คำสั่งเสียห้าประการ
  จำนวนคนเข้าชม  3495


คำสั่งเสียห้าประการ

 

โดย บินตฺ กะม๊าล

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่ศรัทธาทั้งหลาย ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้คำสั่งเสียห้าประการไว้ในฮะดิษของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

ความหมาย

 

       ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ใครจะนำคำสอนเหล่านี้ไปปฏิบัติบ้าง ? หรือใครจะนำไปสอนให้ผู้อื่นบ้าง?

ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ จึงพูดว่าฉันขอรับไว้เองครับ โอ้ ท่านร่อซูล

แล้วท่าน ร่อซูลก็จับมือของฉัน และนับนิ้วทั้งห้าโดยกล่าวว่า

 

       1. จงระวังสิ่งต้องห้ามของอัลลอฮฺ แล้วท่านจะเป็นผู้ที่เคารพสักการะ (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลฮฺมากกว่าใคร

2. จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงแบ่งสันปันส่วนให้แล้วท่านจะเป็นผู้ร่ำรวยเหนือกว่าใครๆ

3. จงทำดีต่อเพื่อนบ้าน แล้วท่านจะเป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง

4. จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนกับที่ท่านรักตัวเอง แล้วท่านจะเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์

5. จงอย่าหัวเราะมาก เพราะจะทำให้หัวใจตายด้าน

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)

 

คำอธิบาย

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายยำเกรงต่ออัลลอฮฺให้มากๆ เมื่อบุคคลใดได้รับการอบรมตามคำสอนของอิสลาม จิตใจของเขาจะสะอาด ใฝ่หาแต่สิ่งดีๆ การทำอิบาดะฮฺจะเป็นที่รักยิ่งแก่เขา บรรดาสาวกต่างเฝ้ารอคำสั่งสอนจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างใจจดใจจ่อ และเป้าหมายสูงสุดของเขาเหล่านั้น คือ การมุ่งมั่น และฝักใฝ่ที่จะทำความดีอย่างสม่ำเสมอ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้กล่าวฮะดิษนี้

 

           1. จงระวังสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามปวงบ่าวของพระองค์มิให้กระทำสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าชีวิตหนึ่งชีวิตใดโดยไม่ชอบ ทำการซินาและลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น การกินดอกเบี้ย การยึดทรัพย์เด็กกำพร้า การดื่มสุรา การเล่นการพนัน ระวังตัวไม่กระทำตามอำเภอใจ ไม่หลงในกลลวงของชัยฏอน ระมัดระวังในคำพูดและการกระทำ เกรงกลัวที่จะทำในสิ่งที่ผิดต่อบัญญัติของศาสนา หากเขาระวัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ เขาจะเป็นผู้ที่ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์มากกว่าผู้ใด และเป็นผู้ที่ยึดมั่นในบัญญัติของ อัลลอฮฺมากที่สุด และเป็นผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺมากที่สุด

 

           2. จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺประทานให้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง ชีวิตความเป็นอยู่ ริสกี (ปัจจัยยังชีพอื่นๆ) เพราะความร่ำรวยที่แท้จริง มิได้อยู่ที่ทรัพย์สิน มีอสังหาริมทรัพย์อันมากมาย มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย หากแต่อยู่ที่ความพอใจในสิ่งที่ตนมี รู้จักพอเพียง ไม่อยากได้ของผู้อื่น 

           รู้จักใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสถานของตน ไม่มักมาก ไม่แก่งแย่ง ยอมรับในสิ่งที่อัลลอฮฺประทานให้ ถึงแม้นว่าจะเล็กน้อย ด้อยกว่าบุคคลอื่นในสายตาของสังคมก็ตามที หากผู้ใดพึงพอใจ ยอมรับในสภาพที่เป็นอยู่ จะทำให้จิตใจสงบ สบายใจ จิตปล่อยวางในวัตถุนอกกายที่ไม่จีรัง และเมื่อนั้นแหละ เขาก็จะเป็นผู้ที่พอเพียง ร่ำรวยมากกว่าผู้ที่ยึดติดกับวัตถุเงินทองเสียอีก

           อนึ่ง การมีทรัพย์มากถือเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺต่อมนุษยชาติ แต่การที่อัลลอฮฺประทานหลักศรัทธา (การอีมาน) ให้ได้รับแนวทางอันเที่ยงตรง (ฮิดายะฮฺ) อยู่ในหนทางที่ถูกต้องนั้น เป็นความโปรดปรานที่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง การมีสุขภาพดี มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข ไม่เดือดร้อน ทั้งหมดนี้เป็นความโปรดปรานยิ่งกว่าการได้รับทรัพย์สินเงินทองเสียอีก ดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา สมจริงเสมอ ที่ว่า

