สิ่งยืนยันการเป็นมุสลิม คือการละหมาด
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา มีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะอัตตักวาหรือความยำเกรงต่อพระองค์นั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺ สิ่งที่เป็นอะมัลศอและฮฺต่างๆ
ซึ่งผลของการที่เรามีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในกุบูร และปกป้องเราจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยานี้ เราก็จะได้รับชีวิตที่ดีงาม และในโลกอาคิเราะฮฺ เราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในวันกิยามะฮฺ มนุษย์ทุกๆคนต้องได้รับการสอบสวนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงสอบสวนในทุกสิ่งที่เราได้กระทำไว้ในโลกดุนยานี้ ..
♦ สำหรับมุสลิมแล้ว ในวันกิยามะฮฺ เรื่องแรกที่เราจะถูกสอบสวนในส่วนของเรื่องอิบาดะฮฺ เรื่องของฮักกุลลอฮฺ ซึ่งเป็นสิทธิของอัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่จะต้องได้รับจากเราก็คือ เรื่องของการละหมาด ...
♦ สำหรับในส่วนของสิทธิระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรื่องของฮักกุลอาดัม เรื่องแรกที่จะถูกสอบสวนก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ เรื่องของชีวิตเลือดเนื้อ
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอันนะซาอีย์ (ซึ่งอิมามอัลอัลบานีย์รับรองว่าเป็นหะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺ ) รายงานจากท่านอิบนุ มัสอู๊ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
. "أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ الصَّلاَةُ وَأَوَلُ مَا يُقْضَى بَيْنَ النَّاسِ فِى الدِّمَاءِ".
“สิ่งแรกที่บ่าว(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)จะถูกสอบสวน(ในเรื่องระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเรา)ก็คือ (เรื่องของ)การละหมาด และสิ่งแรกที่บ่าว(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)จะถูกตัดสินระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็คือ (เรื่องของ)ชีวิตเลือดเนื้อ”
เราจึงต้องให้ความสนใจ ให้ความเอาใจใส่ เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการละหมาด الصَّلاَةُ กับเรื่องของชีวิตเลือดเนื้อ الدِّمَاءِ
ในส่วนของการละหมาด เราจะเห็นว่า การละหมาดเป็นเรื่องที่เราถูกสอน ถูกฝึก ถูกเคี่ยวเข็ญมาแต่เล็กแต่น้อย ..เมื่อเรามีลูกมีหลาน เราก็จะคอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเขาในเรื่องของการละหมาด ..คุณครูภาคศาสนาก็จะเฝ้าสอนสั่งลูกศิษย์ในเรื่องของการละหมาด ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราคุ้นชินกับการละหมาด และปฏิบัติติดตัวจนเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติทุกๆวันจนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป
เราไม่สามารถทอดทิ้งการละหมาดได้เลย ไม่ว่าเราจะเจ็บป่วย จะไม่สบายขนาดไหน หรือจะมีความสบายมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ต้องละหมาด ...ไม่ว่าเวลาที่เราจะอยู่บ้าน หรือเวลาที่เราต้องเดินทาง จะใกล้จะไกล เราก็ต้องรักษาการละหมาด ...จะอยู่ในสถานที่ที่มีความปลอดภัย หรือสถานที่ที่มีความน่าหวาดกลัว แม้แต่อยู่ในสนามรบ เราก็ต้องรักษาการละหมาด เพราะการละหมาดเป็นสิ่งที่ทำให้มุสลิมรอดพ้นจากการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และรอดพ้นจากการเป็นผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
إِنَّ بَيْنَ الَّرجُلِ و بَيْنَ الشِّرْكِ وَالْكُفِر تَركَ الصَّلاَ ةِ
“แท้จริง สิ่งที่ปิดกั้นระหว่างมุสลิมกับการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นคือ..การละหมาด”
