12 ความพิเศษของเดือนเราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  60889


12 ความพิเศษของเดือนเราะมะฎอน

 

เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี

 

         เดือนเราะมะฎอน เป็นเดือนหนึ่งในเดือนของอาหรับ จาก 12 เดือน ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญ มีความประเสริฐ และมีความพิเศษมากที่สุดในบรรดาเดือนทั้งหลาย ซึ่งความพิเศษบางส่วนของเดือนเราะมะฎอนมีดังนี้

 

1. เดือนแห่งอัลกุรอาน

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เดือนที่อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมา เพื่อเป็นทางนำและแนวทางในการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ โดยอัลกุรอานถูกประทานลงมาทั้งหมด 30 ญุซ จากเลาฮุ้ลมะหฺฟูซ(แผ่นจารึกที่ถูกรักษา) มายังชั้นฟ้าของดุนยา ในคืนอัลก็อดรฺของเดือนเราะมะฎอน และได้ท่านญิบรีล อะลัยฮิสสะลาม ได้ทยอยนำลงมายังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ครั้งแรกในเดือนเราะมะฎอน เช่นกัน ต่อมาก็นำมายังท่านนบีตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่อัลลอฮฺทรงบัญชา จนกระทั่งครบถ้วนสมบูรณ์

ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الهُْدَى وَالْفُرْقَانِ

     “เดือนเราะมะฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นทางนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 185)

และอายะห์ที่อัลลอฮฺตรัสว่า

 

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ

แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ” 

(ซูเราะห์ก็อดรฺ อายะห์ที่ 1)

         และในทุกๆเดือนเราะมะฎอนนั้นท่านญิบรีล อะลัยฮิสสะลาม ก็จะมาพบท่านนบีเพื่อมาศึกษาทบทวนอัลกุรอ่านกับท่าน ดังรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ، وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ، وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ القُرْآنَ (رواه البخاري ومسلم)

     “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุด และท่านจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุดในเดือนเราะมะฎอน เมื่อยามที่ท่านพบกับญิบรีล และญิบรีลจะมาพบกับท่านรอซูลในทุกค่ำคืนของเราะมะฎอน แล้วญิบรีลก็จะศึกษาทบทวนอัลกุรอานกับท่าน

 (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

และรายงานหะดีษที่ว่า

 

أن جبريل كان يعْرضُ عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْقُرْآنَ كُلَّ عَامٍ مَرَّةً ، فَعرضَ عَلَيْهِ مَرَّتَيْنِ فِي الْعَامِ الَّذِي قُبِضَ فيه (رواه البخاري)

     “แท้จริงท่านญิบรีลนั้น จะนำเสนอ(ทบทวน)อัลกุรอานต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หนึ่งครั้งในทุกเราะมะฎอน นอกจากปีที่ท่านเสียชีวิต โดยในปีนั้นอัลกุรอานถูกนำเสนอ(ทบทวน)ให้แก่ท่านสองครั้ง

 (รายงานโดยอัลบุคอรีย์)

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ มีความสำคัญก็อันเนื่องจากเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลง การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติลงมาก็เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นเตรียมสภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้สะอาด เพื่อน้อมรับอัลกุรอาน เพื่อมาเป็นทางนำ และแนวทางในการดำรงชีวิต อัลกุรอานมิใช่หนังสือหรือคัมภีร์ทั่วๆ แต่เป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า

          ซึ่งอัลกุรอานถือเป็นถ้อยคำสื่อสารจากพระเจ้าสู่มนุษย์ ถูกประทานลงมาในฐานะที่เป็นทางนำชีวิตของมนุษยชาติ เป็นสิ่งที่จำแนกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิด ชี้นำมนุษย์สู่ความสำเร็จในชีวิต ชีวิตของมนุษย์จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หากปราศจากทางนำจากอัลกุรอาน ซึ่งหน้าที่ของมนุษย์ต่ออัลกุรอานอันประเสริฐนี้ก็คือ การน้อมรับอัลกุรอาน การอ่าน การศึกษาใคร่ครวญ นำไปปฎิปัติ และนำสู่การเผยแพร่ต่อไป

          ดังนั้น สำหรับเดือนเราะมะฎอนนั้น อัลกุรอาน จึงต้องเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะเดือนเราะมะฎอนนั้นคือ เดือนแห่งอัลกุรอาน

 

 

2. เดือนแห่งการถือศีลอด

 

         เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ถูกบัญญัติให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติอิบาดะฮฺที่สำคัญยิ่งนั่นคือ การถือศีลอด ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (183)

      “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 183)

และอายะห์ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

 

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ۖ

     “เดือนเราะมะฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 185)

และหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

قَدْ جَاءَكُمْ رَمَضَانُ شَهْرٌ مُبَارَكٌ افْتَرَضَ اللهُ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ ... (رواه أحمد)

     "เดือนเราะมะฏอนได้มาถึงพวกท่าน ซึ่งเป็นเดือนอันมีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้.”

