การทะเลาะวิวาท
โดย อาจารย์อามีน สมันเลาะ
พี่น้องที่รักทั้งหลาย เรามุสลิมทุกคนเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเป็นผู้ที่มีศีล 5 ศรัทธา 6 แต่พวกเราทุกคนก็หลีกหนีไม่พ้นจากการทะเลาะวิวาท การโต้แย้งกันในชีวิตประจำวันของพวกเรา มันไม่ใช่เรื่อแปลก แต่ที่แปลกก็คือ การทะเลาะวิวาทในสิ่งที่ได้รับประโยชน์ ผู้คนจะแสวงหาประโยชน์จากสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยการโกหกหรือใส่ร้ายและจะพยายามกระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม
ถ้าเป็นมุสลิมที่แท้จริง และมีอีมานต่ออัลลอฮฺ หากมีการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกันละก็ จะไม่ยึดถือที่คำพูด หรือการชี้แจงที่เก่งกว่าฝ่ายตรงข้าม แต่จะต้องยึดถือความจริงที่ถูกต้องเป็นเกณฑ์
ได้มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ท่านได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทกันที่หน้าประตูห้องของท่าน ท่านจึงได้ออกไปที่พวกเขาแล้ว ท่านกล่าวว่า
“แท้จริงแล้ว ฉันก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา เมื่อมีผู้ที่พิพาทกันมาหาฉัน ซึ่งบางคนอาจจะชี้แจงเก่งกว่าอีกบางคน จึงทำให้ฉันคิดว่าเขาพูดจริง ฉันก็จะตัดสินไปตามนั้น
ดังนั้นใครก็ตาม ที่ฉันตัดสินเขาโดยไปเอาสิทธิของผู้อื่นแล้ว แท้จริง มันคือส่วนหนึ่งของไฟนรก ถ้ามันถูกต้อง ก็จงเอาไปปฏิบัติ ถ้าไม่ถูกต้องก็ให้ทิ้งไป อย่าได้นำเอาไปปฏิบัติ”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)
การตัดสินนั้นต้องตัดสินด้วยความเป็นธรรม จะไม่ดูแต่สิ่งเราเห็นๆ กันแต่เพียงภายนอกเท่านั้น หรือจะเป็นคำพูด หรือการชี้แจงที่เก่งกว่า เหมือนพวกมีเล่ห์มีเหลี่ยมมีอุบาย ที่พูดแล้วสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อในคำพูดของตนเท่านั้น
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
“แท้จริง อัลลอฮฺใช้ให้รักษาความยุติธรรม และให้ทำดี และให้บริจาคแก่ญาติที่ใกล้ชิด”
(อันนะฮฺลฺ 16 : 90)
อัลลฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้อีกในซูเราะฮฺ อัลฮุญุร็อต อายะฮฺที่ 9 ว่า
“และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่งพวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดสิทธิ จนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ
ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺแล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเถิด แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ที่ให้ความเที่ยงธรรม”
(อัลฮุญุร็อต 49 : 9)
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้อีกในซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 58
“แท้จริง อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกเจ้ามอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน
และเมื่อพวกเจ้าตัดสินความระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม”
(อันนิซาอฺ 4 : 58)
พี่น้องที่รักทั้งหลาย ตามอายะฮฺที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรอาน พระองค์ตรัสเรื่องความเป็นธรรมหรือให้ความยุติธรรมไว้มากมาย เพราะพระองค์ทรงรักความยุติธรรม และผู้ให้ความเที่ยงธรรมไว้มาก จนไม่สามารถจะนับได้
เมื่อพูดถึงความยุติธรรมแล้ว มันมีรูปแบบมากมาย เช่น
1. ความยุติธรรมที่มีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยไม่มีการตั้งภาคีต่อพระองค์ในการทำอิบาดะฮฺ และลักษณะของพระองค์ จะต้องเชื่อฟัง (ภักดี) โดยไม่ฝ่าฝืน รำลึกถึงพระองค์โดยไม่ลืมขอบคุณพระองค์ และไม่ปฏิเสธ
2. ความยุติธรรมในการตัดสินระหว่างผู้คนทั้งหลาย ให้สิทธิของเขาที่ควรจะได้
3. ความยุติธรรมในระหว่างสามี – ภรรยา และลูกๆ โดยไม่ให้คนหนึ่งคนใดมากกว่าคนอื่น และไม่ให้บางคนนั้นมีสิทธิหรือได้รับความรักมากกว่าคนอื่น
4. ความยุติธรรมในด้านคำพูด โดยไม่เป็นพยานเท็จ ไม่พูดโกหกหรือพูดสิ่งที่ไร้สาระ
5. ความยุติธรรมในการเชื่อถือ โดยไม่เชื่อถือสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง และไม่ชมเชย สิ่งที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมในการทำหน้าที่นั้นสำคัญที่สุด สำหรับผู้บริหาร ผู้ปกครอง ผู้นำ ผู้พิพากษา เมื่อพูดถึงผู้พิพากษาส่วนมากแล้ว เขาตัดสินไปตามที่เขาเห็นหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจน นี่คือการตัดสินในโลกดุนยา แต่สำหรับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะ ตะอาลา นั้น พระองค์ทรงมองถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจ ดังนั้น ผู้ใดที่เอาทรัพย์สินของพี่น้องของไปด้วยคำพูดหรือการชี้แจงที่เก่งกว่า หรือเล่ห์เหลี่ยมที่เอามาเป็นของตัวเขาเอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากไฟนรก แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยก็ตาม
