แบบอย่างที่ดีงามของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
  จำนวนคนเข้าชม  8811


แบบอย่างที่ดีงามของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

โดย... อาจารย์อามีน สมันเลาะ

 

          พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย พึงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด เพราะการเกรงกลัวอัลลอฮฺนั้น เป็นเสบียงที่ดียิ่ง ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานความเมตตาแก่ประชาชาติของพระองค์ด้วยการส่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มาเป็นแบบอย่างแก่ผู้ที่อยู่ในแนวทางของอิสลามอันถูกต้อง จึงสมควรที่เราทุกคนจะต้องขอบคุณพระองค์ให้มากๆ ที่พระองค์ได้ทรงให้เรามาถึงจุดนี้ จุดแห่งการเป็นผู้ศรัทธา และเป็นผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีงาม แด่ชนรุ่นต่อๆ ไป ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

     “แท้จริง ในตัวของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น เป็นแบบฉบับอันดีงามแก่พวกเจ้า สำหรับผู้ที่หวังในอัลลอฮฺ และวันอาคิเราะฮฺ

(อัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 21)

 

          พี่น้องที่รัก ! การเอาแบบอย่างจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น มิใช่แต่เพียงการได้ยิน ได้ฟังคำบอกเล่าจากท่านเท่านั้น หากแต่จะต้องทำให้อารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนจิตใจของเราคล้อยตามคำพูด การกระทำและแบบอย่างจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อีกด้วย ดังกล่าวนี้จึงเรียกได้ว่าเรานั้นเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง สมดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านนั้นจะยังไม่ศรัทธาที่สมบูรณ์

จนกว่าอารมณ์ของเขาจะสอดคล้องตามในสิ่งที่ฉันได้นำมา

 

          หากจะมองแบบอย่างที่ดีงามจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เราจะมองดูได้จากทุกเรื่อง เพราะท่านเป็นบรมครูแก่เราในทุกสภาพการณ์ ในทุกเวลาและสถานที่

 

     ท่านหญิง อาอิซะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ภรรยาของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

 

มารยาทของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็คือ อัลกุรอาน นั่นเอง” 

 

          เราจะยินดีพึงพอใจตามที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โกรธเกลียด การประพฤติปฏิบัติของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นสอดคล้องกับอัลกุรอาน และแบบอย่างจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นี้เอง คือ สิ่งที่จะนำพาไปสู่การเป็นผู้ศรัทธา นำเราให้พ้นจากความไม่จีรังของดุนยา ไปสู่ชีวิตที่มั่นคงและนิรันดร์ในโลกอาคิเราะฮฺ ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

 

     “ครั้งหนึ่งมีผู้เสนอจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อประสงค์ให้ท่านเลิกทำหน้าที่เชิญชวนสู่อิสลาม โดยสัญญาจะมอบสิ่งที่ตนคิดว่ามีค่าและมีเกียรติ เป็นการตอบแทน

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวตอบว่าแท้จริง โลกดุนยานี้เป็นบ้านของคนที่ไม่มีบ้าน คนที่สะสมดุนยา คือ คนที่ขาดสติ

 

         ท่านพี่น้องที่เคารพรัก ! ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่าผู้ศรัทธานั้นมีบ้าน มีทรัพย์สินอยู่แล้ว เป็นบ้านและทรัพย์สินที่ดีของผู้ศรัทธา มุ่งหวังชีวิตอาคิเราะฮฺเป็นสำคัญ พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ตนเองผ่านพ้นช่วงชีวิตในดุนยาให้ดี เพื่อมุ่งสู่อาคิเราะฮฺเป็นสำคัญ 

 

          ส่วนที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงคนที่มุ่งสะสมดุนยาเป็นคนขาดสติ เพราะการสะสมนั้นคือ การจัดสรร หรือบริหารเวลาให้ถูกต้องเพื่อการทำอิบาดะฮฺต่างๆ การทำความดีต่อผู้อื่น ต่อครอบครัว ต่อสังคม ผู้ที่มุ่งแต่ดุนยาเพียงอย่างเดียว จะต้องเตรียมคำตอบเอาไว้ตอบแก่ผู้ที่จะมาถามในวันกิยามะฮฺ (ขออย่าให้เราเป็นผู้ที่ถูกซักถามเลย) เพราะผู้ที่ถูกสอบถามก็คือ ผู้ที่ถูกลงโทษนั่นเอง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

 

ผู้ใดที่ถูกสอบถามไต่สวน เขาต้องถูกลงโทษ

 