ดังนั้น คนที่ดำรงรักษาการละหมาดของเขาเอาไว้ ก็เท่ากับเขาดำรงรักษาสถานะการเป็นมุสลิมของเขาไว้...นอกจากนี้ การละหมาดยังเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะหลุดออกไปจากอิสลาม ถ้าหากว่าการละหมาดสูญหายไป คือไม่มีใครดำรงการละหมาดเอาไว้เลย เมื่อนั้น อิสลามก็จะสูญหายไปทั้งหมด
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด (ซึ่งอิมามอัลอัลบานีย์รับรองว่าเป็นหะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺ )รายงานจากท่านอะบีอุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
لَتُنْقَضَنَّ عُرَى الإِسْلَامِ عُرْوَةً عُرْوَةً، فَكُلَّمَا انْتَقَضَتْ عُرْوَةٌ تَشَبَّثَ النَّاسُ بِالَّتِي تَلِيهَا، وَأَوَّلُهُنَّ نَقْضًا: الحُكْمُ، وَآخِرُهُنَّ: الصَّلَاةُ
“อิสลามถูกยึดเหนี่ยวไว้ด้วยห่วงโซ่หลายๆห่วง แล้วห่วงโซ่ของอิสลามนี้ก็จะค่อยๆหลุดออกไปจากมนุษย์แต่ละคนๆทีละห่วงๆ และแต่ละครั้งที่ห่วงหนึ่งมันหลุดไป มนุษย์ก็จะไปคว้าห่วงอีกอันหนึ่งที่อยู่ถัดไป (นั่นก็หมายความว่า มุสลิมจะค่อยๆละทิ้งบทบัญญัติศาสนาไปทีละอย่างๆ)
อย่างแรก(จากบทบัญญัติศาสนา)ที่จะหลุดออกไป หรือถูกทิ้งไปก็คือ เรื่องของอัลหุก่ม (คือการพิพากษาตัดสินเรื่องต่างๆด้วยบทบัญญัติศาสนา หรือการปกครองด้วยระบอบอิสลาม ซึ่งสิ่งนี้ก็สามารถมองเห็นได้ในปัจจุบันว่าเริ่มหลุดไปแล้ว อย่างเช่น ในเรื่องของบทลงโทษของคนที่ทำซินาด้วยกับการเฆี่ยน และการถูกขว้างจนเสียชีวิต หรือเรื่องของการตัดมือคนขโมย ก็จะมีการถูกเพิกเฉย มุสลิมบางคนก็บอกว่า มันล้าสมัย ไม่เหมาะกับยุคสมัย ทั้งๆที่มันเป็นบทบัญญัติที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)
และอย่างสุดท้าย(จากบทบัญญัติศาสนา)ที่จะหลุดออกไปก็คือ การละหมาด”
ดังนั้น การละหมาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเสาเป็นหลักที่จะค้ำชูอิสลามให้ดำรงอยู่ ถ้าหากเราละทิ้งการละหมาด ก็ถือว่าเราเป็นผู้ทำลายศาสนาได้เหมือนกัน ผลก็คือได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ถ้าหากเราเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาด ก็เท่ากับเราเป็นผู้หนึ่งที่ดำรงรักษาอิสลามไว้ไม่ให้สูญหายไป อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ทรงให้สัญญาแก่ผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาดว่า เขาจะได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอบูดาวูด และอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านอุบาดะฮฺ อิบนุ อัซซอมิต เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«خَمْسُ صَلَوَاتٍ كَتَبَهُنَّ اللَّهُ عَلَى الْعِبَادِ ، فَمَنْ جَاءَ بِهِنَّ لَمْ يُضَيِّعْ مِنْهُنَّ شَيْئًا اسْتِخْفَافًا بِحَقِّهِنَّ ، كَانَ لَهُ عِنْدَ اللَّهِ عَهْدٌ أَنْ يُدْخِلَهُ الْجَنَّةَ ، وَمَنْ لَمْ يَأْتِ بِهِنَّ فَلَيْسَ لَهُ عِنْدَ اللَّهِ عَهْدٌ ، إِنْ شَاءَ عَذَّبَهُ ، وَإِنْ شَاءَ أَدْخَلَهُ الْجَنَّةَ»
“อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดการละหมาด 5 เวลาไว้เป็นฟัรฎู (คือเป็นข้อบังคับ) แก่บรรดาบ่าวของพระองค์ ดังนั้น ผู้ใดที่ทำละหมาด 5 เวลานั้นอย่างครบถ้วน โดยที่เขาไม่ได้ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดของการละหมาดขาดตกบกพร่องไป สำหรับเขาผู้นั้นจะได้รับตามที่อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้กับพวกเขา นั่นคือให้เขาเข้าสวรรค์ของพระองค์ แต่ถ้าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติ(อย่างครบถ้วนดีงาม) เขาก็จะไม่ได้รับคำสัญญาใดๆจาก อัลลอฮฺ หากพระองค์ประสงค์(จะลงโทษเขา) พระองค์ก็จะทรงลงโทษเขา และหากพระองค์ประสงค์(จะให้เขาเข้าสวรรค์) พระองค์ก็จะทรงให้เขาได้เข้าสวรรค์”
