คำตอบโต้ต่างๆของบรรดาอิมามผู้ทรงคุณวุฒิต่อกลุ่มปัญญานิยม
ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา แปลเรียบเรียง
เพื่อเป็นการประนามและตำหนิต่อคำกล่าวที่ว่า ยึดเอาสติปัญญามานำหน้าอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ให้เราตั้งคำถามกับพวกเหล่านี้ไปว่า
“สติปัญญาของใครที่เหนือกว่าผู้อื่น และสติปัญญาของใครที่ใช้เป็นหลักมาตรฐานในการพิจารณา หรืออ้างอิง?
หากว่าเขาตอบว่า "สติปัญญาของนายซัยดฺ (นามสมมติ) เป็นสติปัญญาที่เรายอมรับเหนือผู้อื่น และใช้เป็นที่อ้างอิง"
ให้โต้ตอบกลับไปว่า "แต่ก็เป็นไปได้ใช่ไหมว่าสติปัญญาของอัมร์(นามสมมติของคนอีกคนหนี่ง) จะเหนือกว่าของซัยดฺ ในเรื่องการถกเถียงและโต้แย้ง ?
ซึ่งหากว่ามุสลิมได้ยึดเอาสติปัญญาเป็นที่ตั้งและที่ยึดเหนี่ยวแล้ว ศาสนาของพวกเขาก็จะกระจัดกระจายและสูญสลายหายไป เพราะว่าสติปัญญาและทัศนะความคิดของมนุษย์มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกัน จึงใช้เป็นมาตรฐานในเรื่องศาสนาไม่ได้
ด้วยเหตุนี้เอง ท่าน มุฏ็อรริฟ บุตรของ ชิคคีรฺ จึงได้กล่าวว่า
“หากแม้ว่าอารมณ์และทิฐิส่วนตัวทั้งหลายนั้นมีเพียงแค่หนึ่งเดียวแล้ว ก็จะมีผู้กล่าวขึ้นมาว่า หวังว่าสัจธรรมความจริงจะอยู่ในนั้น แต่เมื่อในความเป็นจริงแล้ว อารมณ์และทิฐิส่วนตัวนั้นมันมีมากมายหลายอย่าง และต่างก็ขัดแย้งกันเอง เมื่อทราบเช่นนี้ ผู้ที่มีสติปัญญาที่ดีทุกคนก็จะยอมรับและรู้ได้ทันทีว่า สิ่งนี้(อารมณ์และทิฐิ)ไม่ใช่สัจธรรมความจริงเพราะว่าสัจธรรมความจริงนั้นมีเพียงแค่หนึ่งเดียว และมันจะไม่แตกแยก และจะไม่ขัดแย้งกันในตัวของมันเอง”
และมีคำกล่าวของท่านอิมามมาลิก ที่รายงานมาจากท่านอิสหาก บุตรของ อีซา โดยรายงานจาก ท่านอิมามมาลิก
โดยท่านได้กล่าวว่า “แท้จริง (อิมาม)มาลิก บุตรของ อนัส ได้ตำหนิ การโต้เถียงในเรื่องศาสนา”
และท่านกล่าวต่อไปว่า
“ในทุกครั้งที่มีชายผู้หนึ่งได้มาหาเรา โดยที่เขาสามารถโต้เถียงได้เก่งกว่าชายอีกคน พวกเราก็จะละทิ้งคำสอนของศาสนาที่ท่านญิบรีลได้นำมาประทานให้กับท่านนบีมุฮัมมัด อันเนื่องมาจากการโต้เถียงของชายผู้นั้น กระนั้นหรือ”?
และมีคำกล่าวอีกเช่นกัน รายงานจากท่าน มะอฺน์ บุตรของ อีซา ได้กล่าวว่า
"ในวันหนึ่งขณะที่อิมามมาลิก บุตรของ อนัส ได้เดินออกมาจากมัสญิด โดยจับมือของฉันเอาไว้ ก็ปรากฏว่ามีชายผู้หนึ่งได้ติดตามท่านมา เป็นผู้ที่รู้จักกันในนามว่า อบู อัลญุวัยรียะฮฺ ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ที่ยึดในแนวทางมุรญิอะฮฺ"
เขาได้กล่าวกับอิมามมาลิกว่า" “โอ้ อบูอับดุลลอฮฺ(นามแฝงของอิมามมาลิก) จงฟังในสิ่งที่ฉันจะบอกกับท่านต่อไปนี้ให้ดีด้วยเถิด เพราะมันคือความคิดส่วนตัวของฉันที่ฉันจะใช้มันเป็นข้อโต้แย้งกับท่าน"
อิมามมาลิกกล่าวถามเขาไปว่า “แล้วหากว่าท่านสามารถโต้แย้งชนะฉันได้ล่ะ ท่านต้องการอะไรหรือ”?
เขาตอบว่า “หากว่าฉันสามารถโต้แย้งชนะท่านได้ ฉันต้องการให้ท่านปฏิบัติตามฉัน”
อิมามมาลิกจึงถามไปอีกว่า “แล้วหากว่ามีชายอีกคนหนึ่งมาหาเราแล้วสามารถโต้แย้งเอาชนะพวกเราได้ล่ะ”?
