ผลบุญของการละหมาดญะนาซะฮฺ
โดย เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ
มีรายงานจากท่านเซาบาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดละหมาดให้แก่ผู้ตาย (ญะนาซะฮฺ) เขาจะได้รับผลบุญมีน้ำหนักเท่า หนึ่งกิร็อฏ
และถ้าเขาไปร่วมฝังศพก็จะได้รับผลบุญเท่ากับ สองกิร็อฏ
(ผลบุญ หนึ่งกิร็อฏ มากมายยิ่งใหญ่เท่ากับภูเขาอุฮุด)
(บันทึกโดยมุสลิมและอิบนุมาญะห์)
คำอธิบาย
ฮะดิษนี้เกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลาม บทบัญญัติอิสลามเป็นบทบัญญัติที่สมบูรณ์แบบ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดมาเพื่อให้มนุษย์มีความสงบสุข มีความอบอุ่นใจ ดังนั้น อิสลามจึงเป็นบทบัญญัติที่มาเพื่อมวลมนุษยชาติโดยแท้จริง เพราะอิสลามสมบูรณ์แบบในทุกด้าน และครอบคลุมในทุกด้าน โดยไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาหรือสถานที่ แต่กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าสังคมมนุษย์จะยอมรับนับถืออิสลามทั้งหมดก็หาไม่
อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติดีกับเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม การทำดีต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่นเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมทางเหล่านี้เป็นข้อกำหนดที่อยู่ในบทบัญญัติอิสลามทั้งสิ้น
สำหรับหน้าที่ที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติด้วยกันนั้นมีหลายประการ บางฮะดิษระบุว่ามี 5 ประการ บางฮะดิษระบุว่ามี 6 ประการ และบางฮะดิษระบุว่ามี 7 ประการ อาทิเช่น การเยี่ยมเยือนผู้ป่วย ฯลฯ เป็นต้น
การเจ็บป่วยนั้น บางคนก็หายเร็ว บางคนก็กลับไปหาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา การที่อิสลามกำชับให้เราไปยี่ยมคนป่วยนั้น ไม่ใช่ใช้ให้ไปเยี่ยมเฉพาะเวลาเจ็บป่วยเท่านั้น หากแต่อิสลามยังกำหนดให้เราไปละหมาดญะนาซะฮฺแก่เขาเมื่อเขาตายอีกด้วย
เมื่อเราพูดเรื่องละหมาด เราต้องคำนึงว่า การละหมาดมีความสำคัญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม เป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลนั้นๆ เป็นมุสลิมหรือไม่ ซึ่งวัดดูได้จากการละหมาดนั่นเอง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวว่า
“งานแรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺก็คือ การละหมาด หากการละหมาดของเขาเรียบร้อยสมบูรณ์ดี การงานอื่นๆ ของเขาก็จะดีไปด้วย หากการละหมาดของเขาบกพร่อง ไม่เรียบร้อย การงานอื่นๆ ของเขาก็บกพร่องไม่เรียบร้อยไปด้วย”
(บันทึกโดย อัฏฏ็อบร็อบนีย์)
การละหมาดที่เรียบร้อยมีคุณภาพต้องกระทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียวตามคำบัญชาของพระองค์ไม่ใช่เพื่อผู้อื่น หรือถูกบังคับให้จำใจต้องละหมาดโดยไม่มีจิตศรัทธา และต้องเป็นการละหมาดที่ตรงตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้ การที่เราละหมาดก็เพราะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันมากมายมายที่ประทานแก่เราเพื่อเป็นการกตัญญูต่อพระองค์
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สนใจเรื่องละหมาดมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการละหมาดฟัรฏู 5 เวลา อันได้แก่ ละหมาดตะฮัจญุด โดยท่านละหมาดเป็นเวลานานด้วยความสมัครใจจนกระทั่วเท้าบวม นางอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ผู้เป็นภรรยาของท่านรู้สึกสงสารท่านนบี และยังบอกให้ท่านนบีเพลาๆ ลงบ้าง
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “จะไม่ให้ฉันเป็นบ่าวที่กตัญญูกระนั้นหรือ?”