 (รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด)

 

           และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นหลักการพื้นฐานข้อหนึ่งของอิสลาม ซึ่งอิสลามของบุคคลหนึ่ง จะไม่สมบูรณ์ หากปราศจากการถือศีลอด ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

البخاري رواه( رَمَضَانَ وَصَوْمِ وَالْحَجِّ الزَّكَاةِ وَإِيتَاءِ الصَّلاةِ وَإِقَامِ اللَّهِ رَسُولُ مُحَمَّدًا وَأَنَّ اللَّهُ إِلا إِلَهَ لا أَنْ هَادَةِشَ خَمْسٍ عَلَى الإِسْلامُ بُنِيَ)ومسلم

     “อิสลามได้ถูกวางรากฐาน 5 ประการ : คือ การกล่าวปฏิญานตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ และมุอัมหมัดนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ,การปฏิบัติละหมาด ,การจ่ายซะกาต ,การประกอบพิธีฮัจญฺที่บัยตุลลอฮฺ ,และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน” 

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

          อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกำหนดช่วงเวลาแห่งการถือศีลอดให้อยู่ในเดือนเราะมะฎอน ก็อันเนื่องจากเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา อัลกุรอานคือความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อัลลอฮฺทรงประทานให้มนุษย์ ซึ่งทุกความโปรดปรานของอัลลอฮฺนั้นจำเป็นต้องได้รับการขอบคุณ ดังนั้นการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนจึงเป็นการแสดงความเคารพภักดี และขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ที่พระองค์ได้ทรงประทานอัลกุรอานลงมา เพื่อเป็นทางนำชีวิต ชี้แนะสู่แนวทางแห่งความสำเร็จ

 

 

3. เดือนแห่งโอกาสในการทำความดี

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งโอกาสในการทำความดี ในเดือนนี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกระตุ้นบรรดาผู้ศรัทธาให้ทำความดีอย่างมาก อีกทั้งยังทรงอำนวยความสะดวก และให้การช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ศรัทธาในการทำความดีในเดือนอันประเสริฐนี้ด้วย ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

قَدْ جَاءَكُمْ رَمَضَانُ شَهْرٌ مُبَارَكٌ افْتَرَضَ اللهُ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، يُفْتَحُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ، وَيُغْلَقُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَحِيمِ، وَيُغَلُّ فِيهِ الشَّيَاطِينُ، فِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ (رواه أحمد)

     "เดือนเราะมะฏอนได้มาถึงพวกท่าน ซึ่งเป็นเดือนอันมีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้ เป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ทุกบานจะถูกเปิด และประตูนรกทุกบานจะถูกปิด และบรรดาชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ เป็นเดือนที่มีอยู่คืนหนึ่งประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ไม่ได้ตักตวงในการกระทำความดีในคืนนั้น เขาผู้นั้นจะไม่ได้รับความดีงามทั้งหมดจากคืนนั้น” 

(รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด)

     และหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ وَصُفِّدَتْ الشَّيَاطِينُ (رواه مسلم)

     “เมื่อเราะมะฎอนมาถึง บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิด และบรรดาประตูนรกจะถูกปิดและบรรดาชัยฏอนถูกพันธนาการไว้” 

(รายงานโดยมุสลิม)

         อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงเปิดโอกาสพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ทำความดี และได้อำนวยความความสะดวก ให้การช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ศรัทธาเป็นอย่างมากในการทำความดีต่างๆ โดยในเดือนนี้บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิดออก และบรรดาประตูนรกถูกปิดนั้น หมายถึงในเดือนนี้บรรดาประตูต่างๆของสวรรค์พร้อมเปิดรอรับบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลาย ในขณะที่บรรดาประตูต่างๆของนรกถูกปิด ในเดือนนี้โอกาสแห่งการเข้าสวรรค์จึงมีมากมาย ในขณะที่โอกาสที่จะเข้านรกนั้นน้อยนิด 

         และในเดือนนี้อัลลอฮฺยังทรงอำนวยความสะดวกให้บรรดาผู้ศรัทธาในการทำความดี โดยพันธนาการ ล่ามโซ่บรรดาหัวหน้าชัยฏอนไว้ เพื่อพวกมันจะถูกลดโอกาสที่จะไปล่อลวงบรรดาผู้ศรัทธาให้กระทำความชั่ว เราะมะฎอนจึงเป็นเดือนแห่งโอกาสในการทำความดี บรรดาช่องทางแห่งความดีต่างๆถูกเปิดกว้างออกเป็นพิเศษ ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความชั่วนั้นน้อยลง ผู้ศรัทธาจึงไม่ควรละเลยหรือปล่อยผ่านโอกาสอันมีแค่นี้ไป แต่ต้องรีบคว้าโอกาสอันมีค่านี้ไว้และใช้มันแสวงหาความดีให้มากที่สุด

