร่วมกัน อันนำมาซึ่งเอกภาพของมุสลิม เป็น การแสดงออกถึงภาพลักษณ์แห่งความเท่าเทียมกัน ผู้ที่มีเกียรติยศก็ยืนเคียงคู่สามัญชน ผู้ที่มีตำแหน่งฐานะก็ยืนเคียงคู่ผู้ด้อยฐานะ ชาวอาหรับก็ยืนเคียงข้างผู้ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ผู้ที่พูดภาษาต่างกันก็ยืนเคียงข้างกัน โดยที่พวกเขาแสดงความรู้สึกถึงความเป็นพี่น้องกันภายใต้การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่นับถือศาสนาเดียวกัน และแสดงออกถึงความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กัน เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาด พวกเขาจะให้สลามกัน ขออภัยกัน แลกเปลี่ยนคำอวยพรซึ่งกันและกัน แม้ว่า พวกเขาจะพูดภาษาที่แตกต่างกัน อิสลามได้หลอมรวมหัวใจของพวกเขาให้มีความรู้สึกเดียวกันคือ ความหวังในการได้รับความดี ความเมตตา และการตอบแทนการงานจากอัลลอฮฺ เมื่อบรรดาซ่อฮาบะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พบปะกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันว่า
“ขออัลลอฮฺทรงรับ (การงาน) จากเราและจากท่านทั้งหลายด้วย”
ตามธรรมเนียมของกลุ่มประเทศอาหรับบางประเทศจะใช้คำอวยพรว่า
“ขอให้วันอีดของพวกท่านมีแต่ความจำเริญ” หรือ “ขอให้ท่านทั้งหลายได้รับความดีงามทุกปี”
เนื่องจากวันอีดตามความหมายโดยทั่วไป เป็นวันรื่นเริง เป็นวันแสดงออกถึงความรู้สึกที่ดี และสร้างความสุข ศาสนาอิสลามจึงอนุญาตให้บรรดามุสลิมสนุกสนานกันได้ โดยอยู่ในกรอบบัญญัติ และถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา
เมื่อนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เดินทางไปถึงมะดีนะฮฺ ท่านเห็นชาวเมืองสนุกสนานกันใน 2 วัน
ท่านจึงถามว่า “วันทั้งสองนี้เป็นวันอะไร?”
พวกเขากล่าวว่า “เป็นวันที่พวกเราสนุกสนานกันในสมัยญาฮิลียะฮฺ”
ท่านนบีกล่าวว่า“แท้จริง อัลลอฮฺทรงเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองให้แก่พวกท่านด้วยวันที่ดีกว่า วันอัล อัฎฮา และวันอัล ฟิฏร์”
(บันทึกโดย อบู ดาวูด)
มีรายงานจากอิยาฏ อัล อัชอะรีย์ ว่า เขาได้ร่วมวันอีดในเมืองอัล อันบาร์ (ในประเทศอิรักปัจจุบัน) เขากล่าวว่า
“ฉันไม่เห็นท่านทั้งหลายเคาะกลอง ร้องเพลง (อะนาซีด) กันเลย แท้จริง ในสมัยของท่านร่อซูลมีการรื่นเริงเช่นนั้น”
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิซะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านอบูบักรฺ ได้เข้าไปหานาง ในวันอีดิลฟิฏร์หรือวันอีดิลอัฎฮา และท่านนบีก็อยู่กับนางด้วย ที่นางมีเด็กหญิง 2 คน กำลังร้องเพลง (อะนาซีด) กันอยู่
ท่านอบูบักรฺ กล่าวว่า “เพลงของชัยฏอนอยู่ ณ ท่านร่อซูลุลลอฮฺหรือ?”
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า“โอ้ อบูบักรฺ จงปล่อยนางทั้งสองเถิด ทุกกลุ่มชนมีวันอีด แท้จริง วันอีดของเราคือ วันนี้”
นี่คือ วันอีดในอิสลามที่บรรดามุสลิมทั่วโลกจัดเฉลิมฉลองพร้อมกันอย่างมีความสุข
ที่มา : วารสารมุสลิม กทม.