การดูถูกบรรดาผู้มีความรู้
เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม
หนึ่งในสาเหตุที่มีการไม่ให้เกียรติผู้รู้บางคน และไปให้เกียรติอีกบางคน ก็เนื่องจากการยึดติดตัวบุคคล มองว่าทุกคำพูดของผู้รู้ที่ตัวเองยึดถือ ในทัศนะและการชี้ขาดของผู้รู้ท่านนั้น คือความถูกต้องทุกอย่าง จนบางครั้งผู้รู้ท่านหนึ่งอาจจะใช้คำพูดที่ไม่ดีในการตำหนิผู้รู้อีกท่านหนึ่ง การยึดติดต่อผู้รู้แบบไม่ลืมหูลืมตา จะทำให้เราไม่ให้เกียรติกับผู้รู้ที่ถูกตำหนิด้วย ดังนั้นผู้รู้ไม่ได้เป็นผู้ไร้ซึงความผิด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแก่เขา ไม่ใช่เหตุผลที่เราต้องไปตำหนิด่าทอลบหลู่แก่เขา เราจะต้องขอดุอาต่ออัลลอฮฺให้อภัยโทษในความผิดพลาดของเขา
การที่คน คนหนึ่งด่าทอผู้รู้ เพราะเขาคิดว่าตัวเขาดีกว่าผู้รู้ท่านนั้น หากเขาคิดเช่นนั้น มันคือการหยิ่งยะโส และใครที่มีการความหยิ่งยะโสในหัวใจ มันคือสาเหตุที่ทำให้เขาไม่ได้เข้าสวรรค์
ส่วนหนึ่งจากความรู้ที่ถูกเก็บ ก็คือการเสียชีวิตของผู้รู้ และการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้รู้เปรียบเสมือนเป็นการฆ่าผู้รู้ หมายถึงเมื่อมีการใส่ร้าย ด่าทอผู้รู้กล่าวหาผู้รู้ว่าเป็นผู้หลงผิด จะส่งผลให้ผู้คนไม่ไปรับความรู้จากผู้รู้ท่านนั้น เมื่อผู้รู้ท่านนั้นไม่มีใครฟังสิ่งที่เขาพูด ไม่ยอมรับความรู้จากเขา ผู้รู้ท่านนั้นก็เสมือนเสียชีวิตไปแล้ว
ท่านเชคอุซัยมีนรอฮิมาอุลลอฮฺ ได้แบ่งผู้รู้ ออกเป็นสามประเภท
1. ผู้รู้ที่รับใช้ศาสนา เขาจะตอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติศาสนา อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่สนใจว่าจะเป็นค้านกับอารมณ์ความต้องการของใคร
2. ผู้รู้ที่รับใช้ผู้มีอำนาจ(รับใช้ผู้ปกครอง) เขาจะตอบปัญหาตามคำสั่งผู้ปกครอง โดยไม่คำนึงว่าจะค้านกับบทบัญญัติศาสนา
3. ผู้รู้มวลชน คือ เขาจะตอบปัญหาเพียงแค่ความพึงพอใจของมวลชน โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ตอบไปจะค้านกับศาสนา
การดูถูกเหยียดหยามบรรดาผู้มีความรู้ คือการดูถูกเหยียบหยามบทบัญญัติ เพราะบรรดาผู้รู้คือผู้ที่รับช่วงในการถ่ายทอดบทบัญญัติอิสลาม การพูดแต่ในสิ่งที่ไม่ดีข้อผิดพลาดของผู้รู้ จนกระทั่งเขาหมดความน่าเชื่อถือ และไม่ถูกยอมรับจากบรรดาผู้คน จะส่งผลให้คำสอนที่เขานำมาไม่ถูกยอมรับด้วย ดังนั้นแนวสลัฟในการพูดถึงความผิดพลาดของผู้รู้ พูดเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดี และยังคงรักษาไว้ซึงเกียรติของพวกเขา และส่งเสริมให้ผู้คนรับความรู้จากเขาในสิ่งที่เป็นความถูกต้อง อย่าเอาความผิดประเด็นที่เขาผิดพลาด มาเป็นเหตุผลให้ผู้คนออกจากผู้รู้ท่านนั้น และไม่รับความรู้จากผู้รู้ท่านนั้น
คำตักเตือนของผู้รู้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจ ให้กระทำสิ่งยิ่งใหญ่หรือเกิดนักวิชาการที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อโลกอิสลาม ได้ ตัวอย่างแรงบันดาลใจที่เกิดในจิตใจของอิหม่าม อัลบุคอรีย์ รอฮิมาอุลลอฮฺ ที่ทำให้ท่านรวบรวมหะดีษ และหนังสือของท่านกลายเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุดหลังจากอัลกุรอ่าน อิหม่ามบุคอรีย์ได้รับการชี้แนะจากท่าน อิสหาก อิบนู รอฮาวัย โดยที่ท่านอิสหาก รอฮิมาอุลลอฮฺได้กล่าวว่า “หากพวกท่านได้รวบรวมหนังสือ แบบรวบรัด ซึ่งรวบสิ่งถูกต้องที่มาจากซุนนะหฺของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม “
จากคำชี้แนะอันนี้ทำให้ท่านอิหม่ามบุคอรีย์ได้เริ่มต้นรวบวมหะดีษจนสำเร็จ และหนังสือของท่านที่ชือว่า الحامع الصحيح กลายเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุดหลังจากอัลกุรอ่าน
ใครที่เขามีความผิดพลาด(ในวิชาการ)แค่น้อยนิดแต่สิ่งที่ถูกต้องมากกว่า เขาก็คือผู้รู้ ใครที่ความผิดพลาดของเขามีมาก และสิ่งถูกต้องมีน้อย เขามิใช่ผู้รู้ (ญาฮิล)
(จากหนังสือ جامع بيان العلم لابن عبد البر 2/48)
จุดยืนของอะลุซซุนนะหฺต่อความผิดพลาดของผู้รู้ พวกเขาได้รับการอภัยไม่มีการตัดสินว่าพวกเขาอุตริในศาสนา และไม่มีการออกห่างจากพวกเขา ไม่มีใครที่จะไม่มีความผิดหลังจากท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม และผู้รู้ไม่สามารถจะรอดพ้นจากความผิดพลาดได้ และจากความผิดพลาดของผู้รู้อย่าได้ตามในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดของเขา และอย่าได้นำเอาข้อผิดพลาดของเขามาเป็นช่องทางในการตำหนิผู้รู้ และเตือนให้ผู้คนออกห่างจากเขา แต่ว่าให้อภัยในความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆของเขา ซึ่งความดีของผู้รู้ย่อมมีมากกว่าความผิดพลาด
และจากบรรดาผู้รู้เหล่านั้นที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ให้เอาประโยชน์จากความรู้ของเขา แต่เตือนไม่ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นความผิดพลาดของพวกเขา ขอดุอาให้แก่พวกเขา ขอให้อัลลอฮเมตตาแก่เขา สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นเป็นคนรู้หรือนักศึกษา ให้เตือนในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดของเขา ด้วยความอ่อนโยน และมีความรักกัน การเตือนนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้เขารอดพ้นจากความผิดพลาด และเขาได้กลับไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง
และส่วนหนึ่งจากบรรดานักวิชาการที่พวกเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว พวกเขามีความผิดพลาดในประเด็นต่างในเรื่องหลักความเชื่อ แต่บรรดาผู้รู้และนักศึกษาต้องพึงพาวิชาความรู้ของพวกเขา และบรรดาตำรับตำราของพวกเขา คือแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับบรรดาผู้แสวงหาวิชาความรู้ เช่น อัลบัยอากีย์ อันนาวาวีย์ อิบนูหะญัร อัลอัสกอลานีย์
(จากหนังสือ ความอ่อนโยนของอะลุซซุนนะหฺที่มีต่ออะลุซซุนนะหฺ เชคอับดุลมุซซิน อัลอับบาด)
คุณลักษณะนักเผยแผ่ที่ประสบความสำเร็จ การทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาของเขาตั้งอยู่บนหลักฐาน ที่ถูกต้องจากตัวบท และอดทนต่อความทุกข์ยาก อันตรายที่เกิดจากการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นคำด่าทอ การทำร้ายร่างกาย และเขาจะต้องทำหน้าที่เผยแผ่นำเสนอ โดยสื่อต่างๆที่เขาสามารถนำมาใช้ได้ ไม่ว่าสื่อด้วยการพูด การเขียน การแสดงแบบอย่างที่ดี และเขาจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจตัวบททางศาสนาที่ถูกต้อง เพราะหากเขาไปเชิญชวนผู้อื่นโดยเข้าใจตัวบททางศาสนาที่ผิดพลาด แน่นอนการเชิญชวนของเขาย่อมไม่ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่นักเผยแผ่จะต้องคำนึง การรู้สภาพบุคคลที่เราจะทำการเรียกร้องเขา รู้สภาพสังคมที่เราจะนำอิสลามไปเสนอแก่พวกเขา เพราะการรู้สภาพของสังคมหรือบุคคลนั้น เปรียบเสมือนหมอที่รู้ว่าคนป่วยเป็นโรคอะไร หมอก็จะสามารถรักษาเยียวยาได้ถูกกับโรค