ความรัก...คือ..?
  จำนวนคนเข้าชม  2669


ค ว า ม รั ก... คือ..?

 

โดย... อารีฟ เต่าพาลี

 

     อิมามอิบนุกอยยิม อัล-เญาซียะฮฺ รอฮิมะฮุลลอฮ ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของหัวใจและความรัก ได้กล่าวไว้ว่า

 

لَا تُحَدُّ الْمَحَبَّةُ بِحَدٍّ أَوْضَحَ مِنْهَا. فَالْحُدُودُ لَا تَزِيدُهَا إِلَّا خَفَاءً وَجَفَاءً.

فَحَدُّهَا وُجُودُهَا. وَلَا تُوصَفُ الْمَحَبَّةُ بِوَصْفٍ أَظْهَرَ مِنَ الْمَحَبَّة

 

          ความรักนั้นมิอาจให้คำจำกัดความที่ชัดเจนได้ และการให้คำจำกัดความของความรักนั้นไม่ได้เพิ่มสิ่งใดเลยนอกจากการซ่อนเร้นและถูกปิดบัง(ยิ่งไม่เข้าใจ)

          ดังนั้นความรักจะไม่ถูกบรรยายด้วยกับลักษณะที่ปรากฏภายนอก จากความรัก (หมายถึง-ความรักไม่สามารถถูกอธิบายได้จากภาพที่เห็น ต้องสัมผัสสด้วยตัวเองถึงจะรู้ว่าความรักคืออะไร)

(มะดาริญุสสาลิกีน 3/11)

 

          บางคนพูดว่า ความรัก คือ สิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่สำหรับบางคน ความรักก็ไม่ใช่เหมือนสิ่งที่เขากล่าวกัน และ บางคนก็แยกไม่ออก ระหว่างความรัก กับความหลง

 

อิมามอิบนุลเญาซีย์ รอฮิมะฮุลลอฮ ยังได้กล่าว่ไว้อีกว่า 

 

لأَنَّ الْعِشْقَ شُغْلُ الْفَارِغِ ، فَهُوَ يُمَثِّلُ صُورَةَ الْمَعْشُوقِ فِي خَلْوَتِهِ لِشَوْقِهِ إِلَيْهَا ، فَيَكُونُ تَمْثِيلُهُ لَهَا إِلْقَاءً فِي بَاطِنِهِ ، فَإِذَا تَشَاغَلَ بِمَا يُوجِبُ اشْتِغَالَ الْقَلْبِ بِغَيْرِ الْمَحْبُوبِ دَرَسَ الْحُبُّ وَدَثَرَ الْعِشْقُ وَحَصَلَ التَّنَاسِي .

 

          “รักที่ลุ่มหลงนั้นคือ งานยุ่งของผู้ว่างงาน(หมายถึง-คนที่วันๆไม่ทำอะไรเวลาอยู่ว่าง ก็จะครุ่นคิดมโนภาพวนเวียนแต่เรื่องความรัก คิดถึงคนนั้นคนนี้มันจะสร้างมโนภาพให้กับผู้ที่ถูกทำให้ลุ่มหลงในการอยู่คนเดียวลำพังของเขา เพื่อให้เกิดความปรารถนาของเขาสู่ภาพนั้น(เพื่อให้เขาลุ่มหลงเอาแต่มโนภาพถึงความรักนั้น) แต่แล้วเมื่อหัวใจของเขาได้กลับไปยุ่งอยู่กับสิ่งที่เขาควรจะเอาหัวใจไปให้ความเอาใจใส่กับสิ่งอื่น ที่สมควรจะรักมากกว่านั้น เขาก็จะได้เรียนรู้ถึงความรักที่แท้จริงและ ความรักที่ลุ่มหลงก็จะถูกลบไป และเขาก็จะลืมมัน(ความรักที่ลุ่มหลงนั้น)"

(ซัมมุลฮะวา /473)

 

          หมายถึง-คนใดเกิดรักที่ลุ่มหลงมันก็จะทำให้เขาคิดมโนภาพไปถึงคนๆนั้นและปรารถนาที่จะทำให้เหมือนสิ่งที่เขามโนภาพไว้ และหลงลืมทุกสิ่งอย่าง มุ่งหน้าแต่ต้องการให้ได้มาซึ่งการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักนั้น

 

