คำสั่งเสีย แด่ อิหม่ามในเดือนรอมฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  3066


คำสั่งเสีย แด่ อิหม่ามในเดือนรอมฎอน

 

โดย อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          นี้คือคำตักเตือนแด่พี่น้อง ที่เป็นอิหม่ามที่นำละหมาดที่มัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน รายงานจาก อะบีรุกอยยะห์ คือ ตะมีม อิบนิเอาวซฺ อัดดารีย์ ได้กล่าวว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า :

 

(( الدِّينُ النَّصِيحةُ )) قلنا : لِمَنْ ؟ قَالَ : لِلهِ وَلِكِتَابِهِ وَلِرَسُولِهِ وَلأئِمَّةِ المُسْلِمِينَ وَعَامَّتِهِمْ

ศาสนา คือ การตักเตือนกัน 

พวกเรา (บรรดาศอฮาบะห์) ถามว่า : สำหรับใคร ?

       ท่านตอบว่า : สำหรับอัลเลาะห์ สำหรับคัมภีร์ของพระองค์ สำหรับรอซูลของพระองค์ สำหรับผู้นำมุสลิม และสำหรับมุสลิมทั่วไป

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

· ทบทวนเกี่ยวหลักการของการถือศีลอดในเรื่องต่างๆ

 

          เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึง มีผู้คนมากมายจะต้องสอบถามผู้นำของมัสยิด หรือคนที่มีความรู้ในชุมชนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถือศิลอดและประเด็นต่างๆ เช่น มารยาทการถือศิลอด แบบอย่างของท่านนบีในการถือศิลอด จำเป็นที่ผู้นำมัสยิด จะต้องทบทวนอย่างดีป้องกันการตอบปัญหาศาสนาโดยไม่มีความรู้

 

· ใส่ใจต่อผู้คนที่มาร่วมละหมาดที่มัสยิด

 

          ผู้ที่นำละหมาดจะต้องเอาใจใส่ในการนำละหมาด และจะต้องดูสภาพโดยรวมของผู้คนที่มาละหมาด โดยเฉพาะการอ่านในละหมาด ควรที่จะอ่านอย่างเหมาะสมของสภาพมะมูม เช่น อาจมี คนชรา คนป่วย หรือ เด็ก อย่าได้อ่านซูเราะห์ยาวจนคนยืนละหมาดไม่ไหว

มีรายงานจากท่าน อิบนุ มัสฮูด

     มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี บอกกับท่านนบีว่า ฉันมาละหมาดล่าช้าเพราะมีคนที่เป็นอิหม่าม เขาอ่านยาวมากในละหมาด

     เมื่อท่านนบีรับทราบ ถึงกับโกรธหน้าแดง ท่านนบีกล่าวว่า

((يا أيها الناس، إن منكم منفِّرين، فأيُّكم أمَّ الناسَ فليوجِز؛ فإن مِن ورائه الكبيرَ والصغير وذا الحاجة))

     "โอ้มนุษย์ หากว่าพวกท่านอย่าทำให้ผู้คนวิ่งหนี หากเป็นอิหม่ามนำละหมาด จงอ่านแบบสั้นๆเพราะคนที่อยู่หลังท่านนั้น คนสูงวัย เด็ก คนทำงาน"

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

· พยายามอ่านอย่างมีสมาธิ สงบนิ่ง ไม่ใช่อ่านให้ใด้จำนวนมากๆอย่างเดียว

 

          ผู้ที่นำละหมาดจะต้องอ่านอย่างมีสามาธิ พิจารณาความหนา ฉะนั้นการอ่านสองสามอายะฮ์ในละหมาดด้วยความมีสามาธิ ดีกว่าการอ่านแบบเร็วๆเพื่อให้ได้จำนวนอายะในแต่ละร็อกอะฮ์ของละหมาด ผู้นำละหมาดอย่าคิดว่าคืนนี้จะอ่านกี่หน้า กี่อายะฮ์ แต่ควรคำนึง ว่าอ่านอย่างไรคนที่มาละหมาดนั้นมีสามาธิ สงบนิ่ง

ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า :

((إذا صلى أحدُكم للناس فليخفِّف؛ فإن منهم الضعيف والسقيم والكبير، وإذا صلَّى أحدُكم لنفسه فليطوِّل ما شاء))

     “เมื่อพวกท่านนำละหมาดกับคนอื่น จงทำให้มันสั้น เพราะในหมู่พวกท่านนั้น มีทั้งคนอ่อนแอ คนสูงวัย ชรา หากละหมาดคนเดียวอ่านเท่าที่ต้องการ

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

· สร้างบรรยากาศในมัสยิด

 

          พยายามสร้างบรรยากาศในอาคารและรอบบริเวณของมัสยิดเพื่อให้คนที่มาร่วมละหมาดรู้สึกชอบ และจะให้มีสามาธิในการละหมาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ทำความสะอาด พรมน้ำหอม เพราะบางทีคนที่มาละหมาดรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง หัวหอม กระเทียม เครื่องเทศต่างๆ รบกวนกับคนอื่นที่มาละหมาดด้วย ควรจะทำความสะอาด หลังละหมาดมักริบ ตระเตรียมห้องน้ำให้สะอาด ตลอดจนสถานที่วางรองเท้า

 

· จะต้องใช้การตักเตือนที่สุภาพอ่อนโยน

 