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“และเจ้าจงอย่านึกว่า อัลลอฮฺทรงละเลยต่อสิ่งที่พวกอธรรมได้ปฏิบัติ
แท้จริง พระองค์ทรงประวิงเวลาให้พวกเขาจนถึงวันที่สายตาจับจ้องไม่กระพริบ (วันกิยามะฮฺ)”
(อิบรอฮีม 14 : 42)
เมื่อเราได้รู้แล้ว่า ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมนั้น มีความสำคัญขนาดไหน แน่นอน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะรู้อีกก็คือ การลำเอียง ที่มันจะอยู่คู่กันตลอดเวลา มันจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกัน ผู้ตัดสินหรือผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย และที่จะให้การช่วยเหลือคนที่ตัวเองรักหรือมีผลประโยชน์เท่านั้น
พี่น้องที่รักทั้งหลาย ชีวิตของอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮฺนั้นตั้งอยู่บนการลำเอียง มันเป็นลักษณะที่น่าตำหนิ พวกเขาไม่แสวงหาความเป็นธรรมและความจริง เมื่อคนหนึ่งคนใดไปขอความช่วยเหลือจากพี่น้องของพวกเขา พวกเขาก็รีบเร่งให้ความช่วยเหลือทันที แม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้อธรรม หรือเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็ตาม ดังนั้น มันจะทำให้เกิดการสู้รบกัน จะเป็นสาเหตุทำให้สิทธิต่างๆ หมดไป คนที่แข็งแรงกว่าจะกดขี่คนที่อ่อนแอกว่า จิตวิญญาณแห่งการต่อต้านหรือการล้างแค้นก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคม
เมื่ออิสลามได้เกิดขึ้น อิสลามได้กำจัดการลำเอียงที่น่าตำหนินี้ให้หมดไป อิสลามได้ห้ามการอธรรมและการละเมิดสิทธิ เพราะมันเป็นสาเหตุในการขัดแย้ง และการฆ่าฟันกันในหมู่มุสลิม และอิสลามให้มีความเป็นกลางในหมู่ผู้ขัดแย้งกันของมุสลิม และอิสลามได้ส่งเสริมให้มีการปิดกั้นการเป็นศัตรูกัน ละเมิดสิทธิกัน ดังนั้น อิสลามจึงกำหนดให้ผู้กระทำมีความรับผิดชอบต่อการทำผิดของเขา
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“และแต่ละชีวิตนั้นจะไม่แสวงหาสิ่งใด นอกจากจะเป็นภาระแก่ชีวิตนั้นเองเท่านั้น
และไม่มีผู้ใดแบกรับภาระคนใด จะแบกรับภาระของผู้อื่นได้”
(อัลอันอาม 6 : 164)
ดังนั้น ด้วยรากฐานนี้ อิสลามจึงได้ทำลายการลำเอียงที่น่าตำหนิ และให้ความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้คน
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
“สำหรับคนอาหรับนั้นใช่ว่าจะมีความประเสริฐเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่อาหรับ และคนผิวแดงก็ไม่ใช่จะประเสริฐกว่าคนผิวดำ แต่ความประเสริฐนั้นขึ้นอยู่กับการตักวา (ความยำเกรง) เท่านั้น”
(บันทึกโดย อะฮฺมัด)
ดังนั้น ความวุ่นวายก็จะสงบลง อาชญากรรมก็จะน้อยลง หัวใจก็จะมีแต่ความสมัครสมานกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น บรรดามุสลิมก็จะกลายเป็นประชาชาติเดียวกัน มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ให้ความช่วยเหลือต่อกันในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นความดี ให้การตัดสินด้วยความจริงและความยุติธรรม เป็นผู้ที่ยึดมั่นต่อศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ความว่า
“ส่วนอำนาจนั้น เป็นของอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา”
(อัลมุนาฟิกูน 63 : 8)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้กล่าวไว้อีกว่า
“จะไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่เรียกร้องไปสู่การถือพรรคถือพวก
และก็ไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่ฆ่าผู้อื่นเพราะการถือพรรคถือพวก
และก็จะไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่ตายไปด้วยการถือพรรคถือพวก”
(บันทึกโดย อบูดาวู๊ด)
พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่า สองสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น มันมีความสำคัญติดอยู่ด้วยกันทั้งสอง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งที่สองคือ การลำเอียงนั้นชัดเจนมากที่จะไม่ให้เราท่านทั้งหลายไปเกี่ยวข้องมัน
ขออัลลอฮฺทรงฮิดายะฮฺพวกเราด้วยเถิด
ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555