          การมีความสัมพันธ์กันระหว่างชายหญิงอย่างไม่ถูกต้อง ย่อมบังเกิดมาจากการล่อลวงของชัยฏอน ที่คอยหลอกล่อยุแหย่ให้เขาเห็นว่า ความลุ่มหลงนั้นคือความรัก แต่ถ้าหากเขาได้สติและนึกกลับตัวไปทำสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำ หรือจำเป็นที่จะต้องรักมากกว่าได้ เขาก็จะหายจากความรักที่ลุ่มหลงนั้น และเมื่อเขามองย้อนกลับมา  มันก็เป็นเพียงการที่เขาลืมตัวและทำตัวเองให้หลงใหลไปกับสิ่งที่เขาคิดเอาเองว่ามันคือความรักเท่านั้นเอง แล้วเขาก็จะลืมมันได้

ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวไว้ว่า 

لاَ يَخْلُوَنَّ رَجُلٌ بِامْرَأَةٍ فَإِنَّ ثَالِثَهُمَا الشَّيْطَانُ

 

"บุรุษจงอย่าอยู่ร่วมกับสตรีเพียงลำพัง(โดยปราศจากมะหฺร็อมของนาง)เป็นอันขาด

เพราะแท้จริงบุคคลที่สาม(ที่จะอยู่ร่วมกับทั้งสอง) คือ ชัยฏอน"

 

     จากหลักฐานนี้ทำให้รู้ว่า การที่ชายหญิงอยู่ด้วยกันและเกิดการพูดคุยในแบบชู้สาว มาจากการยุแหย่ของชัยฏอนที่เป็นบุคคลที่สาม

 

          มีการสอบถามกับผู้ชายถึงเวลาอยู่ตามลำพังกับผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันแล้วเขาคิดอะไร ส่วนมากแล้วผู้ชายตอบว่าเวลาอยู่กับผู้หญิงจะคิดถึงแต่เรื่องเซ็กส์มากกว่าความความรัก นั่นเป็นด้วยอารมณ์ชะฮฺวะฮฺของผู้ชาย และรวมถึงเป็นการล่อลวงของชัยฏอนด้วย ผู้หญิงก็เช่นกัน เวลานางอยู่กับผู้ชายที่ไม่ได้แต่งงานกันตามลำพังและมีความปรารถนาในตัวเขา ผู้หญิงจะมีสัญญาณลับที่บ่งบอกให้ผู้ชายรู้ว่าเธอชอบเขา และยินยอมเป็นของเขา ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณด้วยท่าทาง สายตา หรือคำพูดคำจา และอากับกริยาต่างๆ ดังนั้นศาสนาจึงห้ามที่จะปล่อยให้ชายหญิงอยู่ด้วยกันตามลำพัง เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นก็ถือเป็นการเข้าใกล้การทำซินาแล้ว และจะนำพาให้ทั้งคู่เลยเถิดไปถึงขั้นทำซินากันจริงๆได้

 

ท่านรอซูลุลลอฮ ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

كُتِبَ عَلَى ابْنِ آدَمَ نَصِيبُهُ مِنَ الزِّنَى مُدْرِكٌ ذَلِكَ لاَ مَحَالَةَ 

فَالْعَيْنَانِ زِنَاهُمَا النَّظَرُ وَالأُذُنَانِ زِنَاهُمَا الاِسْتِمَاعُ وَاللِّسَانُ زِنَاهُ الْكَلاَمُ وَالْيَدُ

زِنَاهَا الْبَطْشُ وَالرِّجْلُ زِنَاهَا الْخُطَا وَالْقَلْبُ يَهْوَى وَيَتَمَنَّى وَيُصَدِّقُ ذَلِكَ الْفَرْجُ وَيُكَذِّبُهُ

 

     “ลูกหลานของอาดัมถูกกำหนดส่วนของซินาไว้แล้ว เขาต้องพบเจอมันอย่างแน่แท้ (อาจจะเป็นซินาจริงๆ หรือซินาเสมือนก็ได้) ได้แก่ 

   ซินาของดวงตาทั้งสองคือการมอง (มองสิ่งหะรอม

   ซินาของหูทั้งสองคือการฟัง (ฟังการซินา หรือฟังสิ่งที่จะพาไปสู่ซินา

   ซินาของลิ้นคือคำพูด (คำพูดเกี้ยวพาราสี พูดสิ่งหะรอม

   ซินาของมือคือการจู่โจม (เช่นการสัมผัสผู้ไม่ใช่มะห์รอม

   ซินาของขาคือการก้าวย่าง (เดินไปสู่ซินา หรือสิ่งที่จะนำพาไปสู่ซินา

   ส่วนหัวใจนั้นเอนเอียงและหวังจะทำ (ด้วยการคิดคำนึง

   ซึ่งอวัยวะเพศอาจจะเชื่ออวัยวะเหล่านั้น หรืออาจปฏิเสธมัน (ด้วยการทำให้ซินาเกิดขึ้นจริงๆ หรืออาจจะปฏิเสธยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นจริง)” 

