อัลลอฮฺอยู่ที่ไหน ?
เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
การศึกษาเรียนรู้และหาความเข้าใจในอิสลามเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะความเข้าใจที่เกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามมีอีกมากมาย ที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเชื่อของอิสลาม เพราะหลักความเชื่อแกนของศาสนาจะทำให้มุสลิมมั่นคงในการยึดถือปฏิบัติยืนหยัดในศาสนาของเขา หากหลักความเชื่อของเขาบกพร่องหรือหลักความเชื่อไม่ถูกต้องตามความเชื่อของท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม และเหล่าศอหาบะห์ของท่านแล้ว แน่นอนจะทำให้บุคคลนั้นยิ่งห่างไกลจากศาสนา
ดังนั้นในบรรดาหลักความเชื่อของอิสลาม ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้ออื่นๆ ก็คือหลักความเชื่อที่เกี่ยวกับอัลลอฮฺ คุณลักษณะและพระนามต่างๆที่สวยงามของพระองค์ ในหลักความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้ผู้คนมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความเชื่อในสถานที่ของอัลลอฮฺ หากมีคำถามว่า อัลลอฮฺอยู่ที่ไหน ผู้ที่ถามจะได้คำตอบที่แตกต่างกันนออกไป บางคนได้รับคำตอบว่า อัลลอฮฺอยู่บนบัลลังก์เหนือชั้นฟ้าทั้ง เจ็ด
แต่บางคนก็บอกว่าอัลลอฮฺอยู่ทุกสถานที่ซึ่งใครเชื่อแบบนั้นมันเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เป็นหลักความเชื่อของกลุ่มอีลญะมียะฮฺที่พวกเขาปฏิเสธการอยู่เบื้องสูงของอัลลอฮฺ
และการที่คนปฏิเสธการอยู่เบื้องสูงของอัลลอฮฺ คือหลักความเชื่อของกลุ่มอัลยะฮฺมียะ โดยที่ท่านอิหม่ามอะหมัดรอฮิมาอุลลอฮฺได้ตัดสิน ยะฮัม บิน ซ็อฟวาน ว่าเป็นผู้ปฏิเสธ เพราะเขาได้ปฏิเสธการอยู่เบื้องสูงของอัลลอฮฺ ซึ่งแตกต่างกับบุคคลที่ตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เช่นตีความ มือของอัลลอฮฺเป็นความสามารถ แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เขาเพียงตีความเพื่อหนีการนำอัลลอฮฺไปเปรียบเทียบกับสิ่งถูกสร้าง การกระทำของเขาคือการตีความและเป็นสิ่งที่ค้านกับหลักความเชื่อของอะลุซซุนนะหฺ แต่จะไม่ตัดสินบุคคลที่ตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺว่าเป็นผู้ปฏิเสธ เพียงแต่เขาผิดพลาดในเรื่องนี้
ดังนั้นเรามาดูหลักฐานจากอัลกุรอ่าน และอัซซุนนะห์ในเรื่องที่อยู่ของอัลลอฮฺ
فقال تعالى : ( الرَّحْمَنُ عَلَى العَرْشِ اسْتَوَى ) طه/ ( 5 )
“ผู้ทรงกรุณาปรานี ทรงสถิตอยู่บนบัลลังก์”
อัลอิสติวาฮฺ คือ คุณลักษณะการกระทำของอัลลอฮฺตาอาลา ที่ชาวอะลุซซุนนะห์ วัลญามาฮะได้ยืนยันในเรื่องนี้ ตามความเหมาะแก่อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง โดยไม่มีการบิดเบือนความหมาย หรือนำไปเปรียบเทียบกับบรรดาสิ่งที่ถูกสร้าง หรือปฏิเสธ การตีความหมายของพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เรายอมรับตามการบอกคุณลักษณะของพระองค์ตามที่พระองค์ยืนยันด้วยพระองค์เอง การบอกคุณลักษณะโดยรอซูลของพระองค์ พระองค์ไม่เหมือนสิ่งใดๆทั้งหมด และไม่มีการนำคุณลักษณะของอัลลอฮฺไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ถูกสร้าง เพราะอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งไม่เหมือนกับสิ่งใด
อัลกุรอ่านได้บอกคุณลักษณะของอัลลอฮฺไว้ คือ พระองค์ไม่เหมือนอะไรทั้งสิ้น
ليْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ ۖ وَهُوَ السَّمِيعُ الْبَصِيرُ (11)
“ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น”
จากอายะห์นี้ได้อธิบายอย่างชัดเจนพระองค์นั้นไม่เหมือนอะไร อายะห์นี้ได้มาปรามแก่บรรดาผู้ที่ต้องการนำอัลลอฮฺไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ถูกสร้าง และต้องการตอกย้ำให้เห็นว่า พระองค์นั้นมีคุณลักษณะที่ไม่เหมือนอะไรทั้งสิ้นจากบรรดาสรรพสิ่งที่ถูกสร้างมา ดังนั้นอัลลอฮฺอยู่เบื้องสูงเหนือสรรพสิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างมา ทรงสถิตย์อยู่เหนือบัลลังก์
เป็นมติของชาวอะลุซซุนนะหฺวัลญามาฮะ ว่าแท้จริงอัลลอฮฺอยู่เหนือชั้นฟ้าและเหนือสิ่งถูกสร้างทั้งหมด โดยที่หลักฐานจากท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม
وقد سأل النبي - صلى الله عليه وسلم – جارية جاء بها سيدها ليعتقها فقال لها الرسول : أين الله ؟ فقالت : في السماء، قال من أنا؟ قالت: أنت رسول الله، قال: أعتقها فإنها مؤمنة) رواه مسلم
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้ถามทาสหญิงคนหนึ่งโดยที่เจ้านายของนางได้พานางมาเพื่อที่จะทำการปล่อยทาส
ท่านรอซูลุลลอฮฺได้ถามนางว่า อัลลอฮฺอยู่ที่ไหน ?
นางตอบว่า อัลลอฮฺอยู่เหนือชั้นฟ้า
ท่านรอซูลกล่าวว่า ฉันเป็นใคร?
นางได้กล่าวว่า ท่านคือรอซูลุลลอฮฺ
ท่านรอซูลได้กล่าวว่า จงปล่อยนางให้เป็นอิสระ เพราะว่าแท้จริงนางคือผู้ศรัทธา
(บันทึกโดย มุสลิม)
หะดีษนี้บรรดาผู้ที่ไม่ยอมรับการอยู่เบื้องสูงของอัลลอฮฺพยายามปฏิเสธ ความหมายของหะดีษ โดยอ้างว่า คำว่า في السماء แปลว่าอัลลอฮฺอยู่ในชั้นฟ้า แสดงว่าอัลลอฮฺนั้นถูกห้อมล้อมด้วยกับชั้นฟ้า การที่เขาแปลแบบนั้นเพื่อต้องการตีความ ว่าอัลลอฮฺไม่ได้อยู่เบื้องสูง และไม่ยอมรับการอยู่เหนือบัลลังก์ของอัลลอฮฺ คำว่า في ในภาษาอาหรับ บางครั้งแปลว่า บน
ท่านอัลฮาฟิส อิบนู อับดิลบิร รอฮิมาอุลลอฮฺได้กล่าวว่า คำดำรัสของอัลลอฮฺตาอาลา
أَأَمِنتُم مَّن فِي السَّمَاءِ أَن يَخْسِفَ بِكُمُ الْأَرْضَ ( 16 )
“พวกเจ้าจะปลอดภัยละหรือ จากการที่พระองค์ทรงสถิตอยู่ ณ ฟากฟ้า จะให้แผ่นดินสูบพวกเจ้าแล้ว”