การละหมาดจึงเป็นเสาหลักของศาสนาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดขึ้นสำหรับมุสลิม เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระองค์
สำหรับละหมาดญะนาซะฮฺนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดเพื่อให้เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ตาย ถือว่าเป็นดุอาฮฺของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ขอพรให้กับผู้ตาย ไม่เหมือนกับละหมาดฟัรฏู 5 เวลาและละหมาดซุนนะฮฺอื่นๆ ตรงที่ละหมาดฟัรฎูนั้นคนป่วย คนที่ไม่ละหมาดจะจ้างผู้อื่นให้ทำแทนกันไม่ได้ พ่อจะสั่งให้ลูกทำแทนไม่ได้ คนรวยที่มีทรัพย์สมบัติจะจ้างให้ผู้อื่นละหมาดแทนให้ไม่ได้ ไม่มีใครทำแทนได้ ทุกคนต้องละหมาดเอง แม้กระทั่งจะเจ็บป่วยล้มหมอนนอนเสื่อก็จะต้องละหมาด หากไม่สามารถยืนละหมาดได้ ก็ให้นั่งละหมาด หากไม่สามารถนั่งละหมาดได้ก็ให้นอนละหมาด
การละหมาด 5 เวลา จึงเป็นพัรฎูอัยนฺเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องทำ ถ้าไม่ทำจะได้รับโทษและไม่มีการยกเว้นให้กับผู้หนึ่งผู้ใด นอกจากสุภาพสตรีที่มีรอบเดือน หรือมีเลือดภายหลังคลอดบุตร หรือเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และอิสลามก็กำชับให้ผู้ปกครองสอนเด็กให้ละหมาดเมื่ออายุได้ 7 ขวบ
ส่วนละหมาดญะนาซะฮฺนั้น ถ้ามีคนตายและมีผู้ไปละหมาดญะนาซะฮฺได้ ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่ทุกคนต้องไปละหมาด เหตุนี้จึงเรียกว่าเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ คือ มีคนกลุ่มหนึ่งไปละหมาดให้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะมีผู้ไปละหมาดมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ถือว่าใช้ได้ เพราะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนตายตัวว่าต้องมีผู้ไปร่วมละหมาดจำนวนเท่าใด ดังเช่น เมื่ออิมาม อิบนิ ฮัมบัล สิ้นชีวิตมีผู้ไปร่วมละหมาดถึง 300,000 คน ถ้าหากในกรณีมีผู้ละหมาดเพียงคนเดียว ก็สามารถละหมาดญะนาซะฮฺได้เช่นกัน เช่น บนเกาะหรือหมู่บ้านซึ่งมีมุสลิมอาศัยอยู่เพียง 2 คน ไม่มีมุสลิมอื่นอาศัยอยู่อีกแล้ว ถ้าหากคนหนึ่งคนใดเกิดตายไป ฉะนั้น คนที่เหลือจะต้องทำหน้าที่จัดการอาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาดให้ผู้ตาย และนำศพไปฝัง เพราะนี่เป็นสิทธิ์และหน้าที่ของมุสลิม
เนื่องจากการละหมาดญะนาซะฮฺไม่ใช่เป็นฟัรฎูที่ทุกคนต้องทำ ด้วยเหตุนี้ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงแจ้งให้ทราบว่าการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อย่าถือว่าไปละหมาดญะนาซะฮฺเพื่อหวังผลตอบแทนด้วยเงินเท่านั้นเท่านี้บาทจากญาติผู้ตาย ฯลฯ เป็นต้น หากว่าเราไปละหมาดญะนาซะฮฺเพื่อหวังผลตอบแทนดังกล่าว ก็เท่ากับว่าเราไปละหมาดเพื่อได้สตางค์ ไม่ได้ไปละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ฉะนั้น เราจะไม่ได้อะไรจากอัลลอฮ์เลย เพราะสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะประทานให้แก่เราอันเนื่องจากการไปละหมาดญะนาซะฮฺ คือ หนึ่งกิร็อฏ ซึ่งหนึ่งกิร็อฏมีน้ำหนักเท่าภูเขาอุฮุด อันหมายถึงได้รับผลบุญมากมาย
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำชับให้เรารักความจริง รักสิ่งที่ดีๆ ท่านเตือนว่า “เวลาไปละหมาดญะนาซะฮฺถ้าไม่มีธุระใดๆ ก็อย่ารีบกลับ ให้รอจนกว่าจะฝังเสร็จและอ่านดุอาอฺตัษบี๊ตให้แก่ผู้ตาย” อันหมายถึงให้ผู้ตายยืนหยัดในการอีมานจนกระทั่งสามารถตอบคำถามมลาอิกะฮฺที่จะมาสอบถามผู้ตายใน กุบุรทั้งสามคำถามที่ว่า
ใครเป็นพระเจ้าของท่าน ? ศาสนาของเจ้าคือศาสนาอะไร ? และชายคนนี้(นบีมุฮัมมัด)คือใคร ?