         ผู้ที่นำละหมาดหรือผู้รู้จะต้องใช้ถ้อยคำที่สุภาพกับผู้ที่มาร่วมละหมาดในมัสยิดโดยเฉพาะเดือนรอมฎอน เพราะบางคนไม่เคยมาละหมาดที่มัสยิดเว้นแต่เดือนนี้เท่านั้น ส่วนมากเขาจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมารยาทของมัสยิดและฮุ่กุ่มของการถือศิลอด เช่น คนมาละหมาดใหม่ที่มัสยิด บางครั้งมักจะถูกมองเหมือนคนแปลกหน้า ด้วยสายตาของคนที่มาละหมาดทุกวัน บางครั้งใช้คำพูดไม่สุภาพ ตัวอย่าง เช่น คุณนี้มาละหมาดมัสยิดด้วยหรือ

 

          มัสยิดบางที่ อิหม่ามขึ้นตักเตือน ด้วยคำพูดว่า บวชทำไมไม่มาละหมาดที่มัสยิด หากว่าเขาทำผิดจะมีคนพูดในทำนองที่ว่านี้แหละฮฺที่รู้เพราะว่า คุณไม่มามัสยิดเลย ฉะนั้นคนที่มาร่วมละหมาดจะต้องระมัดระวังถ้อยคำในการตักเตือนซึ่งกันละกัน โดยเฉพาะผู้นำในมัสยิด จะต้องให้ความรู้อย่างสุภาพ อ่อนโยน รู้จักการให้อภัย

การอภัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม

 อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

«فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاصْفَحْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ»

 “ดังนั้น เจ้าจงยกโทษให้พวกเขา และจงอย่าถือสา แท้จริงแล้วอัลลอฮฺนั้น ทรงรักผู้ที่ทำความดี” 

(อัล-มาอิดะฮฺ : 13)

มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า :

أَنَّ أَعْرَابِيًّا بَالَ فِى الْمَسْجِدِ، فَثَارَ إِلَيْهِ النَّاسُ لِيَقَعُوا بِهِ، فَقَالَ لَهُمْ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ «دَعُوهُ، وَأَهْرِيقُوا عَلَى بَوْلِهِ ذَنُوبًا مِنْ مَاءٍ - أَوْ سَجْلاً مِنْ مَاءٍ -، فَإِنَّمَا بُعِثْتُمْ مُيَسِّرِينَ، وَلَمْ تُبْعَثُوا مُعَسِّرِينَ».

     ชาวอาหรับชนบทคนหนึ่ง ได้ถ่ายปัสสาวะในมัสยิด ผู้คนจึงกรูเข้าหา หมายจะทำร้ายเขา 

      ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกล่าวกับพวกเขาว่าจงปล่อยเขา (ให้ถ่ายปัสสาวะ จนเสร็จก่อน)และ จงนำน้ำถุงหนึ่ง หรือถังหนึ่ง มาราดปัสสาวะเขา

     เพราะแท้จริงแล้ว พวกเจ้าถูกบังเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นผู้อำนวยความสะดวก และไม่ได้ถูกบังเกิด ให้เป็นผู้สร้างความลำบาก” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

· รู้จักประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย

 

         มัสยิดบางพื้นที่ ปล่อยปละเลยเปิดไฟ น้ำ แอร์ เกินความจำเป็นเปิดทิ้งไว้ตลอดทั้งคืน ฉะนั้น ควรจะใช้ตามความเหมาะสม มีคนเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

· ระวังการปะปนชายหญิง

 

          ผู้นำของมัสยิดจะต้องจัดและแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจนอย่าให้มีการปะปนระหว่างชายหญิง แบ่งทางเข้าออกของมัสยิดให้ชัดเจน เพราะช่วงรอมาฎอนสตรีจะมาละหมาดที่มัสยิดเป็นส่วนมาก

 

· จัดเตรียมเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำเปล่า

 

          ทางมัสยิดควรที่จะจัดเตรียมสิ่งที่ควรจะมีในมัสยิดอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำเย็น น้ำผลไม้ เพียงพอกับผู้ที่มาละหมาดในแต่ละคืน น้ำร้อนสำหรับผู้สูงวัย

 

· ห้ามอ่านดุอายาวเกินไป

 

          ผู้ที่นำละหมาดในแต่ละคืนไม่ควรที่จะอ่านนำบทดุอายาวจนเกินไป จนบางครั้งทำให้คนที่มาร่วมละหมาดรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อยากมาละหมาดอีกในคืนถนัดไป เช่นบางคนอ่านดุอา ชั่วโมงครึ่ง

 

· สมควรอ่านในทำนองเดียวกัน

 

          อิหม่ามบางคนอ่านหลายทำนองในร็อกอะฮ์เดียวกัน อันนี้ ไม่สมควรสร้างความสับสนแก่ผู้มาละหมาด ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบเชคมากมาย

 

· อย่าเป็นอิหม่ามรับจ้าง

 

          เราพบบ่อยครั้งกับมัสยิดในบ้านเรา เด็กที่ท่องจำอัลกรุอ่านใช้โอกาสนี้ในการทำมาหากิน รับจ้างไปเป็นอิหม่ามตามจังหวัดต่างๆ บางครั้ง สอบถามก่อนว่า มัสยิดนี้เขาให้เท่าไร หรืองบางคนเสียงไพเราะได้เงินมาก คนเสียงไม่ดีได้น้อย

ท่านนบี กล่าวว่า

اقرؤوا القرآنَ، ولا تأكلوا به،

“พวกท่านทั้งหลายจงอ่านกรุอ่าน แต่อย่ากินเงินจากมัน(รับจ้าง)”

 

(บันทึกโดย อิหม่ามอะหมัด ต๊อบรอนีย์ บัยฮากีม ศอเฮี๊ยะอัลบานีย์)