          พี่น้องที่รัก ! ดุนยาผ่านไปพร้อมกับการทดสอบว่า มุสลิมมีการศรัทธา มีจุดยืน หรือการยืนหยัด ที่มั่นคงเพียงใด เพราะว่าบางทีดุนยาพยายามโหมกระหน่ำด้วยค่านิยม ประเพณี เพื่อฉุดรั้งมุสลิมที่ขาดสติให้หลงลืมตามจนตกไปเป็นเหยื่อในที่สุด ดังนั้น ขอให้เราเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ชีวิตในโลกดุนยาอย่างคนมีสติ อย่าตกเป็นทาสของดุนยา

 

         พี่น้องที่รัก ! ประเพณีลอยกระทง เล่นสงกรานต์ ตรุษจีน คริสต์มาส หรือปีใหม่ มันจะมีอะไรแตกต่างกันหรือ หากมุสลิม ไปเข้าร่วมกับงานประเพณีดังกล่าว อะไรคือเอกลักษณ์ศักดิ์ศรี และค่าของการเป็นมุสลิม แล้วจุดยืนของความเป็นมุสลิมอยู่ที่ไหนเล่า?

 

          พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเราไม่ปรารถนาที่จะให้พวกเราก้าวเข้าไปในดุนยาอย่างลืมตัว เพราะเกรงว่าพวกเราจะขาดสติ เพราะการได้เรียนสูงๆ ก็จะได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงๆ ทำให้ลืมตัวเอง ลืมความเป็นมุสลิม และไม่สนับสนุนให้ดูโทรทัศน์ เพราะเกรงว่าลูกๆ จะขาดสติ เอาแบบอย่างในโทรทัศน์ ตามอย่างชัยฏอนโดยไม่ใช้สมองเลือกเฟ้นสิ่งใดถูกหรือผิด

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย ! เป็นที่ทราบกันดีว่าบทบัญญัติอิสลามนั้นได้กำหนดการตอบแทนให้ทั้งผู้กระทำความดีและความชั่ว ซึ่งต่างกับบัญญัติทางกฎหมายของบ้านเมืองที่กำหนดแต่เพียงโทษของ ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนเท่านั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้การตอบแทนที่ดีแก่ผู้กระทำความดี หมายความว่า ในการกำหนดการตอบแทนที่ดีนี้ มิได้เป็นเพียงสิ่งล่อใจ หรืออุทาหรณ์ตามความเข้าใจของคนบางคนก็หาไม่ แต่การกำหนดผลตอบแทนของการกระทำความดีนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า

 

ผู้ใดกระทำความดีไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม แน่นอนเราจะให้เขาผู้นั้นได้มีชีวิตที่ดี

แล้วเราจะตอบแทนแก่เขาด้วยการตอบแทนที่ดียิ่งกว่าสิ่งที่เขาเคยกระทำมา

(อันนะฮ์ลฺ 16 : 97)

 

          พี่น้องที่รัก! ดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวมานี้ คือ สัญญาที่พระองค์ได้ทรงให้แก่บ่าวที่มีความศรัทธา และประกอบกรรมดีเท่านั้น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า การศรัทธา และการกระทำความดี คือเงื่อนไขที่จะได้รับการตอบแทนที่ดีจากอัลลอฮฺ เงื่อนไขทั้งสองประการนี้ เป็นเงื่อนไขที่ต้องควบคู่กันโดยมิอาจแยกแยะออกจากกันได้ในเรื่องของการศรัทธานั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ส่วนการปฏิบัตินั้นเป็นอาการแสดงออก ซึ่งมนุษย์ทุกคนย่อมสามารถทบทวนจิตใจของตน และตรวจสอบการกระทำของตนได้โดยไม่ยากนัก 

 

          ผู้ปกครองต้องตรวจสอบความยุติธรรมของตนเอง พ่อแม่ต้องตรวจสอบความรักของตนเองที่มีต่อลูกๆ ผู้เป็นลูกต้องตรวจสอบความกตัญญูของตนที่มีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง ในการตรวจสอบตนเองนั้น คือ โอกาสที่พวกเราจะสามารพิสูจน์ตนเองได้ว่า เรานั้นพร้อมที่จะพบกับอัลลอฮฺ ตะอาลา แล้วหรือยัง ?

     และบรรดาผู้ที่ใช้ชีวิตโดยทำให้ผู้อื่นต้องพบกับความวุ่นวาย และความเสียหายนั้น ย่อมจะรู้ดีว่าในบั้นปลายสุดท้ายนั้นจะเป็นเช่นใด ?

 

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ประจำปี 2552