จากอัลหะดีษนี้ บอกให้เรารู้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะละหมาด แต่หากการละหมาดของเราเป็นการละหมาดที่สักแต่ว่าทำๆไปอย่างนั้น ทำให้เสร็จๆไป การละหมาดในลักษณะอย่างนี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะพระองค์ทรงบอกว่า “เขาต้องไม่ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดของการละหมาดขาดตกบกพร่องไป” หากเขาทำให้การละหมาดของเขาขาดตกบกพร่องไป ไม่ครบถ้วนดีงาม อย่างนี้ก็ไม่แน่ว่า เขาจะได้เข้าสวรรค์หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาว่า พระองค์ทรงประสงค์จะลงโทษเขาไหม ในการละหมาดที่ขาดตกบกพร่องของเขา ถ้าทรงประสงค์จะลงโทษเขา พระองค์ก็จะทรงลงโทษ แต่หากพระองค์ทรงประสงค์จะให้เขาเข้าสวรรค์ เขาก็จะได้เข้าสวรรค์ โดยพระองค์จะทรงพิจารณาความตั้งใจ ความเอาใส่ ความเพียรพยายามของเขาว่าเป็นอย่างไร ตั้งใจ จริงใจแค่ไหนที่จะให้การละหมาดของเขาครบถ้วนดีงาม ไม่ขาดตกบกพร่อง
ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาหาความรู้ว่า อะไรบ้างที่จะทำให้การละหมาดของเราเป็นการละหมาดที่ครบถ้วนดีงาม ไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งจะเป็นเหตุผลให้เราได้เข้าสวรรค์
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุอ์มินูน ได้กล่าวถึงลักษณะของมุอ์มิน ในอายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
الَّذِينَ هُمْ فِي صَلَاتِهِمْ خَاشِعُونَ ( 2 )
“บรรดาผู้ที่มีความนอบน้อมถ่อมตนในการละหมาดของพวกเขา”
ประการที่หนึ่ง ที่ทำให้การละหมาดไม่ขาดตกบกพร่องก็คือ ทำละหมาดด้วยความรู้สึกนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำทุกๆอิริยาบทในสภาพที่ คอชิอีน คือมีคุชัวอฺ มีเฏาะมะนีนะฮฺ ทำด้วยหัวใจที่ศรัทธาเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว ทำด้วยใจที่มุ่งมั่น สงบ นิ่ง มีสมาธิ ไม่ทำอย่างรีบเร่ง ไม่ทำอย่างลนลาน ไม่ยุกยิกๆ
เมื่อเวลาที่ละหมาดญะมาอะฮฺ จะต้องไม่ทำอิริยาบทล่วงหน้าอิมาม ไม่รุกัวอฺก่อนอิมาม หรือไม่สุญูดก่อนอิมาม แล้วก็ต้องไม่ล่าช้ามากเกินไป เช่น อิมามรุกัวอฺ มะมูมก็รุกัวอฺตามไป ไม่ทิ้งช่วงนาน และช่วงที่สุญูดเป็นช่วงที่เราจะใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากที่สุด ช่วงนี้ จงขอดุอาอ์ให้มากๆ แต่ก็ต้องไม่สุญุดนานเกินไปจากที่อิมามได้ขึ้นจากสุญูดแล้ว
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในซูเราะฮฺอัลมุอ์มินูน อายะฮฺที่ 9 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَالَّذِينَ هُمْ عَلَىٰ صَلَوَاتِهِمْ يُحَافِظُونَ ( 9 )
“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาการละหมาดของพวกเขา”
ประการที่สอง ทำให้การละหมาดไม่ขาดตกบกพร่องก็คือ รักษาการละหมาด นั่นก็หมายความว่า รักษารูปแบบของการละหมาดให้ตรงตามแบบฉบับหรือแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ละหมาดศุบฮฺ ท่านนบีละหมาด 2 เราะกะอะฮฺ เราก็ต้องสอง จะไปเพิ่มเองเป็น 3 – 4 เราะกะอะฮฺ อย่างนี้ไม่ได้ ...เมื่อรักษารูปแบบแล้ว ก็ต้องรักษาเวลาด้วย ละหมาดตามเวลาที่ถูกกำหนด ไม่ใช่ละหมาดศุบฮฺ แต่ไปละหมาดเวลาเที่ยง อะไรอย่างนี้ จะต้องไม่ปล่อยเวลาให้เลื่อนเลยไปจนใกล้จะหมดเวลา แต่ให้ปฏิบัติในช่วงต้นของเวลา พร้อมทั้งยืนหยัดในการละหมาดอย่างสม่ำเสมอ...ในเรื่องของการอาบน้ำละหมาดก็ต้องทำอย่างดีงาม ครบถ้วน ..การแต่งกายก็ต้องแต่งตัวให้สุภาพ เรียบร้อย
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในซูเราะฮฺอัลอันกะบูต อายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
إِنَّ الصَّلَاةَ تَنْهَىٰ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ ۗ ۗ
”แท้จริง การละหมาดนั้นจะยับยั้งคนที่ละหมาดไม่ให้ทำในสิ่งที่ชั่วช้าลามกและสิ่งที่น่ารังเกียจ”
ประการที่สาม ทำให้การละหมาดของเราไม่ขาดตกบกพร่องก็คือ การละหมาดของเราสามารถยับยั้งไม่ให้ทำสิ่งที่ชั่วช้าลามก สิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ ผิดบทบัญญัติศาสนา...เราก็มาสำรวจตัวเราว่า ละหมาดฟัรฎูครบทั้งห้าเวลาแล้ว แต่ยังทำในสิ่งที่บทบัญญัติศาสนาสั่งห้ามหรือเปล่า ถ้ายังทำอยู่ ก็แสดงว่า เราได้ทำให้การละหมาดของเรา ขาดตกบกพร่องไปเสียแล้ว
