เอาใจใส่กันเถิด
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา มีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะอัตตักวาหรือความยำเกรงต่อพระองค์นั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺ สิ่งที่เป็นอะมัลศอและฮฺต่างๆ ซึ่งผลของการที่เรามีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในกุบูร และปกป้องเราจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยานี้ เราก็จะได้รับชีวิตที่ดีงาม และในโลกอาคิเราะฮฺ เราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การละหมาดเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่เราจะต้องมอบแด่พระองค์ นั่นก็คือเราต้องดำรงรักษาการละหมาดอย่างเคร่งครัด และการละหมาดยังเป็นเรื่องแรกที่เราจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ เราจึงต้องมีความระมัดระวังการละหมาดของเรา นอกจากจะต้องรักษาการละหมาดฟัรฎูทั้ง 5 เวลาให้ครบถ้วนแล้ว ยังต้องทำให้การละหมาดของเรานั้นเป็นการละหมาดที่ถูกต้อง ไม่ขาดตกบกพร่อง ดังที่ได้พูดไปแล้วในคุฏบะฮฺครั้งก่อนว่า การละหมาดที่สักแต่ว่าทำให้เสร็จสิ้นไป อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่การละหมาดที่จะนำเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น ต้องเป็นการละหมาดที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง
วันนี้ จึงอยากจะมาเน้นย้ำให้เราได้คอยสำรวจ คอยตรวจสอบการละหมาดของตัวเราอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่เรากำลังละหมาดอยู่นั้น พยายามให้ความคิดของเรา จิตใจของเรานั้น มุ่งตรงไปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว พยายามรำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งสมาธิของเราอาจจะหลุดไปบ้าง พลั้งพลาดให้กับการล่อหลอกของชัยฏอนไปบ้าง
ซึ่งท่านอิมามอิบนุลกอยยิม เราะฮิมะฮุลลอฮฺ (อุละมาอ์คนสำคัญท่านหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ ฯ)ได้เคยกล่าวไว้ว่า แท้จริง ชัยฏอนจะมาหาคนหนึ่งคนใดในบรรดาพวกเราในขณะที่กำลังละหมาด แล้วมันก็จะล่อหลอกเรา ให้ความคิดของเราเตลิดเปิดเปิงไปคิดเรื่องอื่นๆ มันจะกระซิบว่า นึกถึงเรื่องนั้นสิ ...นึกถึงเรื่องนี้สิ ..เรื่องโน้นทำหรือยัง จนกระทั่งเราหลงลืมไป ไม่รู้ว่าตัวเองละหมาดไปแล้วกี่เราะกะอัต ...นี่คือการล่อหลอกของชัยฏอน ที่ทุกคนต้องเคยประสบมา ..มันมาทำให้การละหมาดของเราไม่ได้มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำให้ความคิดจิตใจของเราวอกแวก ดังนั้น หากเราพลาดพลั้งให้แก่ชัยฏอน เราก็ต้องรีบกลับมาสู่การนึกคิดถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยเร็ว อย่าปล่อยให้ความคิดจิตใจของเราล่องลอยไปไหนๆ อย่าปล่อยให้ชัยฏอนมันพาไป เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงสนใจคนละหมาดที่ไม่ได้มีจิตใจมุ่งสู่พระองค์
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอบู ซัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«لَا يَزَالُ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ مُقْبِلًا عَلَى الْعَبْدِ فِي صَلَاتِهِ مَا لَمْ يَلْتَفِتْ، فَإِذَا صَرَفَ وَجْهَهُ انْصَرَفَ عَنْهُ»
“อัลลอฮฺจะยังคงมองไปยังบ่าวของพระองค์ในการละหมาดของเขา ตราบใดที่เขาไม่หันหน้าไปทางอื่น เมื่อใดก็ตามที่เขาหันหน้าไปทางอื่น เมื่อนั้น อัลลอฮฺก็จะทรงหันออกไปจากเขา”
นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงมองการละหมาดของใครก็ตาม ที่หัวใจของเขา หรือจิตใจของเขา หรือความรู้สึกนึกคิดของเขาไม่ได้มุ่งตรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียว ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรารำลึกถึงพระองค์ เมื่อนั้น พระองค์ก็จะทรงสนใจเรา จะทรงนึกถึงเรา ไม่ทรงลืมเรา