เขาตอบว่า “เราก็จะปฏิบัติตามเขาผู้นั้น”
เมื่อได้ยินเช่นนี้ อิมามมาลิกจึงกล่าวตักเตือนเขาไปว่า
“โอ้ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺเอ๋ย แท้จริงอัลลอฮฺทรงแต่งตั้งท่านนบีมุฮัมมัด มาเป็นศาสนทูตพร้อมกับศาสนาเพียงหนึ่งเดียว และฉันเห็นว่าท่านคือผู้ที่เอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย(เชื่อถืออะไรไม่ได้เลย) เหมือนกับที่ท่านอุมัร บุตรของ อับดุลอะซีซ ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ใช้ศาสนามาเป็นข้ออ้างเพื่อทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เขาคือผู้ที่เอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย(เชื่อถืออะไรไม่ได้เลย)”
ดังนั้นผู้ใดที่ใช้ศาสนามาเป็นข้ออ้างในการวิวาทและโต้แย้งกับผู้อื่น เขาจะกลายเป็นผู้ที่หาความแน่นอน ความจริงอะไรไม่ได้เลย เพราะเขาหาเรื่องคนนั้น คนนี้ ไปถกเถียงกับคนนั้น คนนี้ แล้วอ้างว่าผู้ที่เถียงชนะ คนอื่นจะต้องปฏิบัติตามเขา ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ใช่วิถีของชาวสลัฟผู้ทรงคุณธรรมเลย
เพราะวิถีของชาวสลัฟเมื่อเขารู้ว่ามีคนเจตนาจะมาหาเรื่องถกเถียงกับพวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะกล่าวกับคนผู้นั้นว่า
“พวกเรานั้นมั่นใจในสิ่งที่เราดำรงอยู่ ส่วนท่านคือผู้ที่สงสัยและไม่มั่นใจ ดังนั้นจงไปอยู่ร่วมกับคนประเภทเดียวกับท่านเถิด”
ด้วยเหตุนี้ มุสลิมผู้มั่นใจในสิ่งที่เขาดำรงอยู่ โดยมีหลักฐานและข้อพิสูจน์ยืนยันที่มาจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺแล้ว เขาจะไม่โต้แย้ง ถกเถียงกับใครเพื่อใช้อ้างว่า คนชนะในการถกเถียงนั้นคือผู้ที่ยืนหยัดอยู่ในสัจธรรมความจริง เพราะว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากความจริงนั้นมันคือความหลงผิด ซึ่งหากว่าเขาตั้งมั่นอยู่ในหลักฐานและข้อพิสูจน์ยืนยันที่มาจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้เขาไปถกเถียงกับผู้ใด โดยวางเงื่อนไขว่าสัจธรรมความถูกต้องจะอยู่กับผู้ที่โต้เถียงชนะเท่านั้น
ดังนั้นจงยึดมั่นในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ แล้วยืนหยัดในสองสิ่งนี้เถิด และอย่าได้เอาศาสนาของเขาไปยุ่งกับความเสื่อมเสียและอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกบิดอะฮฺเลย นอกเสียจากว่าเขาจะเป็นผู้รู้ที่แตกฉานในคำสอนของศาสนา เขาจึงจะมีสิทธิ์ในการไปโต้แย้งกับพวกบิดอะฮฺ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สัจธรรมความจริงประจักษ์ชัดแก่พวกบิดอะฮฺ และเพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ความหลงผิดทั้งหลายที่พวกเขาได้จมปลักอยู่กับมัน
ด้วยเหตุนี้เองความรู้และความเข้าใจอย่างแตกฉานในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และใช้ทั้งสองสิ่งนี้เป็นข้อตัดสินความถูกต้อง จึงถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งในแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมมุสลิม และเมื่อท่านได้สังเกตกลุ่มต่างๆเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ท่านก็จะพบว่า พวกเขาทุกกลุ่มต่างก็อ้างว่า กลุ่มของตนอยู่ในแนวทางของอัลกุรอานและสุนนะฮฺทั้งสิ้น โดยไม่มีใครที่ยอมรับว่าพวกเขาหลงผิด
แต่พวกเขาทั้งหมดล้วนแต่อ้างว่าพวกเขาคือผู้ดำรงอยู่ในสัจธรรม พวกเขาคือชาวสุนนะฮฺ ซึ่งการแอบอ้างนั้นไม่เกิดประโชน์อันใดเลย หากว่า ในความเป็นจริงพวกเขามิได้ยึดมั่นในอยู่ในหลักฐานอันถูกต้อง ซึ่งก็คือการยึดมั่นในอัลกุรอานและสุนนะฮฺและปฏิบัติตามคำสอนของทั้งสองสิ่งนี้อย่างเคร่งครัด
จากตำรา แนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺในการสร้างเอกภาพที่แท้จริงให้แก่ประชาชาตินี้ โดยชัยคฺอับดุรรอซซาก อัลบะดัร หน้าที่ 18-21