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในซูเราะฮฺอัลอะอ์ลา อายะฮฺที่ 14 – 15 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
قَدْ أَفْلَحَ مَن تَزَكَّىٰ ( 14 )
وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّىٰ ( 15 )
“บรรดาผู้ที่ขัดเกลาจิตใจ และบรรดาผู้ที่รำลึกถึงพระเจ้าของเขาแล้วเขาก็ทำการละหมาด แน่นอน บุคคลเหล่านี้จะได้รับชัยชนะ ได้รับความสำเร็จ”
ประการที่สี่ ที่ทำให้การละหมาดของเราไม่ขาดตกบกพร่องก็คือ พยายามขัดเกลาจิตใจของเราให้มีอิคลาศ คือมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว โดยไม่ยอมให้มีชิริกใดๆแฝงอยู่ด้วยเลย ไม่ให้มีการโอ้อวด ..ยืนหยัดในการละหมาดเพราะต้องการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สำนึกในพระคุณต่างๆที่ทรงมีต่อเรา
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตนเพื่อให้การละหมาดของเราครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ได้รับแต่ความดีงาม เมื่อไปถึงวันกิยามะฮฺ การสอบสวนในเรื่องของการละหมาดก็จะเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด และอิมามอบูดาวูด รายงานจากท่านตะมีม อัดดารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
: «أَوَّلُ مَايُحَاسَبُ بِهِ العَبْدُيَوْمَ القِيَامَةِ صَلاَتُهُ ،فَإِنْ كَانَ أَتَمَّهَاكُتِبَتْ لَهُ تَامَّةً،وَإِنْ لَمْ يَكُنْ أَتَمَّهَاقَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ: انظرواهَلْ تَجِدُونَ لِعَبْدِي مِنْ تَطَوُّعٍ فَتُكْمِلُونَ بِهَافَرِيضَتَهُ،
“สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ก็คือการละหมาดของเขา หากเขาทำการละหมาดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เช่นกัน ..แต่หาก การละหมาดของเขาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ (ขาดตกบกพร่องไป) อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า จงไปดูสิว่า พวกเจ้าพบว่าบ่าวของข้ามีละหมาดสมัครใจใดๆไหม(คือได้ทำละหมาดสุนัตใดๆไว้บ้างไหม) (ถ้าหากเขาได้ทำละหมาดสุนัตไว้ก็ให้)นำสิ่งนั้นมาเติมเต็มละหมาดที่เป็นฟัรฎูหรือเป็นภาคบังคับของเขา(ที่มันได้ขาดตกบกพร่องไป) ....”
ดังนั้น เมื่อเราได้ละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลาอย่างครบถ้วนดีงามแล้ว เราต้องพยายามทำละหมาดสุนัตต่างๆให้มากๆ เพื่อที่ในวันกิยามะฮฺ มันจะได้ไปช่วยเติมเต็มการละหมาดฟัรฎูที่มันอาจบกพร่องของเรา และเป็นเหตุผลให้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตัดสินให้เราได้เข้าสวรรค์ของพระองค์
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ขอให้เราพยายามรักษาการละหมาดของเราให้ตรงเวลา ให้ครบถ้วนดีงาม พยายามขจัดข้อบกพร่องต่างๆให้หมดไป ให้ใช้ความพยายาม ให้มีความตั้งใจ ให้มีความมุ่งมั่น เริ่มตั้งแต่ละหมาดวันศุกร์นี้เลย ...คอยสำรวจการละหมาดของตัวเรา แน่นอนที่เราก็ต้องมีพลาดพลั้ง พลั้งเผลอให้กับชัยฏอนที่มันคอยจะล่อหลอกเราให้เราเสียสมาธิในการละหมาด แต่ขอให้เรามีความตั้งใจ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงเห็นถึงความตั้งใจของเรา จะทรงคอยช่วยเหลือเราและจะทรงอภัยโทษให้แก่เราในความบกพร่องที่เราพลาดพลั้งไป
อย่าเป็นคนดื้อดึง อย่ายโสโอหัง อย่าปล่อยปละละเลย อย่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เป็นอันขาด แต่ต้องคอยแก้ไขข้อบกพร่องของการละหมาดของเราอยู่เสมอ พยายามทำให้การละหมาดของเราครบถ้วนดีงาม เพื่อที่ในวันกิยามะฮฺ เราจะได้รับการสอบสวนอย่างง่ายดาย รวดเร็ว และได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา