ฮุกุมการซื้อหย่า
  จำนวนคนเข้าชม  11374

ฮุกุมการซื้อหย่า

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก 

 

          จุดประสงค์ของการแต่งงานคือการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และสร้างประชาติตัวอย่างที่เป็นแบบอย่างที่ดีออกมาจากครอบครัว เราจะเห็นได้ว่าอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแต่งงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการสู่ขอและการเลือกคู่ครอง เพื่อที่จะได้สร้างครอบครัวตามเจตนารมณ์ของอิสลาม 

 

          แต่แน่นอนในความเป็นมนุษย์เราที่มีหลากหลายอารมณ์และหลากหลายทัศนคติ บางครั้งการใช้ชีวิตครอบครัวสำหรับบางคนอาจจะมีปัญหาครอบครัว ด้วยกับสาเหตุนานัปการ บางครั้งด้วยกับแนวคิดทัศนคติที่ไม่ตรงกัน หรือมารยาทที่แสดงออกต่อกัน หรือการบกพร่องหน้าที่ระหว่างกัน ปัญหาเศรษฐกิจ หรือบางครั้งความเชื่อทางศาสนา และบางครั้งเพราะคนรอบข้างอาจจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง เข้ามายุ่งเกี่ยวจนนำไปสู่การใช้ชีวิตครอบครัวที่ไม่ราบรื่น จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่เมื่อคนอยู่กันไม่ได้แล้ว ก็ต้องจบด้วยการหย่าร้างเป็นทางออกสุดท้าย 

 

          อิสลามได้กำหนดสิทธิการหย่าร้างนั้นอยู่ที่สามี หมายถึงภรรยาไม่สามารถที่จะหย่าร้างสามีด้วยตัวของนางได้ นอกจากจะได้รับการยินยอมจากสามี แต่ในกรณีที่ภรรยาไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับสามี อาจจะด้วยกับความบกพร่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ แต่สามีไม่ต้องการหย่า ในกรณีนี้ภรรยาสามารถซื้อหย่าจากสามีได้ซึงเรียกว่า (อัลคุลฮฺ

 

          ในกรณีซื้อหย่าก็คือภรรยาขอหย่าร้างสามี โดยภรรยาจะจ่ายเงินให้แก่สามีเพื่อแลกกับการหย่าร้าง จะจ่ายเท่าเงินมะฮัรที่เคยได้รับหรือจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับการตกลงกัน

 

     ในอัลกุรอ่านอัลลอฮฺได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า 

 

الطَّلَاقُ مَرَّتَانِ ۖ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ ۗ وَلَا يَحِلُّ لَكُمْ أَن تَأْخُذُوا مِمَّا آتَيْتُمُوهُنَّ شَيْئًا إِلَّا أَن يَخَافَا أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللَّهِ ۖ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللَّهِ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْهِمَا فِيمَا افْتَدَتْ بِهِ ۗ تِلْكَ حُدُودُ اللَّهِ فَلَا تَعْتَدُوهَا ۚ وَمَن يَتَعَدَّ حُدُودَ اللَّهِ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ ( 229 ) 

 

     “การหย่า(ที่คืนดีได้) นั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ปล่อยไปพร้อมด้วยการทำความดี และไม่อนุญาตแก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนาง (มะฮัร) นอกจากทั้งทั้งสองเกรงว่าจะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮ์ได้เท่านั้น

     ถ้าหากพวกเจ้าเกรงว่า เขาทั้งสองจะไม่ดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮ์แล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใด แก่เขาทั้งสองในสิ่งที่นางใช้มันไถ่ตัวนาง เหล่านั้นแหละคือขอบเขตของอัลลอฮ์ พวกเจ้าจงอย่าละเมิดมัน และผู้ใดละเมิดขอบเขตของอัลลอฮ์แล้ว ชนเหล่านั้นแหละคือผู้ที่อธรรมแก่ตัวเอง

(อัลบากอเราะฮฺ 229)

 

          การซื้อหย่านั้นไม่ใช่จัดอยู่ในการหย่าร้าง แต่จัดอยู่ในประเภทของการยกเลิกนิกาฮฺ เพราะภรรยาเสียเงินไถ่ตัวเองได้เป็นอิสระจากสามี เสมือนกับเชลยได้ไถ่ตัวเองจากศัตรู ซึ่งการหย่าปกติสามีสามารถไปคืนดีกับภรรยาได้ตราบใดที่ภรรยาอยู่ในช่วงของการรอฮิดดะหฺ แต่การซื้อหย่านั้นสามีหมดสิทธิ์ที่จะไปคืนดีกับภรรยาได้นอกจาก จะต้องทำการนิกาหฺใหม่และเงินสินสอดใหม่ และจะต้องได้รับความพอใจจากภรรยาด้วย 

 

     อิบนูอับดิลบิร ได้กล่าวว่า นักวิชาการส่วนมาก มีทัศนะว่า ไม่มีหนทางที่สามีจะคืนดีภรรยานอกจากจะได้รับการยินยอมจากนาง ด้วยกับการนิกาหฺใหม่ และค่ามะฮัรที่ตกลงกัน 

(จากหนังสือ อัลอิสติสกัร 6/82)

 

          ผลที่เกิดจากการซื้อหย่านั้นส่งผลให้การเป็นสามีภรรยาสิ้นสุดลง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตก็ไม่มีการรับมรดกระหว่างกัน และสามีหมดสิทธิ์ที่จะมาคืนดีกับภรรยาเหมือนกับการหย่าร้างทั่วไป แต่ในกรณีที่ซื้อหย่าแล้วฝ่ายหญิงตั้งท้องสามียังคงต้องรับผิดชอบที่อยู่และค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาไปจนกว่านางจะคลอดบุตร เมื่อนางคลอดบุตรสามีก็ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภรรยา รับผิดชอบแค่ค่าเลี้ยงดูของบุตรเพียงอย่างเดียว