 

 

4. เดือนแห่งความยำเกรง

 

         เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งความยำเกรง เนื่องจากในเดือนนี้มีอิบาดะฮฺพิเศษ คือ การถือศีลอด ที่มีเป้าหมายคือ เพื่อความยำเกรง

ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

     “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 183)

 

          อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาถึงบัญญัติการถือศีลอดที่พระองได้ทรงกำหนดให้ปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง เพราะความยำเกรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วในชีวิตของผู้ศรัทธา ความยำเกรงนั้นคือสถานะอันสูงส่งที่สุด ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ (13)

แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ที่อัลลอฮฺ คือผู้ที่มีความยำเกรงมากที่สุด” 

(ซูเราะห์อัลหุญุร็อต อายะห์ที่ 13)

    ♦ ความยำเกรงนั้นคือ สาเหตุที่อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงตอบรับการงาน ดังที่พระองค์ตรัสว่า

 

إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ (27)

แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงตอบรับ(การงานที่ดี) จากบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น” 

(ซูเราะห์อัลมาอิดะฮฺ อายะห์ที่ 27)

     ♦ ความยำเกรง คือสาเหตุแห่งการได้รับการอภัยโทษ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَقُولُوا قَوْلًا سَدِيدًا (70)

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงกล่าวถ้อยคำที่เที่ยงธรรมเถิด

 

يُصْلِحْ لَكُمْ أَعْمَالَكُمْ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَمَن يُطِعِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ فَازَ فَوْزًا عَظِيمًا (71)

     “พระองค์จะทรงปรับปรุงการงานของพวกเจ้าให้ดีขึ้นสำหรับพวกเจ้า และจะทรงอภัยโทษความผิดของพวกเจ้าให้แก่พวกเจ้า และผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้รับความสำเร็จใหญ่หลวง” 

(ซูเราะห์อัลอะหฺซาบ อายะห์ที่ 70-71)

     ♦ ความยำเกรงคือสาเหตุที่ทำให้หลุดจากปัญหา และได้รับปัจจัยยังชีพ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

وَمَن يَتَّقِ اللَّهَ يَجْعَل لَّهُ مَخْرَجًا (2)

และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงให้ทางออก(จากปัญหา)แก่เขา

 

وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ ۚ (3)

และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด

 (ซูเราะห์อัฏเฏาะล๊าก อายะห์ที่ 2-3)

     ♦ ความยำเกรงคือเสบียงในการเดินทางของชีวิตที่ดีที่สุด ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

وَتَزَوَّدُوا فَإِنَّ خَيْرَ الزَّادِ التَّقْوَىٰ ۚ وَاتَّقُونِ يَا أُولِي الْأَلْبَابِ (197)

     “และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิด โอ้ ผู้มีปัญญาทั้งหลาย” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 197)

 

          ความยำเกรงเป็นสถานะอันสูงส่งที่สุดของมนุษย์เท่าที่มนุษย์จะเป็นได้ เป็นสาเหตุที่อัลลอฮฺทรงตอบรับการงานที่ดีต่างๆ เป็นสาเหตุแห่งการได้รับอภัยโทษจากบรรดาความผิดต่างๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้หลุดจากปัญหาต่างๆในชีวิต เป็นสาเหตุในการได้รับปัจจัยยังชีพที่เพิ่มพูน และเป็นเสบียงสำหรับชีวิตมนุษย์ที่ดีที่สุดในการเดินทางกลับไปสู่อัลลอฮฺ ด้วยความสำคัญยิ่งของความยำเกรงต่อชีวิตของมนุษย์ อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงได้ทรงบัญญัติการถือศีลอดมาในเดือนเราะมะฎอนเพื่อให้มนุษย์ได้รับความยำเกรง เดือนเราะมะฎอนจึงเป็น เดือนแห่งความยำเกรง

 

 

5. เดือนที่มีค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุด

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือ ลัยละตุ้ลก็อดรฺ(ค่ำคืนแห่งการกำหนด) ซึ่งเป็นค่ำคืนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา ซึ่งในค่ำคืนอัลก็อดรฺนี้มีความประเสริฐมากกว่า 1 พันเดือน ความดีใดๆที่ได้กระทำในค่ำคืนนี้นั้นจะมีความประเสริฐกว่าการกระทำความดีในวันทั่วไปถึง 1 พันเดือน ซึ่งไม่ใช่ได้รับแค่ 1 พันเดือน แต่มากกว่านั้น ซึ่งการตอบแทนนั้นอยู่ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา

 

ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ (1)

แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ

وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ (2)

และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืนอัลก็อดรฺนั้นคืออะไร

لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ (3)

คืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน

تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ (4)

บรรดามะลาอิกะฮฺและอัลรูฮฺ (ญิบริล) จะลงมาในคืนนั้น

โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขาเนื่องจากกิจการทุกสิ่ง

سَلَامٌ هِيَ حَتَّىٰ مَطْلَعِ الْفَجْرِ (5)

คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ” 

(ซูเราะห์อัลก็อดรฺ อายะห์ที่ 1-5)

และในอายะห์ที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

حم (1) وَالْكِتَابِ الْمُبِينِ (2)

ฮามีม ขอสาบานด้วยคัมภีร์อันชัดแจ้ง

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ ۚ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ (3)

แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน

فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ (4)

ในคืนนั้นทุก กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว

أَمْرًا مِّنْ عِندِنَا ۚ إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِينَ (5)

โดยทรงบัญชามาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ส่งมา

رَحْمَةً مِّن رَّبِّكَ ۚ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ (6)

เป็นความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้า แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้

(ซูเราะห์อัดดุคอน อายะห์ที่ 1-6)

     และหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

قَدْ جَاءَكُمْ رَمَضَانُ شَهْرٌ مُبَارَكٌ افْتَرَضَ اللهُ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، يُفْتَحُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ، وَيُغْلَقُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَحِيمِ، وَيُغَلُّ فِيهِ الشَّيَاطِينُ، فِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ (رواه أحمد)

     "เดือนเราะมะฏอนได้มาถึงพวกท่าน ซึ่งเป็นเดือนอันมีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้ เป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ทุกบานจะถูกเปิด และประตูนรกทุกบานจะถูกปิด และบรรดาชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ เป็นเดือนที่มีอยู่คืนหนึ่งประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ถูกห้ามจากความดีของมัน(ไม่แสวงหาความดีจากเราะมะฎอน) แท้จริงเขาก็จะ (เป็นผู้ที่)ถูกห้าม(จากความดีทั้งมวล)” 

(รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด)

 

          ซึ่งค่ำคืนอัลก็อดรฺ นี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ระบุให้บรรดาผู้ศรัทธาแสวงหาในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเราะมะฎอน ดังหะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

تَحَرَّوْا ليلة القدرِ في العشرِ الأواخرِ من رمضانَ (رواه البخاري ومسلم)

ท่านทั้งหลายจงแสวงหาค่ำคืนอัลก็อดรฺในสิบคืนสุดท้ายของเรามะฎอน” 

(รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

          ค่ำคืนอัลก็อดรฺคือช่วงเวลาสุดพิเศษ ที่สุดของความพิเศษ ไม่มีช่วงเวลาไหน หรือค่ำคืนใดที่จะประเสริฐไปกว่าค่ำคืนนี้อีกแล้ว การสะสมความดีถึง 1000 เดือน หรือประมาณ 80 กว่าปี ยังไม่ได้รับการตอบแทนที่เทียบเท่ากับการสะสมความดีในคืนนี้คืนเดียว ด้วยค่ำคืนอันล้ำค่านี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เอง ตลอดจนบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่ได้ขยันแสวงหาความดีอย่างมากในช่วงท้ายของเราะมะฎอน ดังที่มีรายงานหะดีษว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ أَحْيَا اللَّيْلَ وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ وَجَدَّ وَشَدَّ الْمِئْزَرَ (رواه البخاري ومسلم)

     “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสิบคืนสุดท้าย(ของเราะมะฎอน) ท่านจะทำให้ยามค่ำคืนมีชีวิตชีวา(ด้วยการอิบาดะฮฺ) และปลุกครอบครัวของท่าน ท่านจะเอาจริงเอาจัง และได้ผูกผ้าอย่างแน่นหนา(พร้อมทำอิบาดะฮฺ)” 

(รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

6. เดือนแห่งการอภัยโทษ

 

          เดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นเดือนแห่งการอภัยโทษ ซึ่งในเดือนนี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้อภัยโทษแก่ปวงบ่าวของพระองค์อย่างมากมาย ดังหะดีษที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

)أحمد رواه( مُستجابةٌ دعوةٌ منهُم عبدٍ لِكُلِّ ، وليلةٍ يومٍ كلِّ في عُتِقاءَ للَّهِ إنَّ

     “แท้จริงสำหรับอัลลอฮฺนั้น ในทุกวันและทุกคืน(ของเดือนเราะมะฎอน) อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยจากไฟนรก และสำหรับมุสลิมทุกคน เมื่อเขาวิงวอนขอพร เขาจะได้รับการตอบรับ” 

(รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด)

         และการทำอิบาดะฮฺในเดือนนี้ถูกระบุว่าจะได้รับการอภัยโทษในความผิดที่ผ่านมา หากปฏิบัติด้วยความศรัทธา และหวังในการตอบแทน ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَن صامَ رمضانَ إيمانًا واحتسابًا ، غُفِرَ لَهُ ما تقدَّمَ من ذنبِهِ ومَن قامَ ليلةَ القدرِ إيمانًا واحتِسابًا غُفِرَ لَهُ ما تقدَّمَ من ذنبِهِ (رواه البخاري ومسلم)

     “ผู้ใดถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธาและความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยโทษต่อความผิดของเขาที่ผ่านมา และผู้ใดยืนละหมาดในคืนอัลก็อดรฺด้วยความศรัทธาและความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยโทษต่อความผิดของเขาที่ผ่านมา” 

(รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)

          และเดือนเราะมะฎอนนั้นยังเป็นเดือนที่ได้รับการลบล้างความผิดต่างๆที่เกิดระหว่างเดือนเราะมะฎอนแต่ละปี ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

الصَّلواتُ الخمسُ والجمُعةُ إلى الجمعةِ ورمضانُ إلى رمضانَ مُكفِّراتٌ ما بينَهنَّ إذا اجتنَبَ الْكبائرَ (رواه مسلم)

     “ช่วงเวลาระหว่าง การละหมาดห้าเวลา และระหว่างวันศุกร์หนึ่งไปยังอีกศุกร์หนึ่ง และระหว่างเราะมะฎอนหนึ่งไปยังอีกเราะมะฎอนหนึ่ง จะลบล้างความผิดในช่วงระยะเวลาระหว่างนั้น หากว่าเขาออกห่างจากการทำบาปใหญ่” 

(รายงานโดยมุสลิม)

 

7. เดือนแห่งการตอบแทน

 

         เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการตอบแทน ซึ่งการตอบแทนผลบุญในเดือนนี้มีความพิเศษยิ่งกว่าเดือนอื่นๆ สำหรับความดีที่ได้กระทำทั่วไปนั้นอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตอบแทนให้ทวีคูณ แต่สำหรับเดือนเราะมะฎอนที่มีความประเสริฐยิ่งนั้นการตอบแทนก็จะยิ่งเท่าทวีคูณยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอิบาดะฮฺพิเศษคือการถือศีลอด ที่การตอบแทนนั้นอัลลอฮฺจะทรงเป็นผู้ให้เอง ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงการตอบแทนต่อการถือศีลอดไว้ว่า

 

قال اللهُ : كلُّ عملِ ابنِ آدمَ لهُ إلا الصيامَ ، فإنَّه لي وأنا أُجْزي بهِ (رواه البخاري ومسلم)

     “อัลลอฮฺ ตรัสว่า : การงานทุกอย่างของมนุษย์นั้นเป็นของเขา นอกจากการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง” 

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

และหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ يُضَاعَفُ ، الْحَسَنَةُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا إِلَى سَبْعِ مِائَةِ ضِعْفٍ ، قَالَ اللَّهُ تَعَالَى : إِلا الصَّوْمَ ، فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ ، يَدَعُ طَعَامَهُ وَشَهْوَتَهُ مِنْ أَجْلِي ، لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ : فَرْحَةٌ عِنْدَ إِفْطَارِهِ ، وَفَرْحَةٌ عِنْدَ لِقَاءِ رَبِّهِ ، وَلَخُلُوفُ فَمِ الصَّائِمِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللَّهِ تَعَالَى مِنْ رَائِحَةِ الْمِسْكِ (رواه البخاري ومسلم)

     “ทุกการงานของมนุษย์นั้นจะได้รับการตอบแทนเพิ่มทวีคูณ โดย 1 ความดีจะถูกเพิ่มเป็น 10-700 เท่า

     อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ตรัสว่า : “นอกจากการถือศีลอดเพราะมันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง เขาได้ละทิ้งอาหารและความใคร่เพื่อข้า

     สำหรับผู้ถือศีลอดจะมีความสุขสองครั้ง ครั้งแรกขณะละศีลอด และอีกครั้งขณะพบกับพระเจ้าของเขา

     กลิ่นปากของผู้ถือศีลอด ที่อัลลอฮฺนั้น หอมยิ่งกว่ากลิ่นของชะมดเชียงเสียอีก” 

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

          สำหรับอิบาดะฮฺอื่นๆการตอบแทนของผู้กระทำนั้นจะได้รับอย่างเท่าทวีคุณ 1 ความดี จะถูกเพิ่มเป็น 10-700 เท่า นอกจากการถือศีลอดเท่านั้น ซึ่งเป็นอิบาดะฮฺพิเศษซึ่งต่างจากอิบาดะฮฺอื่นๆ อิบาดะฮฺทั่วไปนั้นจะมีการเคลื่อนไหวทั้งคำพูดและการกระทำในขณะที่การถือศีลอดนั้นคือการไม่ทำ ไม่ได้แสดงออกสิ่งใดเลย ทั้งหมดล้วนอยู่ภายในหัวใจ การถือศีลอดจึงไม่ถูกคำนวณการตอบแทนเหมือนอิบาดะฮฺอื่นๆ แต่อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนมันด้วยพระองค์เอง

 

 

8. เดือนแห่งการตอบรับดุอาอฺ

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการตอบรับดุอาอฺ ซึ่งดุอาอฺของบรรดาผู้ถือศีลอดนั้นจะไม่ถูกปฏิเสธ ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

ثَلاثَةٌ لا تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ الإِمَامُ الْعَادِلُ وَالصَّائِمُ حِينَ يُفْطِرُ وَدَعْوَةُ الْمَظْلُومِ يَرْفَعُهَا فَوْقَ الْغَمَامِ وَتُفَتَّحُ لَهَا أَبْوَابُ السَّمَاءِ وَيَقُولُ الرَّبُّ عَزَّ )الترمذي رواه( حِينٍ بَعْدَ وَلَوْ لأَنْصُرَنَّكِ وَعِزَّتِي وَجَلَّ

     “บุคคล 3 คน ที่การขอดุอาอฺของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ ได้แก่ ผู้ถือศีลอดจนกระทั่งละศีลอด , ผู้นำที่ยุติธรรม , และดุอาอฺของผู้ถูกอธรรม

     อัลลอฮฺจะทรงยกดุอาอฺนั้นขึ้นเหนือก้อนเมฆ โดยประตูแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายจะถูกเปิดออก

     แล้วพระองค์จะทรงกล่าวว่า : ขอสาบานด้วยความยิ่งใหญ่ของข้า ข้าจะช่วยเหลือเจ้าอย่างแน่นอน แม้จะในภายหลังก็ตาม” 

(รายงานโดยอัตติรติรมิซีย์)

 

 

9. เดือนแห่งการเพิ่มพูนปัจจัยยังชีพ

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการเพิ่มพูนปัจจัยยังชีพ เนื่องจากเป้าหมายของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนั้น คือเพื่อความยำเกรง ซึ่งด้วยความยำเกรงนี่แหละคือสาเหตุแห่งการได้รับปัจจัยยังชีพที่เพิ่มพูน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَىٰ آمَنُوا وَاتَّقَوْا لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ ... (96)

      “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรงแล้ว แน่นอนเราก็จะเปิดให้แก่พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาความเพิ่มพูน(ปัจจัยยังชีพ)จากฟากฟ้าและแผ่นดิน” 

(ซูเราะห์อัลอะอฺรอฟ อายะห์ที่ 96)

และอายะห์ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

 

وَمَن يَتَّقِ اللَّهَ يَجْعَل لَّهُ مَخْرَجًا (2)

และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงให้ทางออก(จากปัญหา)แก่เขา

 

وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ ۚ (3)

และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด

 (ซูเราะห์อัฏเฏาะล๊าก อายะห์ที่ 2-3)

          ความยำเกรงเป็นสาเหตุแห่งการได้รับริซกี ปัจจัยยังชีพที่เพิ่มพูน เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นเดือนที่ปัจจัยยังชีพต่างๆนั้นถูกเพิ่มพูน

 

 

10. เดือนแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ในเดือนเราะมะฎอนนั้น ท่านนบีจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากที่สุด ดังที่มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ، وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ، وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ )ومسلم البخاري رواه( الْمُرْسَلةَ الرِّيحِ مِنْ بِالْخَيْرِ أَجْوَدُ وَسَلَّمَ عَلَيْهِ اللَّهُ صَلَّى اللَّهِ فَلَرَسُولُ القُرْآنَ فَيُدَارِسُهُ رَمَضَانَ

     “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุด และท่านจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากที่สุดในเดือนเราะมะฎอน

     เมื่อยามที่ท่านพบกับญิบรีล และญิบรีลจะมาพบกับท่านรอซูลในทุกค่ำคืนของเราะมะฎอน แล้วญิบรีลก็จะศึกษาทบทวนอัลกุรอานกับท่าน

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในความดียิ่งกว่าสายลมที่พัดผ่านเสียอีก

 (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

          นอกจากนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาให้การช่วยเหลือต่อกันให้มากในเดือนเราะมะฎอน ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวว่า

 

)الترمذي رواه( شَيْئًا الصَّائِمِ أَجْرِ مِنْ يَنْقُصُ لا أَنَّهُ غَيْرَ أَجْرِهِ مِثْلُ لَهُ كَانَ صَائِمًا فَطَّرَ مَنْ

     “ผู้ใดก็ตามที่เลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดคนหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลบุญเช่นเดียวกับที่ผู้ถือศีลอดได้รับ โดยที่ผลบุญของผู้ถือศีลอดนั้นไม่มีการลดหย่อนแม้แต่น้อย” 

(รายงานโดยอัตติรมิซีย์)

 

 

11. เดือนแห่งการอบรมจิตใจ

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ บ่มเพาะนิสัยและมารยาทที่ดีงาม เพื่อบรรลุสู่ความยำเกรง ซึ่งความยำเกรงนั้นต้องมาจากทั้งร่างการและจิตใจที่เกรงกลัวต่ออัลอฮฺ การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนั้นจึงเป็นการทำความสะอาด เป็นการขัดเกลาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งในขณะที่ถือศีลอดนั้นนอกจากจะต้องหักห้ามตนเองจากการกินและการดื่มแล้ว ก็ยังต้องหักห้ามตนเองจากความใคร่ หรือความต้องการทางอารมณ์ของตนเองอีกด้วย

ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ يُضَاعَفُ ، الْحَسَنَةُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا إِلَى سَبْعِ مِائَةِ ضِعْفٍ ، قَالَ اللَّهُ تَعَالَى : إِلا الصَّوْمَ ، فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ ، يَدَعُ طَعَامَهُ وَشَهْوَتَهُ مِنْ أَجْلِي (رواه البخاري ومسلم)

     “ทุกการงานของมนุษย์นั้นจะได้รับการตอบแทนเพิ่มทวีคูณ โดย 1 ความดีจะถูกเพิ่มเป็น 10-700 เท่า

     อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า : “นอกจากการถือศีลอดเพราะมันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง เขาได้ละทิ้งอาหารและความใคร่เพื่อข้า

 (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

          และในขณะถือศีลอดก็ยังต้องละเว้นจากการพูด หรือการกระทำที่เป็นเท็จหรือที่เป็นความชั่วอีกด้วย ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّورِ وَالْعَمَلَ بِهِ وَالْجَهْل فَلَيْسَ لِلَّهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ (رواه البخاري)

     “ผู้ใดไม่ละเว้นจากการพูดที่เป็นเท็จหรือการกระทำที่เป็นเท็จ(หรือเป็นความชั่ว) สำหรับอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงประสงค์จากการละเว้นอาหารและเครื่องดื่มของเขา” 

(รายงานโดยบุคอรีย์)

 

         และในขณะถือศีลอดนั้นก็ยังต้องละเว้นจากการพูดสิ่งที่ไร้สาระ การพูดจาหยาบคาย และการทะเลาะวิวาท หรือโกรธเคืองต่อผู้คน ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

لَيْسَ الصِّيَامُ مِنْ الأَكْلِ وَالشَّرَابِ ، إِنَّمَا الصِّيَامُ مِنَ الَّلغْوِ وَالرَّفَثِ ،فَإِنْ سَابَّكَ أَحَدٌ أَوْ جَهِلَ عَلَيْكَ فَقُلْ : إِنِّي صَائِمٌ إِنِّي صَائِمٌ (رواه ابن خزيمة والحاكم)

     “การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดด่าทอหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด

 (รายงานโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม)

และหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

الصِّيَامُ جُنَّةٌ فَلا يَرْفُثْ وَلا يَجْهَلْ وَإِنْ امْرُؤٌ قَاتَلَهُ أَوْ شَاتَمَهُ فَلْيَقُلْ : إِنِّي صَائِمٌ (مَرَّتَيْنِ) (رواه البخاري)

การถือศีลอดนั้นเป็นโล่กำบัง ดังนั้นพวกท่านอย่าได้พูดจาหยาบคาย และอย่าได้พูดเท็จ

 (รายงานโดยบุคอรีย์)

 

          และท่านนบียังย้ำเตือนว่าหากไม่ละทิ้งคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดี เขาก็จะได้รับเพียงความหิวและความกระหายจากการถือศีลอดของเขาดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

رُبَّ صَائِمٍ حَظُّهُ مِنْ صِيَامِهِ الجُوعُ وَالْعَطَشُ (رواه ابن ماجة)

บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น” 

(รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ)

 

 

12. เดือนแห่งความสุข

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งความสุข เพราะอันเนื่องจากเป็นเดือนที่มีบรรยากาศแห่งการอิบาดะฮฺมากกว่าเดือนอื่นๆ โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าจะช่วงเวลาใด เดือนอะไร การทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺนั้นก็จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตอยู่แล้ว สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาพวกเขาจะได้รับความสุขในการทำอิบาดะฮฺของพวกเขา พวกเขาจะมีความสุขเมื่อได้ละหมาด เมื่อได้ถือศีลอด เมื่อได้อ่านอัลกุรอาน เมื่อได้รำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อได้บริจาค เมื่อได้เชื่อสัมพันธ์เครือญาติ เมื่อได้ช่วยเหลือผู้คน สร้างประโยชน์แก่ผู้คน 

 

          แต่สำหรับเดือนเราะมะฎอนนั้นความสุขที่ได้รับจากการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดมันจะยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเดือนที่อัลลอฮฺทรงเปิดโอกาสพิเศษเพื่อให้บ่าวได้รับโปรดปรานมากขึ้น โดยบรรดาประตูสวรรค์ถูกเปิด บรรดาประตูนรกถูกปิด บรรดาชัยฏอนที่คอยยั่วยุให้ทำความชั่วถูกล่ามโซ่ บรรยากาศทั้งหมดในเดือนนี้ถูกอำนวยให้เปี่ยมล้นไปด้วยความสุขจากการอิบาดะฮฺทั้งสิ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ถือศีลอดนั้น พวกเขาจะได้รับความสุขพิเศษยิ่ง ในทุกๆวันของเดือนเราะมะฎอน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ يُضَاعَفُ ، الْحَسَنَةُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا إِلَى سَبْعِ مِائَةِ ضِعْفٍ ، قَالَ اللَّهُ تَعَالَى : إِلا الصَّوْمَ ، فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ ، يَدَعُ طَعَامَهُ وَشَهْوَتَهُ مِنْ أَجْلِي ، لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ : فَرْحَةٌ عِنْدَ إِفْطَارِهِ ، وَفَرْحَةٌ عِنْدَ لِقَاءِ رَبِّهِ ، وَلَخُلُوفُ فَمِ الصَّائِمِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللَّهِ تَعَالَى مِنْ رَائِحَةِ الْمِسْكِ (رواه البخاري ومسلم)

     “ทุกการงานของมนุษย์นั้นจะได้รับการตอบแทนเพิ่มทวีคูณ โดย 1 ความดีจะถูกเพิ่มเป็น 10-700 เท่า

     อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า : “นอกจากการถือศีลอดเพราะมันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง เขาได้ละทิ้งอาหารและความใคร่เพื่อข้า

     สำหรับผู้ถือศีลอดจะมีความสุขสองครั้ง ครั้งแรกขณะละศีลอด และอีกครั้งขณะพบกับพระเจ้าของเขา

     กลิ่นปากของผู้ถือศีลอด ที่อัลลอฮฺนั้น หอมยิ่งกว่ากลิ่นของชะมดเชียงเสียอีก

 (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

         สำหรับผู้ที่ศีลอดพวกเขาจะได้รับความสุขพิเศษสองครั้งด้วยกัน ความสุขครั้งแรกคือในเดือนเราะมะฎอนพวกเขาจะได้รับความสุขในทุกๆวัน เมื่อพวกเขาละศีลอด พวกเขาจะมีความสุขที่พวกเขาได้ถือศีลอด ได้อิบาดะฮฺต่ออัลลฮฺจนเสร็จสิ้น และมีความสุขในการดื่ม การกินอาหารที่ได้เตรียมไว้ ร่วมกินดื่มกับครอบครัวอย่างพร้อมเพรียง นี่คือความสุขที่ไม่มีผู้ใดจะได้สัมผัสนอกจาผู้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน 

 

           และความสุขในครั้งที่สองคือในวันอาคิเราะห์ ขณะที่เขาไปพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งหมดในโลกดุนยา สำหรับผู้ถือศีลอดจะมีความสุขอย่างมากที่ได้ไปพบกับอัลลอฮฺพร้อมกับการถือศีลอดของเขา ที่เขาได้กระทำในโลกดุนยาด้วยความศรัทธาและความหวังการตอบแทนจากพระองค์

 

          เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นเดือนแห่งความสุขอย่างแท้จริง ที่ในช่วงเดือนนี้จะมีแต่บรรยากาศแห่งความสุขจากการอิบาดะฮฺต่างๆของผู้คน และบรรดาผู้ถือศีลอดจะได้รับความสุขในทุกๆวันของเดือนนี้ และพวกเขาก็จะได้รับความสุขที่ยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายขณะที่ได้พบกับอัลลอฮฺ พร้อมกับการถือศีลอด