ในฮะดิษ ซอเฮียะฮฺระบุว่า มนุษย์ทั้งชายและหญิงจะถูกถามในกุบุรด้วยคำถามทั้งสามนี้ หากเขายืนหยัดในอิสลามอย่างมั่นคงขณะที่มีชีวิตอยู่ เขาก็จะตอบคำถามได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยตอบว่า
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นพระเจ้าของฉัน อิสลามเป็นศาสนาของฉัน
และนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นนบีของฉัน
หากเขาไม่ได้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในคำสอนของอิสลามเป็นคนไม่เอาไหน เป็นกาฟิร แน่นอนเขาจะตอบคำถามดังกล่าวไม่ได้ จะบอกว่าไม่เคยรู้เรื่อง ไม่เคยรู้จักอะไรทั้งสิ้น นี่แสดงให้เห็นว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเอ็นดูเมตตาแก่เราชาวมุสลิม ไม่เพียงแต่พระองค์ทรงให้เรามีชีวิตอยู่เท่านั้น หากแต่ทรงให้เราทราบถึงสภาวะภายหลังจากที่เราได้ตายไปแล้วอีกด้วยว่า จะได้อยู่อย่างสุขสบายหรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมานชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ไม่มีวันสิ้นสุด
โลกนี้เป็นโลกแห่งการทดสอบ ฉะนั้น จึงเป็นโลกที่เราจะต้องรีบทำความดีเสียแต่วันนี้และเดี๋ยวนี้และให้เรายืนหยัดอยู่ในกรอบคำสอนของอิสลามอย่างจริงจัง เพราะเมื่อเราตายไปแล้วจะไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากการงานที่เราทำไว้ในโลกนี้เท่านั้น
มลาอิกะฮฺสองท่านจะมาถามผู้ตายในกุบุรถึง 3 ประการดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อผู้ไปละหมาดญะนาซะฮฺแล้วไปฝังมัยยิตและขอดุอาอฺให้แก่ผู้ตาย เพื่อให้เขาสามารถรับสถานการณ์ในกุบุรได้ อัลลอฮฺจะตอบแทนให้แก่เขาถึง 2 กิร็อฏ
ครั้งหนึ่ง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถามบรรดาซอฮาบะฮฺว่า
“วันนี้ใครบ้างที่ถือศีลอด ? ท่านอบูบักรตอบว่า ผมครับ
วันนี้ใครบ้างที่ติดตามญะนาซะฮฺ ? ท่านอบูบักรตอบว่า ผมครับ
วันนี้ใครบ้างที่เยี่ยมผู้ป่วย ? ท่านอบูบักรตอบว่า ผมครับ
ท่านร่อซูล กล่าวว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว เขาจะเป็นชาวสวรรค์”
(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)
สรุปได้ว่า การที่เราจะเป็นชาวสวรรค์นั้น เราจะต้องกระทำการงานที่ดีตามที่อิสลามสอนไว้ การไปละหมาดญะนาซะฮฺก็เป็นส่วนหนึ่งจากความดีที่ทำให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ตามที่ฮะดิษระบุไว้ข้างต้น จึงขอให้เราพยายามเรียนรู้คำสอนของอิสลามและปฏิบัติตามเพื่อให้เราได้รับความอบอุ่นใจในโลกนี้ด้วยการเป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อจะได้สะสมความดีอันมากมายไว้ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ มีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรงและในขณะที่เรายังมีโอกาสทำความดีขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากว่าเราตายไปจากโลกนี้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาทำความดีนั้นไม่มีแล้ว
ดังนั้น จงฉวยโอกาสทำความดีเสียแต่วันนี้เถิด ก่อนที่จะหมดโอกาส เพราะโลกดุนยานี้เป็นโลกแห่งการสะสมความดี สำหรับในกุบุรนั้นไม่มีใครที่จะเป็นเพื่อนเรา นอกจากผลงานที่เรากระทำไว้ในโลกนี้เท่านั้น ถ้าเราทำดีการงานที่ดีนั้นก็จะคอยเป็นเพื่อนเรา ให้ความอบอุ่นใจแก่เราจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ หากการงานของเราไม่ดี ก็จะเป็นที่ลำบากใจแก่เราสร้างความกระวนกระวายใจ ยุ่งยากใจตลอดไปจนวันกิยามะฮฺ
และวันกิยามะฮฺจะเป็นวันชำระตอบแทนและเป็นการชี้ชะตากรรมว่าเราจะเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรก ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ และขอให้เรารอดพ้นอย่าได้เป็นชาวนรก แม้เพียงสักวันเดียวก็ตาม
สิ่งที่ได้รับจากฮะดิษนี้
1. ผลบุญอันมากมายของผู้ที่ไปละหมาดญะนาซะฮฺจะได้รับเทียบเท่ากับภูเขาอุฮุด
2. สิทธิและหน้าที่ของมุสลิมที่พึงมีต่อมุสลิมด้วยกัน คือ การละหมาดญะนาซะฮฺ
3. อิสลามบัญญัติให้ดุอาอฺตัษบี๊ตแก่ผู้ตาย ภายหลังจากที่ฝังเสร็จแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ตายตอบคำถามของมลาอิกะฮฺได้สะดวก
4. อิสลามกำหนดให้มุสลิมมีสิทธิ์ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากพี่น้องร่วมศาสนาของเขาขณะที่มีชีวิตอยู่และเมื่อตายไปแล้ว
ที่มา : เอกสารอัล-อิศลาหฺ อันดับที่ 426 – 428 กรกฎาคม – กันยายน 2558