ความหมายคือ ผู้ที่อยู่บนชั้นฟ้า หมายถึงอยู่บนเหนือบัลลังก์
โดยที่ في บางครั้งความหมาย คือ على ดังดำรัสของอัลลอฮฺตาอาลา
فَسِيحُوا فِي الْأَرْضِ أَرْبَعَةَ أَشْهُرٍ ( 2 )
“ดังนั้นพวกท่าน จงท่องเที่ยวไปบนหน้าแผ่นดินสี่เดือน”
(ซูเราะหฺอัตเตาบะฮฺอายะหฺที่ 2)
وَلَأُصَلِّبَنَّكُمْ فِي جُذُوعِ النَّخْلِ
“และฉันจะเอาพวกท่านไปตรึงไว้ที่ต้นอินทผาลัม”
(ซูเราะหฺตอฮา อายะหฺที่ 71)
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนูตัยมียะหฺ รอฮิมาอุลลอฮฺได้กล่าวว่า
บรรดาสลัฟ และบรรดาอิหม่ามผู้รู้ และบรรดานักวิชาการอะลุซซุนนะหฺท่านอื่นๆ เมื่อพวกเขากล่าวว่า แท้จริงพระองค์อยู่บนบัลลังก์ และแท้จริงพระองค์อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่พวกเขาจะไม่กล่าวว่า แท้จริงยังมีสิ่งห้อมล้อมอัลลอฮฺ หรือจำกัดที่อยู่ให้พระองค์ หรือปกคลุมพระองค์ มหาบริสุทธิ์ทรงปราศจากสิ่งดังกล่าว แต่ว่าพระองค์อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ไม่ต้องการพึงพาสิ่งใด แต่ทุกๆสิ่งต้องการพึ่งพาพระองค์ พระองค์อยู่เบื้องสูงเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นผู้ควบคุมบัลลังก์ และบรรดาผู้แบกบัลลังก์ ด้วยกับผลานุภาพและความสามารถของพระองค์ สิ่งถูกสร้างทุกอย่างต้องพึ่งพาพระองค์ พระองค์ไม่ได้พึ่งพาบัลลังก์ และไม่พึ่งพาสิ่งถูกสร้างทั้งหมด
ที่มีปรากฏในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะหฺ
أَأَمِنتُم مَّن فِي السَّمَاءِ أَن يَخْسِفَ بِكُمُ الْأَرْضَ ( 16 )
“พวกเจ้าจะปลอดภัยละหรือ จากการที่พระองค์ทรงสถิตอยู่ ณ ฟากฟ้า จะให้แผ่นดินสูบพวกเจ้าแล้ว”
อายะห์ในทำนองดังกล่าว โดยที่บางส่วนจากพวกเขาเข้าใจคำว่า السماء ก็คือสิ่งถูกสร้างที่อยู่สูงขึ้นไป และบัลลังก์อยู่สูงขึ้นไปอีก ด้วยที่คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า (في السماء) หมายถึงสูงขึ้นไปเหนือชั้นฟ้า
เหมือนคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า
وَلَأُصَلِّبَنَّكُمْ فِي جُذُوعِ النَّخْلِ
“และฉันจะเอาพวกท่านไปตรึงไว้ที่ต้นอินทผาลัม”
ความหมายก็คือ บนต้นอิทผาลัม
คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
(فسيروا في الأرض) ความหมายคือ “บนหน้าแผ่นดิน”
คำว่า السماء มันเป็นคำนามที่ใช้ครอบคลุมเกี่ยวกับเบื้องบน ไม่ได้เจาะจงสิ่งใด ดั่งคำดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า ، فقوله : (في السماء) หมายถึง เบื้องบนไม่ใช่ด้านล่าง พระองค์คือผู้ที่อยู่เบื้องสูงอยู่สูงที่สุด อยู่เหนือบัลลังก์ และไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือพระองค์ผู้ทรงสูงส่ง มหาบริสุทธิ์ยิ่ง
(จากหนังสือ มัจมูฮฺอัลฟาตาวา 16/100-101)
วัลลอฮูอะลัม