 

          “และพระองค์ประทานทุกสิ่งแก่พวกเจ้าตามที่พวกเจ้าขอต่อพระองค์ และหากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮฺแล้ว พวกเจ้าก็ไม่อาจจะคำนวณนับได้ แท้จริงมนุษย์นั้น อธรรมยิ่งนัก เนรคุณยิ่งนัก

(อิบรอฮีม 14 : 34)

 

          3. จงทำดีต่อเพื่อนบ้านซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ความสำคัญของเพื่อนบ้านนั้น ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เล่าให้ฟังว่า 

 

ญิบรีลมาสั่งเสียท่านถึงการทำดีกับเพื่อนบ้าน จนท่านคิดว่า เพื่อนบ้านนั้นจะมารับมรดกของท่านได้

 

          การทำดีกับเพื่อนบ้านมีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันอาหารให้ในแต่ละมื้อ แบ่งปันเครื่องใช้ไม้สอยเล็กๆ น้อย หรือแม้กระทั่งการใช้วาจา ที่ไม่ทำลายน้ำใจต่อกัน หรืออย่างน้อยที่สุด หากทำดีกับเพื่อนบ้านไม่ได้ ก็อย่าทำให้เพื่อนบ้านได้รับความเดือดร้อนจากคำพูดและการกระทำของเราเลย เช่น การเปิดเครื่องขยายเสียง เปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุ แม้กระทั่งการเปิดเทปอัลกุรอานซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ดังเกินไปจนเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็ไม่ควรทำ หรือการทิ้งเศษขยะวางสิ่งกีดขวางปิดทางกั้นทางเดินสัญจร หรือปิดทางระบายอากาศ หรือแม้แต่ปลูกต้นไม้ติดรั้วบ้าน เวลารดน้ำแล้วทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อนก็ไม่ควรทำ หากผู้ใดทำดีเช่นนี้ได้ ก็นับว่าเขาเป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง โดยที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

           จากการรายงานของ ท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

      “ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา ท่านกล่าวสามครั้ง 

มีผู้กล่าวว่า ใครกันหรือท่านร่อซูล

       ท่านกล่าวว่า คือผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ได้รับความปลอดภัยจากความเลวร้ายของเขา (ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำของเขา)

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

 

          4. จงรักเพื่อมนุษย์ด้วยกัน เหมือนกับที่ท่านรักตัวของท่านเอง ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา เอื้ออาทร รักใคร่ปรองดองกัน หวังในสิ่งที่ดีๆ ให้มาประสบกับมนุษย์ทุกคนไม่เลือกชนชั้น สีผิวหรือพรรคพวก เรารักตัวเราอย่างไร ก็ให้เรารักเพื่อนมนุษย์อย่างนั้น เราจะสุขสบายในสภาพที่ผู้อื่นเดือดร้อนไม่ได้ เมื่อถึงคราวเจ็บ ก็ต้องเจ็บด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เมื่อใดที่เราคิดเช่นนั้นได้ เมื่อนั้นแหละเราจะเป็นมุสลิม ผู้จำนนอย่างสมบูรณ์แบบ

 

           5. อิสลามเชิญชวนให้มุสลิมออกห่างจากการละเล่นที่ไร้สาระ ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน หรือการหัวเราะมากๆ อาจจะเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้หัวใจตายด้าน ไม่ยอมรับคำชี้แนะจากใคร ไม่ยอมสยบต่อบัญญัติของศาสนา ทำให้ลืมการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของมุสลิม นั่นก็คือ การทดสอบอันหนักหน่วงจากพระผู้อภิบาล ต้องต่อสู้กับการล่อลวงของชัยฏอน ความเจริญ ความเพริศแพร้วของโลกดุนยา มุสลิมที่ดีต้องร้องไห้ให้มาก และหัวเราะให้น้อย ใช้ชีวิตอย่างมีสติ แยกแยะได้ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ จะต้องทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าผิดพลาดไปมากเท่าใดแล้ว และเสียใจในสิ่งที่ตนกระทำไป

 

และท้ายที่สุด คำสอนของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น เป็นคำสอนที่ทันต่อเหตุการณ์เสมอ

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 17 มกราคม 2552