 

(อัล-บุคอรียฺ หน้า 1202 หะดีษหมายเลข 6243, และมุสลิม หน้า 1066 หะดีษหมายเลข 2657)

           จากหลักฐานต่างๆเหล่านี้ ทำให้เราสามารถที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรคือความรักและอะไรคือความหลง

 

          การปล่อยตัวปล่อยใจ หรือการทำหัวใจให้ว่างเว้นจากการให้ความรักกับสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา อาจจะทำให้เราเกิดความรักที่ลุ่มหลงและ ทำให้เกิดความวุ่นวายใจ สับสน คิดถึงแต่ความรักที่ลุ่มหลงนั้นและมโนภาพไปต่างๆนาๆ กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อสายไปแล้ว 

          การอยู่กับความรัก ต่ออัลลอฮฺ และ ศาสนา จะทำให้เขารอดพ้นจากสิ่งดังกล่าว ดังนั้นจงแยกแยะระหว่างความรักและความลุ่มหลง และอดทนต่อสู้กับความลุ่มหลงและชัยฏอนมารร้าย และเก็บความรักนั้นไว้ให้กับสิ่งที่เขาสมควรจะรัก

 

     ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ในมัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวา (เล่ม 10 หน้า 133) ได้กล่าวว่า:

 

يقول شيخ الإسلام ابن تيمية رحمه الله "مجموع الفتاوى" (10/133) :

" فأما إذا ابتُلى بالعشق وعف وصبر ، فإنه يثاب على تقواه لله ، فمن المعلوم بأدلة الشرع أنه إذا عف عن المحرمات نظرا وقولا وعملا ، وكتم ذلك فلم يتكلم به ، حتى لا يكون في ذلك كلام محرم ، إما شكوى إلى المخلوق ، وإما إظهار فاحشة ، وإما نوع طلب للمعشوق ، وَصَبر على طاعة الله وعن معصيته ، وعلى ما فى قلبه من ألم العشق ، كما يصبر المصاب عن ألم المصيبة ، فان هذا يكون ممن اتقى الله وصبر ، ( إِنَّهُ مَن يَتَّقِ وَيَصبِر فَإِنَّ اللَّهَ لاَ يُضِيعُ أَجرَ المُحسِنِينَ )

 

          ถ้าหากโดนทดสอบให้มีอาการหลงใหลอยู่แต่ในความรัก แล้วเขาก็อดทนและปกป้องดูแลความบริสุทธิ์ของตน เขาย่อมจะได้รับผลบุญเนื่องด้วยความยำเกรงของเขาต่ออัลลอฮฺ เพราะเป็นสิ่งที่ทราบกันในหลักศาสนบัญญัติว่า เมื่อผู้ใดปกป้องดูแลตัวเองจากราคะที่ต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นการมอง การพูด การกระทำ และได้ปกปิดสิ่งนั้นไว้ไม่นำไปพูดคุยกับคนอื่น เพื่อไม่ให้เกิดมีการพูดที่ต้องห้ามขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดบ่นต่อสิ่งถูกสร้าง(ผู้คน) หรือการเปิดเผยความเลวทรามต่ำช้า หรือการอ้อนวอนร้องขอจากคนรัก พร้อมๆ กับที่เขาอดทนด้วยการปฏิบัติเชื่อฟังอัลลอฮฺและหักห้ามใจจากการกระทำผิดบาป และอดทนต่อบททดสอบของความเจ็บปวดจากความรัก ซึ่งหัวใจของเขาประสบเช่นคนที่อดทนเพราะความเจ็บปวดจากมะอฺศิยะฮฺ (การทำสิ่งที่ฝ่าฝืน) แน่นอน คนที่ว่านี้ย่อมต้องเป็นผู้ยำเกรงและผู้อดทน ดังในโองการที่ว่า

 

إِنَّهُ مَن يَتَّقِ وَيِصْبِرْ فَإِنَّ اللهَ لاَ يُضِيعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِينَ

 

แท้จริง ผู้ใดที่ยำเกรงและอดทน แน่นอนอัลลอฮฺจะมิทรงให้รางวัลของบรรดาผู้ทำความดีนั้นสูญหายหรือไร้ค่า

 

 (ยูซุฟ 90)