นอกจากนี้แล้ว ผลบุญของการละหมาดที่เราจะได้รับก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของความรู้สึกนึกคิดที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในขณะที่กำลังละหมาด เราทุกคนทำละหมาดด้วยอิริยาบถ ด้วยท่วงท่าที่เหมือนๆกันทุกคน แต่เมื่อทุกคนละหมาดเสร็จ ผลบุญที่แต่ละคนจะได้รับกลับไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอบูดาวูด รายงานจากท่านอัมมาร บิน ยาซิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«وإِنَّ الرَّجُلَ لَيَنْصَرِفُ وَمَا كُتِبَ لَهُ إِلَّا عُشْرُ صَلَاتِهِ، تُسْعُهَا، ثُمْنُهَا، سُبْعُهَا، سُدْسُهَا، خُمْسُهَا، رُبْعُهَا، ثُلُثُهَا، نِصْفُهَا»
“แท้จริง เมื่อคนๆหนึ่งเสร็จสิ้นจากการละหมาดของเขา แต่เขาไม่ได้ถูกบันทึกความดีงามใดๆ นอกจากเพียงหนึ่งส่วนสิบ หรือหนึ่งส่วนเก้า หรือหนึ่งส่วนแปด หรือหนึ่งส่วนเจ็ด หรือหนึ่งส่วนหก หรือหนึ่งส่วนห้า หรือหนึ่งส่วนสี่ หรือหนึ่งส่วนสาม หรือหนึ่งส่วนสองของการละหมาดของเขา”
นั่นก็หมายความว่า ผลบุญของการละหมาดที่แต่ละคนจะได้รับนั้น ผลบุญจะลดหลั่นกันไปตามปริมาณของความรู้สึกนึกคิดในขณะกำลังละหมาด ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเขาว่ามุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากแค่ไหน
ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ (เศาะฮาบะฮฺคนสำคัญท่านหนึ่ง) ได้เคยกล่าวไว้ว่า ...ท่านจะไม่ได้รับสิ่งใดจากการละหมาดของท่าน นอกจากเท่าที่ท่านมีสมาธิ มีความตั้งใจอยู่กับการละหมาดเท่านั้น
ดังนั้น ขอให้เราได้พยายามให้การละหมาดของเรามีคุชัวอฺ มีเฏาะมะนีนะฮฺ มีสมาธิ มีจิตใจที่มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวตลอดเวลา เพื่อให้เราได้รับผลบุญอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการละหมาดของเรา
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขณะนี้เรากำลังจะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนในปีนี้ ในอีกไม่กี่วันนี้ อินชาอัลลอฮฺ .....ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราทุกคนได้มีชีวิตอยู่จนถึงเดือนเราะมะฎอน และใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างคุ้มค่า อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาเดือนทั้งหมด เป็นเดือนที่ชนชาวสะลัฟต่างรอคอย และต่างขอดุอาอ์ให้พวกเขาได้พบกับเดือนเราะมะฏอน และได้ใช้ชีวิตอยู่ในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งเราก็ต้องขอดุอาอ์อย่างนี้เช่นเดียวกัน
เพราะการทำอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆในเดือนเราะมะฎอนจะได้รับผลตอบแทนอย่างสูงสุด อย่างเช่นการถือศีลอด การละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ ที่เราตั้งใจทำด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมทั้งหวังรางวัลการตอบแทนจากพระองค์นั้น มีภาคผลที่เป็นการลบล้างความผิดต่างๆให้กับเรา ซึ่งในขณะนี้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องชำระล้างบาปต่างๆให้ออกจากตัวเราให้มากที่สุด เพื่อที่ในวันกิยามะฮฺเราจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษอย่างหนักหน่วง สาหัสสากรรจ์
ในขณะที่อิบาดะฮฺบางอย่างก็เป็นการเพิ่มขั้นในสวรรค์ให้แก่เรา เช่น การอ่านอัลกุรอาน การละหมาดสุนัตต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องขวนขวายทำ ก็ขอให้เรามองเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ เพื่อที่เราจะได้รีบเร่งขวนขวายการทำอิบาดะฮฺต่างๆ ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในขณะเดียวกันก็ต้องละทิ้งบาป ละทิ้งสิ่งที่เป็นคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ...เราอย่าทำสองอย่างควบคู่กัน เราอย่าปฏิบัติสิ่งที่เป็นคำสั่งใช้ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติสิ่งที่เป็นคำสั่งห้ามด้วย ถ้าเราทำควบคู่กันอย่างนี้ บาปที่เราทำจะมาเป็นตัวปิดกั้นสวรรค์สำหรับเรา หมายความว่า ในวันกิยามะฮฺ แทนที่เราจะได้ไปสวรรค์โดยเร็วหรือตรงไปสวรรค์โดยทันที เราก็กลับต้องมาโดนลงโทษในบาปที่เราทำก่อน ก่อนที่จะได้เข้าสวรรค์นะครับ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งหมดที่พูดมาข้างต้นก็เป็นข้อตักเตือน เตือนทั้งตัวคนพูดเองและท่านทั้งหลาย ให้เอาใจใส่ในเรื่องของการละหมาด โดยเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนที่เราจะละหมาดกันอย่างมากมาย ถ้าเราเอาใจใส่ในการละหมาดของเรา มันก็จะส่งผลให้เราได้รับผลบุญจากการละหมาดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างคุ้มค่า และอย่าลืมว่า ในการทำอิบาดะฮฺต่างๆที่เราขวนขวายทำตั้งมากมายก่ายกอง เราอย่าทำให้มันสูญหายไปในวันกิยามะฮฺ อันเนื่องมาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงรับอิบาดะฮฺเหล่านั้น เพราะพระองค์จะทรงรับอิบาดะฮฺที่ทำเพื่อพระองค์เท่านั้น ต้องเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่มีชิริก ในขณะเดียวกัน อิบาดะฮฺนั้นก็ต้องตรงตามรูปแบบ ตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น
เราอย่าไปนึกคิดเอาเองว่าทำอิบาดะฮฺอย่างนั้นดี อย่างนี้ดี แล้วเราก็ทำ โดยที่ไม่เคยมีรูปแบบหรือแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมเลย อย่างนี้เรียกว่า ทำบิดอะฮฺ ซึ่งบิดอะฮฺบางเรื่องนำไปสู่การทำชิริกได้ด้วย นั่นก็คืออิบาดะฮฺของเรานั้นต้องไม่มีชิริกและไม่เป็นบิดอะฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงจะทรงรับอิบาดะฮฺของเรา
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้มีชีวิตอยู่จนถึงเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ พร้อมทั้งมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อที่เราจะได้ถือศีลอด ได้ละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺ ได้ทำอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆได้อย่างเต็มที่
ขอให้เรามีความอดทนทั้งทางด้านจิตใจและทางด้านร่างกาย ..อดทนทางด้านจิตใจ ก็เช่น อดทนที่จะไม่คิดในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไร้สาระ อดทนต่อความหิว ความกระหาย อดทนที่จะไม่คิดทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
เมื่ออดทนทางด้านจิตใจได้ ความอดทนทางร่างกายก็จะตามมา อดทนไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่พูด ไม่ทำในสิ่งที่ไร้สาระ ไม่นินทากล่าวร้ายใคร ไม่หลอกลวงใคร ไม่ผิดสัญญา ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่สอดแนมใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย ไม่ทำสิ่งต่างๆที่เป็นความชั่ว
และขอให้เราได้ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆ ด้วยความอิคลาศ มุ่งหวังตั้งใจเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากพระองค์เพียงองค์เดียว ตัดขาดจากเรื่องของการทำชิริก ห่างไกลจากการทำบิดอะฮฺ ขอให้ให้อะมัลอิบาดะฮฺต่างๆที่เราทำช่วยลบล้างความผิดแก่เรา และเพิ่มขั้นในสวรรค์ให้แก่เราในวันกิยามะฮฺ
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด อิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานโดยท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
( اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِي رَجَبٍ، وَشَعْبَانَ، وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ )
“โอ้อัลลอฮฺ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนรอญับและเดือนชะอฺบาน และขอให้เราบรรลุเดือนเราะมะฎอน”
มัสยิด ดารุ้ลอิห์ซาน บางกอกน้อย